ป่วยทะลุหมื่น10วันซ้อน10จังหวัดยอดพุ่ง2เท่าสั่งเข้มงานบุญวันมาฆะ

‘บอย ปกรณ์’ ดาราดังแจ้งติดโควิด ใครทำงานใกล้ชิดให้ สังเกตอาการ ขอโทษทำให้ได้รับผลกระทบ โควิดพุ่งทะลุหมื่น 10 วันติด ป่วยอีก 14,900 คน ศบค.ย้ำพบพันธุ์โอมิครอนกว่า 90% แล้ว อาการไม่รุนแรง แต่วางใจไม่ได้ 10 จังหวัดป่วยโควิดดับเบิลตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์ที่ 6 กทม.จาก 9 พันลามเพิ่มกว่า 1.8 หมื่น จ.ปริมณฑล และทุกภาคด้วย สธ.ยันปลดโควิดพ้นโรคฉุกเฉิน ยังรักษาฟรีทุกร.พ.ตามสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ แต่ถ้าไปร.พ.เอกชน นอกเครือข่ายต้องจ่ายเอง ยกเว้นอาการโคม่าใช้สิทธิยูเซปได้ ศูนย์บางซื่อฉีด วันแรกไฟเซอร์ให้เด็ก 5-11 ขวบ เปิดให้วอล์กอินฉีดเข็มแรก

โควิดพุ่งเกินหมื่นวันที่ 10
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ ทั่วโลกติดเชื้อ 2.48 ล้านราย ถือว่าลดลง เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิต 5.4 พันรายที่ลดลง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ทิศทาง ก็ลดลง แต่ทางเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ หรือประเทศไทย ซึ่งเกินหลักหมื่นรายต่อเนื่อง วันนี้ติดเชื้อ 14,900 ราย หายป่วย 9,810 ราย กำลังรักษาตัว 129,933 ราย อาการหนัก 687 ราย และใส่เครื่อช่วยหายใจ 138 ราย ขอให้มารับวัคซีนเข็มสามจะช่วยลดการติดเชื้อ อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

ส่วนการเข้าประเทศจากทุกรูปแบบ คร่าวๆ เข้ามา 7-8 พันต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1-13 ก.พ. เข้ามา 78,793 ราย ติดเชื้อ 2,351 ราย คิดเป็น 2.98% ส่วนใหญ่เป็นระบบแซนด์บ็อกซ์ แต่ยังพูดว่าเพราะ Test&Go เพิ่งเปิดลงทะเบียนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และแนวโน้มดูเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบมาจากรัสเซีย เยอรมนี จะมีการปิดประเทศหรือไม่นั้น เน้นย้ำว่าการ ผ่อนคลายก็จำเป็น ต้องควบคู่เศรษฐกิจและป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ไม่มีวิธีใดที่จะยึดเอาจากต่างประเทศได้ ต้องพิจารณา จากข้อมูลในประเทศ

“ตั้งแต่ปีใหม่การติดเชื้อทิศทางสูงขึ้น แต่สัปดาห์นี้แนวโน้มกราฟทำท่าว่าจะลง แต่ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะหลายจังหวัดในประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต้องดูรายงานแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนที่เราห่วงคือ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งบ้านเราการ ติดเชื้อเป็นโอมิครอน 80% เดลตา 20% ดังนั้นจะสรุปว่าเป็นการติดเชื้อโอมิครอนไม่รุนแรงก็ยังวางใจไม่ได้” พญ.อภิสมัยกล่าว

ส่วนวันนี้เสียชีวิต 26 ราย มาจาก กทม.สูง 9 ราย โดย 14 รายไม่เคยรับวัคซีนเลยสักเข็ม รับเข็มเดียว 2 ราย รับ 2 เข็ม 2 ราย แต่ทิ้งช่วงห่างเดิน 4 เดือน และ เข็มสาม 2 ราย เนื่องจากเพิ่งได้รับเข็มสาม ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ

10 จว.ป่วยเพิ่มสองเท่า
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า กทม.แม้ติดเชื้อลดลงเหลือ 2,892 ราย ก็ยังสูงอยู่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำกราฟว่า ตั้งแต่ต้นปี ถึงสัปดาห์ที่ 6 สัปดาห์ มีจังหวัดที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือดับเบิล คือ กทม. ปริมณฑล โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่มีรายงานสูงสุด เช่น กทม. จาก 9.7 พันราย เพิ่มเป็น 1.7 หมื่นราย, สมุทรปราการ จาก 4-5 พันราย เป็น 6.9 พันราย, ชลบุรีจาก 2.5 พันรายเป็น 4.8 พันราย, นนทบุรี จาก 2.7 พันราย เป็น 4.3 พันราย, ภูเก็ต 2.5 พันราย เป็น 3 พันราย, นครราชสีมา จาก 1 พันราย เป็น 2.2 พันราย, ราชบุรี จาก 900 รายเป็น 2 พันราย, สมุทรสาคร 911 ราย เป็น 2 พันราย, นครศรีธรรมราช 912 ราย เป็น 1.9 พันราย และนครปฐม จาก 749 ราย เป็น 1.8 พันราย

ส่วนหลายจังหวัดแม้ไม่ได้เพิ่มอย่างกลุ่ม 10 จังหวัดแรก แต่มีทิศทางเพิ่ม เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี มหาสารคาม ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี และเพชรบุรี เป็นกลุ่มจังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรวมการติดเชื้อสูงยังเป็นใน กทม. ปริมณฑล พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว การวิเคราะห์คลัสเตอร์แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า คลัสเตอร์สำคัญ ยังเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ และตลาด ซึ่งที่ติดเชื้อซ้ำซาก คือ แออัด ระบายอากาศไม่ดี ผู้ค้า ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา ลูกค้าก็แออัด ไม่จำกัดจำนวนคน ไม่เข้มงวดการตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค), สถานประกอบการ โรงงาน มักติดเชื้อในส่วนของการกินอาหารร่วมกัน เพราะเจอทุกวันไว้วางใจ เปิดหน้ากากพูดคุย ไม่เว้นระยะห่างเพียงพอ และมักรับเชื้อจากบ้านมากระจายที่ทำงาน ทำงาน ไม่เคร่งครัดมาตรการ ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา เน้นย้ำมาตรการ บับเบิล แอนด์ซีล เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไปยังแผนกอื่น, งานประเพณี มีทั้งงานศพ พิธีกรรมไม่ได้เกิดโอกาสแพร่เชื้อ แต่หลังพิธีกรรมมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหารร่วมกัน ตั้งวงดื่มสุรา ละเล่นหมอลำ ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญติดเชื้อ

คลัสเตอร์บ้านลาม 13 ร.ร.
“กทม.คลัสเตอร์น่าห่วง 2 เขต ที่ติดเชื้อเกินร้อยราย คือ ราชเทวี และป้อมปราบ ศัตรูพ่าย ส่วนอีก 9 เขต ติดเชื้อเกิน 60 ราย ได้แก่ ดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร หนองแขม ห้วยขวาง สะพานสูง ดุสิต บางพลัด และบางแค ทั้งนี้ เขตดอนเมืองติดเชื้อจากแคมป์คนงาน 228 คน จากทั้งหมด 758 คน คิดเป็น 30.01% กทม. มีการวิเคราะห์การติดเชื้อเหมือนประเพณี การทำงานไม่ได้เป็นปัจจัยหลักติดเชื้อ แต่เวลาพักมีการรวมกลุ่มสูบบุหรี่ ใช้กระติกน้ำ แก้วน้ำร่วมัน พบปัจจัย การติดเชื้อในห้องน้ำที่ใช้ร่วมกัน ไม่มีการทำความสะอาด รถรับส่งที่แออัด” พญ.อภิสมัยกล่าว

นอกจากนี้ กทม.ยังพบการติดเชื้อ ในโรงเรียน 13 โรง ทั้งอนุบาล มัธยม โรงเรียนประจำ ปัจจัยส่วนใหญ่พบนักเรียน ติดเชื้อจากครอบครัว พอมาโรงเรียน ไม่ได้มีการคัดกรองและเกิดการแพร่เชื้อในชั้นเรียน จุดสัมผัสร่วมคือตู้กดน้ำดื่ม โต๊ะอาหาร คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ รถรับส่งด้วย รวมถึงจัดพิธีจบการศึกษา สังสรรค์รวมกลุ่ม ย้ำว่าช่วงนี้ผ่อนคลายเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน แต่ยังต้องเข้มงวดมาตรการ การรวมกลุ่มต้องงดเว้น ฝากพ่อแม่ผู้ปกครอง ประเมินไทยเซฟไทยทุกวัน รวมถึงบุคลากร ครูช่วยคัดกรองความเสี่ยง หากมีอาการ ให้แจ้งไปโรงเรียนก็จะป้องกันได้

กทม.มีการเข้าระบบเอชไอ 19,040 ราย รับใหม่ 1,829 ราย CI 27 แห่ง ใช้บริการ 1,144 ราย ศักยภาพการรองรับและเตียง สีเหลืองสีแดง ใช้งาน 40% ยังมีเตียงเหลือ ที่ สธ.กังวลคือการฉีดเข็มสามยังลดความเสี่ยง ติดเชื้อรุนแรง ป่วยหนักและเสียชีวิต ได้ และเมื่อต้องผ่อนคลายเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เปิดเรียน เปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ เน้นย้ำประชาชนเฝ้าระวังป้องกันส่วนบุคคลเข้มงวด สถานประกอบการหากมีพนักงานยังไม่รับวัคซีนให้ติดต่อ เข้ารับวัคซีน เข้มมาตรการสาธารณสุข จะลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

ศูนย์บางซื่อฉีด 5 ขวบวันแรก
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ให้สัมภาษณ์ถึงการฉีดวัคซีนโควิดในไทยทะลุ 120 ล้านโดส ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อดำเนินการมาร่วม 200 วันแล้ว ฉีดสะสมแล้วเกือบ 5 ล้านโดส ขณะนี้ได้เปิดบริการตั้งแต่เด็ก 5 ขวบขึ้นไป ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกและเป็นวันวาเลนไทน์ที่เริ่มฉีดวัคซีนให้เด็ก 5 ขวบ ขึ้นไป เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ขณะเดียวกัน เราก็เปิดให้ผู้ที่เปลี่ยนใจอยากฉีดวัคซีน วอล์กอินเข็มแรกได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียน ส่วนผู้ที่จะเข้ามารับเข็ม 3 และ 4 รวมถึงเด็กๆ อายุ 5-11 ขวบ ก็ลงทะเบียนผ่าน ค่ายมือถือ จองวันเข้าฉีดได้เช่นกัน ตอนนี้เรากำลังจะผ่านวิกฤตไป วัคซีนโควิดเป็นทางออกสำคัญ ดังนั้นจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปพร้อมกับคนไทย

สำหรับประชาชนที่อยากฉีดวัคซีนที่ศูนย์ เลือกได้ทั้ง ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ส่วนวิธีฉีด เช่น ไฟเซอร์สามารถฉีดครึ่งโดสหรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม แม้การลงทะเบียน จะระบุว่าวัคซีนหลักได้ไฟเซอร์ แต่หากอยากได้เป็นแอสตร้าฯ เช่น ได้รับแอสตร้าฯ มาแล้ว 1 เข็ม อยากได้เข็มสองเป็นแอสตร้าฯ หรือไม่อยากฉีด mRNA เราก็มีให้บริการ โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ประชาชนเลือกได้เลย

อนุทินยัน‘สปสช.’ยังดูแล
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค(ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายกฯ ย้ำให้ติดตามงาน เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 จึงให้ความมั่นใจว่า สธ. เตรียมความพร้อมแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เช่น กรณีนำโรค โควิด-19 ออกจากบริการ UCEP (ยูเซ็ป) หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่ไม่ได้หมายความว่ายกเลิก แต่จะทำให้โควิด-19 เป็นโรคปกติ ไม่ใช่โรคฉุกเฉิน หากใครติดโควิด-19 แล้วมีอาการหนักสามารถเข้ารักษาฉุกเฉินได้ในสถานพยาบาลทุกที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลครบ และสิทธิบัตรทอง ใช้ได้ทุกที่อยู่แล้ว แต่การไปแปลความว่าจะยกเลิก ไม่จ่าย ไม่ดูแล ยืนยันว่าไม่ใช่ ถึงอย่างไรรัฐก็จ่ายตามสิทธิ์ที่ทุกคนมีอยู่ หากใครฉุกเฉินหรือมีอาการหนัก เรารักษาอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะโควิด-19 อย่างเดียว

นายอนุทินกล่าวว่า ระบบฉุกเฉินรัฐ ดูแล 3 วัน และจะส่งตัวต่อ ตอนนี้หากส่งต่อ จะส่งมาที่โรงพยาบาลของรัฐ ที่มีศักยภาพเตียงเพียงพออยู่แล้วไม่ได้ไปตัดการดูแล สปสช.ได้ให้รายละเอียดไปแล้ว สำหรับ ผู้มีประกัน หากใครต้องการความสะดวกสบายยินดีจ่ายส่วนต่าง ไปใช้โรงพยาบาลเอกชน เป็นสิทธิของเขา หากเกรงว่าประกันภัย ประกันสุขภาพจะไม่ครอบคลุม กรมการแพทย์ สปสช. หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะออกหลักเกณฑ์ขึ้นมา จะมาเลี่ยงบาลีใช้เหตุผลอะไรต่างๆ เอาเปรียบ ผู้ซื้อประกันไม่ได้ ฉุกเฉินวิกฤตยังรักษาได้ ทุกที่ตามเดิม

ป่วยโอมิครอนกว่า 90%
ด้านนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวการรักษาโรคโควิด-19 ตามสิทธิการรักษา หลังจากเตรียมปลดโรคโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤตที่เข้ารักษาได้ ทุกที่ (UCEP) โดย นพ.ธงชัยกล่าวว่า สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) คือ สิทธิรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เข้ารักษา ร.พ.แห่งใดก็ได้ใน 72 ชั่วโมง ทั้ง ร.พ.รัฐหรือเอกชน โดยต้อง มีอาการวิกฤต เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงมากจนติดขัด หรือเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงบริเวณแขนขาครึ่งตัว เลือดออกในสมอง เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้หากไป ร.พ.เอกชนอาจเรียกเก็บค่ารักษาล่วงหน้าหรือวางมัดจำ แต่เมื่อมียูเซ็ป ก็เข้าใช้สิทธิรักษาได้ เมื่อมีโรคโควิด-19 ช่วงแรกยังมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งการรักษาและการควบคุมโรคน้อย ผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น จึงนำ ยูเซ็ปเข้ามาใช้ควบคู่กับการควบคุมโรค คือ ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ ร.พ.ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยช่วงแรกนำเข้า ร.พ.รัฐ ไม่ว่ามีอาการมากน้อย หรือไม่มีอาการ แต่พอ ร.พ.รัฐเต็มก็ให้ ร.พ.เอกชนเข้ามาช่วย และมีการสร้าง ร.พ.สนามรองรับเพิ่มเติม

นพ.ธงชัยกล่าวว่า วันนี้เรามีความรู้มากขึ้น ผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องเข้ามานอนร.พ. ต้องเข้านอนร.พ.มีเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่การระบาดขณะนี้เป็นโอมิครอน มากกว่า 90% ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา 7 เท่า คนนอนร.พ. ใส่เครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าปีที่แล้ว 7 เท่า และเสียชีวิตน้อยกว่า 10 เท่าตัว เราจึงเน้นใช้ระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) และปรับเรื่อง UCEP กลับมาสู่ระบบปกติ ในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตจริงๆ โดยผู้ป่วย โควิดที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น อาการหายใจเหนื่อยหอบอย่างแรง ซึมลง ก็เข้าข่ายฉุกเฉินตามนิยามปกติก็เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งขณะนี้ยังใช้เกณฑ์พิจารณาฉุกเฉินวิกฤต 6 ข้อของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พิจารณา ทั้งนี้ วันนี้ เรามีเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤตทั่วประเทศ 3 หมื่นกว่าเตียง และมีเตียงสีเขียวซึ่งปีที่แล้ว ทำไว้รองรับโควิดอาการน้อย ไม่มีอาการอีก 1.3 แสนกว่าเตียง ที่จะขยายมาดูแล ผู้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มได้ แต่หากจะเอา ผู้ป่วยโควิดทั้งหมดเข้าไปนอนอีก ก็จะไปกินเตียงคนไข้อื่นที่ไม่ใช่โควิดด้วย

ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า คนไทยทุกคน มีสิทธิการรักษา ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรคหรือบัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม เมื่อมีโควิดช่วงแรกเราไม่รู้จักนัก ประชาชนก็ค่อนข้างกังวล และหาร.พ. ต่างๆ ที่ใกล้ตัวที่สุด สบส.จึงเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาลเปิดกลไก ยูเซ็ป โควิด ให้ไปรักษาที่ไหนก็ได้เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 ทำให้เกิดการร่วมกันดูแลคนไข้ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้า ร.พ.ใหญ่ๆ ทำให้ ร.พ.เหล่านั้นไม่สามารถรักษาโรคอื่นได้ ต้องชะลอการผ่าตัดต่างๆ ส่วนปัจจุบัน โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย ประชาชนเข้าใจ วิธีป้องกันควบคุมโรค คณะอนุกรรมการการรักษาในพื้นที่ กทม. จึงประชุมเมื่อวันที่ 26 ม.ค. เห็นตรงกันว่าจะปรับโควิด-19 จากฉุกเฉินให้ไปรักษาตามสิทธิ ซึ่งยังได้รับ การรักษาฟรี ไม่เสียเงิน และเสนอเข้าศูนย์ปฏิบัติฉุกเฉิน (อีโอซี) สธ.ก็เห็นตรงกัน เพื่อให้เกิดระบบที่ดี สามารถรักษาโรคอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เข้ารพ.นอกเครือข่ายจ่ายเอง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. มีการประชุมเตรียมความพร้อมของกองทุนสุขภาพ ทั้ง 4 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง สปสช. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ โดยเบื้องต้นสวัสดิการข้าราชการเข้ารักษา ร.พ.รัฐทุกแห่งทั่วประเทศ, บัตรทองเข้ารักษาสถานพยาบาลเครือข่ายบัตรทอง ทุกแห่งตามนโยบายเจ็บป่วยรักษาทุกที่ เช่น บัตรทองอยู่ขอนแก่น มาทำงานพื้นที่ กทม.ก็ไปรักษาเครือข่ายบัตรทองใน กทม.ได้, ผู้ประกันตน ทราบจากผู้แทนประกันสังคมว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ การแพทย์ วันที่ 15 ก.พ. คือให้รักษาในเครือข่าย ร.พ.ประกันสังคม ที่มีทั้งร.พ.รัฐและเอกชนได้ และบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวก็รักษา ร.พ.ตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาไร้สิทธิและสถานะ เราได้เตรียมร.พ.สังกัด สธ. กทม. และ ร.พ.รัฐทุกแห่งไว้

สำหรับระบบเอชไอยังเข้าได้ตามปกติ หากเป็นผู้ป่วยของระบบไหน ก็เข้าเอชไอของระบบนั้น ซึ่งทุกเครือข่ายจะทำเอชไอของตัวเอง โดยบัตรทองก็โทร. 1330 ประกันสังคม โทร.1506 เบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร. 0-2270-6400 และต่างด้าวโทร. 0-2590-1578 หากจะเข้าโรงพยาบาลก็ให้ไปตามโรงพยาบาลเครือข่ายตามสิทธิการรักษาของตนเอง หากป่วยโควิดมีอาการ รุนแรง เช่น มีกลุ่มอาการหายใจเหนื่อยหอบ รุนแรงมาก หรือซึม ก็ใช้ยูเซป ติดต่อ เข้าสถานพยาบาลทุกแห่งได้เหมือนเดิม แต่ถ้าประสงค์ไม่ไปรักษา ร.พ.ตามสิทธิ แต่ไปร.พ.เอกชนนอกเครือข่าย ถ้าไม่ฉุกเฉิน วิกฤตก็จะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งการรักษาโควิด-19 ตามสิทธิก็จะเป็นประโยชน์ ต่อระบบสุขภาพโดยรวม

นพ.ธเรศกล่าวว่า การปรับกลับมาใช้ ยูเซ็ปตามปกติ จะมีการเพิ่มเติมที่อาจยังไม่ครอบคลุมกรณีโควิด เช่น ชุด พีพีอี ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้ กับคนไข้โควิด โดยจะประชุมในการเพิ่มรายการต่างๆ ที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้โควิดแล้วเกิดฉุกเฉิน วิกฤต ร.พ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้

เมื่อถามว่าจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า กรอบเวลาจะเริ่มเมื่อไร ทางสธ.จะพิจารณา เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อสูงขึ้นช่วงนี้เมื่อมีการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะกระทบหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ไม่กระทบ แต่จะดี เพราะเป็นการกระจายคนไข้ไปตามจุดต่างๆ ตามการขึ้นทะเบียนตามสิทธิ ผู้สื่อข่าวถาม ยูเซ็ปต้องรักษาภายใน 72 ชั่วโมงจะเป็นข้อจำกัดของ ผู้ป่วยโควิดหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยอาการรุนแรงใน 72 ชั่วโมง เมื่อดีขึ้น ก็ส่งกลับ ร.พ.ตามสิทธิ แต่หากหาเตียง ไม่ได้ ก็ยังรักษาได้ และจะมีการตามจ่าย

ไม่เกี่ยวยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่ากรณีอยู่ เอชไอ แล้วอาการรุนแรงขึ้น จะมีการจัดเตียงรองรับใช่หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า เอชไอจะมีสถานพยาบาล เป็นพี่เลี้ยง บางแห่งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น บางแห่งเป็นร.พ. หากอาการบ่งชี้เริ่มมากขึ้น ก็จะติดต่อและส่งต่อให้ ร.พ.คู่ปฏิบัติการต่อไป เมื่อถามว่าต้องกำหนดค่ารักษา ของ ร.พ.เอกชนหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ เรื่องกลไกราคา จะเป็นการแจ้งราคาให้ผู้ป่วยทราบ แต่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา แต่จะมีการหารือกับภาคเอกชน ในการบรรเทาความ เดือดร้อนให้ประชาชน เมื่อถามว่าการออกประกาศจะออกในลักษณะอย่างไร กำหนดโรคโควิดไม่เป็นโรคฉุกเฉิน หรือออกประกาศให้กลับไปรักษาตามสิทธิ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องดูที่ตัวกฎหมาย ซึ่งกฎหมายแม่บทระบุประมาณว่า กรณีเป็นโรคฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน โรคติดต่อร้ายแรง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือภาวะฉุกเฉิน ที่มอบอำนาจรัฐมนตรีประกาศเป็นโรคฉุกเฉินที่ประชาชนจำเป็นต้องรับการดูแลรักษา ซึ่งขณะนี้โควิดยังเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ประชาชนไม่เป็นภาวะฉุกเฉินแล้ว ดังนั้น จะออกเป็นประกาศ สธ. ยกเลิกความเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องดูแลฉุกเฉิน แต่ยังเป็นภาวะโรค ไม่เกี่ยวกับการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายกฯย้ำดูแลทุกกลุ่ม
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจง กรณีที่มีกระแสข่าวอ้างการถอดการรักษาโควิด-19 ออกจาก ยูเซ็ป-UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) หรือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า หากติดโควิด-19 แล้วต้องจ่ายค่ารักษาเองนั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผน ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาเป็นการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาล ของแต่ละคนนั้น ขอยืนยันว่า ประชาชนยังได้รับการรักษาเหมือนเดิมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งยังสามารถไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนได้ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ขอประชาชนอย่ากังวลเรื่องการรักษา ย้ำ การถอนโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต ไม่ได้หมายความ ว่าหมดสิทธิรักษาฟรี

ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผู้ป่วย 80-90% แทบไม่มีอาการ สามารถรักษาตัวที่บ้าน ในระบบ Home Isolation ได้ ไม่ได้อยู่ ในภาวะฉุกเฉิน จึงไม่มีเหตุที่ต้องรีบเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากมีการประกาศให้โรคนี้ไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยก็ไปรับการรักษาพยาบาลได้ตามระบบปกติตามสิทธิ ของตนที่มีอยู่ เช่น หากใช้สิทธิบัตรทอง จะมีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้ ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหากเข้าระบบการดูแลแบบ Home Isolation สปสช. ก็ยังดูแลค่าใช้จ่ายให้เหมือนเดิม แต่หากมีอาการฉุกเฉิน ผู้ป่วย เข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน

ปัจจุบันประชาชนไทยได้รับการคุ้มครอง สิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล 3 ระบบใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ 1.สิทธิสวัสดิการ การรักษาพยาบาลของข้าราชการ 2.สิทธิประกันสังคม และ 3.สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เน้นย้ำถึงการดูสุขภาพของประชาชนต้องให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด-19 ไม่ทอดทิ้งประชาชน อย่างแน่นอน หากป่วยด้วยโรคโควิด-19 ยังคงเข้ารักษาตามสิทธิสุขภาพของตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เหมือนเดิม ขอให้ ทุกคนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทย ที่ได้รับการยกย่องติดอันดับโลกมาโดยตลอด ทั้งในการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป และการจัดการรักษาพยาบาลโรคโควิด สิ่งสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับ ตัวเอง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญ ที่จะช่วยปกป้องให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ให้ไปรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน” นายธนกรกล่าว

กำชับเข้ม‘วันมาฆะ’เข้มโควิด
นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พ.ศ.2565 กรมการศาสนา (ศน.) ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และวัดทั่วประเทศ จัดกิจกรรมทางพระพุทธ ศาสนา โดยในส่วนกลาง กำหนดจัดขึ้น ที่วัดสระเกศฯ โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และสถานศึกษา ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญกุศล ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 07.00 น.

กิจกรรมประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตร และเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา กิจกรรม “ธรรม Talk Walk Rally สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ @ วัดสระเกศ” ขณะที่ในส่วนภูมิภาค ให้จัดได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนี้ 1.จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา ฟังพระธรรมเทศนา สักการะพระบรมสารีริกธาตุ เวียนเทียนในรูปแบบปกติ ณ สถานที่ที่กำหนด หรือจัดกิจกรรม ผ่านระบบออนไลน์ โดยเน้นย้ำให้ทุกสถานที่จัดงานดำเนินการตามข้อกำหนด การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“กิจกรรมออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้วันมาฆบูชา ทั้งการจัดทำ เซ็บ แอพพลิเคชั่น http://วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา.com การทำวิดีโอแอนิเมชั่น “สาระวันมาฆบูชา” กิจกรรมตอบคำถาม ผ่าน “Quiz ตื่นรู้- สู่ธรรม” และได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ออนไลน์ และการจัดทำสื่อ แอพพลิเคชั่นไลน์ วันมาฆบูชา ให้ดาวน์โหลดได้ฟรี นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการผลงานการออกแบบภาพโปสเตอร์ “ธีมวันมาฆบูชา” การนำเสนอจุลสารวันมาฆบูชา ในรูปแบบ อี-บุ๊ก ด้วย” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

แจงนักโทษลำปางป่วย 700
วันเดียวกัน นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีนักโทษของทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางติดโควิด กว่า 700 รายว่า จากการตรวจสอบแล้ว การติดเชื้อโควิด ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางครั้งนี้ น่าจะเกิดการ ปนเปื้อนมากับสิ่งของเข้าภายในทัณฑสถาน โดยเมื่อ 8 ก.พ. พบผู้ต้องขังชายอายุ 32 ปี อาการมีไข้ ไอ มีน้ำมูก วัดอุณหภูมิร่างกายได้ 38.8 องศา จึงตรวจเอทีเค ผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 และได้ตรวจผู้ต้องขังใกล้ชิด จึงพบการแพร่ระบาดภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง

จากนั้นทีมแพทย์และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดลำปาง สั่งการให้ดำเนินการตรวจเชิงรุกทั้งหมด 1,080 คน เพื่อคัดกรองค้นหาผู้มีอาการเบื้องต้น โดยแพทย์ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ผู้ตรวจพบเชื้อทุกรายประกอบกับทัณฑสถาน ได้รับการสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์พระราชทานแบบเคลื่อนที่ (Portable X ray Digital) นำมาเอกซเรย์เพื่อคัดกรอง ผู้ต้องขังป่วยทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. ซึ่งปัจจุบันไม่พบผู้ต้องขังที่ปอดมีปัญหาจากการติดเชื้อแต่อย่างใด

นายธวัชชัยกล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัดลำปาง สันนิษฐานว่า เชื้อโควิด ที่ระบาดภายในทัณฑสถานบำบัด พิเศษลำปาง เบื้องต้นน่าจะเป็น การปนเปื้อน มากับสิ่งของที่เข้าภายในทัณฑสถานฯ และคาดว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจยืนยันผล โดยทัณฑสถานแห่งนี้เป็นเรือนจำแดนเดียว (พื้นที่ 9 ไร่) การแพร่ระบาดจะเป็นไปได้โดยง่าย โดยปัจจุบัน ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง ได้ดำเนินการตามมาตรการการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอย่างเคร่งครัด และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แก่ผู้ต้องขังเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ทั้งประสานโรงพยาบาลแม่ข่ายฉีดวัคซีนภายหลังจากการระบาดแล้วในครั้งนี้ พร้อมดูแลผู้ต้องขัง ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น

เชียงใหม่ติดเพิ่ม 317
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 317 ราย โดยเป็น ผู้ติดเชื้อในจังหวัด 309 ราย อีก 8 ราย จากต่างจังหวัด ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 อยู่ที่ 8,320 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ จำนวน 2,130 ราย โดยเป็น กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 1,784 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 313 ราย อาการหนัก (สีแดง) 33 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 218 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมระลอกเดือนเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ (ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 จนถึงปัจจุบัน) มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วทั้งหมด 37,358 ราย และรักษาหายแล้ว 34,913 ราย โดยเป็นผู้ที่รักษาหายวันนี้ 232 ราย ส่วนการตรวจเอทีเค จำนวน 5,786 ราย พบผู้มีผลบวก 1,291 ราย

ขณะที่การบริหารจัดการวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,582,288 คน คิดเป็นร้อยละ 91.50 จากประชากรจังหวัดเชียงใหม่ แบ่งเป็นกลุ่ม ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 291,560 คน คิดเป็นร้อยละ 88.98 กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังฉีดแล้ว 143,395 คน และกลุ่มประชาชนทั่วไปฉีดแล้ว 1,147,333 คน คิดเป็น ร้อยละ 89.60

ภูเก็ตยังพุ่ง 604-แซนด์บ็อกซ์ 87
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ รายใหม่ จากในจังหวัดและต่างประเทศรวม 604 ราย จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 87 ราย เทสต์แอนด์โก 31 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อกลับบ้าน 697 ราย สรุปยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 22,295 ราย แบ่งเป็น จากในจังหวัด 16.420 ราย จากต่างจังหวัด 3 ราย ต่างประเทศ 8 ราย ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 5,051 ราย เทสต์แอนด์โก 813 ราย เสียชีวิตสะสม 17 ราย

ส่วนผลตรวจเอทีเค ล่าสุด อ.เมือง 284 ราย พบ 138 ราย ส่วนอ.ถลาง 27 ราย ผลเป็นลบทั้งหมด ผู้เข้าข่ายกักตัวศูนย์ดูแลโควิดชุมชน สรุปพบผู้เข้าข่ายรายใหม่ตรวจเชิงรุก 138 ราย ยอดคงเหลือของ ผู้เข้าข่ายกักตัว 699 ราย ขณะที่สถานการณ์การใช้เตียงจากจำนวนเตียงทั้งหมด 3,322 เตียง ครองเตียง 2,367 เตียง คิดเป็น 71.25% จำนวนเตียงว่าง 955 เตียง คิดเป็น 28.75%

ร.ร.สงขลาป่วยกว่า 100
ด้านสสจ.สงขลา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ ใหม่ 157 คน จากการตรวจหาเชื้อในวันที่ 13 ก.พ. จำนวน 7,812 คน รวมยอด ติดเชื้อสะสมเพิ่ม 70,279 คน ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 329 คน แต่ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 400 คนเป็น 690 คน กลุ่มที่เครือข่ายสาธารณสุขเฝ้าระวังกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันในพื้นที่ที่ร่วมกิจกรรม กับครอบครัวใน อ.หาดใหญ่ เมืองและ อ.จะนะ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มใกล้เคียงกับกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่

รายงานข่าวจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา เผยว่า สำนักงานศึกษาธิการได้รับรายงานจากโรงเรียนพบนักเรียน ติดเชื้อโควิดประมาณ 100 คน ร้อยละ 90 มาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและนักเรียนระดับประถมใน อ.สะบ้าย้อย นาทวี จะนะและ อ.เทพา เนื่องจากผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งและมีจำนวนมาก ปฏิเสธการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ขณะที่ฉีดวัคซีนสะสมร้อยละ 76.68 และเข็มกระตุ้นร้อยละ 21 .97 ของกลุ่มเป้าหมาย

โคราชป่วยเพิ่ม 456 คน
ที่ห้องประชุมสำนักงานการกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อโควิด-19 จ.นครราชสีมา นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์สสจ.นครราชสีมา ชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของจังหวัดว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 456 ราย เป็นการ ติดเชื้อนอกพื้นที่ 19 ราย และติดเชื้อ ในพื้นที่ 437 ราย ป่วยสะสม 42,703 ราย รักษาหาย 38,844 ราย ยังรักษาอยู่ 3,554 ราย เสียชีวิตสะสม 305 ราย

นพ.วิชาญกล่าวว่า หลายพื้นที่ยังพบผู้ป่วย รายใหม่ต่อเนื่อง ตัวเลขเพิ่มวันละ 4-500 ราย บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนและมีปัญหาอุปสรรคการครองเตียงสำหรับ ผู้ป่วยหนัก ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องติดตามกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดรวมทั้งชาวโคราชต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขด้วย ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวัง 16 คลัสเตอร์ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดที่มีความเชื่อมโยง 3 ตลาดสด 4 สถานศึกษา 3 สนาม ชนไก่ 2 โรงงานและ 6 ชุมชนดังนี้

สสจ.เร่งคุม 16 คลัสเตอร์
1.โรงเรียนบ้านเจริญผล ต.มาบกราด อ.พระทองคำ พบรายใหม่ 4 ราย ป่วยสะสม 42 ราย 2.โรงเรียนเทศบาล 2 อ.บัวใหญ่ ผู้ป่วยรายแรกเป็นครูผู้สอน ศปก.อ.บัวใหญ่ ค้นหากลุ่มเสี่ยงโดยระดมตรวจ เอทีเค ทั้งครู นักเรียนและผู้เกี่ยวข้อง 653 ราย พบนักเรียนป่วย 55 ราย ครู 2 ราย ครอบครัว 29 ราย ป่วยสะสม 86 ราย 3.โรงเรียนรัฐการุณวิทยา ต.ทองหลาง อ.จักราช ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ป.4 ป.5 ป.6 ประวัติเชื่อมโยงกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือและแพร่เชื้อในครอบครัว ป่วยสะสม 35 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 149 ราย 4.โรงเรียนบ้านหนองพลวง ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง ตรวจเอทีเค นักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ก่อนเข้าสอบโอเน็ต พบนักเรียน ป.6 ป่วย 9 ราย ม.3 ป่วย 2 ราย ครูฝึกประสบการณ์ 1 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองพลวงน้อย และเทศบาลตำบล (ทต.) โพธิ์กลาง ค้นหากลุ่มเสี่ยงพบครอบครัวนักเรียนติดเชื้อ ป่วยสะสม 42 ราย 5.สนามชนไก่ ผู้ป่วยรายแรกเป็นเซียนไก่ อ.ชุมพวง เดินทางไปร่วมกิจกรรม 2 แห่ง คือสนามชนไก่ อ.พิมาย และสนามชนไก่ อ.โนนสูง ซึ่งมีผู้เข้าชมประมาณ 300 คน ทำให้เชื้อแพร่กระจายในกลุ่มเซียนไก่ อ.บัวใหญ่ อ.โนนสูง อ.เฉลิม พระเกียรติ อ.พิมาย อ.คง อ.ชุมพวง และ อ.โนนแดง ป่วยสะสม 98 ราย

6.สนามชนไก่บ้านโกรกหิน ต.หัวห้วยทราย อ.ประทาย ป่วยสะสม 42 ราย มีความเชื่อมโยง อ.สีดา อ.ชุมพวง อ.โนนแดง อ.บัวใหญ่ และ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ 7.ตลาดสดเทศบาลเมือง (ทม.) ปากช่อง เป็นการติดเชื้อรอบสอง วันที่ 1 ก.พ สุ่มตรวจ เอทีเค ผู้ค้า พบติดเชื้อ 2 ราย สอบสวนโรคเดินทางไปกรุงเทพมหานคร ศปก.อ.ปากช่อง ค้นหาเชิงรุกพบผู้ค้า ลูกค้า และครอบครัวป่วยสะสม 66 ราย

8.ตลาดไนท์บาซาร์ อ.พิมาย ป่วยสะสม 47 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าในตลาดและครอบครัว 9.บริษัท โทโยนากา (ไทยแลนด์) จำกัด ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว โรงงานผลิตและจำหน่ายสแตนเลส เป็นการติดเชื้อรอบสอง มีลูกจ้างรวม 428 คน ติดเชื้อในแผนกเอ 51 ราย แผนกบี 5 ราย แผนกซี 2 ราย แผนกดี 2 ราย แผนกอื่นๆ 6 ราย เชื้อขยายวง 2 เป็นครอบครัว 12 ราย และวง 3 เพื่อนบ้าน 7 ราย ป่วยสะสม 85 ราย 10.บริษัทจินตนา อินเตอร์เทรด จำกัด ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง โรงงานผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในสตรี ป่วยสะสม 33 ราย พบความเชื่อมโยง อ.พิมาย อ.โนนสูง อ.ขามสะแกแสง และ อ.เมือง 13 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 144 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

11.คลัสเตอร์ร่วมรับประทานอาหาร หมู่ 2 ต.วังโรงใหญ่ อ.สีคิ้ว เชื้อแพร่กระจาย ในครอบครัวเครือญาติและเพื่อนบ้าน ป่วยสะสม 21 ราย 12.ครอบครัวบ้านดอน หมู่ 8 ต.ด่านจาก อ.โนนไทย พบรายแรก ผมีอาการทางเดินหายใจ ไปตรวจพบเชื้อ จากนั้นได้แพร่เชื้อไปสู่เครือญาติและเพื่อน มีผู้ป่วยสะสม 20 ราย เสี่ยงสูง 63 ราย 13.งานหมอลำ จ.มหาสารคาม และจ.บุรีรัมย์ สอบสวนโรควันที่ 29 ม.ค. ผู้ป่วยพร้อมเพื่อน 6 คน เป็นชาว ต.เมืองพลับพลา อ.ห้วยแถลง นั่งรถไปคันเดียวกันไปดูงานหมอลำซิ่งที่ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 6 ก.พ เพื่อนที่ร่วมกิจกรรมสันทนาการ มีอาการป่วยและมีผลติดเชื้อ ศปก.อ.ห้วย แถลง ลงพื้นที่ค้นหา ป่วยสะสม 46 ราย 14.บ้านหนองไทร จ.หนองไทร อ.ด่านขุนทด เครือญาติทำกิจกรรมไหว้บรรพบุรุษช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้เชื้อกระจายครอบครัว และลามไปยังครูและผู้ขับขี่รถรับส่ง-นักเรียน โรงเรียนบ้านหนองไทร ป่วยสะสม 28 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 250 ราย 15.งานศพบ้านหนองสรวง หมู่ 1 ต.หนองสรวง อ.ขาม ทะเลสอ มีเครือญาติมาจาก จ.สุพรรณบุรี จ.นครสวรรค์ และหลายพื้นที่เดินทาง มาร่วมงาน พบติดเชื้อในครอบครัวป่วยสะสม 17 ราย และ 16.ตลาดประปายุคใหม่และตลาดเพ็ชรสีมา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ป่วยสะสม 98 ราย เป็นผู้ค้า 69 ราย ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด 29 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 131 ราย

ชาวตลาดแห่ตรวจเอทีเค
ที่บริเวณจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีประชาชนทยอยเดินทางมาตรวจหาเชื้อโควิด-19 กันอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่จังหวัด ได้ออกประกาศติดตามตัวประชาชน ที่เดินทางไปใช้บริการที่ตลาดประปา ตลาดเพ็ชรสีมา จุดผ่อนผัน และแผงลอย ข้างไอทีพลาซ่า อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1-10 ก.พ. ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดโดยด่วน สืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 10 ก.พ. เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ตรวจเอทีเคให้กับพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการค้าในตลาดประปา, ตลาด เพ็ชรสีมา, ตลาดร่วมใจ และประชาชนบริเวณใกล้เคียง จำนวน 1,206 ราย และพบผู้ติดโควิดจำนวน 86 ราย แยกเป็นตลาดประปา พบ 41 ราย, ตลาดเพ็ชรสีมา พบ 24 ราย ส่วนตลาดร่วมใจ ไม่พบผู้ติดเชื้อ และอีก 21 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่จุดผ่อนผันแผงลอยข้างทาง และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในบริเวณใกล้เคียงตลาด

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงได้ออกประกาศเตือนประชาชนที่มาใช้บริการภายในตลาดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นตลาดประปา ตลาดเพ็ชรสีมา จุดผ่อนผัน และแผงลอย ข้างไอทีพลาซ่า อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2565 ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่รถตรวจนิรภัย ซึ่งจะมาให้บริการตรวจ เอทีเค แก่ประชาชนฟรี ที่บริเวณใต้ต้นโพธิ์ หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่เวลา 10.00-15.30 น. ระหว่างวันที่ 14-16 ก.พ. เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก และเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

ที่หอประชุมโรงเรียนรัฐการุณวิทยา ต.ทองหลาง อ.จักราช จ.นครราชสีมา โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 2 (สพป.นม.2) คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) จักราช ดำเนินมาตรการ ค้นหาเชิงรุกตรวจเอทีเค รอบ 2 ให้ครูและนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยจำนวน 149 ราย เบื้องต้นไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติม แต่ต้องกักตัวสังเกตอาการและปฏิบัติตามมาตรการ สาธารณสุข

ปิดร.ร.คุมเชื้อถึง 18 ก.พ.
นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์สสจ. นครราชสีมา เปิดเผยว่า การเฝ้าระวัง และสอบสวนคลัสเตอร์โรงเรียนแห่งหนึ่ง วันที่ 8 ก.พ แม่ของผู้ป่วยรายแรกเป็นนักเรียนชั้น ป.6 ไปสัมผัสผู้ป่วย จึงซื้อชุดเอทีเคมาตรวจคนในครอบครัว พบลูกมีผลบวก ต่อมา ศปก.อ.จักราช ค้นหากลุ่มเสี่ยง เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้นำและมีกิจกรรม เข้าค่ายลูกเสือ-เนตรนารี ในวันที่ 3-4 ก.พ พบวงที่ 1 เป็นกลุ่มนักเรียนที่มีความ สนิทสนมกัน โดยเรียนลูกเสือ เนตรนารีหมู่เดียวกัน 6 ราย วงที่ 2 นักเรียนร่วมห้อง 12 ราย วงที่ 3 ผู้สัมผัสร่วมบ้านและคนใกล้ชิดผู้ป่วยวงที่ 2 ป่วย 12 ราย วงที่ 4 ผู้สัมผัสร่วมบ้านและคนใกล้ชิดผู้ป่วยวงที่ 3 ป่วย 5 ราย รวมป่วยสะสม 35 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 149 ราย เนื่องจากเชื้อได้แพร่กระจายไปกลุ่มนักเรียนชั้น ป.4 ป.5 ป.6 จำนวนมาก จึงปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมยับยั้งเชื้อ กำหนดเปิดวันที่ 18 ก.พ.

วัคซีนเด็ก – สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางปะอิน และรพ.สต.คุ้งลาน จัดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มสำหรับเด็กอายุ 5-11 ขวบ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ที่โรงเรียนปัณณวิชญ์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 ก.พ.

อยุธยาคิกออฟฉีดไฟเซอร์
ที่โรงเรียนปัณณวิชญ์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา สสจ.พระนครศรีอยุธยา นางฉันทนา เปียทอง ผอ.โรงเรียนปัณณวิชญ์ พร้อมแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบางปะอิน รพ.สต.คุ้งลาน ร่วมกันคิกออฟวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนใกล้เคียงใน ต.คุ้งลาน จำนวน 109 คน เริ่มจากนักเรียนชั้น ป.5 เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยจะฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ โดยทางแพทย์และพยาบาลได้เตรียมสติ๊กเกอร์รูปหัวใจมาติดให้กับนักเรียนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นการส่งมอบความรัก ความห่วงใย ให้กำลังใจกับเด็กนักเรียน พร้อมกับคุณครู คอยให้กำลังใจ เด็กๆ หลายคนมีความวิตกกังวล กลัวพอได้สติ๊กเกอร์และกำลังใจจากคุณหมอ หายกังวล

บอย ปกรณ์แจ้งติดโควิด
วันเดียวกัน พระเอกหนุ่ม บอย ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ โพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว boy_pakorn ว่า “ผมเพิ่งได้รับแจ้งผลการตรวจโควิด แบบ พีซีอาร์ เทสต์ วันนี้ ว่าผลเป็นบวก ผมติดโควิดนะครับ เพิ่งมีอาการ เจ็บคอ มึนๆ หัว คล้ายๆ จะมีไข้อ่อนๆ กลางดึกเมื่อคืนที่บ้าน วันนี้เลยไปตรวจ ผลเป็นบวก และกําลังจะเข้าสู่กระบวนการรับการรักษาตามขั้นตอน เลยมาแจ้งให้ ทุกท่านที่ได้พบเจอกับผมในช่วงที่ผ่านมา ได้สังเกตอาการของตัวเองกันด้วยนะครับ ผมขอโทษ และขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ รวมถึงขอโทษสําหรับงานทุกงานหลังจากนี้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วยครับ ผมจะรีบติดต่อส่วนตัวไป ครับ ขออภัย ในความไม่สะดวกจากใจอีกครั้งครับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน