น.ร.ติดโควิด 1.7 พันคนลงทะเบียนสอบทีแคส สูงกว่าที่คาด ทปอ.เปิดสนามสอบพิเศษเพิ่มอีก 6 แห่ง รวมทั่วประเทศ 24 แห่ง สั่งเข้มมาตรการระหว่างสอบ ศบค.เผยติดเชื้อรายใหม่ 2.4 หมื่น จากผลตรวจเอทีเคอีก 2.1 หมื่น เสียชีวิตเพิ่ม 63 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว สธ.แนะมีอาการหวัด ถ่ายเหลว ให้ตรวจ ATK ทันที หากเป็นลบแต่ไม่ดีขึ้นใน 48 ช.ม.รีบพบหมอ ขณะเดียวกันจับตา ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ใหม่ระบาดฮ่องกง ยันยังไม่พบในไทย ‘หมอชนบท’โวยประกันสังคมไม่ครอบคลุม ‘เจอ แจก จบ’ ร.พ.เบิกเงินไม่ได้ ‘สปส.’ ย้ำผู้ประกันตนติดโควิดรักษาฟรีได้ทุกร.พ. คู่สัญญา

โควิดป่วยอีก 4.6 หมื่น-ดับ 63
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยยังพบ ผู้ติดเชื้อใหม่เกินหมื่นรายเป็นวันที่ 35 ในการระบาดระลอกโอมิครอน วันนี้พบติดเชื้อรายใหม่ 24,792 ราย ส่วนยอดติดเชื้อเข้าข่าย คัดกรองด้วย ATK จำนวน 21,626 ราย รวมยอดติดเชื้อรายใหม่ 46,418 ราย ยอดติดเชื้อสะสมตั้งแต่มีการระบาด 3,136,649 ราย หายป่วยเพิ่ม 22,065 ราย หายป่วยสะสม 2,890,076 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 63 ราย เสียชีวิตสะสม 23,575 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 222,998 ราย อยู่ในร.พ. 63,553 ราย อยู่ร.พ.สนาม HI, CI 159,445 ราย มีอาการหนัก 1,255 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 415 ราย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 63 ราย มาจาก 28 จังหวัด ได้แก่ กทม. 7 ราย, นครศรีธรรมราช 5 ราย, พัทลุง ยะลา สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 4 ราย, ปทุมธานี สตูล จังหวัดละ 3 ราย, นครปฐม สมุทรปราการ สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี ตาก นครสวรรค์ นราธิวาส ภูเก็ต ชลบุรี นครนายก ราชบุรี จังหวัดละ 2 ราย และ เชียงราย แพร่ อุทัยธานี พังงา สงขลา กาญจนบุรี ตราด พระนครศรีอยุธยา และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 37 ราย หญิง 26 ราย อายุ 28-93 ปี เฉลี่ย 69 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 95%

10 จว.ติดเชื้อเกิน 500 ราย
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 3,171 ราย 2.ชลบุรี 1,386 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,324 ราย 4.นนทบุรี 971 ราย 5.สมุทรสาคร 829 ราย 6.สมุทรปราการ 813 ราย 7.ปทุมธานี 645 ราย 8.พระนครศรีอยุธยา 617 ราย 9.นครราชสีมา 532 ราย และ 10.นครปฐม 519 ราย นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่ติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 51 จังหวัด

ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 158 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 80 ราย ใน 28 ประเทศ ซึ่งประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อมาก เช่น ซาอุดีอาระเบีย 16 ราย, กัมพูชา 8 ราย, อังกฤษ รัสเซีย ประเทศละ 6 ราย, เยอรมนี 5 ราย เป็นต้น ภาพรวมเข้าระบบ Test&Go 50 ราย แซนด์บ็อกซ์ 11 ราย ระบบกักตัว 16 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 3 ราย

สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-10 มี.ค. 2565 จำนวน 80,966 ราย รายงานติดเชื้อ 838 ราย คิดเป็น 1.05% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 69,361 ราย ติดเชื้อ 543 ราย คิดเป็น 0.78% แซนด์บ็อกซ์ 10,117 ราย ติดเชื้อ 266 ราย คิดเป็น 2.63% และกักตัว 1,488 ราย ติดเชื้อ 29 ราย คิดเป็น 1.95%

การฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 10 มี.ค.ฉีดได้ 218,260 โดส สะสมรวม 125,589,061 โดส เป็นเข็มแรก 54,187,319 ราย คิดเป็น 77.9% ของประชากร เข็มสอง 49,936,840 ราย คิดเป็น 71.8% ของประชากร และ เข็มสาม 21,464,902 ราย คิดเป็น 30.9% ของประชากร

สธ.ชี้‘โควิด’ 50% ไม่มีอาการ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบันที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ 50% ไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการจำแนก เป็นไอและเจ็บคอ 50% อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนกัน ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปร.พ.เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลผู้ติดโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) พื้นที่กทม. ร.พ.สังกัดกรมการแพทย์ในกทม. เช่น ร.พ.ราชวิถี, ร.พ.เลิดสิน, ร.พ.นพรัตนราชธานี รองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย ทั้งจาก 1.คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อ 70% เลือกรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาแบบ HI และ 2.การออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกรักษาแบบ OPD 60% และรักษา HI อีก 30-40% อย่างไรก็ตามเรากำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1-2 พันราย

“เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องปรับเปลี่ยนการดูแล เน้นรักษาที่บ้าน (HI) และแบบ OPD ซึ่งเดิม HI เราบริการอาหาร 3 มื้อ เพื่อลดการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน ส่วน OPD มีการติดตามใน 48 ชั่วโมง และไม่มีบริการอาหาร 3 มื้อ เนื่องจากเราประเมินความพร้อมของผู้ป่วยด้วย เช่น มีญาติส่งอาหาร หรือผู้ป่วยสั่งอาหารเองได้ ก็ให้อยู่ในบ้านดูแลตัวเอง ปรับตามสถานการณ์”

เมื่อถามถึงความพร้อมของ ร.พ. เพื่อรองรับ UCEP Plus กลุ่มอาการสีเหลือง-แดง นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ทุกร.พ.รองรับได้อยู่แล้ว ทั้ง ร.พ.รัฐ และเอกชน แต่ที่กังวลคือกลุ่ม สีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้นๆ เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ต้องประกาศเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า หากติดเชื้อแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วย สามารถเข้าร.พ.ในเครือข่ายได้ทุกแห่งหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องรอการประกาศเกณฑ์ตรงนี้ ส่วนอาการที่บ่งบอกว่าเป็นสีเหลือง สีแดงที่เข้า UCEP Plus นั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะเป็นผู้ประกาศ UCEP Plus ให้มีผลบังคับใช้ โดยตกลงกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลทางวิชาการไปแล้ว เพื่อจัดระบบบริการฉุกเฉินต่อไป

นร.ติดโควิดสอบทีแคส 1.7 พัน
ด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS 65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงการจัดสอบในระบบ TCAS สำหรับนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียวและกลุ่ม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งเริ่มสอบวันแรกในวันที่ 12 มี.ค.นี้ว่า นักเรียนที่มีสิทธิ์สอบในระบบ TCAS 65 เมื่อติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้สนามสอบพิเศษที่ทปอ.จัดเตรียมไว้ผ่าน mytcas.com ซึ่งเราเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 7-19 มี.ค. 2565 โดยต้องลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนสอบวิชานั้นๆ 1 วัน เดิมคาดว่าจะมีนักเรียนที่ติดเชื้อและสัมผัสเสี่ยงสูงลงทะเบียนประมาณ 730 คน แต่ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้มีตัวเลขนักเรียนที่ติดเชื้อและเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมากขึ้น โดยมีการลงทะเบียนแล้ว 1,712 คน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แบ่งเป็นนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด 1,441 คน และนักเรียนที่เสี่ยงสูง โดยมีครอบครัวหรือคนใกล้ชิดติดโควิด 271 คน โดยวันที่ 12 มี.ค.ซึ่งจะเป็นการสอบวันแรกเป็นการสอบ GAT 1 วิชาความถนัดทั่วไป และ PAT 1 วิชาความถนัดทางคณิตศาสตร์ซึ่งป็นวิชา พื้นฐาน ทำให้เป็นวันที่มีนักเรียนติดเชื้อและ เสี่ยงสูงมาลงทะเบียนมากที่สุดเมื่อเทียบกับวันสอบ อื่นๆ

รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า สำหรับสนามสอบพิเศษที่จัดเตรียมไว้รองรับนักเรียนติดเชื้อและสัมผัสเสี่ยงสูงมี 6 สนามสอบหลัก ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง กทม. คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต, ภาคเหนือ ม.แม่โจ้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น และม.เทคโนโยลีสุรนารี และภาคใต้คือ ม.วลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) รวมถึงมีอีก 1 สนามสอบพิเศษเฉพาะของจ.จันทบุรีที่เปิดรับเฉพาะนักเรียนติดเชื้อในจ.จันทบุรีนั้น ล่าสุดมีจังหวัดต่างๆ เปิดสนามสอบพิเศษของจังหวัดด้วย รวม 18 จังหวัด ดังนั้น จึงมีสนามสอบพิเศษเป็น 6+18 หรือ 24 สนามสอบ

ทั้งนี้ ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเปิดให้นักเรียนติดเชื้อมานอนพักเพื่อรอการสอบได้ โดยเป็นศูนย์สอบที่มีจำนวนนักเรียนมาลงทะเบียนสอบมากที่สุด 513 คน คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักเรียนที่มาลงทะเบียนทั้งหมด สำหรับมาตรฐานการคุมสอบในสถานการณ์โควิดใช้แบบเดียวกันทั้งหมด คือแยกห้องสอบระหว่างเด็กติดเชื้อและเด็กสัมผัสเสี่ยงสูง เข้า-ออกคนละประตู และยังเปิด OPEN CHAT ให้กับนักเรียนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบสามารถสอบถามได้ โดยการแต่งกายเหมือนการสอบตามปกติ ต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น พก สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

มาตรการเข้มสอบทีแคส
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวถึงการจัดสอบในระบบ TCAS 65 ซึ่งจะเริ่มสอบวันที่ 12 มี.ค.เป็นวันแรก ทั่วประเทศว่า สนามสอบมี 2 ส่วนคือ 1.สนามสอบปกติ สำหรับนักเรียนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงต่ำ ต้องจัดที่นั่งสอบห่างกัน ไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีระบบระบายอากาศที่ดี โดยเฉพาะห้องแอร์ นักเรียนและผู้คุมสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ N95 ส่วนผู้คุมสอบต้องจัดเวลาในการคุมสอบให้ดี งดให้เด็กนักเรียนไปรวมกลุ่มกัน และ 2.สนามสอบพิเศษ สำหรับเด็กที่ติดเชื้อโควิดหรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งดูแล้วการติดเชื้อของเด็กถึงจะมากขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคน้อย ประกอบกับนักเรียน ครู และผู้ปกครองฉีดวัคซีนมากขึ้น จึงเสี่ยงมีอาการรุนแรงน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว จึงจัดสนามสอบพิเศษให้ซึ่งนักเรียนสามารถลงทะเบียนสอบผ่านเว็บไซต์ได้ การจัดสถานที่สอบต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร มีระบบระบายอากาศที่ดี

“ทั้งนี้ ย้ำว่านักเรียนที่ติดเชื้อหรือสัมผัสเสี่ยงสูงต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา กำหนดให้เป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น เพราะสามารถป้องกันได้ดีกว่า แต่ ไม่จำเป็นต้องใส่ 2 ชั้น เพราะทำให้หายใจลำบากเป็นการรบกวนการสอบ ส่วนผู้คุมสอบต้องให้ดูแลนักเรียนแบบเดียวกับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลางดให้เด็กรวมกลุ่ม”

ส่วนการตรวจ ATK ที่สนามสอบไม่ได้เป็นมาตรการหลักว่าจะต้องตรวจก่อนเข้าห้องสอบ แต่ให้เน้นตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูงหรือคนที่มีอาการ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าร่วมการสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกังวล ส่วนเด็กที่ติดเชื้อในกทม.เราร่วมกับมูลนิธิราชวิถีจัดรถฉุกเฉินรับน้องจากที่บ้านหรือฮอสพิเทลไปที่สนามสอบ ซึ่งมีลงทะเบียนเกือบร้อยกว่าคนแล้ว สำหรับจำนวนเด็กติดเชื้อที่คาดการณ์ คำนวณจากอัตราติดเชื้อเด็กอายุ 17-18 ปีทั่วประเทศ มีการติดเชื้อประมาณวันละ 100-200 ราย หากนับย้อนหลังในรอบ 10 วัน จึงมี คาดว่าจะมีเด็กติดเชื้อ 1,000-2,000 คน สนามสอบที่เตรียมไว้มีเพียงพอ ขอให้นักเรียนเตรียมหน้ากากสำรองไปด้วย 2-3 ชิ้น เผื่อ มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน และพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวด้วย

ฮ่องกงวุ่นโอมิครอนพันธุ์ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความเรื่อง โอมิครอน “BA.2.2” (B.1.1.529.2.2) มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จาก “ฮ่องกง” ระบุว่า “การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกง ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ BA.2.2 หรือ B.1.1.529.2.2 ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ “S:I1221T” โดยพบมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกัน

การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตรา ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วัน อยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนรีบไปฉีด

ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วัน อยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอันดับสอง ประเทศลัตเวีย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศไทย 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตรา ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมาก คือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วัน อยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ กล่าวคือที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า

ไทยยังไม่เจอ-เฝ้าระวังเข้ม
โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการระบาดของ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโน้มว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อันเกิดมาจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนที่สูงมากของฮ่องกง อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ 1.BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส 2.BA.2.2 แพร่ระบาดรวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่ 3.BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรงกว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่ 4.BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่ 5.ยารักษาโมโน โคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ และ 6.ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรค โควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก

ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ประมาท ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล

หมอชนบทโวย‘เจอ แจก จบ’
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เลขาธิการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงโครงการ “เจอ แจก จบ” สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวรับการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้านว่า ปัจจุบันบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ส่งเสียงถึงผลกระทบที่ได้รับในการให้บริการโครงการ “เจอ แจก จบ” โดยขณะนี้มีเพียงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และสวัสดิการข้าราชการที่รองรับเรื่องนี้ ส่วนสิทธิประกันสังคมยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีเพียงเข้าระบบการรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) เท่านั้น ซึ่งโครงการนี้ควรต้องเหมือนกันทุกสิทธิ อย่างร.พ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อถามสิทธิการรักษาและทราบว่าเป็นประกันสังคม เราก็ให้บริการเหมือนกันทุกคนทุกสิทธิ แต่ร.พ.จะเบิกค่าใช้จ่ายจากประกันสังคมได้ก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระบบ HI/CI ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่เข้า หน่วยบริการจึงไม่สามารถเบิกได้

“ร.พ.จะนะ มีผู้ประกันตนเข้ามาประมาณ 10-20% จากวันละประมาณ 100 ราย เพราะติดเชื้อกันง่ายในกลุ่มโรงงาน คลัสเตอร์กิจการต่างๆ ซึ่งพื้นที่รอบ กทม.น่าจะมากกว่านี้ ดังนั้น หากประกันสังคมมีการพิจารณาโครงการนี้แล้ว ขอให้ประกาศออกมาให้ชัดเจนโดยเร็ว จะได้เป็นเอกภาพในการจัดการ คนทำงานก็จะทำงานง่าย อันนี้คือเสียงบ่นของคนทำงาน” นพ.สุภัทรกล่าว

ทั้งนี้ นพ.สุภัทรยังโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุเรื่องนี้ว่า “เจอ แจก จบ ประกันสังคมยังมึน ยังไม่ตอบสนองนโยบาย เจอ จ่าย จบ เป็นนโยบายที่กำลังเดินหน้า หลายร.พ.เริ่ม ปรับตัว วางระบบเพื่อให้รองรับการตรวจ โควิดและรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่มีคนมารับบริการจำนวนมาก ตรวจแล้วถ้าเจอก็จ่ายยากลับบ้าน อีก 48 ชั่วโมงโทร.ไปติดตามอาการ ถ้าดีพอประมาณก็จบการดูแล

ตอนนี้คนไข้บัตรทอง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิสวัสดิการข้าราชการใช้สิทธิได้ แต่สิทธิประกันสังคมยังใช้ไม่ได้

การที่แต่ละโปรแกรมประกันสุขภาพมีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ผลคือผู้ปฏิบัติหน้างานปวดหัวมาก สร้างความยุ่งยากและโกลาหลมากขึ้น ผู้ที่คิดว่าตนมีเชื้อโควิด เขามาตรวจ เขาเห็นว่าเป็นนโยบายรัฐบาล นายกฯก็เชียร์ เขาก็ไม่รู้หรอกว่าสิทธิประกันสังคมใช้ไม่ได้ หน้างานต้องเสียเวลามาถามมาเช็กสิทธิกลุ่มเสี่ยงสิทธิประกันสังคมมาแล้ว โรงพยาบาลก็ต้องทำให้ แต่เบิกคืนได้เฉพาะค่า ATK ส่วนภาระค่าชุด PPE ค่ายา ค่าแรงงาน และอื่นใดทิ้งให้เป็นภาระของ โรงพยาบาลอย่างไม่เป็นธรรม คนติดเชื้อประกันสังคมปัจจุบันเมื่อทราบว่าติดเชื้อ ระบบประกันสังคมจะต้องไปนอน CI หรือ HI โรงพยาบาลจึงเบิกได้ แต่ CI เต็ม HI ก็ไปดูแลไม่ไหว ผลคือคนไข้ประกันสังคมดูแลตนเองแบบพึ่งตนเองที่บ้านเพราะระบบใหญ่ยังไม่ปรับให้เอื้อ

โควิดนั้นเสมือนสงคราม สถานการณ์ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว สปสช. กรมบัญชีกลางเขาปรับตัวเร็วแล้ว สำนักงานประกันสังคมยังอุ้ยอ้ายไม่ทันการณ์ ผู้ประกันตนรออยู่ รอว่าอย่างเร็วประกันสังคมน่าจะมีคำตอบให้ได้ภายใน วันที่ 14 มี.ค.2565 นี้”

สปส.รับมีปัญหาเรื่องสื่อสาร
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนทำหนังสือแจ้งไปยังร.พ.ทุกแห่ง รวมถึง สปส.สาขาว่า สามารถร่วมโครงการเจอ “เจอ แจก จบ” ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป แต่อาจมีเรื่องของการสื่อสารที่ทำให้บางแห่งไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลที่ทำโครงการนี้ให้แก่ผู้ประกันตนสามารถเบิกย้อนหลังมาได้ โดยตนจะประชุมคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโรงพยาบาลทุกแห่งให้ทราบเรื่องนี้อีกครั้ง ที่สำคัญตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. จะเปลี่ยนเป็น UCEP Plus ผู้ประกันตนที่ติดโควิดกลุ่มอาการสีเขียวเข้ารับบริการได้ในร.พ.ระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ สามารถเข้ารับบริการร.พ.เหล่านี้ที่เป็นคู่สัญญาของประกันสังคมได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งร.พ.รัฐส่วนใหญ่เป็นคู่สัญญาประกันสังคมอยู่แล้ว และร.พ.เอกชนในต่างจังหวัดเป็นคู่สัญญาประกันสังคม 80% และขอย้ำอีกเรื่องว่า ประกันสังคมไม่เคยค้างจ่ายเงินหน่วยบริการ เราเบิกจ่ายเงินไม่เกิน 30 วันให้ร.พ.มาตลอด จึงไม่ต้องกังวล โดยอัตราการเบิกจ่ายยึดเกณฑ์ตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน