ป่วยหมื่น28วันตายนิวไฮอีก54

กรมสุขภาพจิตชี้โอมิครอนทำคนไทยเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า ฆ่าตัวตายพุ่ง 5.9 เท่า จัด 5 ร.พ.จิตเวชดูแลผู้ป่วยแบบเจอแจกจบ ดับโควิดนิวไฮอีก 54 ราย คร่าเด็ก 1 ขวบด้วย ไทยป่วยสะสมใกล้ 3 ล้านคน ติดเชื้อเพิ่ม 23,834 ราย ผลเอทีเคบวกอีก 31,571 ราย ป่วยเกินหมื่น 28 วันซ้อน 58 จังหวัดเกินร้อย สธ.เตือนไม่เข้มงวดการใช้ชีวิต ช่วงสงกรานต์ยอดติดเชื้อพุ่งวันละแสนราย จี้ฉีดวัคซีนผู้สูงวัยก่อนลูกหลานกลับสงกรานต์ อนุบาลแปดริ้ววุ่น ครูป.4 ติดเชื้อ กักตัวครู-นักเรียนอื้อ ปรับให้เรียนออนไลน์

ป่วย 2.3 หมื่น-ตายนิวไฮ 54
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ถึงหลักหมื่นรายเป็นวันที่ 28 นับจากการระบาดระลอก 1 ม.ค.2565 โดยรายงานติดเชื้อ 23,834 ราย สะสม 2,981,996 ราย แอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค) ผลเป็นบวกอีก 31,571 คน หายป่วย 19,351 ราย สะสม 2,731,029 ราย เสียชีวิต 54 ราย สะสม 23,124 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 227,843 ราย อยู่ในร.พ. 80,539 ราย อยู่ร.พ.สนาม เอชไอ ซีไอ 147,304 ราย มีอาการหนัก 1,115 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 337 ราย

ผู้เสียชีวิตมาจาก 34 จังหวัด ได้แก่ กทม. และภูเก็ต จังหวัดละ 5 ราย, ลพบุรี 3 ราย, นครปฐม เลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย และ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มุกดาหาร หนองบัวลำภู กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ สุโขทัย กระบี่ ชุมพร ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา ชลบุรี นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 24 ราย อายุ 1-91 ปี เฉลี่ย 74 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 95%

เกินร้อย 58 จังหวัด
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 2,580 ราย 2.ชลบุรี 1,320 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,124 ราย 4.สมุทรปราการ 953 ราย 5.นครราชสีมา 814 ราย 6.ปทุมธานี 689 ราย 7.สมุทรสาคร 686 ราย 8.นครปฐม 684 ราย 9.ระยอง 649 ราย และ 10.ภูเก็ต 623 ราย

สำหรับจังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 48 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา 620 ราย, ราชบุรี 603 ราย, นนทบุรี 564 ราย, บุรีรัมย์ 520 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 460 ราย, ขอนแก่น 457 ราย, ฉะเชิงเทรา 438 ราย, สุพรรณบุรี 429 ราย, ปัตตานี 370 ราย, ร้อยเอ็ด 365 ราย, สงขลา 341 ราย, สระบุรี 335 ราย, สมุทรสงคราม 277 ราย, ยะลา 269 ราย, พัทลุง 254 ราย, กาญจนบุรี 252 ราย, อุบลราชธานี 248 ราย, เชียงใหม่ 241 ราย, สุรินทร์ 241 ราย, สุราษฎร์ธานี 240 ราย, ชัยภูมิ 239 ราย, หนองคาย 226 ราย, กาญจนบุรี 217 ราย, อ่างทอง 211 ราย, ปราจีนบุรี 200 ราย

สระแก้ว 199 ราย, เพชรบุรี 196 ราย, กำแพงเพชร 195 ราย, ตาก 194 ราย, ศรีสะเกษ 193 ราย, สกลนคร 192 ราย, นครสวรรค์ 189 ราย, พิษณุโลก 188 ราย, ลพบุรี 186 ราย, มหาสารคาม 181 ราย, จันทบุรี 175 ราย, อุดรธานี 172 ราย, ตรัง 169 ราย, ระนอง 166 ราย, กระบี่ 149 ราย, นราธิวาส 144 ราย, สตูล 143 ราย, ยโสธร 133 ราย, นครนายก 125 ราย, หนองบัวลำภู 121 ราย, นครพนม 111 ราย, เพชรบูรณ์ 109 ราย และชุมพร 106 ราย

ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 85 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 146 ราย ใน 34 ประเทศ ซึ่งประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อมาก เช่น เมียนมา 38 ราย เป็นลักลอบเข้ามา 35 ราย, รัสเซีย 20 ราย, เยอรมนี 11 ราย, อังกฤษ 10 ราย, สิงคโปร์ 9 ราย, ฝรั่งเศส กัมพูชา ประเทศละ 5 ราย เป็นต้น ภาพรวมเข้าระบบ Test&Go 70 ราย แซนด์บ็อกซ์ 32 ราย ระบบกักตัว 8 ราย และลักลอบเข้ามา 36 ราย

สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-3 มี.ค.2565 จำนวน 24,967 ราย รายงานติดเชื้อ 340 ราย คิดเป็น 1.36% แบ่งเป็นระบบเทสต์แอนด์โก 20,983 ราย ติดเชื้อ 223 ราย คิดเป็น 1.06% แซนด์บ็อกซ์ 3,485 ราย ติดเชื้อ 112 ราย คิดเป็น 3.21% และกักตัว 499 ราย ติดเชื้อ 5 ราย คิดเป็น 1%

ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค.ฉีดได้ 208,670 โดส สะสมรวม 124,396,024 โดส เป็นเข็มแรก 53,780,157 ราย คิดเป็น 77.3% ของประชากร เข็มสอง 49,811,504 ราย คิดเป็น 71.6% ของประชากร และเข็มสาม 20,804,363 ราย คิดเป็น 29.9% ของประชากร

โอมิครอนทำฆ่าตัว 5.9 เท่า
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน จากการพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่มาใช้บริการผ่านช่องทาง www.วัดใจ.com โดยเปรียบเทียบสถิติเดือนก.พ.กับค่าพยากรณ์สถิติของเดือนม.ค. 2565 พบแนวโน้มความเสี่ยงโดยรวมสูงมากขึ้นคือ ประชาชนอาจมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า ซึมเศร้าสูงขึ้น 4.8 เท่า ฆ่าตัวตายสูงขึ้น 5.9 เท่า และภาวะหมดไฟสูงถึง 9.7 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนมีพลังใจลดลง พบมากขึ้นกว่า 80% กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่จำเป็นต้องเร่งป้องกัน แก้ไข และดูแลเยียวยาจิตใจทุกกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

“ปัญหาทางสุขภาพจิตที่มากขึ้นส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากการระบาดของ โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่กระจายไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว จนสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงมีนโยบายช่วยลดความตระหนกกังวลและสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในสถานการณ์โควิด ด้วยนโยบาย “เจอ แจก จบ” ของกระทรวงสาธารณสุข” พญ.อัมพรกล่าว

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะเริ่มให้บริการแบบผู้ป่วยนอกเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัวที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 กลุ่มไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาตามระดับอาการของโรคใน 3 สูตร ได้แก่ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ 2.ยาฟ้าทะลายโจร และ 3.ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก หลังจากนั้นจะแยกกักตัวที่บ้านและมีการติดตามโดย เจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งจะนำร่องการดูแลผู้ป่วยจิตเวชตามนโยบาย “เจอ แจก จบ” ในร.พ.จิตเวช 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.ศรีธัญญา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ร.พ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และสถาบันราชานุกูล โดยจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัดกรมสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต

เตือนสงกรานต์ป่วยวันละแสน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด และการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบ้านสบายใจ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 มี.ค.2565 สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยติดเชื้อรายใหม่ค่าเฉลี่ย 14 วัน วันนี้อยู่ที่ 21,966 ราย แม้สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องรักษาในร.พ. เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบ ผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้อัตราป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยกว่าปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์เดลตา แต่ยังมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการเพิ่มของผู้เสียชีวิต

นพ.โสภณกล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ขณะนี้อยู่ในระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเส้นคาดการณ์สีเขียวน่าจะไม่เป็นจริงแล้ว ถ้าดูจากอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมีโอกาสเป็นเส้นสีเหลืองหรือแดง โดยเส้นเหลืองผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มสูงสุดประมาณ 5 หมื่นกว่ารายต่อวันในช่วงหลังสงกรานต์ คือ วันที่ 19 เม.ย. และหากไม่คงมาตรการที่เข้มงวด เช่น การสวมหน้ากาก ป้องกันตนเองเข้มงวด และไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยงก็อาจมีโอกาสมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวันขึ้นไป 2 เท่า จากประสบการณ์ของประชาชนเราสามารถร่วมมือร่วมใจได้ด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันแพร่เชื้อ จะทำให้สถานการณ์จริงอยู่ในเส้นคาดการณ์สีเหลืองหรือไม่เกินเส้น สีแดง ทั้งนี้ ช่วงพ.ค.-มิ.ย.น่าจะเป็นขาลงของการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทย

พ.ค.ยอดปอดอักเสบพีก
สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงจริง เนื่องจากกำลังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจขึ้นไปเป็นฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้สูงสุดในเส้นสีแดงได้ คาดว่าจุดสูงสุดของการระบาดที่ทำให้เกิด ผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ช่วงต้นเดือนพ.ค. ซึ่งจะช้ากว่าการติดเชื้อรายใหม่สูงสุดประมาณ 2 สัปดาห์

นพ.โสภณกล่าวว่า การติดเชื้อสายพันธุ์ โอมิครอนปีนี้ต่างจากสายพันธุ์เดลตาปีที่แล้ว 3 ประการ คือ 1.เชื้อโอมิครอนทำให้เกิดอาการรุนแรงในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าเดลตา 2.คนไทยรับวัคซีนเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น ทั้งวัยทำงานและ วัยเรียน ซึ่งปีที่แล้วเราเริ่มฉีดจากผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน และ 3.เรามีความรู้ความเข้าใจการป้องกันดีขึ้นว่า ต้องป้องกันตนเองอย่างไร เช่น สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยงสูง การระบายอากาศช่วยลดโอกาสรับเชื้อในสิ่งแวดล้อม จัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนโอกาสติด ง่ายกว่าเดลตา โดยวัยทำงานและวัยเรียนมีการติดเชื้อเยอะ บางครอบครัวติดทั้งบ้าน ต่างจากสมัยสายพันธุ์เดลตาที่อาจติดประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ขณะนี้ฉีดวัคซีนสูง ทั้งประเทศ 77% เฉพาะผู้สูงอายุ 83% ช่วยป้องกันการป่วยหนักและอาการรุนแรง แม้รับวัคซีนแล้วก็ต้องป้องกันตนเอง ลดโอกาสเสี่ยงนำเชื้อไปให้คนอื่น โดยหากรับ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน ให้รับเข็มกระตุ้นจะเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้โอมิครอนดีขึ้น โอกาสเสี่ยงจะลดลงไปอีก

จี้ฉีดวัคซีน 2.17 ล้านสูงวัย
นพ.โสภณกล่าวถึงการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุก่อนวันสงกรานต์ว่า ขณะนี้วัยทำงานมีการติดเชื้อโควิดมากที่สุด ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 0-19 ปีมีแนวโน้มการติดเชื้อสูงขึ้นมาก ขณะที่ผู้สูงอายุมีการติดเชื้อน้อยกว่าวัยอื่น แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่นหลายเท่า โดยเฉพาะสูงอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราติดเชื้อเสียชีวิตเกือบ 3% อายุ 60-69 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.6% และอายุ 50-59 ปี อัตราติดเชื้อเสียชีวิต 0.2% เมื่อพิจารณาจากผู้เสียชีวิตวันนี้ที่พบสูงสุดของระลอกนี้ 54 ราย พบว่าเป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 80% อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคประจำตัว 15% รวมเป็น 95% โดยไม่ได้รับวัคซีนเลย 48% รับเข็มเดียว 13% รับครบสองเข็มเกิน 3 เดือน 31% ดังนั้น หากรับครบถ้วนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นจะลดโอกาสเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ. พบว่า 75% เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 928 ราย พบว่าไม่รับวัคซีนเลย 557 ราย คิดเป็น 60% รับวัคซีนเข็มเดียว 77 ราย คิดเป็น 8% รับครบ 2 เข็ม 271 ราย คิดเป็น 29% รับเข็มกระตุ้น 23 ราย คิดเป็น 2% ขณะที่เทียบอัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้สูงอายุที่รับวัคซีนและไม่รับวัคซีน พบว่าหากรับวัคซีน 2 เข็ม ช่วยลดการเสียชีวิตลง 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน และฉีดเข็มกระตุ้นลดการเสียชีวิตลง 41 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขการศึกษาในสหรัฐอเมริกา

“ขอเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุ 2.17 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีนเข็มแรก ฉีดเข็มแรกแล้วให้ฉีดเข็ม 2 ตามนัด และหากรับครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือนให้มารับเข็มกระตุ้น โดยขอให้คนในครอบครัวช่วยกันสร้างความเข้าใจ พาผู้สูงอายุมารับวัคซีนในช่วง 1 เดือนกว่าๆ ก่อนสงกรานต์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ ลูกหลานจะกลับไปเยี่ยมที่ต่างจังหวัด ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้วที่หลายครอบครัวสูญเสียผู้สูงอายุ จากการที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมพร้อมนำเชื้อมาด้วย จึงอยากให้ทั้งผู้สูงอายุรับวัคซีนให้ครบก่อนสงกรานต์ เพื่อที่ลูกหลานจะกลับบ้านอย่างสบายใจ โดยลูกหลานก็ต้องฉีดวัคซีนและต้องป้องกันตนเองด้วย” นพ.โสภณกล่าว

เร่งแจงกลุ่มไม่ฉีดเข็มบูสต์
นพ.โสภณกล่าวว่า มีข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำปาง ที่สำรวจประชาชน 86,798 คน พบว่าส่วนหนึ่งคือ 29,418 คน หรือ 37.8% ไม่ต้องการรับวัคซีนเข็ม 3 แม้ถึงเวลาที่กำหนดแล้ว เนื่องจากกังวล กลัวผลข้างเคียง และกลัวเสียชีวิต 21% และคิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอแล้ว 14% ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ถ้าช่วยกันแก้ความเข้าใจผิดได้ก็จะนำกลุ่มนี้เข้ามาฉีดวัคซีนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนในเด็กก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อในผู้สูงอายุได้ด้วย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวการปรับระบบ โทร.1330 ลดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างว่า ผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวกติดต่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาผ่านสายด่วนต่างๆ ได้ โดยพื้นที่กทม.ติดต่อสายด่วนประจำเขต 50 เขตใน กทม. หรือสายด่วน 1669 กด 2 ส่วนต่างจังหวัดมีสายด่วนประจำจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีเบอร์กลางคือ สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีการลงทะเบียนผ่านสายด่วนจำนวนมากขึ้นด้วย โดยสายด่วน 1330 มีผู้โทร.เข้ามาสูงถึง 70,300 สาย ซึ่งจริงๆ ตั้งแต่ปีใหม่เรามีการขยายคู่สายจนเต็ม 3,000 คู่สาย และเพิ่มจำนวนผู้รับสายแล้ว เนื่องจากมีการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าจำนวน ผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่การโทร.เข้ามามากถึง 7 หมื่นสาย และแต่ละสายเราใช้เวลาในการพูดคุยสอบถามประมาณสายละ 7 นาที ทำให้ส่วนหนึ่งเมื่อโทร.เข้ามาแล้วสายไม่ว่าง หรือไม่ได้รับสาย ทั้งนี้ เราเพิ่มช่องทางรับลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ สปสช. หรือไลน์ @nhso รวมถึงรับสมัครจิตอาสาต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนมาช่วยตอบ รวมถึงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.แล้ว โดยการเพิ่มจำนวนผู้รับสายและเพิ่มบริการแบบผู้ป่วยนอกนั้น ทำให้จำนวนสายที่โทร.เข้ามาสายด่วน 1330 ลดลงด้วยจาก 7 หมื่นสาย เหลือ 5.5 หมื่นสาย และอัตราไม่ได้รับสาย ซึ่งเดิมมีประมาณครึ่งหนึ่ง ก็ลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 แล้ว และคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ

หนุ่มป่วยเครียดดิ่งตึกดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆ ที่จ.อุตรดิตถ์ พ.ต.อ.สมเกษม จารักษ์ ผกก.สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ได้รับแจ้งจาก ร.ต.ท.ไฉน ขำสกุล สายตรวจหน่วยบริการคุ้งตะเภา ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์ว่า มีผู้ป่วยโควิด กระโดดตึกเสียชีวิตจากชั้นที่ 3 ของอาคารที่พักผู้ป่วยโควิด ร.พ.สนาม แห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ในอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (บึงกะโล่) ต.ป่าเซ่า จึงเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุพร้อม ร.ต.อ.ธีรศักดิ์ ดวงตาน้อย พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์ พบศพ นายศิริศักดิ์ อ่อนละมุล อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42/8 หมู่ที่ 11 ต.วังแดง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ จากการชันสูตรเบื้องต้นพบว่า คอหัก ซี่โครงซ้าย และขาด้านซ้ายหัก หลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยทำ พีซีอาร์ ราว 30 นาที แต่ก็ไม่เป็นผล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์เบื้องต้นทราบว่า ก่อนผู้เสียชีวิตจะกระโดดตึกผู้ป่วยโควิด ได้ยินบ่นอยากตายมาหลายครั้งแล้ว โดยทางผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในห้องเดียวกันราว 10 คน พยายามเตือนว่า จะทำอะไรให้นึกถึงลูกๆ ขณะที่ทุกคนเผลอ ผู้เสียชีวิตก็เปิดหน้าต่างแล้วกระโดดลงมาทันที โดยที่ทุกก็ไม่สามารถห้ามหรือช่วยเหลืออะไรได้

ร.ต.อ.ธีรศักดิ์กล่าวว่า นางรุ่งรัตน์ อินชายเขา อายุ 29 ปี ภรรยาของผู้เสียชีวิตให้การว่า สามีได้เข้ารักษาตัวที่ร.พ.สนามแห่งที่ 2 พร้อมลูกชายและลูกสาวที่ติดโควิดด้วย ไม่คิดว่าจะคิดสั้นจนมากระโดดตึกดังกล่าว สาเหตุน่าจะเครียดมาจากเรื่องหนี้สิน และติดโควิด ส่วนศพได้ให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย นำร่างไปผ่าพิสูจน์ ที่ร.พ.อุตรดิตถ์ แผนกนิติเวช

สงขลาเอทีเคบวกพุ่ง 2.8 พัน
ด้านสสจ.สงขลา รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ จำนวน 341 คน รวมติดเชื้อสะสม 7,545 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เสียชีวิตสะสม 28 คน และตั้งแต่การดำเนินนโยบาย “เจอแจกจบ” วันที่ 1-4 มี.ค. จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเอทีเคผลเป็นลบ จำนวน 2,845 คน กำลังรักษาตัว 23,543 คน

โคราชป่วยพุ่งแตะพัน
ขณะที่ พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนพ.สสจ.นครราชสีมา ชี้แจงว่า พบผู้ป่วยใหม่ 945 ราย ติดเชื้อสะสม 19,653 ราย รักษาหาย 11,258 ราย รักษาอยู่ 8,352 ราย และเสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 57 ปี อยู่ ต.ในเมือง อ.เมือง มีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมทั้งไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมเสียชีวิตสะสม 43 ราย โดยขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้นของการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน โดยแพร่กระจายสูงกว่าระลอกที่ผ่านมา 2 เท่า ซึ่งติดง่ายและอาการไม่รุนแรง แต่กลุ่มเสี่ยงประกอบด้วยผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้น 181,679 ราย หรือร้อยละ 26.85 จากจำนวนทั้งสิ้น 676,634 ราย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างการรับรู้ทำความเข้าใจสามารถขอรับบริการได้ทันทีโดยไม่ต้องจองคิว การสอบสวนโรคพบสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมทางสังคม โดยต้องเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด 13 คลัสเตอร์ดังนี้

1.โรงงานปริ๊นเตอร์แคนนอน อ.สูงเนิน ป่วยสะสม 62 ราย 2.บริษัท คุนิมิซึ คาร์บอน (ไทยแลนด์) จำกัด อ.สีคิ้ว ป่วยสะสม 125 ราย 3.งานศพบ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 9 ต.ช่อระกา อ.บ้านเหลื่อม ป่วยสะสม 31 ราย 4.งานบุญฉลองอัฐิ ต.กระทุ่มราย อ.ประทาย ป่วยสะสม 56 ราย 5.ต.วังไม้แดง อ.ประทาย ป่วยสะสม 14 ราย 6.บ้านโนนมะกอก หมู่ 3 ต.โนนไทย อ.โนนไทย ป่วยสะสม 49 ราย 7.ต.ช่องแมว อ.ลำทะเมนชัย ป่วยสะสม 12 ราย 8.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนไตรราษฎร์สามัคคี ต.หนองค่าย อ.ประทาย ป่วยสะสม 17 ราย 9.โรงเรียนบ้านดอนเมือง ต.เทพาลัย อ.คง ป่วยสะสม 21 ราย 10.โรงเรียนชุมชนหนองหัวฟาน ต.หนองหัวฟาน อ.ขามทะเลสอ ป่วยสะสม 21 ราย 11.โรงเรียนท่าเยี่ยมวิทยายล ต.กระเบื้องนอก อ.เมืองยาง ป่วยสะสม 13 ราย 12.โรงเรียนบ้านห้วยบง อ.ด่านขุนทด ป่วยสะสม 29 ราย และ 13.โรงเรียนวานิชวิทยา อ.บัวใหญ่ ป่วยสะสม 11 ราย

ครูป่วยไม่กักตัวแพร่เชื้ออื้อ
นายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ที่ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดนครราชสีมา ภายในสำนักงานการกีฬาและท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมาว่า คลัสเตอร์โรงเรียน 6 คลัสเตอร์ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ครูผู้สอน ยังไม่ได้งดจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมสังสรรค์ หรือกิจกรรมกีฬาร่วมกัน ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังแพร่ระบาดอยู่ และครูไม่ได้เซลฟ์ ไอโซเลชั่น แยกกักตัวเอง จึงแพร่เชื้อให้กลุ่มเพื่อนครูและกลุ่มนักเรียนได้ ส่วนกลุ่มนักเรียนจะมีทั้งเกิดจากการติดเชื้อในครอบครัวจากผู้ปกครองกับติดมาจากเพื่อนในห้องเรียนซึ่งเพื่อนก็ติดเชื้อมาจากผู้ปกครองเช่นกัน

ขณะที่นายณัฐกาล สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 ราย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการ จึงสั่งปิดสำนักงาน ทต.สูงเนิน ตั้งแต่วันนี้ถึง วันที่ 7 มี.ค. เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งให้พนักงานเสี่ยงสูง กรณี มีไทม์ไลน์สัมผัสผู้ป่วยให้ตรวจคัดกรองที่ โรงพยาบาลสูงเนินและกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ทั้งนี้ได้ตรวจเอทีเคพนักงาน 78 ราย ไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด

ด้านเทศบาลนครนครราชสีมา พบว่า ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเก็บขยะติดเชื้อซึ่งมีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 46,465.90 กิโลกรัม โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค.2562 ซึ่งอยู่ที่ 43,590.32 กิโลกรัม มีค่ากำจัดขยะติดเชื้อสูงถึง 468,000 บาท โดยได้วางถังขยะสีแดงไว้ในเขตเทศบาลกว่า 500 ถัง ซึ่งปริมาณของขยะติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นในส่วนของสถานพยาบาล ทั้งร.พ., คลินิกรักษาโรค โดยเฉพาะจุดที่มีการบริการตรวจเอทีเค, ทำให้มีขยะจากชุดตรวจ รวมทั้งถุงมือยาง และชุดพีพีอี เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

จับพม่าป่วยลามตร.ติดเชื้อ
ด้านสภ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำแรงงานพม่าลักลอบหนีเข้าเมือง 70 คน ควบคุมตัวภายในศูนย์พักคอย บนอาคารไม้หลังเก่า ด้านหลัง สภ.เมืองฯ ริมถนนสละชีพ ใจกลางเมืองประจวบฯ โดยศูนย์พักคอย ดังกล่าวห่างจากอาคารสสจ. เพียง 100 เมตร ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง รายงานผลการตรวจพบแรงงานพม่าติดเชื้อแล้วจำนวน 33 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ขณะที่กลุ่มเสี่ยงสูงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มงาน ปราบปราม สืบสวนสอบสวน รวมทั้งครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พักอาศัยบริเวณบ้านพักใกล้กับศูนย์พักคอยอีกจำนวนหนึ่งติดเชื้อด้วย นำเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว

พ.ต.อ.สุธี วรรณสูตร ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้ประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแยกผู้ติดเชื้อ ภายหลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติงานติดเชื้อโควิด อีก 4 นาย

อนุบาลแปดริ้ววุ่น-ครูป่วย
ที่โรงเรียนอนุบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1-3 และ ป.1-ป.6 หลายพันคน มีหนังสือส่งถึงผู้ปกครองนักเรียนในระดับชั้น ป.4 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีข้าราชการครูระดับชั้น ป.4 ตรวจยืนยันผลว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 1 ราย และเข้ารับการรักษาตามระบบแล้ว ทางโรงเรียนจึงขอความร่วมมือนักเรียนและบุคลากรที่สัมผัสใกล้ชิดให้เฝ้าระวัง กักตัว และปฏิบัติตามมาตรการเผชิญเหตุของทางโรงเรียน โดยให้ครูระดับชั้น ป.4 รวมถึงนักศึกษาฝึกประสบการณ์ (ครูฝึกสอน) และนักเรียนชั้น ป.4 ทุกคนที่มาเรียนออนไซต์เกือบ 10 ห้องเรียน เข้ารับการตรวจคัดกรอง ATK เพื่อประเมินความเสี่ยง ตรวจหาเชื้อ และหยุดกักตัวเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 7 วัน พร้อมตรวจเอทีเค ทุกๆ 72 ช.ม. ส่วนการเรียนการสอนตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 มี.ค. จัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด และในวันที่ 11 มี.ค.65 ให้ข้าราชการครู บุคลากร นักศึกษาฝึกประสบการณ์ และนักเรียนชั้น ป.4 ที่เลือกเรียนในรูปแบบออนไซต์ทุกคนตรวจเอทีเค และแจ้งผลให้ทางโรงเรียนทราบ

ด้านสสจ.ฉะเชิงเทรา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 410 ราย รวมสะสมระลอกใหม่ 11,336 ราย หายแล้ว จำนวน 7,436 ราย และรักษาตัวอยู่ 3,886 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน