กดดันผู้นำศาสนา-ครูสมทบม็อบ
ภาคีภาคเหนือขอร่วมบุกทำเนียบ

สกัดม็อบจะนะเข้ากรุงเทพฯ ตร.ตั้งด่านตรวจ เข้มกดดันครูสอนศาสนา-ผู้นำชุมชน-ภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังเดินทาง ลูกสาวแห่งทะเลจะนะชี้ชาวจะนะจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลว่าไม่สามารถเซ็นสัญญาแล้วไม่รับผิดชอบกับใครแบบนี้ได้อีก ด้านผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนรักการตกปลาสงขลาค้านเปิดเวทีรับฟังความเห็นออนไลน์ ระบุผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่มีโอกาสเข้าร่วม เรียกร้องให้ยุติเวทีไว้ก่อนเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง ยันหากรัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องพร้อมระดมพล เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือประกาศร่วมเรียกร้องกับชาวจะนะ วันที่ 13 ธ.ค.ทวงสัญญารัฐบาลที่หน้าทำเนียบ

ชาวจะนะเข้ากรุงสมทบ

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในการออกมาทวงสัญญาการทำ SEA การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่เคยมีการตกลงกันไว้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ว่ายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านในพื้นที่ติดตามความเคลื่อนไหวของมวลชนที่ปักหลักรอคำตอบอยู่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และทยอยเดินทางเข้าร่วมสมทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนครูสอนศาสนา ผู้นำศาสนา และเครือข่ายภาคประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจาก 3 ตำบลในอำเภอจะนะ ทยอยเดินทางเข้า กทม. ด้วยรถตู้และรถยนต์ส่วนตัว เพื่อให้กำลังใจและสมทบกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ยังคงปักหลักรอคำตอบการทวงสัญญา SEA ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ โดยพบว่ามีหลายองค์กรและหลายเครือข่ายเข้าร่วมสนับสนุนและพร้อมระดมพลเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะเครือข่ายกลุ่มคนรักการตกปลาสงขลาที่ร่วมทำกิจกรรมตกปลา การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลา

ค้านเปิดเวทีถกออนไลน์

นายชาญชูชัย เปียทนงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่มคนรักการตกปลาสงขลา กล่าวว่าาทะเลในอำเภอจะนะและใกล้เคียงนั้นมีความสมบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันอนุรักษ์จนทำให้มีสัตว์น้ำชุกชุม ตนเองไม่เห็นด้วยกับวิธีการขับเคลื่อนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยเฉพาะการเปิดเวทีรับฟังความเห็นด้วยระบบออนไลน์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่มีโอกาสเข้าร่วม

จึงอยากเรียกร้องให้ยุติเวทีเอาไว้ก่อนเพื่อบรรเทาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่า ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ พร้อมระดมพลเข้าร่วมกิจกรรมในการคัดค้านโครงการหากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

สกัดจะนะ – กลุ่มผู้นำศาสนา-ชุมชน-ครูและชาวบ้านจะนะ จ.สงขลา ถูกตำรวจ ตั้งด่านสกัดที่จ.พัทลุง ระหว่างเดินทางขึ้นไปสมทบเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ชุมนุมอยู่กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.

จนท.ตั้งด่านสกัดที่พัทลุง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่แยกแม่ขรี อำเภอ ตะโหมด จังหวัดพัทลุง เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดรถตัวแทนครูสอนศาสนา ผู้นำศาสนา และเครือข่ายภาคประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจาก 3 ตำบลในอำเภอจะนะ ที่เดินทางเข้าร่วมสมทบกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติซึ่งออกเดินทางตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา

ยัน 13 ธ.ค.เคลื่อนสู่ทำเนียบ

วันเดียวกัน ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจำลองเหตุการณ์การโดนจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมย้ำอุดมการณ์ทวงสัญญาจากรัฐบาล ต่อให้โดนจับดำเนินคดีชาวบ้านก็จะไม่ยอมกลับบ้าน ยืนยันแค่ออกมาทวงถามสัญญา 3 ข้อจากรัฐบาลที่เคยทำไว้เมื่อปีที่แล้ว และจะเคลื่อนตัวไปหน้าทำเนียบอีกครั้งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ โดยจะมีประชาชนจากอำเภอจะนะและจังหวัดชายแดนใต้เดินทางมาสมทบในวันรุ่งขึ้น

นายเรียง สีแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่าในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 13.00 น. จะไม่อยู่ที่นี่ จะเก็บทุกอย่างเดินไปประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล หากเจ้าหน้าที่ดักระหว่างทางจุดไหนก็จะอยู่จุดนั้น และไม่เอาเอ็มโอยูแบบเดิมที่รัฐบาลไม่เคยทำตาม นอกจากนี้จะทำหนังสือเชิญองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และทำหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเพื่อป้องกันการถูกกระทำเช่นเดิมอีก โดยขณะนี้มีพี่น้องจากภาคใต้เดินทางมาสมทบอีกประมาณ 500 คน คาดว่าจะมาถึงในที่ 12 ธ.ค. และจะเริ่มปราศรัยใหญ่ในช่วงเย็นเวลา 16.00 น. ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งด่านสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดพัทลุงก็ตาม

ด้านน.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กล่าวว่าจากการที่ตนมาทวงสัญญาคนเดียว 5 วันก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล กระทั่งพี่น้องชาวจะนะขึ้นมาไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกสลาย ชาวจะนะจะเป็นบทเรียนให้รัฐบาลว่าไม่สามารถเซ็นสัญญาแล้วไม่รับผิดชอบกับใครแบบนี้ได้อีก เราชาวจะนะขอเชิญชวนทุกคนไปร่วมกันที่หน้าทำเนียบวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะเดินไปด้วยกันและเดินเคียงข้างกัน

ภาคเหนือร่วมม็อบจะนะ

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอเป็นกำลังใจ และประกาศร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ความว่าหลังการเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อปลายปี 2563 จนมีการลงนามใน เอ็มโอยู โดยผู้แทนจากรัฐบาลและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 นั่นคือคำมั่นสัญญาที่หล่อเลี้ยงความหวังว่าผืนดิน ผืนทะเล และบ้านจะยังคงอยู่กับพี่น้องชาวจะนะที่ได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

หลังปรากฏว่าจะมีการเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า นิคมอุตสาหกรรมจะนะ หนึ่งปีผ่านไป เสมือนรัฐบาลได้ฉีกเอ็มโอยูฉบับนั้นทิ้ง ด้วยการยังเดินหน้ากระบวนการจัดให้เวทีประชาพิจารณ์ที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เดือดร้อน พี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงกลับมาทวงถามสัญญานั้นอีกครั้ง

และต้องเผชิญกับการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและถูกจับกุมดำเนินคดีถึง 37 คน เพียงเพราะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญา สกน. ไม่อาจทนเห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องถูกกระทำย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ได้ จึงขอประกาศสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งหมดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รวมถึงยุติการดำเนินคดีพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน โดยต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารที่ 14 ธ.ค.นี้ และในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ สกน. จะนำมวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวผลักดันข้อเรียกร้องของพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอย่างแน่นอน แล้วพบกันที่ทำเนียบรัฐบาล

ไม่ใช่ผู้ต้องหา – ชาวบ้านคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ปักหลักอยู่หน้าสำนักงานยูเอ็น ประเทศ ไทย แสดงสัญลักษณ์ ‘ผู้ปกป้องไม่ควรเป็น ผู้ต้องหา’ ยืนยันวันที่ 13 ธ.ค.จะไปทวงสัญญารัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล

ชี้ศอ.บต.รับฟังตามกฎหมาย

ศอ.บต. เผยหนังสือผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัย ศอ.บต.เปิดฟังความเห็น “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” เป็นไปตามกฎหมาย ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติ ยุติเรื่องร้องเรียนการตรวจสอบหลังได้รับหนังสือถอนคำร้อง ว่า ตามที่กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นมีข้อร้องเรียนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตของศอ.บต.

โดยระบุว่ากระบวนการไม่ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบด้าน ไม่มีความเป็นธรรมและไม่มีมาตรฐาน เนื่องจากไม่คำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือถึงเลขาธิการ ศอ.บต. แจ้งผลการวินิจฉัยว่าจากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า ศอ.บต. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีคำวินิจฉัยยุติเรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้ ตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 โดยให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยให้ ศอ.บต. และผู้ร้องเรียนทราบต่อไป

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติยุติเรื่องร้องเรียนการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามโครงการเมืองต้นแบบฯ ของ ศอ.บต. หลังผู้ร้องมีหนังสือถอนคำร้อง ที่ 1/2563 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแจ้งว่าประสงค์ใช้สิทธิตามกฎหมายผ่านช่องทางอื่นแทน จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงถือเป็นกรณีตามมาตรา 39 (9) และข้อ 17 (2) ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสั่งยุติเรื่องหากเป็นเรื่องที่ผู้ร้องประสงค์ขอถอนเรื่องร้องเรียนเห็นควรยุติเรื่อง

“ผู้ร้องเรียนในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งโดยตรงและทางอ้อม หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อมูลทางวิชาการที่เป็น หรือจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการดังกล่าว สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบหรือทาง ศอ.บต. ในฐานะ ผู้ดำเนินการต่อไปได้”

ตร.ตรึงกำลังรับม็อบราษฎร

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการนัดชุมนุมใหญ่หลายกลุ่มพร้อมกันในวันที่ 12 ธ.ค. ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ จุดชุมนุมใหญ่อยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป คาดการณ์ว่ามี 3 เส้นทางที่จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุม คือ ถ.เพลินจิต ถ.ราชดำริ และถ.พระราม 1 ที่จะผ่านแยกราชประสงค์ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะทำกิจกรรมทราบว่าเป็นกลุ่มราษฎรและกลุ่มแนวร่วม ให้หน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ดูแลสถานการณ์ไว้แล้ว

โฆษก บช.น.กล่าวว่า ส่วนข้อมูลด้านการข่าวมีการเฝ้าระวังเรื่องการใช้ความรุนแรง เนื่องจากทราบว่ายังมีกลุ่มที่เคยสร้างสถานการณ์ต่างๆ เข้าไปร่วมการชุมนุมด้วย ส่วน เป้าหมายหลักคือการเรียกร้องในประเด็นยกเลิกมาตรา 112 โดยจะใช้พื้นที่บริเวณแยก ราชประสงค์ทำกิจกรรมคล้ายกับเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา จากข้อมูลยังไม่พบว่าจะมีการ เคลื่อนขบวน ส่วนการรักษาความปลอดภัยจะใช้การตั้งด่าน ตั้งจุดคัดกรอง ป้องกันการนำสิ่ง ผิดกฎหมายเข้าพื้นที่ชุมนุม หากพบว่าผู้ชุมนุมปรับแผน ตำรวจจะปรับแผนรับมือตาม

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าเรื่องการจัดกิจกรรมคู่ขนานในหลายจังหวัดตำรวจเฝ้าระวังต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องเฟกนิวส์ซึ่งตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานคดีในภายหลัง สำหรับการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินคดีแล้ว 801 คดี สอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง 406 คดี ที่เหลืออยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน