ผอ.พุทธกาฬสินธุ์
อ้างปมล่าชื่อฎีกา
มหานิยมโต้เดือด

ผอ.สำนักพุทธฯ กาฬสินธุ์ รายงานส่วนกลาง ซัด 7 ส.ส. -นักการเมืองในพื้นที่ อยู่เบื้องหลังรวบรวมรายชื่อ 1 แสนชื่อ ถวายฎีกา ทั้งๆ ที่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในจังหวัดยุติการเคลื่อนไหวแล้ว ด้านส.ส.สกลนคร‘มหานิยม เวชกามา’หนึ่งใน 7 คน ที่ถูกกล่าวหาโต้ทันควัน ซัดผอ.พศจ.กาฬสินธุ์ไม่รู้ข้อเท็จจริง แม้แต่หัวเรื่องที่อ้างก็ไม่ตรงกับกรณีที่เกิดขึ้น ระบุถ้าสงบจริงทำไมมี เจ้าคณะตำบล-เจ้าคณะอำเภอลาออกเกือบยกจังหวัด แนะเจ้าคณะจังหวัดรูปใหม่เสียสละลาออก เพื่อให้สังคมสงฆ์-ชาวบ้านยุติความแตกแยก

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัญชายุทธ นาคมุจลินท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำหนังสือบันทึกข้อความจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาฬสินธุ์ เลขที่ กส 0034/285 ลงวันที่ 18 ต.ค.2564 เรื่องรายงานความเคลื่อนไหวของศิษยานุศิษย์ กรณีมหาเถรสมาคมมีมติปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) ถึง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีใจความว่า คณะสงฆ์ธรรมยุตได้ยุติความเคลื่อนไหวแล้ว แต่ยังคงมีศิษยานุศิษย์ที่เป็นฝ่ายการเมืองเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 1 แสน รายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา

โดยมีนักการเมืองจำนวน 7 รายเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง คือ 1.นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย 2.นางบุญรื่น ศรีธเนศ ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย 3.นายคงเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย 4.นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย 5.นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม 6.นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ และ 7.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์

นายนิยมเปิดเผยว่า กรณีหนังสือบันทึกข้อความจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกาฬสินธุ์ อ้างว่าคณะสงฆ์ (ธรรมยุต) ได้ยุติความเคลื่อนไหว แต่ยังคงมีศิษยานุศิษย์ที่เป็นฝ่ายการเมือง 7 คนเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 1 แสนรายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา โดยมีชื่อของตน 1 ใน 7 คนของหนังสือนั้น เรื่องดังกล่าวตนเห็นว่า ผอ.พศจ.กาฬสิธุ์ ไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้หัวเรื่องที่อ้างว่า มีมติจากมหาเถรสมาคมว่าปลดเจ้าคณะจังหวัดนั้น ที่จริงแล้วมหาเถรสมาคมเพียงแต่รับทราบจากเอกสารที่ส่งเข้าที่ประชุมแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด

ซึ่งจะถือว่ามีการสอดไส้เพื่อถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด ได้หรือไม่ รวมถึงจะมีผู้บงการสำนักพุทธจากมือที่มองไม่เห็นหรือไม่ และที่อ้างว่ามีคณะสงฆ์ได้ยุติแล้ว แต่ในความเป็นจริง มีพระสังฆาธิการได้ลาออกจากเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เป็นรายวันเกือบทั้งจังหวัดแล้ว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ทั้งลงชื่อและติดป้ายทั่วเมือง แสดงออกถึงการคัดค้านไม่เห็นด้วยไม่ยอมรับการถอดถอน และไม่ต้อนรับพระเล็กเจ้าคณะรูปใหม่ อย่างนี้จะบอกว่ายุติได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำนักพุทธฯ ต้องออกมาชี้แจงในความไม่ชอบธรรม นายนิยมกล่าวต่อว่าตนขอถามไปยังสำนักพุทธฯรวม 4 ข้อ ตามที่เคยมีผู้ได้ยื่นหนังสือไปยังสำนักพุทธฯไปแล้วดังนี้

1.การที่ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาให้ข่าวว่าการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัดว่าทำถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทำไมถึงมีคนออกมาโต้แย้งคัดค้าน คำว่าถูกต้องตามกฎหมายต่างกับชอบด้วยกฎหมาย เพราะถูกต้องตามกฎหมายคือ ทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจ แต่ชอบด้วยกฎหมายคือ เหตุผลและความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามที่กฎหมายให้

2.เมื่อไม่แสดงเหตุผลว่าการถอดถอนทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างไร หากมีประชาชนยื่นขอเอกสารข้อมูล เกี่ยวกับการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ เลขาธิการมหาเถรสมาคม อีกทั้งเป็น ผู้ทำเอกสารยื่นมติ มส. รวมถึงได้ออกมาให้ข่าวดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้มายื่นขอเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในเหตุผลและความชอบธรรมในการใช้อำนาจถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด ทำให้สังคมชาวพุทธและศิษยานุศิษย์ของเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดได้ทราบเหตุผลของการถอดถอนดังกล่าว

3.ถ้าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนคนใดมีสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 41 และ 59 รวมถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการมาตรา 4 และ มาตรา 11 ที่สามารถขอข้อมูลและเอกสารหลักฐานในการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัดได้ เมื่อไม่ให้หรือไม่เปิดเผย ผู้ขอยังมีสิทธิไปยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและมีสิทธิ์ไปฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป ซึ่งมีตัวอย่างมากมายที่ประชาชนใช้สิทธิดังกล่าวไปยื่นขอข้อมูลจากทางราชการ

ทั้งการที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจมีประชาชนคนใดเห็นว่าเป็นการไม่ชอบธรรมที่ไม่ยอมเปิดเผยน่าจะเป็นการถอดถอนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะไม่เปิดเผยแสดงออกมาอาจนำเรื่องการถอดถอนที่ไม่ชอบนี้ไปกล่าวโทษผู้มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนเพราะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายต่อ ป.ป.ช.ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้

4.ตนอยากจะให้การแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดที่มาแทนเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) ชอบด้วยกฎหมายตามกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด ที่มีรายละเอียดดังนี้ ข้อ 14 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ (1) มีพรรษาพ้น 10 กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ (2) กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ (3) กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ (4) มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 6 ประโยค

นายนิยมกล่าวต่อไปว่า แม้แค่เพียงในอนุหนึ่งสำหรับเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) รูปใหม่ที่มีสำนักอยู่จังหวัดหนองคายจะชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร ทั้งนี้เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ตนจะนำเรื่องถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด ไปตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรี และขอสภาตั้งญัตติ เพื่อศึกษาพิจารณาว่าการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัดดังกล่าว ว่าใช้อำนาจดำเนินการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ซึ่งมีประชาชนคัดค้านโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง “สำหรับพระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ฝ่ายธรรมยุตรูปใหม่ หากท่านจะมีทิฐิน้อยลงมาหน่อย ทำเพื่อพระพุทธศาสนา ท่านจะสละลาออกจากตำแหน่งก็จะเป็นการดี ซึ่งสังคมสงฆ์กาฬสินธุ์และประชาชนก็จะไม่แตกแยกไปมากกว่านี้” นายนิยมกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน