ถกผ่อนวันนี้31มค.ฉีดเด็ก

ศบค.ชุดใหญ่ถกวันนี้ผ่อนคลายมาตรการ เตรียมนำ ‘เทสต์แอนด์โก’กลับมาใช้ เพิ่มพื้นที่สีเหลือง 20 จังหวัด จ่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือนถึงสิ้นมี.ค. ชะลอเปิดผับบาร์ หลังพบผับบาร์ 21 แห่งทำติดเชื้อลาม สธ.ห่วงตรุษจีนเชื้อระบาด แนะเข้มงวดตามมาตรการ ศบค.เผยติดเชื้อใหม่อีก 7,122 เสียชีวิตอีก 12 ฉีดวัคซีนแล้วทะลุ 110 ล้านโดส ‘อนุทิน’เผยไฟเซอร์ฉีดเด็ก 5-11 ขวบล็อตแรกมาถึงไทย 26 ม.ค.นี้ พร้อมฉีดเด็ก 31 ม.ค.ที่ร.พ.เด็กแห่งแรก นำร่องเด็กกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว เผย 1 ขวดฉีดได้ 10 คน เก็บได้นานขึ้นถึง 10 สัปดาห์

ติดเชื้ออีก 7,122-ตายเพิ่ม 12
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,122 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,935 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,846 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 89 ราย มาจากเรือนจำ 15 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 172 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,460 ราย อยู่ระหว่างรักษา 81,602 ราย อาการหนัก 511 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 12 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 6 ราย เป็น ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย โรคเรื้อรัง 3 ราย เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปี 270 คน อัตรา 0.22% ทิศทางถือว่าใกล้เคียงกับทั่วโลก แม้จะทรงๆ แต่ผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ผู้เสียชีวิตวันนี้มาจากกทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตาก พิษณุโลก สตูล สุราษฎร์ธานี ระยอง และสระแก้ว พบว่า 58% ไม่ได้รับวัคซีนเลย ที่เหลือรับวัคซีนไม่ครบ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยง แม้จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนก็ทำให้รุนแรงจนเสียชีวิตได้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,344,933 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,241,363 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,968 ราย

ฉีดวัคซีนวันที่ 18 ม.ค. เพิ่มขึ้น 481,828 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 จำนวน 110,310,481 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 335,286,854 ราย เสียชีวิตสะสม 5,573,381 ราย

สำหรับ 10 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ได้แก่กรุงเทพฯ 820 ราย สมุทรปราการ 601 ราย ชลบุรี 506 ราย ภูเก็ต 383 ราย นนทบุรี 319 ราย ขอนแก่น 313 ราย ปทุมธานี 250 ราย สมุทรสาคร 185 ราย อุบลราชธานี 166 ราย และระยอง 156 ราย

“ส่วนหนึ่งปัจจัยการติดเชื้อมาจากรับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้เว้นการสังสรรค์พบปะ ร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนในสถานที่ทำงาน ช่วยกันลดตัวเลข” พญ.อภิสมัยกล่าว

แฉ 21 ผับแพร่เชื้อโควิด
ทั้งนี้ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา มีคลัสเตอร์ที่พบการระบาดมากที่สุด ได้แก่คลัสเตอร์ร้านอาหาร ซึ่งในส่วนของสถานบันเทิงคงต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน เพราะจะเป็นปัจจัยที่ ประชุมศบค.ชุดใหญ่ จะพิจารณาว่าจะผ่อนคลายหรือไม่

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 19 ม.ค. รายงานว่าสถานบันเทิงกึ่งผับที่เปิดเป็นร้านอาหารมีการระบาดหลายคลัสเตอร์ ทั้งร้านมูนบาร์ จ.นนทบุรี ร้านฮันนี่ไนท์ จ.เพชรบุรี ร้านแสงคำ จ.อุบลราชธานี และจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศพบการติดเชื้อในสถานบันเทิง 21 แห่ง มี 7 ร้าน ที่เปิดผ่านการประเมินโควิดฟรีเซ็ตติ้ง แต่ย่อหย่อนมาตรการทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขึ้น ซึ่ง 7 ร้านดังกล่าวมีในหลายพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น ขณะที่อีก 14 ร้านเป็นการเปิดโดยไม่ได้ขออนุญาตจังหวัด อาทิ ร้านท่าช้าง ร้านเสี่ยวสันติธรรม จ.เชียงใหม่ ร้านดาร์กบาร์ ร้านรีเพลย์กราวด์ จ.ขอนแก่น ร้านพระราม 8 จ.พะเยา และยังพบที่จ.ชลบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อุดรธานี และมหาสารคาม ก็มีรายงานเข้ามา ถือเป็นการเปิดอย่างผิดกฎหมาย และแม้เป็นร้านที่เปิดในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวก็เปิดได้เพียงเวลา 21.00 น. และข้อมูลที่กล่าวมานี้ไม่ได้ตำหนิ แต่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ

ชงศบค.เคาะปรับระดับสี
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุติดเชื้อคือเรื่องสภาพแวดล้อม ไม่จัดการระบบระบายอากาศ ไม่จำกัดเวลานั่งรับประทานอาหารในร้าน ไม่เว้นระยะห่าง ไม่จำกัดผู้ใช้บริการ รวมถึงยังพบไม่มีการคัดกรองความเสี่ยงของผู้ให้บริการ บางร้านไม่สามารถแสดงผลการฉีดวัคซีนของพนักงานได้ อีกทั้งยังไม่ได้ตรวจเอทีเคพนักงานทุก 7 วันตามมาตรการของสาธารณสุข บางร้านที่ตรวจสอบประวัติพนักงาน บางรายมีความเสี่ยงสูงยังให้ปฏิบัติงาน และเกือบทุกร้านไม่มีผู้รับผิดชอบเฝ้าระวังการติดเชื้อในร้าน สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อ ที่สำคัญยังพบไม่คัดกรองความเสี่ยงของผู้มารับบริการ ไม่ตรวจสอบประวัติลูกค้า เช่นเช็กประวัติ มีไข้ ไอ เสมหะหรือไม่ ไปพื้นที่เสี่ยงไหม รวมถึงไม่ได้ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ไม่คัดกรองอุณหภูมิ การชำระเงินที่อาจเกิดการสัมผัส ห้องน้ำ ลูกบิดประตู ไม่มีการทำความสะอาด

“ขอฝากประชาชนและผู้ประกอบการตรวจสอบข้อมูลเพื่อตัดสินใจในการเข้าใช้บริการ เหล่านี้คือข้อมูลนำเข้าให้ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาหากจะเปิดต้องเปิดอย่างปลอดภัย โดยการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับระดับพื้นที่สี ซึ่งจะพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่มองแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ต้องดูความพร้อมในการรักษาพยาบาลของพื้นที่นั้นๆ ด้วย รวมถึงจะพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร”

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วนทิศทางทั้งประเทศตัวเลขรายงานติดเชื้อสูงๆ อยู่ในกลุ่มจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า แต่ภาพรวมตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา ใน 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว คือ กทม. ภูเก็ต กระบี่ พังงา กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และชลบุรี ตัวเลขขยับขึ้น แต่การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ สธ.และ ศบค.ไม่ได้ดูแค่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ดูระบบสาธารณสุขในพื้นที่รับมือได้เหมาะสม มีประสิทธิภาพหรือไม่ และต้องลงพื้นที่ดูปัจจัยเสี่ยงและแก้ให้ตรงจุด ตัวเลขติดเชื้อไม่ใช่อย่างเดียวในการพิจารณาว่าจะผ่อนคลายหรือไม่ ส่วน 18 จังหวัดที่เปิดนำร่องท่องเที่ยวบางพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง อุดรธานี จันทบุรี ตราด หนองคาย รวมๆ แล้ว ทิศทางที่ สธ.เฝ้ามองยังทรงๆ ไม่ได้สูงขึ้นถึงรับไม่ไหว เป็นข้อมูลที่ต้องพิจารณา

นักท่องเที่ยวติดเชื้อ 4.5 พัน
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวต่อว่า ส่วนการเข้าราชอาณาจักร ประชาชนคงมีคำถามการเข้ารูปแบบ Test&Go ที่ระงับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.2565 มีผู้เข้าประเทศ 130,355 คน ติดเชื้อ 4,515 คน คิดเป็น 3.46% ซึ่งสธ. กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ติดตามใกล้ชิด นอกจากรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ ติดตามมาตรการ ถ้าพบปัญหาแต่เนิ่นๆ หน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ไข เช่นติดตามนักท่องเที่ยวด้วยแอพพลิเคชั่น 100% แก้ไขปัญหาเรื่องโรงแรม ร.พ. คู่ปฏิบัติการที่ดูแลนักท่องเที่ยวเจ็บป่วย พื้นที่ประชาชนที่เข้าไปดูแลมีความพร้อม อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ศบค.พิจารณาให้เกิดการผ่อนคลายพรุ่งนี้ได้เช่นกัน เราจะต้องดูแลสุขภาพประชาชน ควบคู่การดำเนินการ ชีวิตปกติมากที่สุด ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ ในระบบสาธารณสุขรองรับได้ ให้ติดตามพรุ่งนี้ว่าผลเป็นอย่างไร

ชงเพิ่ม 20 จว.สีเหลือง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 20 ม.ค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน จะมีวาระพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วย

นอกจากนั้นจะพิจารณาการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจากเดิมอยู่ในระดับสีส้ม มี 69 จังหวัด และสีฟ้า 8 จังหวัด และ 13 จังหวัดบางพื้นที่ จะมีการปรับลดความเข้มข้นของมาตรการ โดยจะปรับพื้นที่จากสีส้มเดิมเป็นสีเหลือง ประมาณ 20 จังหวัด ขณะที่พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หรือพื้นที่สีฟ้า จะยังไม่มีการปรับเพิ่มเติมจังหวัด

นำเทสต์แอนด์โกมาใช้
สำหรับการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ที่ประชุมจะพิจารณานำรูปแบบการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go กลับมาใช้ โดยผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาในระบบ จะต้องมีการคัดกรองเชื้อในวันแรก และวันที่ 6 ด้วยการตรวจ RT – PCR หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนด 7 วัน หากตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อ สามารถเดินทางได้ทั่วราชอาณาจักร เพราะถือว่าปลอดภัย โดยระหว่าง 7 วันแรกผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องมีการแจ้งตำแหน่งและพิกัดการเดินทางในแอพพลิเคชั่นติดตามตัว นอกจากนี้จะมีการพิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนเดือนก.พ.2565

ยืด‘ฉุกเฉิน’2 เดือน-เลื่อนเปิดผับ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมจะพิจารณาการขยายระยะเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ออกไปอีก 2 เดือน โดยสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.2565 เนื่องจากต้องบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งการสกัดกั้นการเข้าประเทศหรือออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค

ส่วนการเปิดร้านอาหารผับ บาร์ คาดการณ์ว่าที่ประชุมอาจมีการเลื่อนการเปิดดำเนินกิจกรรมออกไปก่อน หลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดจนเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ใน 14 แห่ง ส่วนผู้ที่มีการปรับกิจการให้อยู่ในรูปแบบร้านอาหารกึ่งผับ จะต้องมีการตรึงมาตรการเข้ม โดยมอบหมายให้กทม.แล้วพื้นที่จังหวัดเข้าตรวจอย่างเข้มงวด

ถกปรับลดระดับแจ้งเตือนโควิด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวโน้มการลดระดับประกาศเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศลดระดับ เพราะต้องมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค. โดยต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงเราไม่ค่อยกลัว แต่ที่กลัวคือการระบาดมากจะทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งตามหลักวิชาการโอมิครอนต้องดู 4 รอบการติดเชื้อถึงจะสามารถคำนวณตัวเลขทางสถิติได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการติดเชื้อโอมิครอนสะสมประมาณ 1 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 60% ของเชื้อที่ระบาดในไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่ 95-96% อาการน้อย มีอาการมาก 2-3% ส่วนกรณีเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว มีเสียชีวิตยืนยันจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว และมีอีก 1 รายที่ติดเชื้อโอมิครอนอาการรุนแรง แต่มีปัญหาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและวัณโรคลงปอด ดังนั้น จะเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ากรณีอาการหนักหรือเสียชีวิตเป็นเพราะต้นทุนสุขภาพเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้วหรือเป็นเพราะเชื้อโอมิครอน

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ภาพรวมการติดเชื้อระลอกล่าสุดสถานการณ์ทรงตัวต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเลยจุดพีกแล้วหรือยัง แต่คาดว่าสถานการณ์คงเป็นไปในระดับนี้และแนวโน้มจะต่ำลง อย่างไรก็ตาม สธ.ไม่ได้เบาใจ เพราะเราต้องเต็มที่ทุกครั้ง สถานการณ์วันนี้ยังรับมือได้ แต่ต้องระมัดระวังเพราะบางพื้นที่ระบาดเร็วมาก แต่จะเห็นว่าครั้งนี้คุมได้เร็วเพราะเราเตรียมกำลังพร้อมมาตั้งแต่ช่วงคริสต์มาส การยกระดับเตือนภัยและประชาชนให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยและการฉีดวัคซีน

เมื่อถามถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเปิดให้เข้าประเทศผ่านระบบ Test&Go อีกครั้ง นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการเสนอเพิ่มมาตรการแน่นอน เพราะตอนนี้ยังพบการติดเชื้อของคนเดินทางเข้าประเทศ จึงต้องมีมาตรการเพิ่ม โดยเฉพาะค่าตรวจ RT-PCR ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรครับผิดชอบค่าใช้จ่ายการตรวจครั้งที่ 2 คิดเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นการเปิด Test&Go จะต้องให้ผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจะตรวจ 3 รอบ คือ วันแรกที่เดินทางถึง ครั้งที่ 2 ตรวจภายใน 7 วัน และครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องออกนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องให้ซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาตามหลักเกณฑ์ของประเทศไทยทุกระบบ จากเดิมครอบคลุมเพียงการเข้ารักษาที่ ร.พ. หากบริษัทประกันต่างชาติที่ซื้อมาไม่ครอบคลุมก็ต้องให้ซื้อเพิ่มที่ไทย

เมื่อถามถึงการลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์สาธารณสุข (EOC) กรณีโควิด เห็นชอบแล้วว่าลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วัน ให้มีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK วันที่ 5-6 เมื่อกักตัวครบ 7 วันสามารถออกมาทำกิจกรรมได้ แต่ให้เฝ้าระวังตัวเอง ลดการเจอผู้คนให้น้อยที่สุดเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นตรวจ ATK วันที่ 10 ย้ำว่ากรณีสวมหน้ากากอนามัยทั้งคู่ถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูง

ดีเดย์ 31 มค.ฉีดเด็ก 5-11 ขวบ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบว่า ได้รับรายงานจากนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วัคซีนล็อตแรกจะเข้ามาถึงประเทศไทยวันที่ 26 ม.ค.นี้ จำนวน 3 ล้านโดส จาก 10 ล้านโดสที่สั่งจองไว้ในเบื้องต้น จากนั้นจะสุ่มตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจรับรองรุ่นการผลิต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก็ทราบผล จากนั้นจะกระจายไปฉีดเด็ก เริ่มที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) ก่อนเป็นแห่งแรก เพื่อเดินหน้าฉีดให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงก่อน นอกจากนี้จะกระจายไปยังร.พ.ต่างๆ ซึ่งได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ทั้งนี้ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนเพื่อความปลอดภัย

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็กจะเริ่มในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพราะเมื่อวัคซีนมาถึงในวันที่ 26 ม.ค. ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ และกระจายวัคซีนไปยังร.พ.ต่างๆ โดยวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กจะมีขนาด 1 ขวด บรรจุ 1.3 มิลลิลิตร และเมื่อผสมกับน้ำเกลือจะมีขนาด 2.6 มิลลิลิตร ทำให้วัคซีน 1 ขวด สามารถฉีดให้กับเด็กได้ถึง 10 คน คนละ 0.2 มิลลิลิตร และบริษัทได้พัฒนาให้วัคซีนสามารถเก็บรักษาได้นานหลังผสมน้ำเกลือในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ จากเดิม 4 สัปดาห์

สพฐ.แจงไม่บังคับนร.ตรวจเอทีเค
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กรณีที่มีผู้ปกครองออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการตรวจ ATK นักเรียนสัปดาห์ละครั้งนั้น ตามนโยบายไม่ได้กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ยกเว้นโรงเรียนขนาดใหญ่ให้มีการสุ่มตรวจ ร้อยละ 10 ของเด็กที่มาเรียนในทุก 2 สัปดาห์ และกลุ่มเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องตรวจ แต่การที่โรงเรียนไปปฏิบัติเช่นนั้นอาจเป็นเพราะไม่ได้มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและขอความเห็นจากกรรมการสถานศึกษา ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ ที่แต่ละโรงเรียนต้องหารือร่วมกัน รวมถึงกรณีที่นักเรียนไม่ได้ฉีดวัคซีนสามารถมาเรียนออนไซต์ได้หรือไม่ ตรงนี้โรงเรียนและกรรมการสถานศึกษาต้องหารือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในทางปฏิบัติ

โคราชติดเชื้อพุ่ง 119
ส่วนจ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย เป็นการติดเชื้อกันเองในจังหวัด 181 ราย และติดเชื้อมาจากนอกจังหวัด 9 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 36,418 ราย รักษาหายแล้ว 34,195 ราย ยังรักษาอยู่ 1,931 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 292 ราย

ทั้งนี้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 2,633,207 ราย โดยฉีดวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 1,722,115 ราย คิดเป็น 65.40 % ,เข็ม 2 ฉีดได้ 1,619,579 ราย คิดเป็น 61.51 % ,เข็ม 3 ฉีดได้ 388,966 ราย คิดเป็น 14.77 % รวมฉีดแล้ว 3,730,660 โดส

มทส.ติดเชื้อเพิ่ม 10 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงว่า มีบุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีติดเชื้อเพิ่ม 10 ราย เป็นนักศึกษา 9 คน และบุคลากรอีก 1 คน ยอดติดเชื้อสะสม 115 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีบุคลากรและนักศึกษา 54 ราย ที่มีการติดเชื้อในช่วงหลังปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 5-18 ม.ค. 2565

ผู้ติดเชื้อใหม่ สอบสวนโรคพบว่ามีประวัติไปดื่มสังสรรค์และสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ที่ร้านอาหารด้านหลังของมหาวิทยาลัย บริเวณประตู 4 (ประตูกัลยาณมิตร) ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา และมีประวัติไปเตะฟุตบอลกับผู้ที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่สนามหญ้าเทียมแห่งหนึ่งพื้นที่ต.สุรนารี ขณะที่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานอยู่ที่เทคโนธานี มีประวัติไปเฝ้ารักษาอาการลูกชายที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างวันที่ 10-16 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีแล้ว นอกจากนี้ยังพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 26 ราย

มุกดาหารวุ่นคลัสเตอร์งานแต่ง
น.ส.วันวิภา แพงแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 41 ราย ที่อ.ดงหลวงตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ใหม่มีผู้ป่วย 14 ราย จากงานแต่งบ้านน้ำบ่อ ต.หนองบัว อ.ดงหลวง พบผู้ป่วยรายแรกวันที่ 14 ม.ค. กำลังดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค ถึงวันที่ 30 ม.ค. 2565 และกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง 111 คน จำนวน 75 หลังคาเรือน

“ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงผู้ติดเชื้อกรณีงานแต่งบ้านน้ำบ่อด้วย ATK จำนวน 40 ราย พบผลบวก 2 รายส่งตรวจ ด้วย PCR รอผลอีก 86 ราย จากรายงานกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารระบุว่าคลัสเตอร์งานแต่งบ้านน้ำบ่อ อ.ดงหลวง พบผู้ป่วยซึ่งเป็นน้องชายเจ้าสาวเดินทางมาร่วมงานแต่งจากอ.นาแก จ.นครพนม เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และตรวจพบเชื้อโควิด-19 เจ้าบ่าว -เจ้าสาว และญาติในเวลาต่อมา จึงดำเนินการปิดหมู่บ้านและกักตัวทุกคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อทันที”

ด้านนายชาคริต ชุมจันทร์ นายอำเภอดงหลวง เปิดเผยว่า ที่ประชุม EOC ต.หนองบัว อ.ดงหลวง มีมติกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมโรค กรณีงานแต่งงานบ้านน้ำบ่อ ดังนี้ ปิดทางทางเข้า-ออกหมู่บ้านบ้านน้ำบ่อ เพื่อคัดกรองคนเข้าออกหมู่บ้าน จัดทีมประเมินผู้กักตัวอย่างมีคุณภาพ โดยติดป้ายหลังคาเรือนผู้กักตัว ทุกหลังคา งดกิจกรรมการรวมตัวทุกอย่างในตำบล รวมทั้งงานบุญ ถึงสิ้นเดือนม.ค.2565 งดตลาดนัด 1 สัปดาห์ เร่งรัดฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและเข็มกระตุ้น เข็ม 3 และ 4 นำกองทุน พช.อ.ดงหลวงจัดซื้อน้ำและอาหาร ดูแลประชาชนตลอดระยะการกักตัว

เชียงใหม่เจออีก 4 คลัสเตอร์
ส่วนจ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 144 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 141 ราย ประกอบด้วยคลัสเตอร์ใหม่ และเดิมที่ยังคงระบาด 25 ราย จาก 4 คลัสเตอร์ เป็นคลัสเตอร์ใหม่ทั้งหมดประกอบด้วย คลัสเตอร์ใหม่หอ ผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกชาย โรงพยาบาลนครพิงค์ พบป่วยใหม่ 13 ราย โดยเป็นพยาบาล 3 ราย นอกนั้นเป็นผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในตึกดังกล่าว

คลัสเตอร์ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม พบติดเชื้อใหม่ 7 ราย คลัสเตอร์ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ พบติดเชื้อใหม่ 4 ราย โดยทั้ง 2 ค่ายอยู่ระหว่างการสอบสวน และ คลัสเตอร์แผนกผลิตรายการ We TV ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ พบติดเชื้อใหม่ 1 ราย ยอดรวม 3 ราย

นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิง อายุ 84 ปี มีโรคประจำตัว คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน โดยในวันที่ 9 ม.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ หายใจเหนื่อย วันที่ 11 ม.ค. เหนื่อยมากขึ้น กู้ชีพนำส่ง ร.พ.นครพิงค์ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ ตรวจ RT-PCR ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด รับการรักษาที่ร.พ.นครพิงค์ แพทย์รักษาประคับประคองเรื่อยมา กระทั่งวันที่ 18 ม.ค. ระบบหายใจล้มเหลว เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผู้เสียชีวิตสะสมของเชียงใหม่ทั้งหมด 195 ราย

ภูเก็ตติดเชื้อเพิ่ม 567
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 567 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 475 ราย ผู้ติดเชื้อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 80 ราย ผู้ติดเชื้อ Test&Go 12 ราย ผู้ติดเชื้อยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,147 ราย หายป่วยกลับบ้าน 479 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 28,038 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในจังหวัด 25,165 ราย ติดเชื้อโครงการรับกลับบ้าน 42 ราย ผู้ติดเชื้อรับจากต่างจังหวัด 25 ราย ผู้ติดเชื้อลูกเรือต่างประเทศ 19 ราย ผู้ติดเชื้อต่างประเทศ 46 ราย ผู้ติดเชื้อแซนด์บ็อกซ์ 1,950 ราย ผู้ติดเชื้อ test&go 852 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 146 ราย

จับจริงนักท่องเที่ยวไม่ใส่แมสก์
ด้าน พ.ต.อ.ธเนศ สุขชัย ผกก.ตม.จ.ภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 คือไม่ใส่แมสก์ในสถานที่สาธารณะ เรื่องนี้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เชิญกงสุล 22 ประเทศที่อยู่ในภูเก็ตมาประชุมร่วมกันในการยกระดับเข้มมาตรการให้สื่อสารไปถึงนักท่องเที่ยวให้รับทราบมาตรการของจังหวัด ต้องเคารพและปฏิบัติตามมาตรการและการรักษาตัวต่างๆ ตลอดจนขอให้กงสุลเป็นสื่อกลางประชา สัมพันธ์ไปถึงคนที่อยู่ในประเทศต้นทางที่จะเดินทางเข้ามาภูเก็ตด้วย

“การดำเนินการก้าวต่อไป ถ้าพบฝ่าฝืนเริ่มจะมีการจับกุมและแจ้งความดำเนินคดี โดยนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต มอบให้ สสจ.ภูเก็ตเป็นผู้เข้าแจ้งความ คือต้องมีเคส สตัดดี้ ส่วนโรงแรมต่างๆ ขอให้แจ้งการเข้าพักของนักท่องเที่ยว ต้องรายงานในระบบการเข้าพักของนักท่องเที่ยว รวมทั้งการเปลี่ยนโรงแรมที่พัก ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทราบด้วย ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาภูเก็ตและพบว่าติดเชื้อต้องกักตัวรักษานั้น ได้เสนอเรื่องนี้แก่รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ให้หากิจกรรมใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวทำในช่วงกักตัว อาจมีซีลรูตผู้ป่วยโควิด ในเส้นทางสถานที่ต่างๆ ที่สามารถไปได้ อาจจะเป็นแผนสำรองที่ดีกว่ามาบังคับกัน เมื่อเขาเข้ามาเที่ยวแล้วพบติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ” พ.ต.อ.ธเนศกล่าว

สธ.ชงปรับพื้นที่สีหลังคุมโควิดได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มคงที่ สถานการณ์จริงจากเดิมที่เคยไต่ตามฉากทัศน์เส้นสีเทา ลงมาแตะเส้นสีส้ม และเริ่มจะเข้าไปหาเส้นสีเขียวแล้ว เกิดขึ้นจากทุกคนร่วมมือกันดี ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ สอดคล้องกับที่รมว.สาธารณสุขให้นโยบายไว้ว่าจะต้องเริ่มผ่อนคลายให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ปกติ

เมื่อถามถึงกรณีพื้นที่ที่ไม่ระบาดมากถูกจำกัดไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร แต่พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวที่เป็นจุดระบาดกลับผ่อนปรนให้ดื่มได้ถึง 21.00 น. จะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า วันที่ 20 ม.ค.จะมีการประชุมศบค. ซึ่งสธ.จะเสนอปรับพื้นที่สีและมาตรการต่างๆ ซึ่งจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงเรื่อง Test & go เพราะถือว่าคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี การติดเชื้อควบคุมได้ การเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ และฉีดวัคซีนโควิดได้ตามเป้า

เมื่อถามว่ามีการเรียกร้องให้ยกเลิกตรวจ ATK และสวมหน้ากาก นพ.โอภาสกล่าวว่า คำแนะนำจากทั่วโลกไปในแนวทางเดียวกันว่าให้คัดกรองด้วย ATK มากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำอยู่แล้ว ส่วนการตรวจ ATK เป็นมาตรการเฝ้าระวังในผู้ที่สงสัยอาการตนเอง หรือผู้ที่ต้องเจอคนหมู่มาก ดังนั้น มีเครื่องมือคัดกรองด้วยตัวเองง่ายๆ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งย้ำว่าเราไม่เคยบังคับให้ตรวจ ATK แต่เป็นคำแนะนำเพื่อใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง โดยสถานประกอบการต่างๆ ก็มีมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัย สธ.ไม่เคยบังคับให้นักเรียนตรวจ ATK เป็นประจำ ยกเว้นในการสัมผัสกลุ่มเสี่ยง มีความเสี่ยงก็ต้องตรวจ ส่วนการตรวจด้วยน้ำลายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้

เมื่อถามถึงคนที่เคยติดเชื้อโควิดแล้วติดเชื้อซ้ำ นพ.โอภาสกล่าวว่า เราพบว่ามีรายงานผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้าโอมิครอนก็ติดโอมิครอนได้ แต่ส่วนใหญ่อาการจะน้อยลง จึงย้ำว่าแม้จะฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ แต่โอกาสจะน้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยรับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด สวมหน้ากากเช่นเดิม

ฉีดเข็ม – ประชาชนเข้าแถวต่อคิวรอฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่ร.พ.ปากช่องนานาจ.นครราชสีมา จำนวนมากจนยาวล้นออกมาถนนมิตรภาพด้านหน้าร.พ.เป็นระยะทางกว่าร้อยเมตร เมื่อวันที่19 ม.ค.

จ่อคลอดแผนฉีดเข็ม 4
เมื่อถามว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 4 ของประชาชนทั่วไปที่รับเข็ม 3 นานกว่า 3 เดือนแล้ว นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวทางการฉีดเข็ม 4 ให้ประชาชนทั่วไปคาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ขณะนี้ยังยืนยันแนวทางการฉีดเข็ม 4 ให้กลุ่มบุคลากรด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยง 608 ที่รับเข็ม 3 ครบ 3 เดือนแล้วให้ติดต่อรับเข็ม 4 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนประชาชนทั่วไปให้รอประกาศจากสธ. ซึ่งยังต้องขอดูข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากบางความเห็นก็บอกว่าไม่ต้องฉีด แต่ความเห็นทั่วไปคือควรจะฉีดกระตุ้น แต่ที่สำคัญคือระยะเวลา ตามที่เคยให้หลักการว่ายิ่งฉีดห่าง ภูมิคุ้มกันจะยิ่งขึ้นดี แต่เราก็กังวลว่าระหว่างนั้นก็อาจติดเชื้อได้ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่ฉีด แต่ต้องบาลานซ์เวลาให้เหมาะสม” นพ.โอภาสกล่าว

สธ.เตือน‘ตรุษจีน’เสี่ยงโควิด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการป้องกันโควิดทุกที่ ทุกโอกาส ทุกเทศกาลว่า ขณะนี้ใกล้จะถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ก.พ.2565 จะมีกิจกรรมทั้งวันจ่าย มีการซื้อของในตลาดและห้างสรรพสินค้า, วันไหว้ จัดงานที่บ้านและศาสนสถาน และวันเที่ยวที่มีการออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ถือว่าทั้ง 3 วันมีความเสี่ยงในการรวมกลุ่มของญาติจากต่างสถานที่ ส่วนตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ศาสนสถานเพื่อไหว้พระขอพร อาจมีความแออัด จึงมีคำแนะนำคือควรเลือกซื้อในตลาดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการประเมิน Thai Stop COVID สถานที่มีการจัดระบบระบายอากาศที่ดี พนักงานรับวัคซีนแล้ว ทุกคน มีการคัดกรองคนเข้าไปใช้บริการ ที่สำคัญคือควรวางแผนก่อนซื้อ เพื่อใช้เวลาที่ตลาดน้อยที่สุด และจุดที่เลือกซื้อสินค้าไม่ควรมีคนแออัด หรืออาจพิจารณาเลือกซื้อของเซ่นไหว้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อว่า ในวันรวมญาติ บุคคลที่ควรระมัดระวังสูงสุดคือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคประจำตัว เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด ล้างมือ เว้นระยะห่าง กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้ไปรับวัคซีน การไหว้บรรพบุรุษในบ้านควรจัดระบบถ่ายเทอากาศให้ดี ไม่ควรปักธูปไว้บนอาหาร เลี่ยงการเผากระดาษ และปรุงอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน ส่วนการเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ควรพกเจลแอลกอฮอล์ไปเอง และล้างมือบ่อยๆ กลับถึงบ้านก็ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทันที ทั้งนี้มาตรการต่างๆ ที่กรมดำเนินการนั้นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตปกติใหม่ ในทุกที่ ทุกโอกาส ทุกเทศกาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน