แพงไปหมด-ทั้งตลาดราคาพรวดฟองละ5บ.คนแห่กินแทนเนื้อสัตว์ข้อมูลพาณิชย์ระบุเอง

ข้อมูลกรมการค้าภายในยันเอง แพงหูฉี่ทั่วทั้งตลาดแล้ว ถึงคิวไข่เป็ดขึ้นตามไข่ไก่อีกฟองละ 10 สตางค์ เผยไซซ์ใหญ่ตกเกือบ 5 บาท ขณะที่คะน้า-ผักบุ้งก็พรวดราคาผักสดแค่ข้ามคืนปรับขึ้นอีก 5 บาทต่อก.ก. เหตุจากอากาศร้อนสลับพายุฝนทำผลผลิตเสียหาย ส่วนมะนาวราคายังแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทียบกับช่วงต้นเดือนมี.ค. เผยมะนาวแป้น เบอร์ 1-2 ปรับราคาขึ้นเกือบ 3 บาท/ลูกจาก ราคา 5.52 บาท/ลูก เป็น 7.50-8.00 บาท/ลูก ครม.เคาะแล้ว 10 มาตรการ กรอบวงเงิน 8 หมื่นล้านเร่งด่วนบรรเทาผล กระทบจากพลังงานแพง

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แจ้งสถิติราคาจำหน่ายปลีกสินค้าอาหารสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 28 มี.ค. ว่าไข่เป็ดเริ่มปรับขึ้นราคาตามไข่ไก่ เมื่อเทียบราคากับช่วงต้นเดือนมี.ค.พบว่าไข่เป็ดทุกขนาด ปรับราคาขึ้น 10 สตางค์/ฟอง คือ ขนาดใหญ่ ปรับจาก 4.7-4.8 บาท/ฟองเป็น 4.8-4.9 บาท/ฟอง, ขนาดกลาง ปรับจาก 4.4-4.5 บาท/ฟอง เป็น 4.5-4.6 บาท/ฟอง และขนาดเล็ก ปรับจาก 4.2-4.3 บาท/ฟอง เป็น 4.3-4.4 บาท/ฟอง เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทดแทนอาหารหมวดโปรตีนที่มีราคาสูงกว่า และยังปรับให้สอดคล้องกับภาระต้นทุนด้านอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผักสดบางรายการยังปรับราคาเพิ่มขึ้นช่วงข้ามคืน จากวันที่ 27 มี.ค.-28 มี.ค. คือ ผักคะน้าคัด ปรับราคาขึ้น 5 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 30-35 บาท/ก.ก. เป็น 35-40 บาท/ก.ก. และผักบุ้งจีน ปรับราคาขึ้น 5 บาท/ก.ก. คือ ปรับจาก 25-30 บาท/ก.ก. เป็น 30-35 บาท/ก.ก. เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สลับกับมีพายุฝนในพื้นที่แหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีต่อเนื่อง

ส่วนมะนาวนั้น ราคายังแพงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นเดือนมี.ค. มะนาวแป้น เบอร์ 1-2 ปรับราคาขึ้นเกือบ 3 บาท/ลูก คือปรับจากราคา 5.52 บาท/ลูก เป็น 7.50-8.00 บาท/ลูก ส่วนเบอร์ 3-4 ปรับราคาขึ้น 2.5 บาท/ลูก คือปรับจาก 4.52 บาท/ลูก เป็น 6.50-7.00 บาท/ลูก เนื่องจากอยู่ในช่วงนอกฤดูกาล ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดสลับกับมีพายุฝน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผลมะนาวและทำให้ดอกร่วง ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงว่า วันนี้ยังมีปัญหาอยู่ ได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีปัญหาระหว่างผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และสมาคมหลายแห่งที่ต้องมาหารือกัน ทั้งนี้ ทุกเรื่องต้องมีการหารือกันทั้งสองฝ่ายเสมอ ทั้งผู้ได้รับผล กระทบ ผู้ให้บริการจัดหาปุ๋ยเข้าประเทศ เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาอาหารสัตว์ ที่มีทั้งส่วนหนึ่งที่เป็นผู้ประกอบการพืช ไร่ของเราเอง ที่ไม่ต้องการให้เอาของผู้อื่นเข้ามาช่วย แต่ขณะนี้มันขาดแคลนแล้วเราจะทำอย่างไรถ้าไม่นำเข้ามา เพราะเขาไม่อยากให้มีการนำเข้า เพราะตอนนี้ราคามันสูงดีอยู่แล้ว นี่คือสิ่งยาก แต่ก็ต้องค่อยๆ หารือว่าจะทำกันยังไงต่อไป

“สิ่งที่วันนี้รัฐบาลกำลังทำกันอยู่ โดยเฉพาะรัฐมนตรี เราติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดทุกเรื่อง ทุกวัน ทุกปีที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ เรื่องใดที่เป็นเรื่องของความเดือดร้อน เรื่องของความขัดแย้ง ในฐานะที่เคยเป็นทหารมาก่อนก็จะต้องประเมิน วางแผนงานต่างๆ ในสมมติฐาน เช่น เรื่องสงครามวันนี้เราก็ต้องมองว่ามันเกิดขึ้น มันจะยาวมั้ย ในช่วงสามเดือน มันจะเกิดปัญหาอะไรในสามเดือนนี้มั้ย แล้วปัญหาเช่นเดิมเหมือนในสามเดือนนี้ ถ้ามันต่ออีกสามเดือนจะทำยังไง หรือถ้าสถานการณ์มันรุนแรงมากกว่าตอนนี้ มีการ สู้รบมากขึ้น สมมติฐานนี้จะทำยังไง เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมแผนงานและการบริหารไว้ล่วงหน้า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เราก็อนุมัติไป 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นทางการ อย่าลืมว่าทั้งหมดใช้งบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งเราใช้ดูแลประชาชนไปมาก ทั้งการลดภาษี อุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส อย่าลืมว่าถ้าเราทุ่มงบประมาณทั้งหมดลงไปในปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ปัญหาอื่นจะเกิดตามมาทันที เพราะมีอีกหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงต้องใช้งบประมาณในภาพรวม หลายอย่างต้องทำต่อเนื่อง จะให้ตัดทั้งหมดก็ไม่ได้ วันนี้ต้องดูว่างบประมาณภาครัฐเป็นอย่างไร นั่นคือเหตุผลที่ต้องปรับตัวเลขตามนโยบายการคลังมาโดยตลอด เพื่อแก้ปัญหาได้ในอนาคตตามสมมติฐานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราก็อยากให้มันจบโดยเร็วทุกเรื่อง แต่มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศเรา นี่คือสิ่งที่ ยกตัวอย่างให้เห็นว่าความขัดแย้งมันพร้อมจะเกิดขึ้นทุกเมื่อในโลกใบนี้ และเราประมาทไม่ได้ แม้ในภูมิภาคของเราเอง ที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราต้องเตรียมความพร้อมของเราให้พร้อม

ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผล กระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ระหว่างยูเครน-รัสเซีย กรอบวงเงินเบื้องต้น 45,102.65 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพใก้แก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง ไม่รวมวงเงินที่ลดเงินสมทบของประกันสังคม 35,224 ล้านบาท รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาทต่อถัง เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. 2565 โดยราคาก๊าซหุงต้มเดือนเม.ย. 2565 ถังละ 333 บาท เดือนพ.ค.2565 ถังละ 348 บาท และเดือนมิ.ย. 2565 ถังละ 363 บาท กรอบวงเงินเบื้องต้น 6,380 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้บริหารจัดการ

นอกจากนี้ ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1,590 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ 3.ลดค่าเอฟที ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่พ.ค. – ส.ค. 2565 ให้แก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน กรอบวงเงินเบื้องต้น 2,000-3,500 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง ตั้งแต่พ.ค. – มิ.ย. 2565 โดยอัตราชดเชยประมาณ 8 บาทต่อลิตร กรอบวงเงินเบื้องต้น 33,140 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกรมสรรพสามิตเป็นผู้บริหารจัดการ 5.ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียน ไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 1.57 แสนคน จะได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊ส โซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน หรือ 5 บาทต่อลิตร รวม 50 ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พ.ค.-ก.ค. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 120 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

สำหรับแท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 17,460 คน สามารถซื้อก๊าซ NGV ได้ในราคาพิเศษ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 171 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ 7.เพิ่มส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเดิม 45 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย. – มิ.ย.2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 200 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ส่วนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.65 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ 9.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จำนวน 4.9 แสนราย และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จาก 5% เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่พ.ค. -ก.ค. 2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน