ป้องกันติดเชื้อโควิดนิวไฮอีก

ป่วยโควิดพุ่งพรวด 65,756 ราย จากผลตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ 23,618 ราย เอทีเคผลบวก 42,138 ราย เสียชีวิตนิวไฮรายวันอีก 49 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ศบค.ชี้ติดเชื้อขาขึ้นถึงกลางเม.ย. พุ่งสูงสุด 4-5 หมื่นคน ก่อนค่อยๆ ลดลงช่วงพ.ค. กำชับทุกจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงวัย 2.2 ล้านคน จี้ฉีดเข็มบูสต์ ลดเสียชีวิต 7 เท่า ลูกหลานกลับมารดน้ำดำหัววันสงกรานต์ เร่งคุมคลัสเตอร์ทีมแพทย์-พยาบาล โรงเรียน ตลาด นายกฯ สั่งดูแลเด็กป่วย-กลุ่มเสี่ยงสูงทุกคน ต้องได้สอบเข้ามหาวิทยาลัย สธ.ย้ำไม่ต้องตรวจ เอทีเคก่อนสอบ แจงไทยบริจาควัคซีน 5 ล้านโดส ผ่านโคแวกซ์ ยันในประเทศมีพอให้ทุกคน นครปฐมติดเชื้อพุ่งอีก 684 ราย ตั้งศูนย์กักตัวในวิทยาลัยเทคนิค

ผลบวกเอทีเคนิวไฮ 42,138
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 23,618 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 23,211 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22,939 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 272 ราย มาจากเรือนจำ 226 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 181 ราย หากรวมยอดผู้ติดเชื้อที่ตรวจเอทีเคเป็นผลบวก 42,138 ราย จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 65,756 ราย

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,958,162 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 18,939 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,711,678 ราย อยู่ระหว่างรักษา 223,414 ราย อาการหนัก 1,131 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 325 ราย โดยเป็นการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 79,412 ราย ส่วนใหญ่เป็นป่วยอาการสีเขียว 98.5% เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 49 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 25 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 41 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,070 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอด ผู้ติดเชื้อสะสม 440,641,800 ราย เสียชีวิตสะสม 5,993,043 ราย

ชี้เม.ย.ป่วย 4-5 หมื่นคน/วัน
พญ.สุมนีกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ประกอบด้วย 1.กทม. 2,779 ราย 2.ชลบุรี 1,217 ราย 3.นครศรีธรรมราช 959 ราย 4.สมุทรปราการ 953 ราย 5.ระยอง 754 ราย 6.นนทบุรี 739 ราย 7.สมุทรสาคร 704 ราย 8.ภูเก็ต 649 ราย 9.ราชบุรี 570 ราย และ 10.บุรีรัมย์ 548 ราย สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการปอดอักเสบที่เข้าโรงพยาบาลในวันที่ 2 มี.ค. พบมากที่สุดใน กทม. 178 ราย สมุทรปราการ 88 ราย บุรีรัมย์ 63 ราย นนทบุรี 62 ราย ภูเก็ต 55 ราย กาญจนบุรี 35 ราย สุราษฎร์ธานี 35 ราย นครศรีธรรมราช 34 ราย นครราชสีมา 33 ราย ชลบุรี 33 ราย ทั้งนี้ หากไปดูการคาดการณ์สถานการณ์ ในปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อในประเทศยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าประชาชนทำตามมาตรการและหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือ การติดเชื้อมากสุดจะอยู่ช่วงกลางเดือน เม.ย.โดยผู้ติดเชื้อจะอยู่ประมาณวันละ 4-5 หมื่นราย แต่หากทุกคนย่อหย่อนตัวเลขจะสูงมากกว่านั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนเคร่งครัดมาตรการ ดีที่สุดอยากให้คงตัวเลขติดเชื้อวันละไม่เกิน 2 หมื่นราย เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไว้ โดยการระบาดระลอกนี้คาดว่าผู้ติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลงต่ำสุดในช่วงปลายเดือนพ.ค.

“การระบาดระลอกเดือนม.ค.เป็นโอมิครอน ปอดอักเสบน้อยกว่าระลอกที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดของเดลตาเฉลี่ย 5 พันรายต่อวัน ช่วงนี้โอมิครอนปอดอักเสบประมาณ 625 รายต่อวัน ถือว่าน้อยกว่ามาก ซึ่งเมื่อวานแตะหลักพันวันแรก วันนี้วันที่สอง เราคาดการณ์ว่าหากเข้มมาตรการปัจจุบัน ปอดอักเสบจะมากสุดช่วงต้นเดือนพ.ค. หลังสงกรานต์ 2 สัปดาห์ ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ ตามมาตรการเตือนภัยระดับ 4 งดรวมกลุ่ม ทำงานที่บ้าน ชะลอการเดินทาง มาฉีดวัคซีนมากขึ้น ป่วยปอดอักเสบจะไม่เกิน 2 พันรายต่อวัน ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ การเตือนระดับ 4 เป็นการขอความร่วมมือ เพื่อไม่ให้ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากและรุนแรงมากขึ้น” พญ.สุมนีกล่าว

คลัสเตอร์ทีมแพทย์พุ่ง
พญ.สุมนีกล่าวว่า ขณะที่คลัสเตอร์ที่พบมากสุดในวันนี้คือ สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ พบที่ กทม. 85 ราย ชลบุรี 26 ราย สมุทรปราการ 18 ราย นราธิวาส 15 ราย ปทุมธานี 14 ราย บึงกาฬ ปัตตานี จังหวัดละ 11 ราย นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 9 ราย คลัสเตอร์โรงเรียน พบที่ร้อยเอ็ด พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ ชลบุรี เพชรบุรี มหาสารคาม คลัสเตอร์ตลาด พบที่สมุทรสาคร เพชรบุรี อุบลราชธานี จันทบุรี ขอนแก่น มุกดาหาร ส่วนคลัสเตอร์โรงงาน พิธีกรรมศาสนา และร้านอาหารมีการแพร่เชื้อน้อยลงแล้ว

ขณะที่อัตราครองเตียงระดับ 2-3 ยังไม่สูงเกิน 50% ยกเว้น จ.ภูเก็ต 62.7% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอาการไม่มาก แต่ไปใช้บริการ ส่วนภาพประเทศการครองเตียง 58.1% โดยเตียงสีเหลืองสีแดงยังอยู่ที่ 14-22% ดังนั้น ขอให้สีเขียวมีอาการน้อยไม่มีอาการเข้าระบบ โฮมไอโซเลชั่น (เอชไอ)

เร่งจว.ฉีดวัคซีน 2.2 ล้านผู้สูงวัย
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ว่าผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการระบาดโอมิครอนในระลอกนี้ เมื่อเทียบกับการรับวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 28 ก.พ.พบว่าผู้เสียชีวิต 75% เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวน 928 ราย โดยยังไม่ได้รับวัคซีนเลย 60% หรือ 557 คน ได้รับหนึ่ง เข็ม 8% หรือ 77 คน รับสองเข็ม 29% หรือ 271 คน และวัคซีนกระตุ้น 2% หรือ 23 คน ถ้าเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตกับการรับวัคซีน ผู้สูงอายุทั้งหมด 12.71 ล้านคน มีจำนวน 2.2 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุด 257 ต่อ 1 ล้านคน ส่วนผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม จะลดอัตราการเสียชีวิต 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่รับวัคซีน และฉีดครบ 2 เข็ม จะลดการเสียชีวิต 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนไม่ได้รับวัคซีน และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส 2 เข็ม กับรับเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 จะลดอัตราการเสียชีวิตลง 7 เท่า เมื่อเทียบกับฉีดครบ 2 เข็ม

“ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2.2 ล้านคน ให้รับวัคซีน และเข็มที่ 2 ให้ไปฉีดตามนัด และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อครบ 3 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ ที่ลูกหลานจะ เดินทางกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน จึงให้กรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ สำรวจผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังได้รับไม่ครบ หรือมีกำหนดฉีดเข็มกระตุ้น ให้ลงไปฉีดวัคซีนเชิงรุกกับกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ เนื่องจากเข็มกระตุ้น จะช่วยลดอาการ ป่วยหนักและลดการเสียชีวิตได้ถึง 7 เท่า” พญ.สุมนีกล่าว

ขณะนี้การฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ ฉีดเข็มที่หนึ่ง 83% เข็มสอง 78.6 % เข็มที่สาม 30.8% สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอายุ 5-11 ขวบ ที่มีเป้าหมาย 5.1 ล้านคน เข็มที่หนึ่ง 15.4% เข็ม 2 ฉีด 0.3% ขอให้ผู้ปกครอง นำบุตรหลานไปรับวัคซีน จากสถานบริการใกล้บ้าน เพื่อเตรียมภาคกับการเปิดเรียน โดยมีวัคซีนซิโนแวค และไฟเซอร์ ฝาส้ม ให้เลือกได้ตามความสมัครใจ

สำหรับกรณีเบอร์โทร.สายด่วน 1330 ที่มีการติดต่อเข้ามาจำนวนมาก จึงเพิ่มหลายหน่วยงานมาช่วยรับสาย ทั้งทหาร จิตอาสา ภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ยังมีช่องทางลงทะเบียนอื่นทั้ง ไลน์ @nhso ทั้งนี้ มีการหารือว่าจะรวมศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ มาช่วยเพิ่มเติมรับโทรศัพท์ ส่วนคนที่ผลเป็นบวก มีอาการรุนแรงสีแดงโทร. 1669 ได้ทันที

เม.ย.คุมยอดติดเชื้อให้ลดลง
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงขยายบริการ “เจอ แจก จบ‘ รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้นว่า ต้องพยายามทำให้อยู่ในเส้นสีเขียว โดยลดการไปสถานที่เสี่ยง งดรวมกลุ่มคน และชะลอการเดินทาง จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงไปในช่วงปลายเดือนเม.ย. จากข้อมูลพบว่าผู้ที่รักษาตัวที่บ้านโอกาสที่จะกำเริบอาการมากขึ้นและต้องกลับไปรักษาตัวต่อถือว่าน้อยมาก เพียง 0.5% สำหรับสถานการณ์เตียงโควิดทั่วประเทศ มีการใช้เตียงในร.พ. 57% ส่วนใหญ่เป็นเตียงระดับ 1 สีเขียว 66% บางแห่งขึ้นไปถึง 90% ซึ่งจริงๆ กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องนอนร.พ. ส่วนเตียงระดับ 2.1 สีเหลือง ใช้เตียง 22% เตียงระดับ 2.2 สีส้ม ใช้เตียง 14% และเตียงระดับ 3 สีแดง ใช้ 22% ถือว่ายังมีเพียงพอรองรับ

สำหรับสายด่วน สปสช. 1330 ข้อมูลวันที่ 2 มี.ค. มีการโทร.เข้า 70,300 สาย ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ 700 คน โดยมีสายติดต่อเจ้าหน้าที่ 59,614 ราย รับสายได้ 29,688 สาย หรือครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งไม่ได้รับสาย ทำให้เกิดการรอคอยราว 30,000 สาย เรียกว่าสายเข้ามามากเกินกำลังเจ้าหน้าที่ การบรรเทาความเดือดร้อนผู้โทร. 1330 ที่รอคอยนาน หรือยังไม่ได้รับการติดต่อกลับนั้น สปสช.ได้เพิ่มคนมารับสายมากขึ้น

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมีผลเอทีเคเป็นบวก แต่ติดต่อ 1330 ไม่ได้ หรือรอคอยนานเป็นพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีประชากรมากและผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สธ.จึงบรรเทาความเดือดร้อน โดยจัดร.พ.ใน 14 จังหวัดรอบ กทม.ให้การดูแลแบบเจอแจกจบ รองรับได้ 18,650 รายต่อวัน ได้แก่ นนทบุรี 1,500 ราย, ปทุมธานี 1,100 ราย, พระนครศรีอยุธยา 1,670 ราย, สระบุรี 1,800 ราย, นครนายก 600 ราย, สิงห์บุรี 900 ราย, อ่างทอง 900 ราย, นครปฐม 1,600 ราย, สมุทรสงคราม 500 ราย, สมุทรสาคร 800 ราย, สุพรรณบุรี 1,700 ราย, สมุทรปราการ 1,300 ราย, ชลบุรี 1,930 ราย, ฉะเชิงเทรา 1,300 ราย, ร.พ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 450 ราย และร.พ.สังกัดกรมควบคุมโรค 600 ราย โดยผู้ที่ติดต่อ 1330 ไม่ได้ สามารถวอล์กอินเข้าไปจะได้รับการดูแลอย่างดีแบบผู้ป่วยนอก โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการข้ามเขต เพราะ สธ.หารือกับ สปสช. และหน่วยงานหลักประกันสุขภาพอื่นๆ แล้ว แต่การเดินทางให้ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น หากไปรถยนต์ส่วนตัวจะดีที่สุด”

ผู้ป่วยขานรับ‘เจอแจกจบ’
“ภาพรวมการเพิ่มระบบบริการโควิด ผู้ป่วยนอก ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. พบว่าได้รับความสนใจและการตอบสนองอย่างดีจากประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาโควิดในระบบ 2 แสนกว่าราย โดยอยู่ในระบบเอชไอ ซีไอถึง 1.4 แสนราย ซึ่งบุคลากรทางการแพทยก็ต้องติดตามอาการทุกวันก็อาจจะไม่ไหว ซึ่งผู้ป่วยนอกเจอแจกจบก็จะมาช่วยตรงนี้ และคาดว่าหากดำเนินการประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะช่วยลดปัญหาการรอสาย ไม่ได้รับการติดต่อกลับที่ตกค้างประมาณ 3 หมื่นสายลงได้ ช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

บริจาคให้โคแวกซ์ 5 ล.โดส
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวจัดงาน “Thailand International Health Expo 2022” ว่า ประเทศไทยได้แจ้งองค์การอนามัยโลก (ฮู) ว่า ประสงค์และมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในโครงการโคแวกซ์ โดยจะบริจาควัคซีน โควิด-19 ผ่านโครงการโคแวกซ์ ซึ่งแม้ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในฐานะผู้รับบริจาคในปีที่ผ่านมา แต่จะเข้าร่วมในฐานะผู้ให้หรือผู้บริจาค ซึ่ง ผอ.องค์การอนามัยโลกระบุว่า ให้บริจาคไปยังประเทศแถบแอฟริกา นอกเหนือจากการบริจาคให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้มีการบริจาคไปยังประเทศที่คิดว่ายังเข้าไม่ถึงวัคซีน จำนวน 5 ล้านโดส ในส่วนของการจัดซื้อจัดหาวัคซีนในปีนี้ ยืนยันว่ามีมากเพียงพอในการฉีดให้กับคนไทย แรงงานในไทย หรือผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทุกคน

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถติดต่อสายด่วน 1330 เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลระบบเอชไอ นายอนุทินกล่าวว่า สธ.รับทราบปัญหาและเร่งแก้ไขโดยการเพิ่มคู่สาย และเร่งดำเนินโครงการดูแลแบบผู้ป่วยนอกเจอจ่ายจบให้มากที่สุด ซึ่งปีที่แล้วเราเจอทั้งวัคซีนไม่มี เตียงไม่พอ โทรศัพท์คู่สายและรถส่งผู้ป่วยก็ไม่พอ แต่ตอนนี้ปัญหาคลี่คลายหมดแล้ว เหลือการรับขึ้นทะเบียนเอชไอเท่านั้น และ ได้มอบหมายอธิบดีทุกกรมช่วยแบ่งเบาภาระ ซึ่งแต่ละกรมมีสายด่วนก็ให้เพิ่มความครอบคลุมดูแลผู้โทร.เข้ามาเรื่องโควิดด้วย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สธ.และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายตรงกันว่า ไม่มีการบังคับให้ตรวจหาเชื้อโควิดก่อนสอบ ซึ่งสถานศึกษาก็ต้องไปดำเนินการตามนโยบาย ส่วนเด็กที่ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ให้จัดสอบแบบแยกห้อง ไม่ได้มีการตัดสิทธิใดๆ

จี้ให้เด็กป่วยสอบเข้ามหา’ลัย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบนโยบาย สธ. ศธ. และกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เน้นย้ำนักเรียนจะต้องไม่เสียโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2565 ภายใต้มาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างเข้มข้น ซึ่ง อว.ได้ข้อสรุปยืนยันให้สิทธิ์เด็กนักเรียนติดเชื้อโควิดอาการเล็กน้อยและกลุ่มมีความเสี่ยงสูงได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกคน โดยจัดสนามสอบที่กำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าสอบที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเดินทางมายังสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากสนามสอบจัดให้เท่านั้น

ส่วนการจัดสอบตามหลัก VUCA ผู้สอน ผู้จัดสอบต้องได้รับวัคซีนตามที่ สธ.กำหนด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดการสัมผัส และเว้นระยะห่าง สถานที่จัดสอบ ต้องดำเนินการตามมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง อีกทั้ง ผู้สอบ ผู้จัดสอบ ต้องประเมินความเสี่ยง และควรตรวจเอทีเคเมื่อมีอาการและมีความเสี่ยงสูง ไม่แนะนำให้ตรวจเอทีเคทุกคน พร้อมขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาในจังหวัด และผู้จัดสอบในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินการจัดการสอบให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด และสนามสอบต่างๆ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันโควิดขั้นสูงสุด ให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มผู้ติดเชื้อ และในส่วนกทม. และปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อไปยังสถานที่สอบหรือศูนย์พักคอยต่างๆ

ภูเก็ตใช้เตียงแล้ว 51.9%
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.ภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 649 ราย เสียชีวิต 1 ราย จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 33 ราย เทสต์แอนด์โก 66 ราย หายกลับบ้าน 743 ราย ส่วนสถานการณ์การใช้เตียงจากจำนวนเตียงทั้งหมด 3,496 เตียง ครองเตียง 1,680 เตียง คิดเป็น 48.05% จำนวนเตียงว่าง 1,816 เตียง คิดเป็น 51.95%

ด้านนพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นพ.สสจ.สตูล กล่าวว่า พบผู้ป่วยใหม่ 145 ราย เป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 153 คน ซึ่งทั้งหมดได้กักตัวเพื่อสังเกตอาการที่บ้าน ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชาย อายุ 81 ปี อยู่ต.สาคร อ.ท่าแพ มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และไทรอยด์ ไม่มีประวัติได้รับวัคซีนโควิด

ส่งรักษา – หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นำคนงานโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง 14 คน ที่ผลตรวจเอทีเคเข้าข่ายติดเชื้อโควิด ไปตรวจยืนยันผลที่ร.พ. มหาราชนครราชสีมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป เมื่อวันที่ 3 มี.ค.

โคราชยังป่วยพุ่ง 878 คน
ด้านสสจ.นครราชสีมา รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ 878 ราย ติดเชื้อสะสม 18,931 ราย รักษาหาย 10,676 ราย ยังรักษาอยู่ 8,213 ราย และเสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 65 ปี ชาวต.ในเมือง อ.เมือง เสียชีวิตสะสม 42 ราย

ที่ร.พ.มหาราชนครราชสีมา บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง ตั้งอยู่ริมถนนราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา แจ้งว่า ได้ตรวจเอทีเคคนงานในโรงงานกว่า 300 คน พบผลเป็นบวกจำนวน 14 คน ทางร.พ.จึงแจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา ให้นำรถตู้ความดันลบวิ่งเข้าไปรับคนงานที่มีผลเป็นบวก โดยแบ่งเป็นคนงานหญิง 9 ราย และชาย 5 ราย มาตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงประมาณ 100 ราย ได้จัดสถานที่ให้กักตัวอยู่ภายในโรงงานทั้งหมดแล้ว

บุรีรัมย์ปิดวัดดัง
ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีคำสั่งให้ปิดวัดกลางพระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงโดยห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้า-ออกวัดอย่างเด็ดขาด ทั้งให้งดกิจกรรมทางศาสนาทุกประเภท และไม่ให้พระภิกษุสงฆ์ หรือสามเณรออกรับบิณฑบาต หลังจากตรวจพบพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรในวัดติดเชื้อจำนวน 25 รูป และโยมที่อยู่ในวัดอีก 1 คน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ได้มีการจัดสอบบาลีสนามหลวง ที่วัด ก่อนเข้าห้องสอบ ตรวจเอทีเค พบสามเณรมีผลเป็นบวกจำนวน 13 รูป ต่อมาก็ตรวจพบพระ เณร ติดเชื้อเพิ่มอีก 12 รูป และโยมที่อยู่ในวัดอีก 1 คน รวมเป็น 26 ราย

นายเพทาย สดทรงศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และโยมที่ตรวจพบติดเชื้อโควิดทั้ง 26 ราย ได้รักษาตัวอยู่ภายในวัด โดยแยกพื้นที่เป็นสัดส่วน มีเจ้าหน้าที่จากทางร.พ.มาตรวจวัดไข้ และส่งยาให้ คาดว่าการติดเชื้อน่าจะมาจากสามเณรออกไปรับบิณฑบาตแถวตลาด แล้วนำเชื้อมาแพร่ต่อกับเณรที่อยู่ในกุฏิเดียวกัน

ปราจีนฯป่วยอีก 300 คน
ขณะที่ สสจ.ปราจีนบุรี รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 300 ราย สะสมระลอกใหม่รวม 6,894 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยผู้ป่วยใหม่เชื่อมโยงคลัสเตอร์บริษัท ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป จำกัด จำนวน 10 ราย คลัสเตอร์บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล จำนวน 7 ราย คลัสเตอร์บริษัท เอส เอ็ม ที อินดัสตรี้ส์ จำกัด 3 ราย มีกลุ่มเสียงสูง 128 ราย

ด้านศูนย์โควิด-19 จังหวัดระยอง รายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 754 ราย อาศัยอยู่ใน 8 อำเภอของจังหวัด เสียชีวิต 1 ราย เป็นชาย อายุ 85 ปี อยู่ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง โดยสสจ.ระยอง ประกาศให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย ขอรับการฉีดได้ทันที รวมถึงผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย

นครปฐมพุ่งพรวด 684 คน
ส่วนสสจ.นครปฐม รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ วันเดียว 684 ราย เป็นผู้ป่วยจากในจังหวัด 670 ราย และจากต่างจังหวัด 14 ราย สัญชาติไทย 669 ราย และต่างชาติ 15 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 14,641 ราย สอบสวนโรคพบส่วนหนึ่งมีประวัติไปพื้นที่เสี่ยงที่มีคนหนาแน่น และสัมผัสผู้ป่วย โดยคนไข้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการประเมินอาการ ให้กักตัวที่บ้านและส่งไปดูแลที่ร.พ.สนาม

ขณะเดียวกัน จ.นครปฐม ได้เปิดศูนย์แยกกักตัวในชุมชนตำบลหนองดินแดง โดยใช้อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ที่วิทยาลัยสารพัดช่างนครปฐม มีนายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผวจ.นครปฐม เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อโควิค รวมทั้งเป็นการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหนองดินแดง เจ้าหน้าที่จากอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอสม.จัดเวรมาดูแลผู้ป่วย
ส่งรักษา – หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นำคนงานโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง 14 คน ที่ผลตรวจเอทีเคเข้าข่ายติดเชื้อโควิด ไปตรวจยืนยันผลที่ร.พ. มหาราชนครราชสีมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป เมื่อวันที่ 3 มี.ค.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน