10 สมาคมรวมพล 27เม.ย. พณ.ห้าม 18 สินค้าขึ้นราคา ก่อสร้างพุ่ง‘เหล็ก’ขอปรับ คลังปัดหั่นคนละครึ่ง25%
รถขนส่งทั่วประเทศ 10 สมาคมรวมพลบุกทำเนียบ 27 เม.ย.นี้ ยื่นหนังสือให้นายกฯ พยุงดีเซลลิตรละ 30 บาท ต่อไป ค้านปล่อยลอยตัวตั้งแต่ 1 พ.ค. ชงทำ 3 ข้อ นำส่วนผสมไบโอออกจากน้ำมันดีเซลทั้ง 100% จะทำให้ราคาถูกลง ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร เหมือนกับน้ำมันเครื่องบิน และตัดลด ค่าขนส่งราคาน้ำมันอ้างอิงสิงคโปร์ หากทำได้น้ำมันจะลดลงลิตรละ 5-6 บาท และตรึงดีเซลได้ต่อไป กรมการค้าภายใน ย้ำห้าม 18 สินค้าจำเป็นขึ้นราคา ห่วงดีเซลขึ้นราคา กระทบต้นทุนสินค้า ทั้งทางตรงและอ้อม ขอผู้ประกอบการ ยอมกำไรหด ช่วยตรึงราคาต่อ รมว.คลังแจงปรับแจกเงินคนละครึ่ง เฟส 5 เหลือแค่ 25% ขอติดตามสถานการณ์ เหตุกู้เงินมีข้อจำกัด สถาบันเหล็กฯ ดันปรับค่าก่อสร้างช่วยผู้รับเหมาสู้ยุคของแพง

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการจากกรณีที่ รัฐบาลจะยกเลิกตรึงราคา ดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ค. และกรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยประกาศจะขึ้น ค่าขนส่ง 15-20%ว่า อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญของค่าขนส่ง เบื้องต้นแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบทางตรง กระทบต่อค่าขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่บรรทุกต่อหน่วยมาก จะกระทบต่อต้นทุนให้ปรับสูงขึ้นมาก ส่วนสินค้าที่มีขนาดเล็กใช้พื้นที่บรรทุก ต่อหน่วยน้อยจะกระทบน้อย และผลกระทบทางอ้อมคือ กระทบต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

“การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งนี้จะทำให้สินค้าปรับขึ้นราคาหรือไม่ ต้องดูที่ราคาขายปัจจุบันว่าสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ากระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เบื้องต้นกรมการค้าภายในจะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ ช่วยลดส่วนแบ่งกำไรลง และตรึงราคาสินค้าต่อไป เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค ยืนยันว่า วันนี้ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาสินค้า 18 รายการ ที่จำเป็นต่อการครองชีพ” นายวัฒนศักย์กล่าว

ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 27 เม.ย. เวลา 09.00 น. คณะกรรมการบริหาร นายกสมาคม ที่ปรึกษาสหพันธ์ และสมาชิกผู้ประกอบการขนส่งสินค้า จะเดินทางไปยื่นหนังสือ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการที่รัฐบาลจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร และขอความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล เพราะรัฐบาลยังพอมีช่องว่างที่พอบริหารจัดการได้ เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท คือ

1.การนำส่วนผสมไบโอออกจากน้ำมันดีเซลทั้ง 100% ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง 2.ให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตให้เหลือ 20 สตางค์/ลิตร เหมือนกับที่รัฐบาลปรับลดภาษีให้กับน้ำมันเครื่องบิน รัฐบาลควรดูแลผู้ประกอบการภาคขนส่งให้เท่าเทียมกับสายการบิน และ 3.ตัดลดค่าขนส่งในราคาน้ำมันอ้างอิงสิงคโปร์ลง เพราะในความเป็นจริงไม่มีการคิดค่าขนส่ง ซึ่งหากรัฐบาลทำ 3 ข้อดังกล่าวแล้ว น้ำมันจะลดลงลิตรละ 5-6 บาท โดยรัฐบาลจะยังตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท ได้ต่อไปอีก

ขณะที่ นายวุฒิพงษ์ วิศิษฏ์ศักดิ์ อุปนายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก ในฐานะฝ่ายประชาสัมพันธ์ สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ เปิดเผยว่า การยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อคัดค้านเรื่องปล่อยลอยตัวน้ำมันดีเซลครั้งนี้ ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ร่วมกับตัวแทนของ 10 สมาคมขนส่ง ได้แก่ 10 สมาคมรถบรรทุก ประกอบด้วย 1.สมาคม ผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไป 2.สมาคมขนส่งสินค้า จ.ตาก 3.สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน 4.สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย 5.สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย 6.สมาคมรถบรรทุกภาคตะวันตก 7.สมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออก 8.สมาคมผู้ประกอบการรถเครน 9.สมาคม ผู้ประกอบการขนส่งแหลมบัง จ.ชลบุรี และ 10.สมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้

นายวุฒิพงษ์กล่าวว่า ในการเดินทางไป ยื่นหนังสือ ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ จะจัดกลุ่มปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย โดยมีข้อเสนอ คือ ขอชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลวันที่ 1 พ.ค. ออกไปก่อน และยืนยันจุดยืนเดิมคือขอให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ออกจากตำแหน่งรมว.พลังงาน และหาคนใหม่มาทำงานแทน ขอให้รัฐบาลทบทวนใน 3 เรื่อง 1.ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้านขนส่งเหลือ 0.20 บาท/ลิตรเท่ากับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน 2.นำไบโอดีเซลที่ใช้ผสมน้ำมันออกจากระบบชั่วคราวจะลดได้ 1.50-2 บาท/ลิตร เพราะปัจจุบันราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซลเท่าตัว และ 3.ในการเทียบราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ ขอให้เลิกคิดค่าขนส่งรวมเข้าไปในต้นทุนด้วย

นายวุฒิพงษ์กล่าวอีกว่า ขอเชิญสมาชิก ผู้ประกอบการขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ไปร่วมกันยื่นหนังสือครั้งนี้ และขอให้ทุกประกอบการส่งตัวแทนมาอย่างน้อย 1-2 คน เพื่อให้เกิดพลังและความสำเร็จในการออกมาเรียกร้องต่อไป

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงข่าวที่ระบุว่าคนละครึ่งเฟส 5 จะปรับลดการให้เงินช่วยประชาชนเหลือ 25% จากเดิม 50% ว่า ได้พูดไปหลายครั้งแล้วว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 หรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์ ยอมรับว่า มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและการกู้เงินมาใช้ในโครงการมากขึ้น ต้องติดตามประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเวลานี้ดัชนีชี้วัดต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น มีการกลับไปทำงานในภัตตาคาร โรงงาน มีการเพิ่มกำลังการผลิต มีการจ่ายโบนัส ถือว่าประชาชนเริ่มมีรายได้กลับมาแล้ว มีขีดความสามารถในการใช้จ่ายตามกำลังมากขึ้นแล้ว

“ผมไม่เคยพูดว่าจะมีการต่อมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 รวมทั้งการปรับสูตรช่วยจ่ายเงิน ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว ส่วนการจะต่ออายุมาตรการหรือไม่ ต้องประเมินกันต่อไปว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้มีรายได้ประจำ รายได้รายวันเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร หมายความว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความจำเป็นในการเข้าไปกระตุ้นตรงนี้ก็อาจจะต้องลดลงไป” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความจำเป็นในการออกมาตรการจะลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะไม่ดูแล ยังคงต้องดูแลระดับการบริโภค โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะเริ่มมีสัญญาณคนเดินทางมากขึ้น คนไทยเดินทางมากขึ้น ต่างชาติเพิ่มขึ้น มาตรการที่ ศบค. ผ่อนคลายจะทำให้รายได้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว ก็ยังไม่เต็มร้อย ยังมีนักท่องเที่ยวกลับมาไม่ถึง 40 ล้านคน ก็ต้องติดตามสถานการณ์

ส่วนการกู้เงินเพิ่มเติมก็ต้องติดตามสถานการณ์ ความจำเป็น ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่ากู้เพื่ออะไร อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะ ถ้ากู้เพิ่มระดับหนี้จะเพิ่ม แม้จะมีช่องว่างการก่อนหนี้เหลืออีก 10% จีดีพี แต่ตรงนี้ก็ต้องเผื่อในกรณีฉุกเฉิน จำเป็นจริงๆ รัฐบาลก็มีช่องตรงนี้ ถามว่ากู้อีกก็กลัวจะชน 70% ในแง่การเงินการคลัง ก็ต้องดูวินัยการเงินการคลังด้วย เพราะต้องนำไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มากกว่าการไปอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยา เมื่อสถานการณ์โควิดมีความรุนแรงลดลงแล้ว

นายอาคมกล่าวถึงแผนการบริหารหนี้สาธารณะว่า มี 2 ส่วนหลัก คือ แผนการก่อหนี้ใหม่ และการปรับโครงสร้างหนี้ ตรงนี้คือหนี้เดิมที่มีอยู่มาบริหาร เช่น การเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ ส่วนแผนการก่อหนี้ใหม่จะมีโครงการต่างๆ ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมาขอกู้ในลักษณะที่คลังค้ำ และไม่ค้ำประกัน ก้อนนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม จะใช้เงินราว 8 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะขยับขึ้นเป็น 62% โดยไม่มีการก่อหนี้ใหม่ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจเติบโต โดยปีนี้คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 3-4% ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 4-5% เมื่อจีดีพีเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะลดลง

ส่วนที่บอกว่า กระทรวงการคลังมีการซุกหนี้ 1 ล้านล้านบาท นายอาคมกล่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเรื่องการใช้มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ที่อนุญาตให้ฝ่ายบริหารดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายรัฐบาลได้ โดยใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจออกเงินไปก่อน เช่น วงเงินจากโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร หรือการค้ำประกันสินเชื่อ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาห กรรมขนาดย่อม (บสย.) รัฐบาลจะตั้งงบประมาณคืนให้ในปีงบประมาณถัดไป ดังนั้นอันนี้ไม่ถือว่าเป็นการกู้เงิน แต่เป็นการให้ออกเงินไปก่อน และรัฐบาลตั้งเงินชดใช้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรงนี้ไม่ใช่การกู้ยืมเงินกันและไม่เป็นหนี้สาธารณะ ขณะที่มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลที่จะหมดลงวันที่ 20 พ.ค.2565 ยังมีเวลาพิจารณา คลังต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน ขอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้ด้วย ซึ่งการจัดเก็บรายได้รัฐขณะนี้ถือว่ายังพอได้อยู่

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผอ.สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลสถานการณ์ราคาของอุตสาหกรรมเหล็กในภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้นทั้งในส่วนของวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป โดยในเดือนเม.ย.2565 ราคาเหล็กแท่งแบน (Slab) ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.4% และราคาเหล็กแท่งเล็ก (Billet) สูงขึ้น 25.2% ตามสถานการณ์เหล็กโลกจากผลพวงของสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครนที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิง และการขาดหายไปของสินค้าเหล็กในตลาดโลกบางส่วน

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทย พบว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2565 มีปริมาณ 2.54 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.3% ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าอยู่ที่ 1.58 ล้านตัน ลดลง 12.3% เช่นเดียวกับผู้ผลิตในประเทศมีการผลิต 1.17 ล้านตัน ลดลง 14.6% สะท้อนได้ว่าการผลิตในประเทศได้รับผล กระทบมากกว่าการนำเข้า

โดยข้อมูลการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ปรับลดลง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการไทยปรับลดลงด้วยเหลือเพียง 29.9% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 37% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และถือว่าเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่า 50%

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกำลังการผลิตที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก สถาบันเหล็กฯ มีความเห็นว่าการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้อย่างแน่นอน ซึ่งการสนับสนุนให้ใช้สินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะในงานโครงการภาครัฐจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ส่วนกรณีงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ได้รับผล กระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าเหล็ก ทางสถาบันเหล็กฯ เห็นว่าการปรับค่างานก่อสร้าง (ค่า K) ให้เหมาะสมตามสถานการณ์จริง จะช่วยลดผลกระทบของผู้รับเหมา และช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศสามารถจำหน่ายสินค้าสอดคล้องต้นทุนและกลไกตลาดได้ ซึ่งมีกรมการค้าภายในเป็นหน่วยงานที่คอยตรวจสอบ และควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน