‘รุ้ง’ย้ำไม่เคยคิดล้มล้างระบอบ
รวมพลใหญ่ที่อนุสาวรีย์ปชต.
ยืนยันชุมนุมสันติวิธี-ไม่มีอาวุธ
จับหนุ่มอุบลฯแฮ็กเว็บศาลรธน.

ม็อบใหญ่นัดวันนี้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนไปสนามหลวง รุ้ง-ปนัสยา แถลงย้ำไม่เคยมีแม้แต่เศษเสี้ยวลมหายใจที่จะล้มการปกครอง ระบุคำสั่งศาลห้ามไปถึงในอนาคต ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ตร.สั่งคุมเข้ม ขณะที่ 70 คณาจารย์นิติศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยก 3 ประเด็นสาระสำคัญ ทั้งเรื่องสิทธิเข้าถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรม เพราะไม่ได้รับการพิจารณาพยาน หรือข้อต่อสู้คดี หลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสถานะของสถาบันกษัตริย์ยังคงคลุมเครือ ทั้งหมดจะกระทบ ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในอนาคต ตร.ไซเบอร์บุกจับหนุ่มวัย 33 ปี ที่อุบลฯ ผู้ต้องหาแฮ็กเว็บศาลรัฐธรรมนูญ

ตร.สั่งจับตาม็อบ14พฤศจิกาฯ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงข่าวเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน พร้อมกับอำนวยความสะดวกด้านการจราจร

พล.ต.ต.จิรสันต์ เปิดเผยว่า สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ของกลุ่มราษฎรเอ้ย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวาย ด้านกลุ่มทะลุแก๊ส ไม่พบการรวมกลุ่มของมวลชนในพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนการชุมนุมในวันนี้ มีการนัดชุมนุม 3 กลุ่ม คือ ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม เวลา 17.00 น., กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ศาลฎีกา เวลา 17.30 น. และกลุ่มทะลุแก๊ส ที่แยกดินแดง เวลา 17.30 น. ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางในจุดดังกล่าวส่วนการชุมนุมในวันที่ 14 พ.ย. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 15.00 น. และจะเคลื่อนขบวนไปท้องสนามหลวง ซึ่งตำรวจก็ได้เตรียมกำลังไว้รักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว

พล.ต.ต.จิรสันต์เปิดเผยอีกว่า ซึ่งการ ชุมนุมทั้งในวันนี้และพรุ่งนี้ตำรวจนครบาลจัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งแนะนำให้ประชาชน หลีกเลี่ยงเส้นทางและบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดการจราจรติดขัด สำหรับการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมตั้งแต่เดือน ก.ค.63 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีไปแล้ว 783 คดี สั่งฟ้องแล้ว 385 คดี และ อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนอีก 398 คดี

พ.ต.อ.กฤษณะ เปิดเผยว่า ตำรวจจำเป็น จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับ ผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงการสร้าง เฟกนิวส์ในสื่อโซเชี่ยลเพื่อยั่วยุปลุกปั่นสร้างความเข้าใจผิด ก็มีความผิดเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทั่วประเทศมีถึงกว่า 1,200 คดี ซึ่งยืนยันว่าการชุมนุมยังเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องดำเนินคดี

ชุมนุมใหญ่ – รุ้ง-ปนัสยา แกนนำราษฎร พร้อมเครือข่ายประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ แถลงแสดงท่าทีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันจัดชุมนุมใหญ่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเดินขบวนไปสนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย.นี้

รุ้งแถลงไม่มีเจตนาล้มระบอบ

ที่ เดอะคอนเน็กชั่น สัมมนา เซ็นเตอร์ สี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว กลุ่มไม่เอาสมบูรณาญา สิทธิราชย์ นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิร วัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำราษฎร และกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยแนวร่วมกลุ่มประชาธิปไตยอื่นๆ เช่น นายธัชพงศ์ แกดำ หรือ บอย นายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ ป่าน กลุ่มทะลุฟ้า ตัวแทนจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.), กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่ม Supporter Thailand (SPT) ร่วมอ่านแถลงการณ์คัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้การกระทำของ 3 แกนนำที่ปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบัน เป็นการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงทิศทางการเคลื่อนไหว ของการชุมนุมในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจะเริ่มอ่านแถลงการณ์ น.ส.ปนัสยาประกาศจัดกิจกรรมการชุมนุมในวันที่ 14 พ.ย. โดยนัดรวมพล เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินขบวนไปยังสนามหลวง

พร้อมยืนยันการชุมนุมของเราทุกครั้ง เป็นไปด้วยความสงบสันติ ยอมรับว่ากังวลใจอยู่บ้าง เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะใช้เครื่องมืออะไรมาทำร้ายประชาชนได้อีก แต่ไม่ได้กังวลว่าหากถูกข้อกล่าวหาแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะยืนยันเหมือนเดิมว่าเราปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง

จากนั้น น.ส.ปนัสยาและตัวแทนกลุ่มแนวร่วม อ่านแถลงการณ์ ยืนยันว่าข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเจตนาเพื่อ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ไม่อาจยอมรับคำสั่งของศาลได้ เนื่องจากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งอย่างร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจ โดยไม่สุจริต ในการกำราบปราบปรามศัตรูทางการเมือง

เตือนใช้อำนาจเกินขอบเขต

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการ กระทำทั้งหลาย โดยมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดผูกพัน ทุกองค์กร โดยหลักการแล้ว การใช้อำนาจ ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญย่อมถูกออกแบบให้มีลักษณะจำกัดเฉพาะในขอบเขตของศาล เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่ให้พิจารณาคดีตามอำเภอใจและกลายเป็นผู้ทรงอำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเสียเอง

ด้วยเหตุนี้การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่อาจใช้อำนาจเกินเลยไปกว่าขอบเขตที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดโดยอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินขอบเขต หรือไม่ดำเนินตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นที่สุด และปราศจากผลผูกพันใดๆ กับทุกองค์กร

“พวกเราขอยืนยันว่านับตั้งแต่ประกาศ สิบข้อเรียกร้องจนถึงวินาทีนี้ ไม่มีสักเสี้ยว ลมหายใจที่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง และข้อเรียกร้องทั้งสิบข้อ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สถิตแห่งอำนาจอธิปไตย หรือทำลายศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือปิดกั้นประชาชนเพื่อกำหนดทิศทาง ของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประมุขให้เป็นอื่น และไม่มีข้อเรียกร้องใดเลยที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ”

น.ส.ปนัสยากล่าวอีกว่า การออกคำสั่งของศาลที่ให้ผู้ถูกร้องและกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจสั่งการ ล่วงล้ำแดนแห่งอนาคต และเป็นการขยายขอบเขตคำสั่งนอกเหนือจากผู้ถูกร้องสู่ บุคคลอื่น คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจฝืนปฏิบัติตามคำสั่งศาลได้

70อจ.นิติแถลงค้านคำวินิจฉัย

วันเดียวกัน ผศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงการณ์เรื่อง “การล้มล้างสถาบันฯ หรือการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ในฐานะตัวแทนของเครือข่ายนักกฎหมายและคณาจารย์นิติศาสตร์ 70 คน

ระบุว่า ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ต่อกรณี การเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชน (ในการชุมนุม เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตยหรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุมธรรมศาสตร์ จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความดังกล่าว ได้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะแล้วนั้น

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นำมา ซึ่งคำถามอันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ อย่างมาก เพราะจะกระทบต่อหลักการพื้นฐานของระบบกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งจะส่งผล สืบเนื่องต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปมประเด็นปัญหาดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างน้อยใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

ประการแรก สิทธิในเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial) สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาอย่างเป็นธรรมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้อย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 และสิทธิดังกล่าวก็ถือเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนพิจารณาคดีในระบบกฎหมายสมัยใหม่อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อันมีสาระสำคัญว่าบุคคลจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ทั้งจะต้องสามารถนำเสนอพยานหลักฐานในการโต้แย้งหักล้างกับบุคคลที่กล่าวหาได้อย่างเต็มที่

ไม่เปิดให้สู้-จำกัดสิทธิ

ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ต่อสู้ต่อข้อกล่าวหา ด้วยการปฏิเสธไม่ให้มีการนำพยานเข้าชี้แจง แม้จะได้มีการชี้แจงว่าศาลได้มีการสืบหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาจนสามารถชี้ขาดคดีได้ อย่างไรก็ตาม การรวบรัดในกระบวนการพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงและนำเสนอพยานหลักฐาน ย่อมถือเสมือนเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งก็อาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อคำตัดสินว่าเป็นไปโดยปราศจากข้อมูลที่รอบด้านว่าเป็นผลมาจากมุมมองและจุดยืนของผู้วินิจฉัยเป็นที่ตั้ง

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ให้การรับรองไว้ในข้อ 19 และข้อ 20, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 18 และข้อ 21 ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ในมาตรา 34, เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในมาตรา 44 การรับรองไว้อย่างสอดคล้องกันทั้งในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพดังกล่าวอย่างชัดเจน

แม้การรับรองเสรีภาพดังกล่าวจะบัญญัติให้มีการจำกัดขอบเขตเสรีภาพลงได้ แต่ก็ต้องเป็นไปด้วยเหตุผลอันชัดเจนว่าการใช้เสรีภาพดังกล่าวจะนำไปสู่ผลกระทบอันรุนแรงต่อส่วนรวม

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้ถูกร้องมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตหากเป็นไปโดยมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นการใช้ความรุนแรงข่มขู่บังคับต่อบุคคลอื่น ในความเห็นของศาลจึงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่จะต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่จะสามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการกระทำของฝ่ายผู้ถูกร้อง

คลุมเครือเรื่องอำนาจสถาบัน

คำวินิจฉัยมีลักษณะเป็นการให้เหตุผลอย่างคลุมเครือ อันนำมาสู่คำถามได้ว่าคำพูดหรือการกระทำในลักษณะเช่นใด ณ เวลาใด ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาเป็นหลักฐานในการชี้ขาด ยิ่งหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้องที่ปรากฏต่อสาธารณะก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแสดงความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการเสนอปรับแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่มีการเสนอถึงการยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนสู่ระบอบการปกครองในแบบอื่นแต่อย่างใด

ทั้งการวินิจฉัยถึงเจตนาของบุคคลก็ต้องพิจารณาจากการกระทำที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน การกล่าวอ้างถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นของบุคคลนับเป็นสิ่งที่มีอันตรายในทางกฎหมายเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นเพียงการยก เอาความเห็นของผู้ตัดสินโดยปราศจากข้อ เท็จจริงหรือพยานหลักฐานสนับสนุนอย่าง พอเพียง การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ไม่อาจจะปล่อยให้เกิดขึ้นได้เพียงคำกล่าวอ้างโดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน มิฉะนั้น ต่อไปในภายภาคหน้าสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็พร้อมจะถูกสั่นคลอนหรือทำลายลงได้อย่างง่ายดาย

ประการที่สาม สถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งได้รับการรับรองไว้ให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ อันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ให้คำอธิบายซึ่งจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทั้งที่ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์นั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบการปกครอง

แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยดำรงสถานะเป็นประมุขของรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ แต่ไม่ปกครอง (reign but not rule) การดำรงอยู่ สถานะ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ได้รับรองไว้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยก็จึงสามารถมีการ ปรับเปลี่ยนได้ในมิติต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไป

จับแล้วแฮ็กเว็บศาลรธน.

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสภาวะปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป หากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของสังคมไทยก็จะพบว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นขึ้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้นับแต่จะเป็นการสร้างความยุ่งยากต่อการจัดวางสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยให้ทวีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญในนานาอารยประเทศเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญก็เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างดุลยภาพอันเหมาะสมระหว่างประโยชน์ของส่วนรวมและสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในกรณีนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พวกเราจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการพื้นฐานทางกฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทยให้แผ่ขยายและรุนแรงมากขึ้นในอนาคต อันใกล้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงการทำหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญก็นับเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลจากบทบาทที่ควรจะเป็นอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บช.สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยพล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. สั่งการให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายที่แฮ็กเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาช่วงเย็นวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ขออนุมัติหมายค้นบ้าน ผู้ต้องสงสัย ภายในบ้านพักแห่งหนึ่งใน ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และบุกเข้าตรวจค้นช่วงเช้าวันที่ 13 พ.ย. พบผู้ก่อเหตุ ทราบชื่อ นายวชิระ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับสารภาพว่าเป็น ผู้แฮ็กเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน