สธ.เปิดแผนวัคซีนเด็กเพิ่มฉีด-กลุ่มป่วย7โรคต้องมีกุมารแพทย์ดูแลไฟเซอร์3แสนถึงไทย‘วิษณุ’ถกศธ.-ห้ามสอบ

ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยแล้ว 14 เสียชีวิต 1 ส่วนยอดป่วยรายวัน 7.5 พันตายเพิ่ม 19 กทม.ป่วยพุ่ง 1.6 พัน ‘ไฟเซอร์’ ฉีดเด็ก 5-11 ขวบล็อตแรก 3 แสนโดสมาถึงไทยแล้ว เตรียมกระจายไปตามจว.ทั่วประเทศ สธ.เปิดแผนดีเดย์ฉีด 31 ม.ค. ประเดิมเด็ก กลุ่มเสี่ยง ฉีด 2 เข็ม เด็กทั่วไปฉีดที่โรงเรียน ห่าง 8 สัปดาห์ เพิ่มฉีดเด็กป่วย 7 โรคที่ร.พ. ห่าง 3-12 สัปดาห์ ให้กุมารแพทย์ประเมินอาการเสี่ยง เด็กกทม.แจ้งขอฉีด 1.3 แสน เริ่มปักเข็มต้นก.พ. ‘วิษณุ’ เตรียมถกศธ.ห้าม น.ร.ติดโควิดเข้าสอบแกต-แพต

ป่วยโควิดอีก 7,587-ตายเพิ่ม 19
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 7,587 ราย ติดเชื้อสะสม 2,398,944 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,801 ราย หายป่วยสะสม 2,295,569 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย เสียชีวิตสะสม 22,076 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 81,299 ราย มีอาการหนัก 519 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 97 ราย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 19 ราย มาจาก 12 จังหวัด ได้แก่ กทม. สูงสุด 5 ราย, เชียงใหม่ 3 ราย, กาฬสินธุ์ 2 ราย และสมุทรปราการ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต สงขลา สตูล ชลบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 6 ราย หญิง 13 ราย อายุ 8 เดือน – 94 ปี ค่ากลางอายุ 65 ปี โดยเป็น ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว 90% สำหรับเด็กอายุ 8 เดือนมาจาก จ.สิงห์บุรี

กทม.ยังติดเชื้อเกินพัน
ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,683 ราย 2.สมุทรปราการ 644 ราย 3.ภูเก็ต 343 ราย 4.ชลบุรี 345 ราย 5.นนทบุรี 324 ราย 6.ขอนแก่น 225 ราย 7.ปทุมธานี 213 ราย 8.ฉะเชิงเทรา 159 ราย 9.ราชบุรี 137 ราย และ 10.สมุทรสาคร 132 ราย

สำหรับจังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 5 จังหวัดคือ นครราชสีมา 125 ราย, ศรีสะเกษ 115 ราย, พระนครศรีอยุธยา 108 ราย, เชียงใหม่ 103 ราย และหนองคาย 101 ราย ส่วนติดเชื้อเพียงหลักหน่วยมี 5 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี 8 ราย, ลำพูน 7 ราย, อำนาจเจริญ 6 ราย, นราธิวาส 2 ราย และแม่ฮ่องสอน 1 ราย

ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำ 106 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 156 ราย ใน 41 ประเทศได้แก่ รัสเซีย 39 ราย, อินเดีย อุซเบกิสถาน ประเทศละ 11 ราย, คาซัคสถาน 8 ราย, อังกฤษ 7 ราย, อิสราเอล ฝรั่งเศส สหรัฐ อเมริกา ประเทศละ 6 ราย, เยอรมนี 5 ราย

ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1-25 ม.ค. 2565 รวม 162,691 ราย ติดเชื้อ 5,767 ราย คิดเป็น 3.54% มาจากระบบ Test&Go 68,790 ราย ติดเชื้อ 2,611 ราย คิดเป็น 3.8% แซนด์บ็อกซ์ 66,698 ราย ติดเชื้อ 2,533 ราย คิดเป็น 3.86% และกักตัว 28,203 ราย ติดเชื้อ 623 ราย คิดเป็น 2.21%

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 25 ม.ค. ฉีดได้ 421,737 โดส สะสม 113,181,596 โดส เป็นเข็มแรก 52,130,059 ราย คิดเป็น 74.9% ของประชากร เข็มสอง 48,281,036 ราย คิดเป็น 69.4% ของประชากร และเข็มสาม 12,770,501 ราย คิดเป็น 18.4% ของประชากร

ดับจากโอมิครอนแล้ว 7
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถอดรหัสพันธุกรรมพบสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 พบครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.65 โดยมีการส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลโลก GISIAD ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้รวมทั้งหมด 14 ราย แต่ทาง GISAID ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน จึงปรากฏข้อมูลแล้ว 6 ตัวอย่าง ส่วนอีก 8 ตัวอย่างจะขึ้นปรากฏให้เห็นอีก 1-2 วัน ส่วน 3 คำถามเวลามีสายพันธุ์ใหม่คือ แพร่เร็ว รุนแรง และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ปัจจุบันของ BA.2 ยังมีน้อยเกินไปที่จะสรุป

ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย 14-ตาย 1
“แต่เรื่องการแพร่เร็วนั้น หากสัดส่วนเปลี่ยนจากเดิม 2% ขึ้นเป็น 5-10% ในเวลาถัดมาอาจจะต้องจับตา แสดงว่าอาจจะแพร่ เร็วกว่า ส่วนอาการหนัก ข้อมูลในประเทศไทย 14 รายที่พบขณะนี้มาจากต่างประเทศ 9 ราย และติดเชื้อในประเทศ 5 ราย โดยมี 1 ราย เสียชีวิต คือคุณป้าติดเตียงจากภาคใต้ ที่เป็น ผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายแรกนั้นก็ยังบอกไม่ได้ว่า BA.2 รุนแรงกว่า BA.1 หรือไม่” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า เราส่งข้อมูล โอมิครอน 7 พันรายให้กรมการแพทย์ไปตามดู พบผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 0.1% อัตราเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสายพันธุ์ย่อยเดลตา เราพบมากกว่า 120 ตัว พบมากที่สุดคือ AY85 ที่ค่อนข้างมากในภูมิภาคนี้ บ้านเราพบ 49% อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดหากเดลตาถูกแทนด้วยโอมิครอน เดลตาที่กลายพันธุ์ก็ไม่มีความหมาย เพราะคนติดเชื้อเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด ก็ต้องมาติดตามโอมิครอนต่อไปทั้ง BA.2 BA.3 หรือการ กลายพันธุ์อื่นที่จะเกิดขึ้นก็ต้องใช้ระบบของเราตรวจจับ ซึ่งเรามีกระบวนการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้เร็วพอ

“เราเหมือนหลายประเทศในโลก ที่ว่าก.พ.นี้น่าจะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ ป่วยง่าย แพร่เชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงหนักและเสียชีวิตน้อย แต่ต้องบูสเตอร์ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะโอมิครอนในรอบนี้พบว่าคนที่มีร่างกายแข็งแรง รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะน้อยมาก แต่ผู้สูงอายุขึ้นไปกราฟเสียชีวิตชันขึ้นมาก อยากให้กลุ่ม เป้าหมายคนสูงอายุมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

เมื่อถามว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั่วโลกมีมากน้อยแค่ไหน มีผลต่ออาการและการกลายพันธุ์หรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการรายงานใน GISAID พบว่า BA.2 มีประมาณหมื่นตัวอย่าง และ BA.1 ประมาณ 4.2 แสนตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 40 เศษๆ แต่จะใช้สัดส่วนนี้เลยไม่ได้เพราะทั่วโลกมีโอมิครอนหลายสิบล้าน แต่ถ้าดูจากสัดส่วนนี้ก็ถือว่า BA.2 ยังไม่มาก แต่บางประเทศอย่างเดนมาร์กเขารู้สึกว่า BA.2 สัดส่วนสูงขึ้น ก็ต้องจับตาดู แต่ของเราเจอ 14 รายจากหมื่นกว่าราย ก็ต้องติดตามต่อไปในสัปดาห์ถัดๆ ไปว่าจะมีโผล่ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ ขณะนี้สรุปว่ายังไม่ต้องวิตกกังวลอะไร คงไม่ได้เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะถ้าเป็นแบบนั้นช่วง โอมิครอนระบาด 1-2 เดือนก็น่าจะแซงขึ้นมา ตอนนี้ยังไม่เยอะอะไร ส่วนการกลายพันธุ์อื่นทั่วโลกช่วยกันเฝ้าระวัง ต้องอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวรายงาน

สธ.เปิดแผนฉีดเด็ก 5-11 ขวบ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าววัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ขวบว่า วัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ อย.อนุญาตของไฟเซอร์ซึ่งจะนำเข้ามาเป็นสูตรสำหรับเด็กโดยเฉพาะ โดยเมื่อเช้าวันที่ 26 ม.ค.เข้ามาล็อตแรก 3 แสนโดสแล้ว และจะส่งทยอยส่งทุกสัปดาห์ โดยไตรมาสแรกม.ค.-มี.ค. 2565 จะส่งวัคซีนสูตรฝาส้มมาจำนวน 3.5 ล้านโดส รวมถึงทั้งหมดก็จะเป็น 10 ล้านโดสที่ครม.อนุมัติงบประมาณจัดซื้อไว้แล้ว เข้าใจว่าจะเพียงพอสำหรับเด็กเล็กอายุ 5-11 ขวบ ตอนนี้วัคซีนมาถึงประเทศไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งวัคซีนและเอกสารให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ หลังผ่านกระบวนการจะส่งไปที่จุดฉีดปลายทางทั่วประเทศต่อไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้เราจะฉีดวันที่ 31 ม.ค. คิกออฟเป็นครั้งแรกในเด็กอายุ 5-11 ขวบ มีโรคประจำตัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

สำหรับวัคซีนสำหรับเด็กจะต่างจากในวัคซีนผู้ใหญ่ที่ฉีดคราวก่อน ซึ่งของผู้ใหญ่ 1 ขวดจะฉีดได้ 6 คน คนละ 0.3 มิลลิลิตร ส่วนสูตรสำหรับเด็กฝาสีส้มเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการฉีดนั้น มีสารวัคซีนเข้มข้น 1.3 มิลลิลิตร ต้องเจือจางด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ 0.9% หรือผสมน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ พอผสมรวมกันจะได้ 2.6 มิลลิลิตร ขวดหนึ่งจึงฉีดได้ประมาณ 10 คน คนละ 0.2 มิลลิลิตร (ขนาด 10 ไมโครกรัมต่อโดส) ข้อดีคือสูตรเดิมเก็บในตู้แช่แข็งลบ 70 องศาเซลเซียส เอาออกมาเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ประมาณ 4 สัปดาห์ ส่วนสูตรใหม่นี้ปรับกระบวนการผลิตทำให้เก็บได้นานขึ้น ฉีดได้สะดวกขึ้นเก็บสูงสุด 10 สัปดาห์ แต่เมื่อเปิดแล้วต้องฉีดให้หมดใน 2-6 ชั่วโมง

เด็กป่วย 7 โรคฉีดที่ร.พ.
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการฉีดเด็กกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ขวบ จะฉีดที่โรงเรียน โดยใช้ระบบเดิมที่สธ.เคยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการในเด็กมัธยม ซึ่งคราวนี้เป็นเด็กอนุบาลถึงประถมศึกษาก็จะไล่เรียงการฉีดกันไป และที่เพิ่มเติมคือการฉีดที่ร.พ.ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯในการฉีดเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ 1.โรคอ้วน 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 3.หัวใจและหลอดเลือด 4.ไตวายเรื้อรัง 5.มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ 6.เบาหวาน 7.โรคพันธุกรรม ทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ซึ่งจะให้กุมารแพทย์ที่ดูแลเด็กนั้นๆ พิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีน

เด็กทั่วไปฉีดห่าง 8 สัปดาห์
“กำหนดการให้วัคซีนจะฉีด 2 ครั้ง ห่าง 3-12 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดในโรงเรียนเป็นฐานกำหนดห่าง 8 สัปดาห์ ส่วนร.พ.จะใช้ 3-12 สัปดาห์ เพื่อให้กุมารแพทย์ที่ดูแลเด็กนั้นตัดสินใจในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเด็กเป็นกรณีไป มีความยืดหยุ่น ไม่ตึงตัวเกินไป โดยให้ผู้ปกครองและหมอที่ดูแลร่วมกันตัดสินใจ แต่การฉีดใช้พื้นฐานเดิม คือ เป็นไปตามความประสงค์ผู้ปกครองเป็นหลัก ไม่มีการบังคับฉีดวัคซีน”

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายได้เอง อาจมีไข้หรือบางคนหนาวสั่น ปวดบวมรอยแดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ส่วนถ้าเทียบกับวัคซีนที่ฉีดเด็กโต จากข้อมูลของอเมริกาและสิงคโปร์ที่ฉีดก่อนเรา พบว่า ผลข้างเคียงในเด็กเล็กน้อยกว่าเด็กโต เพราะปริมาณฉีดน้อยกว่าผลข้างเคียงก็น้อยกว่า

เมื่อถามว่าคำแนะนำเดิมฉีด 2 เข็ม ห่าง 3-4 สัปดาห์ เหตุใดจึงเปลี่ยนเป็น 8 สัปดาห์ และฉีดในร.พ.ถึงให้นานถึง 12 สัปดาห์ นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัจจัยของระยะห่างมีเรื่องประสิทธิภาพการสร้างภูมิ ความปลอดภัย และสถานการณ์การระบาดของโรค ซึ่งการฉีดห่าง ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีกว่า และผลข้างเคียงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ตามเอกสารกำกับยาที่ขึ้นทะเบียน กำหนดฉีดห่าง 3-12 สัปดาห์ ซึ่งตอนแรกที่เรากำหนดห่าง 3-4 สัปดาห์ มาจากหลายเหตุผล เพราะตอนต้นปีมีการระบาดของโควิด โดยเฉพาะมีโอมิครอนค่อนข้างมาก จึงกำหนดระยะเวลาใกล้กัน 3-4 สัปดาห์ แต่เวลานี้การระบาดไม่รุนแรงมากนักเมื่อดูข้อมูลทั้งหมด ปรึกษาคำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ จึงกำหนดว่าถ้าฉีดโรงเรียนเป็นฐานกำหนดที่ 8 สัปดาห์ สร้างภูมิได้ค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อย สถานกาณ์ระบาดไม่รุนแรง ซึ่งการฉีดเป็นกลุ่มจึงกำหนดเวลาฉีดแน่ชัด ส่วนการฉีดในเด็กป่วยมีโรคประจำตัว ใช้ร.พ.เป็นศูนย์ฉีด กุมารแพทย์ดูแลเด็กจะรู้ข้อมูลว่าต้องฉีดเร็วหรือช้าอย่างไร จึงกำหนดที่ 3-12 สัปดาห์ ให้ใช้ดุลพินิจและประวัติคนไข้ในการตัดสินใจ

ย้ำเด็กเล็กต้องฉีด-ลดเสียชีวิต
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธาน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงข่าวการฉีดวัคซีน โควิดในเด็กอายุ 5-11 ขวบ โดยศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยถึง 98% การเสียชีวิตก็น้อย แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันด้วย โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้ รวมถึงจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว นอกจากนี้ช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เราพบภาวะอักเสบทั่วร่างกายหรือมิตซีในเด็กที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการไม่ติดเชื้อและไม่เป็นก็จะดีกว่า

“สำหรับวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่อย.รับรองคือของไฟเซอร์ ใช้ขนาด 10 ไมโครกรัม ทำมาเพื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงไม่ควรเอาสูตรของผู้ใหญ่มาแบ่งฉีด ถึงมีการทำฝาขวดสีต่างกัน เพื่อป้องกันการสับสน สำหรับผลข้างเคียงภายหลังการฉีด จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่มีการฉีดเด็กอายุ 5-11 ขวบไปแล้ว 9 ล้านคน พบว่าไม่มีปัญหาอะไร อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณแขนที่ฉีด แต่พบอาการไข้น้อยกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วันก็หายหมดค่อนข้างปลอดภัย ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คน แต่ตรวจแล้วอาการเล็กน้อย รักษาหายทั้งหมด ไม่มีอาการรุนแรงสักคน และคิดว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่”

ส่วนระยะห่างในการฉีดนั้นที่สหรัฐ ฉีดห่าง 3 สัปดาห์ ขณะที่อังกฤษและออสเตรเลียพยายามฉีดห่าง 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยลงไปอีกแทบไม่มีเลย ซึ่งเด็กเราต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เราจึงฉีดห่างไว้ก่อน 8 สัปดาห์ ภูมิขึ้นดี ผลข้างเคียงน้อยลง ดังนั้น การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำที่ 8 สัปดาห์ แต่เด็กที่มีโรคและกลัวจะติดก็เร่งฉีดได้ที่ประมาณ 4 สัปดาห์ ไม่ควรจะเร็วกว่านั้น เดิมที่ที่อังกฤษเอาที่ 12 สัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่โอมิครอนระบาดจึงเลื่อนมา 8 สัปดาห์ เพื่อให้เร็วขึ้นหน่อย สำหรับวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่จะฉีดในเด็ก อย.ยังไม่รับรอง กำลังรอข้อมูลอยู่

ให้กุมารแพทย์ร่วมพิจารณา
ด้าน นพ.อดิศัยกล่าวว่า เด็กอายุ 5-11 ขวบมีประมาณ 5 ล้านคน จำนวนนี้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มีประมาณ 9 แสนคน สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ขวบที่มีโรคประจำตัวนั้น ยืนยันว่าเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.จะบริหารวัคซีนตามความเหมาะสมของจำนวนผู้ป่วยอายุ 5-11 ขวบที่มีโรคประจำตัวและผู้ปกครองยินยอม, จำนวนวัคซีนที่รับการจัดสรร และความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด โดยกุมารแพทย์จะประเมินว่าเด็กที่มีโรคประจำตัวมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ หลักๆ มี 2 เรื่อง คือ 1.ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน ชะลอหรือเลื่อนการฉีด จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ 2. เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน

หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง ต้องช่วยกันดูแลตรงนี้

สำหรับข้อกังวลอาการข้างเคียงด้านหัวใจ ตามรายงานมีจริง แต่ทุกรายสามารถรักษากลับสู่ปกติได้หมด อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและให้ผู้ปกครองเบาใจ จึงมีการจัดระบบเครือข่ายการส่งต่อดูแล โดยหากเด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้รีบพามา ร.พ.ใกล้บ้านทันทีเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอะไรไมได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว

นพ.อดิศัยกล่าวว่า สำหรับการคิกออฟฉีดที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ วันที่ 31 ม.ค. จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเรามีคนไข้ของเรา 4 พันคน และมีแผนฉีดแล้ว แต่วันที่จะเปิดคิกออฟฉีดไม่มาก เป็นการฉีดเพื่อทดสอบระบบ และไม่แออัดมาก หลังฉีดมีคิวอาร์โค้ดประเมินผลข้างเคียง และช่องทางให้ความรู้การดูแลหลังฉีด

กทม.พร้อมฉีดเด็ก1.3แสน
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผอ.สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จากคนในครอบครัวว่า กทม.โดยสำนักการศึกษา ประสานสำนักงานเขต เพื่อแจ้งโรงเรียนในสังกัด กทม.ที่เปิดสอนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา 431 โรงเรียนสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 5 – 11 ขวบ ทั้งนี้มีนักเรียนแจ้งความประสงค์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 130,922 คน เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนกลุ่มดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้นักเรียนได้ประมาณต้นเดือนก.พ.นี้

ภูเก็ตติดเชื้อเพิ่ม 455
จ.ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 455 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 343 ราย ผู้ติดเชื้อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 110 ราย ผู้ติดเชื้อเทสต์แอนด์โก 2 ราย หายป่วยกลับบ้าน 327 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 31,487 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในจังหวัด 27,796 ราย ติดเชื้อโครงการรับกลับบ้าน 42 ราย ผู้ติดเชื้อรับจากต่างจังหวัด 25 ราย ผู้ติดเชื้อลูกเรือต่างประเทศ 19 ราย ผู้ติดเชื้อต่างประเทศ 28 ราย ผู้ติดเชื้อแซนด์บ็อกซ์ 2,717 ราย ผู้ติดเชื้อเทสต์แอนด์โก 902 ราย ผู้ติดเชื้อรักษาหายทั้งหมด 28,011 ราย ผลแล็บผิดพลาด 2 ราย ส่งต่อต่างจังหวัด 10 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 150 ราย ขณะนี้ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,476 ราย

เมืองคอนให้ ป.4 เรียนออนไซต์
นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าฯนครศรี ธรรมราช แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สถานศึกษา ทุกสังกัดที่มีความพร้อมและมีแนวทางการ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค สามารถเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ สำหรับ นักเรียนป.4 เป็นต้นไป

หนุ่มดับหลังฉีดเข็ม 3 ไม่กี่ช.ม.
วันเดียวกัน ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Madamkan Good Job โพสต์ภาพและเรื่องราวว่า “ไฟเซอร์ คร่าชีวิต ไปจากคนที่รักและครอบครัว หลับให้สบายนะ อั๋น เอ้ย แม่ขอบใจเอ็งมากที่ผ่านมา ที่ดูแลแก๊งมาตลอด แม่ขอให้ฮั่นไปสู่สุคติภพภูมิที่ดีน่ะ ลูก วันเกิดลูกกลายเป็นวันสุดท้ายของพ่อ #มันจุกจนพูดไม่ออก #มันคือความสะเพร่าของพยาบาลเขาติ๊กแล้วว่ามีไข้และมีโรคทางเดินหายใจเรื้อรั้ง #พยาบาลไม่มีการตรวจวัดไข้หรือความดันทั้งก่อนฉีดและหลังฉีด”

นางไพลิน จันทะโสภี อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47/51 หมู่ 9 ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ภรรยาของนายมนตรี หรือ อั๋น จันทะโสภี อายุ 38 ปี พนักงานขับรถส่งของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางใหญ่ซึ่งเป็น ผู้เสียชีวิตตามที่โพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าว เปิดเผยว่า หลังจากนายมนตรีไปฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ซึ่งเป็นเข็ม 3 ตามที่ลงทะเบียนกับแอพหมอพร้อม ที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อเวลา 13.52 น. วันเดียวกันนี้ จากนั้นนั่งรออาการ 30 นาทีแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน ก่อนจะเดินทางไปธนาคารไทยพาณิชย์ช่วงเวลา 16.00 น. กระทั่งเกิดอาการแน่นหน้าอกและเสียชีวิตในเวลาต่อมาภายในธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่ธนาคารพยายามจะยื้อชีวิตด้วยการปั๊มหัวใจ ก่อนรีบนำตัวส่งร.พ.พระนั่งเกล้า แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

นางไพลินกล่าวด้วยว่า วันนี้สามีมีนัดไปฉีดวัคซีนเข็ม 3 ตามกฎระบียบที่บริษัทกำหนด เมื่อกลับมาถึงบ้าน สามีบ่นว่าเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก จึงกินยาพาราลดไข้ 2 เม็ด จากนั้นช่วงบ่ายสามกว่าๆ สามีบอกว่าจะไปรับลูก แต่ตนขอไปรับเอง สามีเลยออกไปธนาคารเพื่อไปเบิกเงินมาเตรียมซื้อของขวัญให้ลูกและซื้อของมาทำหมูกระทะเลี้ยงวันเกิดให้ลูกชายคนเล็ก แต่กลับกลายมาเป็นข่าวร้ายเมื่อตนรู้ว่าสามีไปน็อกวัคซีนที่ธนาคาร ตนก็รีบขับรถตามไปที่ธนาคารแต่ก็ไม่ทัน สุดท้ายสามีเสียชีวิตในวันเกิดลูกชาย สามีเป็นคนร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ตนมั่นใจว่าสามีเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนแน่นอน ให้รัฐบาลรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

‘วิษณุ’ถกศธ.ปมสอบแกต-แพต
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีในโซเชี่ยลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 ม.ค.-9 ก.พ.นี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่านักศึกษาที่ติดโควิดจะสามารถเข้าสอบได้หรือไม่ หรือจะมีทางออกอย่างไรว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ทราบในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพราะก.พ.จะต้องสอบคนเข้ารับราชการประมาณเกือบ 8 แสนคน ซึ่งคำถามมีอยู่ว่าถ้าคนที่มาสอบติดโควิดจะทำอย่างไร แม้จะบอกว่าจะมีการตรวจ ATK ก็ตาม แต่ถ้าตรวจ ATK แล้วผลออกมาติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร จะแยกห้องสอบได้หรือไม่ เพราะการตัดสิทธิ์ไม่ให้สอบนั้น มันเป็นการตัดสิทธิ์ ตัดโอกาสเขา ซึ่งตรงนี้ตนกำลังดูแลอยู่ กำลังหาทางออกของก.พ.อยู่ในเวลานี้ แต่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตนไม่ทราบเรื่องว่าเขาเตรียมจัดการอย่างไรไว้

เมื่อถามว่ามีนักศึกษาหลายคนเข้าไปถามในเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการและได้รับแจ้งมาว่าถ้าติดโควิดปีนี้ก็ไม่ต้องสอบ ให้ไปสอบปีหน้า ซึ่งนักศึกษารู้สึกว่าตัวเองเสียสิทธิ์ จะมีการแก้ไขอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเขาเตรียมการอะไรไว้อย่างไร เพราะเขายังไม่เคยมารายงานให้ทราบ

เมื่อถามว่าจะสามารถให้มาสอบทีหลังได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะการสอบแต่ละอย่าง โดยเฉพาะกระทรวง ศึกษาฯจะมีปัญหาเรื่องข้อสอบ ความยากง่ายของมาตรฐานในแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน พอไปสอบอีกทีหนึ่ง ออกข้อสอบใหม่ ก็อาจจะง่ายกว่า หรือยากกว่า

เมื่อถามย้ำว่านักศึกษาคงไม่เสียสิทธิ์ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ควรจะต้อง เสียสิทธิ์ เสียโอกาสอะไรไป ผมเชื่อว่าอีกไม่ช้าก็จะได้คุยกัน เดี๋ยวผมจะหารือกับทางกระทรวงศึกษาธิการ” เมื่อถามย้ำว่า แต่เรื่องนี้มีทางออกอยู่ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ให้เขาหาทางออกกันก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน