เร่งเข็มกระตุ้นก่อนสงกรานต์

ตายโควิดนิวไฮ 74 ราย ส่วนติดเชื้อใหม่ ผลจาก พีซีอาร์ 2.2 หมื่น และเอทีเคอีก 4.9 หมื่น รวมกว่า 7.2 หมื่น ศบค.จัดสัปดาห์ฉีดเข็มกระตุ้น 21-31 มี.ค.นี้ เร่งฉีดกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรัง ให้ได้ 70% ก่อนสงกรานต์ ด้าน ‘อนุทิน’ สั่งเร่งเคลียร์ยอดเสียชีวิตโควิด แยกสาเหตุให้ชัดเจน มาจากโควิดโดยตรง หรือปัจจัยโรคร่วมอื่นๆ

โควิดตายพุ่งนิวไฮอีก 74
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,984 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,885 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22,722 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 163 ราย มาจากเรือนจำ 52 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 47 ราย และเป็นผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก 49,494 ราย รวม 72,478 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,111,857 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 24,161 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,868,011 ราย อยู่ระหว่างรักษา 220,334 ราย อาการหนัก 1,238 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 420 ราย ดังนั้น ที่รักษาอยู่คืออาการไม่หนัก 57,016 คน คิดเป็น 97.8% ถ้าเป็นไปได้ให้กลุ่มนี้ไปรักษาที่บ้านจะดีกว่า เพื่อสงวนเตียงให้อาการปานกลางและหนัก

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 74 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขนิวไฮในระลอกนี้ เป็นชาย 40 ราย หญิง 34 ราย อายุน้อยสุด 26 ปี มากสุด 97 ปี อายุกลาง 73 ปี โดยมาจากภาคใต้เยอะสุด 20 ราย กทม. 12 ราย ภาคกลาง 12 ราย อีสาน 12 ราย ปริมณฑล 10 ราย และเหนือ 8 ราย ปัจจัยเสี่ยงคือ 95% อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง ที่พบคือมะเร็งระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง อ้วน หลอดเลือดสมอง หัวใจ และติดเตียง ปัจจัยติดเชื้อจากคนรู้จักและครอบครัว หรืออาศัยในพื้นที่การระบาดของโรค การลดอัตราเสียชีวิตคือการรับวัคซีน ซึ่งผู้เสียชีวิต 74 ราย พบว่า 48% ไม่ได้รับวัคซีนเลย รับเข็มเดียว 6% รับ 2 เข็มเกิน 3 เดือน 35% รับ 2 เข็มไม่เกิน 3 เดือน 9% และรับ 3 เข็ม 1% ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,512 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 451,805,663 ราย เสียชีวิตสะสม 6,043,914 ราย

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 10 มี.ค. ประกอบด้วย กทม. 3,192 ราย นครศรีธรรมราช 1,228 ราย ชลบุรี 978 ราย สมุทรปราการ 927 ราย นนทบุรี 794 ราย สมุทรสาคร 759 ราย พระนครศรีอยุธยา 550 ราย ภูเก็ต 523 ราย ฉะเชิงเทรา 493 ราย ปทุมธานี 475 ราย สำหรับ กทม.พบคลัสเตอร์โรงเรียนที่เขตบางบอน ส่วน 5 เขตที่ติดเชื้อสูงสุด คือ สะพานสูง 170 ราย บางแค 152 ราย ป้อมปราบศัตรูพ่าย 128 ราย บางกอกน้อย 122 ราย และหนองแขม 121 ราย

จัดสัปดาห์ฉีดกระตุ้น 21-31 มี.ค.
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า มีการแจ้งผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่เห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ระยะที่ 1 ระยะขาขึ้น เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่ต้องมีการควบคุมลดการระบาดให้ได้มากที่สุด ระยะที่ 2 ระยะคงที่ เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อจำนวนทรงตัว ระยะที่ 3 ระยะลดลงต่อเนื่อง และระยะที่ 4 ออกจากการเป็นโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น ตรงนี้ต้องพิจารณาการได้รับวัคซีน การครองเตียง อัตราการเสียชีวิต รวมถึงการจัดทำแผนรองรับ และแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรการ โดยมาตรการรองรับแต่ละระยะนั้นจะต้องปรับได้ตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะเราอยู่กับโควิด-19 มา 2 ปีกว่า มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ดังนั้นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะจัดการมาตรการให้ครอบคลุมทุกแง่มุมในการเปลี่ยนผ่านไปยังโรคประจำถิ่นได้อย่างราบรื่น

พญ.สุมนีกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ในประเทศพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบยังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และมีผู้ป่วย 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ยอด ผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน วันนี้ยอด 74 ราย ถือเป็นนิวไฮ ซึ่งต้องศึกษาผู้เสียชีวิตทุกวัน การระบาดรอบล่าสุดอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.20% ของผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบทรงตัว จึงขอเตือนให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ขอให้มีการนำผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อนรังไปรับวัคซีนเข็มที่ 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 โดยคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เลย

“อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และศบค.ชุดเล็ก ได้พูดคุยกันถึงการรณรงค์เร่งรัดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่เป็น กลุ่มเสี่ยง ตั้งเป้าการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุก่อนเทศกาลสงกรานต์ให้ครอบคลุม 70% โดยกำหนดให้สัปดาห์ที่ 21-31 มี.ค.เป็นสัปดาห์ของการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าว จึงขอความร่วมมือประชาชนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ทำแผนเชิงรุกกับกระทรวงมหาดไทย และเร่งสำรวจผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีนโดยเร็ว เพราะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก โดยการฉีด 2 เข็มลดเสียชีวิตลง 6 เท่า 3 เข็มลดลง 41 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน ขอให้มาฉีดเพื่อกลับบ้านสงกรานต์กันอย่างปลอดภัย”

‘อนุทิน’สั่งเร่งเคลียร์ดับ‘โควิด’
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงสุด 74 ราย นั้น ว่า สธ.จะพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตว่าจะนับอย่างไร เนื่องจากมีทั้งโรคโควิด-19 โดยตรง และการมีโรคอื่น ซึ่งการจะนับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดควรดูอาการ เช่นผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจที่เป็นอาการปอดอักเสบ เชื้อลงปอดอย่างชัดเจน ต้องถือว่าโรคโควิดทำให้เสียชีวิต ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบให้เสียชีวิต ยกตัวอย่างผู้ป่วยติดเตียงอยู่บ้าน ป่วยด้วยโรคที่เป็นอยู่แล้ว แต่เกิดติดโควิดจากคนดูแล หรือคนในครอบครัวและเสียชีวิต ก็ต้องแยกประเภทออกมาให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเกิดความสับสน โดยจะทำให้เห็นว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโควิดแท้ๆ ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำปอดอักเสบมากก็จะแยกออกมา

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการเจอ แจก จบ ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้ติดเชื้อโควิดดีมากพอสมควร เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าหากผู้ติดเชื้อเข้ารักษาแบบเจอ แจก จบ หรือ OPD เราสามารถดูแลได้ โดยไม่ต้องเข้ามาในร.พ.เพื่อรอคิว และเป็นการช่วยระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพิ่มภาระให้กับร.พ.และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งผู้เข้าเจอ แจก จบ เป็นผู้ที่เสียสละ ไม่รับอาหาร 3 มื้อ ทำให้การบริหารจัดการบุคลากรไปดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น ถือเป็นความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการจะทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เราต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค เลี่ยงส่วนที่เป็นอันตราย ส่วนที่จะทำลายได้ เช่น วัคซีน เราก็เร่งการฉีดให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราเสียหายลดลง จนเข้าเกณฑ์โรคประจำถิ่น ที่ต้องมีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ราย หรือ 0.1%

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับโควิดมีประมาณเท่าไรว่า คนที่เสียชีวิตไม่เกี่ยวกับ โควิด มีโรคอื่น แต่เมื่อมาตรวจพบว่า มีเชื้อโควิด พบว่ามีประมาณ 10-30% อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิต แยกเป็นผู้เสียชีวิตที่มีปอดอักเสบ ไม่มีปอดอักเสบ และไม่ระบุสาเหตุ แต่จะมีการรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

นนท์ติดโควิดเพิ่ม 780
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 จ.นนทบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 780 ราย เป็นหญิง 448 ราย และชาย 332 ราย ต่างชาติ 3 ราย ผู้ติดเชื้อยืนยัน RT-PCR สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 31,180 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 2,952 ราย รักษาตัวที่บ้าน 7,523 ราย

ผู้ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีน 627 ราย รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 16 ราย 2.05% รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 368 ราย 47.18% รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว 206 ราย 26.41% รับวัคซีนเข็มที่ 4 แล้ว 37 ราย 4.74% และไม่ได้รับวัคซีน 153 ราย 19.62%

สปสช.เร่งช่วยป่วยโควิด 3.5 พัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นสูงในระยะที่ผ่านมา และมีผู้โทรศัพท์เข้าไปยังสายด่วน 1330 รวมถึงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช.และไลน์ สปสช. @nhso เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือ Home Isolation (HI) จำนวนมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ยังตกค้างในระบบ ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการประมาณ 3,500 ราย สาเหตุหลักคือหน่วยบริการในพื้นที่รับดูแลผู้ติดเชื้อจนเต็มศักยภาพ และไม่สามารถรับดูแลเพิ่มได้ ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ผู้ที่แจ้งลงทะเบียนแล้วต้องรอนานหลายวัน หรือยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการเกิดความกังวลใจว่าจะไม่ได้รับการดูแล เกิดการโทร.วน และติดต่อกลับเข้ามาที่สายด่วน 1330 และช่องทาง Non Voice ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ สปสช.อีก เพื่อสอบถามความคืบหน้าการตอบรับเข้าระบบ HI ทำให้สายโทร.เข้าแน่นมากจนเกิดปัญหาโทร.หาสายด่วน 1330 ไม่ติด

“สปสช.พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายคู่สาย เพิ่มจำนวน เจ้าหน้าที่ รับสมัครจิตอาสามาช่วยรับโทรศัพท์ รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากองค์กรรัฐและภาคเอกชนที่มีคอลเซ็นเตอร์เป็นของตัวเองให้เข้ามาช่วยสนับสนุนสายด่วน 1330 รวมถึงรับสมัครจิตอาสาเพื่อเข้ามาช่วยตอบไลน์ ขณะเดียวกัน จากการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือแนวทาง เจอ แจก จบ ให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง สามารถเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้”

เริ่มส่งยาถึงบ้าน 11 มี.ค.
นพ.จเด็จกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อได้รับบริการ และลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตกค้างรอเข้าระบบ HI ลงได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดีก็ยังคงมีผู้ที่ตกค้างอยู่ในระบบ 1330 รอการจับคู่กับหน่วยบริการอีกประมาณ 3,500 ราย สปสช.จึงจัดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่ได้การติดต่อจากหน่วยบริการให้หมด โดยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะให้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 โทร.ติดต่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาครที่ยังตกค้าง ไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการ เพื่อสอบถามว่าอาการว่าเป็นอย่างไร หากมีอาการไม่รุนแรง สปสช.จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ทางไปรษณีย์ถึงมือผู้ป่วยทุกคน โดยการจัดส่งยาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังตกค้างนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ สธ.ล็อตแรกได้รับ 50,000 เม็ด

“ขอแจ้งว่าผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด รายใดที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการเพื่อรับดูแลเข้าระบบ HI ขออย่ากังวลใจว่าจะถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล สปสช.และร.พ.ราชวิถี จะจัดส่งยาตรงให้ถึงมือเพื่อช่วยบรรเทาอาการ หลังจากได้รับยาแล้วขอให้พักรักษาตัวอยู่ในบ้านประมาณ 10 วัน ก็ถือว่าหายจากโรคโควิด-19 แล้ว” นพ.จเด็จกล่าว และว่า ภายใต้มาตรการดังกล่าว สปสช. คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 วัน เคลียร์ผู้ติดเชื้อกว่า 3,500 ราย ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัดที่ตกค้างไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการได้ทั้งหมด โดยในวันที่ 10 มี.ค.65 เจ้าหน้าที่สปสช.จะโทร.สอบถามผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่ และในวันที่ 11 มี.ค.เป็นต้นไป จะเริ่มจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์

เอทีเค – เจ้าหน้าที่ตรวจเอทีเคกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า งานมหกรรมหุ่นฟางนก ประจำปี 2565 พบ 3 รายเข้าข่ายติดเชื้อโควิด จากการตรวจทั้งหมด 327 ราย เพื่อคัดกรองและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 10 มี.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน