‘บิ๊กตู่’ สั่งสปสช.หาทางลดราคาเครื่องตรวจ ATK ให้ถูกลง ให้คนไทยเข้าถึงง่าย พร้อมให้ไทยผลิตเพิ่ม ศบค.รอประเมินช่วงสงกรานต์ก่อนยกเลิกตรวจพีซีอาร์นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ยอดติดเชื้อใหม่เกิน 2.5 หมื่น เสียชีวิตอีก 89 ช่วงนี้อีสานตาย โควิดสูงสุด หวั่นคนแห่กลับบ้านช่วงสงกรานต์ ทำติดเชื้อพุ่ง วอนสูงอายุเร่งมารับวัคซีนก่อนลูกหลานกลับบ้าน สปสช.เผย 1 ปีจ่าย 1.7 พันล้านเยียวยากลุ่มได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด 1.4 หมื่นราย

‘ตู่’สั่งพร้อมดูแลติดเชื้อสงกรานต์
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมศบค.ชุดใหญ่ โดยที่ประชุมรับทราบร่างการปรับมาตรการผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ประเภท Test & Go, แซนด์บ็อกซ์ และ ควอรันทีน ระยะ 2

นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ถึงแม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็มีอัตราการติดเชื้อที่สูง ติดเชื้อได้ไว หากการควบคุมทำได้ไม่ดีพอ จะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก และจำนวนผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ขอให้พิจารณาให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 และเด็กสามารถเข้ารับการรักษาในระบบ UCEP Plus ในสถานพยาบาลได้ โดยไม่ต้องรอรักษาตามอาการ และขอให้ศปก.สธ. ศปก.ศบค. และศปม. ช่วยกันระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียง ยา และเวชภัณฑ์ให้มีเพียงพอต่อการดูแลผู้ติดเชื้อทั้งในขณะนี้และช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่แนวทางการดูแลประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เพิ่มจำนวนคู่สายของสายด่วน 1330 เพิ่มช่องทางติดต่ออื่นๆ และเตรียมความพร้อมของระบบให้รองรับความต้องการในปริมาณมากได้ รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครให้เพียงพอ

ชี้โอมิครอนไม่จบง่ายๆ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนคงจะยังไม่จบง่ายๆ และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XE ที่สามารถแพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและเร็วกว่าทุกสายพันธุ์ ในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะเกิดได้จากการเดินทางกลับบ้าน แล้วมีการพบปะสังสรรค์กันจำนวนมาก จึงอาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น มี ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ที่เคยป่วยโควิดแล้วก็อาจจะติดเชื้อซ้ำได้อีก ขอให้ศปก.สธ.เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อในประเทศไทย เพื่อเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขอให้เร่งให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับภาวะหลังติดเชื้อโควิด-19 (ลอง โควิด) เพราะการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ แม้หายแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวในผู้ป่วยบางราย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการกำกับติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 อย่างเต็มความสามารถต่อไป รวมถึงเตรียมแผนรับมือกับภาวะหลังติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่อาจประสบปัญหาลอง โควิด”

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ว่า มีความสำคัญมาก ขอให้เป็นวาระรายงานในที่ประชุมศบค.เป็นระยะๆ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนให้ป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างสูงสุดต่อไปอีก จะต้องไม่ประมาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สถานประกอบการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ต้องไม่หละหลวม ไม่ปล่อยปละละเลย หากตรวจพบจะต้องลงโทษสถานหนักทุกพื้นที่

สั่งทำให้ ATK ราคาถูกลง
พล.อ.ประยุทธ์ แถลงภายหลังประชุมว่า ในที่ประชุมมีหลากหลายวาระ มีการรับทราบสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ หลายคนก็ตกใจตัวเลขต่างๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ที่เสียชีวิตและอาการหนักถือว่าเปอร์เซ็นต์ยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสียชีวิต จะป็นโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่ม 608 และส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะมีปัญหาส่วนตัวทำให้ยังไม่ได้ฉีด ซึ่งก็ได้เร่งรัดระดมการฉีดให้มากยิ่งขึ้น ก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีการรายงานตรวจหาเชื้อ โควิด-19 โดยชุดตรวจ ATK ที่ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก และราคาที่เหมาะสม ตนให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ไปดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ราคาถูกลง เนื่องจากมีการใช้จำนวนมาก วันนี้มีการผลิตในประเทศไทยเดือนละ 2 แสนชิ้น ก็ต้องเร่งให้มีการผลิตมากยิ่งขึ้น นอกนั้นเป็นการนำเข้าที่จะมีการควบคุมมาตรฐานให้ดี

ติดเชื้อ 2.5 หมื่น-ดับ 89
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,140 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24,991 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,750 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 241 ราย มาจากเรือนจำ 49 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 100 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,833,048 ราย หายป่วยเพิ่ม 24,854 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,558,917 ราย อยู่ระหว่างรักษา 248,254 ราย อาการหนัก 1,899 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 815 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 89 ราย เป็นชาย 40 ราย หญิง 47 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 71 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 25,877 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 496,549,028 ราย เสียชีวิตสะสม 6,195,441 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 93% ยังเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง กระจายหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานกำลังขึ้น เสียชีวิตรวม 26 ราย ซึ่งสูงสุดในประเทศ โดยช่วงสงกรานต์จะมีคนกลับบ้านไปยังภาคอีสานและเป็นภาคที่มีการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 607 ต่ำกว่าภาคอื่น สถานการณ์นี้ต้องขอความร่วมมือผู้สูงอายุในภาคอีสานฉีดวัคซีนก่อนลูกหลานกลับมา

ส่วนจังหวัดติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ 1.กทม. 3,078 ราย 2.ชลบุรี 1,225 ราย 3.ขอนแก่น 1,174 ราย 4.สมุทรปราการ 856 ราย 5.นครศรีธรรมราช 848 ราย 6.นนทบุรี 806 ราย 7.สมุทรสาคร 703 ราย 8.นครปฐม 668 ราย 9.ราชบุรี 631 ราย และ 10.อุดรธานี 537 ราย

ศิริราชพัฒนาเอทีเคราคาถูก
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมศบค.เห็นชอบคงระดับสถานการณ์พื้นที่เดิม นอกจากนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานเรื่องการเตรียมชุดตรวจเอทีเคกระจายให้กับกลุ่มเสี่ยงระหว่างมี.ค.-ก.ย.65 ว่า ได้เตรียมไว้ประมาณ 22.8 ล้านชิ้น กระจายไปแล้ว 3.1 ล้านชิ้น มีผู้ได้รับ 1.2 ล้านคน มีผลเป็นบวก 2.3% ใช้ต้นทุนต่อชุดประมาณ 55 บาท โดยมีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว 170 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีการรายงานว่า ศิริราชพยาบาลพัฒนาชุดตรวจเอทีเคสัญชาติไทย ราคา 40 บาทต่อชิ้น ผลิตได้ 2 แสนชิ้นต่อเดือน โดยนายกฯ ระบุว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มการผลิตให้ได้ 1 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขแจ้งว่าเป็นไปได้ โดยภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยดำเนินการ เพราะจะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ เอทีเคราคาไม่สูงเกินไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการเดินทางเข้าประเทศ หลังมีการออกมาตรการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศว่า การเดินทางประเทศเมื่อปี 64 มีผู้เดินทางเข้าประเทศทั้งสิ้น 4.2 แสนคน ส่วนปี 65 ระหว่างมี.ค.-เม.ย. มีผู้เดินทางเข้ามาแล้วถึง 4.7 แสนคน โดยที่ประชุมรับทราบแนวทางการปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรที่จะเริ่มในเดือนพ.ค.ว่าอาจจะปรับลดหลักฐานที่จะต้องใช้ในระบบไทยแลนด์พลัส ผ่อนคลายวงเงินประกัน เดิม 2 หมื่นดอลลาร์ที่อาจสูงเกินให้ต่ำลงมา ปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางเข้าประเทศมาเป็นตรวจเอทีเค แต่ทั้งนี้ยังเป็นเพียงหลักการที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จะพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมศบค.ครั้งต่อไป เพราะจะให้มีผลในเดือนพ.ค. อีกทั้งนายกฯ ต้องการดูผลในช่วงสงกรานต์ก่อน

ฉีดวัคซีนตายแล้ว 6 ราย
“ในที่ประชุมยังได้รายงานเกี่ยวกับเหตุไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ว่า มีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้นถึงวันที่ 3 เม.ย. 130,139,978 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวกับวัคซีน 123 ราย หรือคิดเป็น 0.9 รายต่อล้านโดส มีการเสียชีวิตที่สรุปได้ว่าเกี่ยวกับวัคซีน 6 ราย หรือคิดเป็น 0.04 รายต่อล้านโดส ข้อมูลตรงนี้จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเข้ารับวัคซีนให้มากขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันมีกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นถึง 60%” นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า นายกฯ ฝากให้เพิ่มคู่สาย 1330 เพื่อให้เข้าถึงบริการโดยเร็ว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ศบค.ยังมีแผนจัดหา Long-acting antibody (LAAB) ซึ่งเป็นวัคซีนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อฉีดไปแล้วจะมีภูมิคุ้มกันทันที ไม่ต้องรอสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสัญญาที่สั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้เราได้รับวัคซีนดังกล่าวโดยใช้กรอบวงเงินเดิม

รับช่วงสงกรานต์ป่วยเป็นแสน
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค.ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ถึงมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงที่ แต่ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ ช่วงเดือนก.พ. 2565 มีประมาณ 500 ราย แต่ตอนนี้ขึ้นไปถึง 1,800-1,900 ราย เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ส่วนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมี 800 กว่าราย เพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า ส่วนผู้ป่วยตายเมื่อวันที่ 1 ก.พ.มีเพียง 10-20 ราย แต่วันนี้ขึ้นมาถึง 89 ราย เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า หมายความว่าผู้ป่วยยังมีจำนวนมากวันละ 5-6 หมื่นราย ซึ่งยังมีที่ยังไม่ได้ตรวจอีก 2-3 เท่า ทำให้รวมติดเชื้อวันละกว่าแสนราย ที่กลัวคือจะกระจายในช่วงสงสงกรานต์ เพราะจะมีการรวมตัวกัน

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า การประชุมศบค.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.จะเน้นย้ำเรื่องมาตรการโดยเฉพาะกับผู้ว่าฯ ที่ต้องไปเคร่งครัดเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการ เนื่องจากจะไม่เพิ่มมาตรการแล้ว มีแต่จะผ่อนอย่างเดียว เมื่อเราผ่อน ประชาชนต้องช่วยกันดูแลตัวเอง เพื่อตัดวงจรระบาด ทำให้กราฟผู้ติดเชื้อที่สูงดึงลงมาให้ได้

เยียวยาโควิดแล้ว 1.7 พันล.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.จัดระบบเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิดตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2564 ตลอดเวลาประมาณ 1 ปี สปสช.ทั้ง 13 เขตพื้นที่เร่งพิจารณาและให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลวันที่ 8 เม.ย.2565 มีประชาชนยื่นคำร้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งสิ้น 17,171 ราย เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือ 14,034 ราย ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 2,551 ราย และอยู่ระหว่างการรอพิจารณา 586 ราย มีการมียื่นอุทธรณ์คำร้อง 995 ราย โดยสปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วทั้งสิ้น 1,710,258,900 บาท

พื้นที่ยื่นคำร้อง 5 อันดับแรก ได้แก่ เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุด 2,811 ราย ตามด้วยเขต 10 อุบลราชธานี 1,984 ราย เขต 1 เชียงใหม่ 1,809 ราย เขต 8 อุดรธานี 1,651 ราย และเขต 9 นครราชสีมา 1,155 ราย ผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็น ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 9,452 ราย ประกันสังคม 4,061 ราย สวัสดิการข้าราชการ 3,244 ราย นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ

จ่ายเสียชีวิต 3,670 คน
เบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด อาทิ มีไข้, ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน, มีผื่น คัน บวม, ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, อาการชา, แขน-ขาอ่อนแรง, ภาวะแพ้รุนแรง (Phylaxis Shock) และเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท 9,938 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี 426 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท 3,670 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน