ร้านอาหาร-ประมงยื่น ชดเชยเดือนละ3หมื่น
ร้านอาหาร-หาบเร่-ประมงพื้นบ้าน ยื่นร้องบริษัทโรงกลั่น ขอเยียวยาเดือนละ 3 หมื่น เป็นเวลา 1 ปี ชดเชยได้รับผลกระทบน้ำมันรั่วทะเลระยอง ขีดเส้นคำตอบ 15 วัน ขณะที่หาดแม่รำพึงพังไม่หยุด ศูนย์ควบคุมมลพิษพบน้ำทะเลปนเปื้อนสารปรอท-นิกเกิล-ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ค่าเกินเกณฑ์ถึง 3 จุด ทั้งยังตรวจเจอสารอินทรีย์ระเหยในตัวจนท.เก็บกู้คราบด้วย ผงะก้อนน้ำมันสีดำเหนียวลอยกลื่นหาด เตือนนักท่องเที่ยวห้ามสัมผัส ก่อนส่งแล็บตรวจพิสูจน์

จี้เยียวยา – ผู้ประกอบการร้านอาหาร-หาบเร่หาดแม่รำพึง และประมงพื้นบ้าน 48 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วลงทะเล ยื่นหลักฐานเรียกร้องเงินเยียวยาจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียมฯ ที่โรงแรมระยอง บีช หาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 22 ก.พ.

จากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลทะลักออกจากท่อน้ำมันกลางทะเลระยอง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และวิถีชีวิตชุมชนริมหาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง เป็นบริเวณกว้าง ต่อมาบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประกาศแสดงความรับผิดชอบ ทั้งการเก็บกู้คราบน้ำมันและชดใช้ความเสียหาย แต่ปรากฏว่ายังคงเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วขึ้นอีก ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 ก.พ. ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยองสรุปผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ค่าคุณภาพน้ำทะเลพื้นฐาน (ค่าความเป็นกรด-ด่าง, ค่าออกซิเจนละลาย, อุณหภูมิ) ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-18 ก.พ.65 โดยรวมมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน, ค่าโลหะหนักในน้ำทะเลโดยรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นบางจุดที่พบค่าปรอทและค่านิกเกิลเกินเกณฑ์ค่า base line ส่วนค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนทั้งหมด (TPH) ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-12 ก.พ.65 พบที่หาดแม่รำพึง 3 จุด คือ บริเวณร้านป้ายา, เบย์วิว รีสอร์ต และคลองหัวรถ หน้าหมู่บ้านสบายสบาย ขณะที่ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH) ปัจจุบันอยู่ในช่วง 1.8-4.3 ไมโครกรัมต่อลิตร ยังคงเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองแจ้งผลตรวจการสัมผัสสารเบนซิน โดยเก็บปัสสาวะของผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมัน เพื่อตรวจหาอนุพันธ์ของสารอินทรีย์ระเหย 534 ราย ผลตรวจออกแล้ว 516 ราย อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เกินค่าอ้างอิง 513 ราย เกินเกณฑ์ค่าอ้างอิง 3 ราย (ค่าอ้างอิง ไม่ควรเกิน 500 ug/cr) กำลังนัดพบแพทย์ ส่วนอีก 18 ราย อยู่ระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการ

ที่ชายหาดแม่รำพึง บริเวณหน้าร้านเจ้จุกซีฟู้ด ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด รับแจ้งพบก้อนน้ำมัน หรือทาร์บอล ลอยมาเกยชายหาด เมื่อลงไปตรวจสอบพบก้อนน้ำมันลักษณะเหนียว มีกลิ่นน้ำมัน อยู่ประปรายกับผืนทรายทั่วชายหาดระยะทางประมาณ 100 เมตร และยังพบทาร์บอลลอยมาเกยชายหาดหน้าศาลเจ้าแม่รำพึงยาวกว่า 400 เมตร เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจพิสูจน์ต่อไป พร้อมเตือนนักท่องเที่ยวหากพบสิ่งนี้ห้ามสัมผัสเด็ดขาด ส่วนการดูดเอาน้ำมันดิบที่ค้างอยู่ในท่อ 12,000 ลิตรออกมานั้น ขณะนี้มีทีมวิศวกรจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาถึงหน้างาน และพร้อมปฏิบัติงานแล้ว โดยบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียมฯ จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมลงไปปฏิบัติงาน รอเพียงคำสั่งจากกรมเจ้าท่าว่าให้ลงไปปฏิบัติการวันไหน

วันเดียวกัน ที่โรงแรมระยอง บีช หาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร-หาบเร่หาดแม่รำพึง และกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 48 กลุ่ม รวมตัวนำเอกสารรายชื่อร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบไปยื่นเรียกร้องการเยียวยากรณีเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเลระยองกับบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียมฯ โดยมีนายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ และนายวิชาญ คำอาจ หัวหน้าทีมเยียวยาและชดใช้ของบริษัท รวมถึงนายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง ร่วมรับฟังและเจรจาเพื่อหาข้อยุติ

นายประเสริฐ ศิริมหา ประธานกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารหาดแม่รำพึง กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัท SPRC ทำน้ำมันรั่วลงทะเลซ้ำซาก กระทบหาดแม่รำพึง จนราชการต้องประกาศปิดหาดพร้อมประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพริมหาดทั้งภาคบริการนักท่องเที่ยวและประมงพื้นบ้าน ขณะที่กลุ่มร้านอาหารหาดแม่รำพึงได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส จึงมายื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ โดยจะรอคำตอบภายใน 15 วัน หากบริษัทไม่ตอบรับตามกำหนด กลุ่มร้านอาหารหาดแม่รำพึงเขตตำบลตะพงจะเคลื่อนไหวต่อไป ล่าสุดไปยื่นหนังสือกับนายทวีป แสงกระจ่าง นายก อบต.ตะพง ให้ช่วยประสานกับบริษัทเข้ามารับผิดชอบเพื่อเร่งเยียวยาแล้วด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ 48 กลุ่ม ประมาณ 2,600 ราย ได้ส่งตัวแทนเจรจากับบริษัท โดยเสนอขอเยียวยาเป็นเงินเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร-หาบเร่หาดแม่รำพึงยื่นเอกสารเรียกร้อง ดังนี้ โดยผู้ประกอบการร้านอาหารเรียกค่าเยียวยา หนึ่งไตรมาส 350,000 บาท รวม 4 ไตรมาส ส่วนผู้ประกอบการหาบเร่ และเปลผ้าใบ เช่าห่วงยาง เรียกวันละ 2,000 บาท รวม 4 ไตรมาส

นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเงินเยียวยาของกลุ่มประมง 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน จะตกลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการเยียวยา ขณะที่นายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ หัวหน้าโครงการเยียวยา SPRC กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับข้อเสนอจากทุกกลุ่ม เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการเยียวยาอย่างเร่งด่วนที่สุด
วันเดียวกัน นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ ปลัดจังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประสานการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายระหว่างบริษัท SPRC กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล

จากนั้นนายสุพจน์ให้สัมภาษณ์ว่า การจ่ายเงินเยียวยาจะต้องมีหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรสมาคมรับรองว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีทะเบียนหรือหลักฐานการประกอบอาชีพจริงมาแสดง ก่อนส่งต่อให้บริษัท SPRC พิจารณาจ่ายเงินชดเชย ซึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว 8,432 ราย ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอจำนวนเงินชดเชยเบื้องต้นแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 500 บาท, 800 บาท และ 1,000 บาท ตามกลุ่มอาชีพ และกำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่สีแดง กระทบมากสุด ได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย ต.ตะพง ต.เพ และเกาะเสม็ด, พื้นที่สีเหลือง กระทบปานกลาง ได้รับเงินชดเชย 75 เปอร์เช็นต์ ประกอบด้วย ต.เชิงเนิน, เทศบาลนครระยอง, ต.แกลง, เทศบาลแกลง-กะเฉด, ต.เนินพระ, เทศบาลสุนทรภู่, ต.กร่ำ และ ต.มาบตาพุด, และพื้นที่สีเขียว ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยา จากนั้นบริษัทจะนำเรื่องเสนอผู้บริหาร เบื้องต้นยังระบุไม่ได้ว่าจะจ่ายเงินก้อนแรกได้เมื่อไหร่ คาดว่าต้นเดือนมี.ค.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน