ไม่ปล่อย5แกนราษฎร
ศาลยกคำร้องคนตุลา

ยกคำร้องกลุ่มคนเดือนตุลาฯ เป็นนายประกัน ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 5 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี 112 ระบุไม่มีเหตุ เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ไต่สวนเสร็จแล้วถอนประกันตัว ‘อานนท์’ ศาลนัดฟังคำสั่งวันนี้ เวลาบ่ายโมงครึ่ง ส่วนรุ้ง-แอมมี่-ไมค์ เลื่อนนัดไต่สวนวันที่ 18 พ.ย.ช่วงเช้า

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 พ.ย. ศาลอาญา นัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว คดีดำ อ.287/64 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยชั่วคราว นายอานนท์ นำภา, น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ที่ถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากการชุมนุมปักหมุดที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 เนื่องจากจำเลยได้ผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาล โดยวันนี้เป็นการไต่สวนต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งศาลไต่สวนพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องยังไม่แล้วเสร็จ

ต่อมาเวลา 11.20 น. นายไชยอมรกล่าวว่า วันนี้เป็นการไต่สวนคำร้องถอนประกันตัวของนายอานนท์ก่อน ซึ่งตน, น.ส.ปนัสยา และนายภาณุพงศ์ได้ยื่นขอเลื่อนไต่สวนในวันนี้ออกไปเป็นวันที่ 18 พ.ย.นี้ ส่วนเหตุผลในการขอเลื่อน เป็นเรื่องของเวลาในการไต่สวนมากกว่า เช่น เมื่อวันที่ 3 พ.ย. การไต่สวนเฉพาะของนายอานนท์ ไต่สวนพยานเพียง 1 ปากตั้งแต่เช้าจนถึง 6 โมงเย็น และมีความวุ่นวายในเรื่องของการแยกพิจารณาคดี ซึ่งเกิดข้อโต้เถียงกัน เพราะเราอยากให้รวมการพิจารณาคดีมากกว่า เนื่องจากหลายๆ อย่างเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน

นายไชยอมรกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดคะเนได้และความเสี่ยงค่อนข้างสูง คือไม่ได้มีความรู้สึกไปเอง แต่ว่ามีแนวโน้มจะโดนถอนประกัน และโดนฝากขังอีกรอบค่อนข้างสูง

สำหรับวันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งประกันนายอานนท์ กับพวกรวม 4 คน ได้นำพยานเข้าไต่สวนจนแล้วเสร็จ ศาลจึงนัดฟัง คำสั่งในส่วนของนายอานนท์ในวันที่ 5 พ.ย. เวลา 13.30 น.

ส่วนกรณีที่นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ฯ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนออกไปนั้น ศาลจึงนัดไต่สวนวันที่ 18 พ.ย.เวลา 09.00 น.

สำหรับกรณีที่กลุ่ม OctDem ซึ่งเป็นชาวเดือนตุลาฯ ทั้ง 14 ตุลา และ 6 ตุลา กว่า 18 คน ร่วมกันเข้าชื่อขอเป็นนายประกัน ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องคดี 112 และคดีอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำรวม 5 คนนั้น

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ความคืบหน้าว่านายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความบอกมาว่า “ผลการยื่นประกันวันนี้/ 3 พ.ย. ของพวกเรา ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทุกคนครบถ้วนด้วยเหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง”

ผม (ชว,) ละอายใจ ขายหน้าน่าละอาย ขายหน้า ที่บัณฑิตนิติ/รัฐ เกือบทุกมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบ มีตำหน่งใหญ่โต กลับไม่ยึดหลักวิชาการว่าด้วยนิติธรรม นิติรัฐ ในคดี 112 กับ “เด็กๆ” รุ่นหลัง

วันเดียวกัน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า ตามที่ กสม.ได้ติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมา กสม.ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนเด็กและเยาวชน นักวิชาการ นักกิจกรรมด้านสันติวิธี นักจิตวิทยา ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยในการระดมความคิดเห็นเรื่อง “สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม” (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง)

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. กสม.โดยน.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกสม. นายสุชาติ เศรษฐมาลินี น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช และตน ได้ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะฯ กับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุด

ในการประชุมดังกล่าว กสม.ได้เน้นย้ำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม เช่น ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ หน่วยงานรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุม หลังการชุมนุม และควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจนระหว่างผู้ก่อความรุนแรง และไม่ก่อความรุนแรง

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชนด้วย รวมทั้งให้ดูแล คุ้มครอง ปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง และสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. โดยให้ความสำคัญกับกลไกการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ และคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในพื้นที่การชุมนุม เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้แนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัดด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน