ตายโควิดยังพุ่ง 125 ราย มีเด็ก 1 ขวบด้วย ส่วนยอดติดเชื้อรายวันเพิ่ม 1.4 หมื่น กทม.ยังสูงเกิน 3 พัน กรมควบคุมโรคแจงโควิดโรคประจำถิ่นต้องรอประเมิน เผย ‘ภูเก็ต-กทม.’ จ่อนำร่องประกาศเป็นโรคประจำถิ่นเนื่องจากใกล้เงื่อนไขทำแผนมากสุด สธ.เร่งฉีดวัคซีนเด็กนักเรียน เตรียมพร้อมเปิดเทอมเดือนพ.ค.นี้ ‘อนุทิน’ชี้แนวโน้ม โควิดดีขึ้นหลังสงกรานต์ อาจเลิกตรวจเอทีเคและไทยแลนด์ พาส

ติดเชื้อเพิ่ม 1.48 หมื่น-ตาย 125
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,887 ราย ติดเชื้อสะสม 4,209,571 ราย หายป่วยเพิ่ม 18,919 ราย หายป่วยสะสม 4,018,460 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 125 ราย เสียชีวิตสะสม 28,144 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 162,967 ราย อยู่ในร.พ. 41,811 ราย อยู่ร.พ.สนาม HI, CI 121,156 ราย มีอาการหนัก 1,822 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 850 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 12,748 ราย อัตราครองเตียง สีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 24.1%

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 125 ราย มาจาก 45 จังหวัด กทม.เสียชีวิตสูงสุด 17 ราย ตามด้วยกาฬสินธุ์ อุบลราชธานี จังหวัดละ 8 ราย, มหาสารคาม 7 ราย, ราชบุรี 5 ราย, สมุทรปราการ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ชลบุรี สิงห์บุรี จังหวัดละ 4 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจังหวัดละ 1-3 ราย

เด็ก 1 ขวบเสียชีวิตด้วย
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสียชีวิตสูงสุด 39 ราย ภาคกลางและตะวันออก 38 ราย ภาคเหนือ 15 ราย ปริมณฑล 12 ราย และภาคใต้ 4 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 74 ราย หญิง 51 ราย อายุ 1-100 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 96%

ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 3,292 ราย 2.ขอนแก่น 687 ราย 3.ศรีสะเกษ 610 ราย 4.บุรีรัมย์ 537 ราย 5.ชลบุรี 533 ราย 6.สมุทรปราการ 452 ราย 7.มหาสารคาม 374 ราย 8.อุบลราชธานี 336 ราย 9.หนองคาย 326 ราย และ 10.ฉะเชิงเทรา 312 ราย โดยจังหวัดติดเชื้อเกิน 200 ราย ลดลงเหลือ 7 จังหวัด ระดับเกิน 100 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด และจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 รายลดลงเหลือ 30 จังหวัด โดยจังหวัดที่ติดเชื้อน้อย เช่น ลำปาง 12 ราย, ยะลา 9 ราย, ตรัง 8 ราย เป็นต้น

สำหรับการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 45 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 71 ราย ใน 20 ประเทศ โดยมาจากกัมพูชามากที่สุด 17 ราย อังกฤษ 10 ราย สิงคโปร์ 9 ราย ออสเตรเลีย 8 ราย สหรัฐอเมริกา 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 51 ราย แซนด์บ็อกซ์ 2 ราย กักตัว 18 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1-26 เม.ย.65 มีผู้เดินทาง 346,147 ราย ติดเชื้อ 1,683 ราย คิดเป็น 0.49% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 329,093 ราย ติดเชื้อ 1,498 ราย คิดเป็น 0.46% Sandbox 13,718 ราย ติดเชื้อ 140 ราย คิดเป็น 1.02% และกักตัว 3,326 ราย ติดเชื้อ 45 ราย คิดเป็น 1.36%

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65 จำนวน 132,459 โดส สะสม 132,825,666 โดส เป็นเข็มแรก 56,184,323 ราย คิดเป็น 80.8% เข็มสอง 51,074,520 ราย คิดเป็น 73.4% และเข็ม 3 ขึ้นไป 25,566,823 ราย คิดเป็น 36.8%

‘อนุทิน’ชี้โควิดดีขึ้นหลังสงกรานต์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง ว่า สถานการณ์ขณะนี้คงตัวมาระดับหนึ่งแล้ว หวังว่าถ้าไม่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อื่นในช่วงนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตน่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ ช่วงนี้ก็ติดตามทุกวัน เห็นว่าการใช้เครื่องช่วยหายใจ คนไข้ปอดอักเสบ อาการหนัก การใช้ห้องไอซียู ก็ค่อนข้างลดลง การใช้ยาต้านไวรัสแต่ละวันก็มีจำนวนขาลงเหมือนกัน คิดว่าเป็นแนวโน้มที่ดี สอดคล้องกับความตั้งใจของกระทรวงและรัฐบาลที่อยากจะให้มีการผ่อนคลายมาตรการโควิดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

เมื่อถามถึงความพร้อมการเป็นโรคประจำถิ่น มีจังหวัดใดที่พร้อมดำเนินการ นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนใหญ่มีความพร้อมแทบทุกจังหวัด ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็รับทราบนโยบายของรัฐบาล และความต้องการของประชาชนที่อยากจะให้ผ่อนคลายมาตรการมากที่สุด ทำให้เปิดประเทศทำมาหากินได้ โดยต้องการให้ สธ.แสดงความมั่นใจว่าสุขภาพจะไม่เป็นอันตราย แม้จะติดเชื้อแล้วก็ไม่เป็นอะไร ซึ่ง สธ.ก็ยืนยันว่าติดเชื้อแล้วไม่เป็นอะไรแน่นอน หากมารับวัคซีน 3 เข็มเป็นอย่างต่ำ จึงต้อง มาบูสต์ มาฉีด 4 เข็มได้ยิ่งดี ซึ่งจากการติดตามพบว่า อาจจะติดเชื้อได้ เพราะเราเป็นสังคมเปิด แต่มากกว่า 90% ไม่แสดงอาการ ไม่ต้องเข้า ร.พ. และไม่มีผู้เสียชีวิตถ้าไม่มี โรคอื่น ส่วนฉีด 3 เข็ม ก็ไม่มีอาการหนักเช่นกัน เพียงแต่ 4 เข็มจะค่อนข้างชัวร์กว่า ซึ่ง สธ.มีวัคซีนและพร้อมให้บริการ

“ขณะนี้เหลือกลุ่มเดียว คือ ผู้สูงอายุจะต้องเปลี่ยนความคิด หากจะให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยครบวงจร ก็ต้องมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทุกอย่างจะผ่อนคลายได้มากที่สุด ไม่แพ้ชาติอื่น เราไม่พยายามไปตามชาติอื่น อย่างองค์การอนามัยโลกก็จะเอาประเทศไทยเป็นตัวอย่างรับมือสถานการณ์โควิดในประเทศอื่น อันไหนที่เราสามารถนำได้ประชาชนก็ควรสนับสนุน เพราะบุคลากรทางการแพทย์กว่าจะยอมให้ใช้มาตรการใดก็ตาม มีการศึกษามีงานวิชาการรองรับ ถึงยอมให้ สธ.ปฏิบัติตามขั้นตอน” นายอนุทินกล่าว

ถามต่อว่าการปรับสู่โรคประจำถิ่นจะดำเนินการนำร่องแซนด์บ็อกซ์บางจังหวัดหรือภาพรวมทั่วประเทศ นายอนุทินกล่าวว่า เข้าใจในบริบทเดียวกันว่าต้องทั้งประเทศ จะไปโรคประจำถิ่นจังหวัดนี้ ข้ามไปอีกจังหวัดหนึ่งไม่เป็นก็วุ่น ต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเข้าใจ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากแล้ว ประชาชนให้ความร่วมมือเต็มที่ สวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนแล้วไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต สถานพยาบาลมีพร้อม ยาพร้อม บุคลากรทางการแพทย์พร้อม ก็ต้องลุยเดินหน้า

จับตา 1-2 สัปดาห์อาจเลิกATK
เมื่อถามว่าทุกจังหวัดต้องมีแผน เปิดกิจการกิจกรรมตามปกติหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะนำเสนอ ศบค. ซึ่งศบค.ก็ฟังสธ.เยอะมาก แต่อาจมีบางมิติที่ไม่เกี่ยวข้องกับสธ.และมีความห่วงใยก็มาหารือในศบค. แต่ส่วนใหญ่คณะกรรมการในศบค.ทุกท่านก็จะหันมาถามสธ.ว่าไหวหรือไม่ รับได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็เอาด้วยทุกเรื่อง คณะรัฐมนตรีและนายกฯ ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ จริงๆ ทุกวันนี้ก็เดินเข้าสู่โรคประจำถิ่นทุกวัน มาตรการต่างๆ เริ่มลดน้อยลง อย่าง RT-PCR ก่อนเข้าประเทศจาก 2 ครั้งก็เหลือครั้งเดียว ตอนนี้ไม่มีแล้วเทสต์แอนด์โก ก็ไม่มีแล้ว เหลือแค่เอทีเค แต่พอดีเจอช่วงสงกรานต์ เราไม่อยากให้ประชาชนตระหนก หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ อาจเสนอให้ไม่ต้องมีเอทีเค หรืออาจไม่ต้องมี Thailand Pass เนื่องจากเสียเวลาก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าไป เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับการปล่อยหมด บางส่วนก็บอกให้ใจเย็นๆ เราก็พยายามสร้างสมดุล เพราะเอาใจคนทั้งหมดก็ไม่ได้ ก็เน้นใช้หลักฐาน สถิติว่าสามารถทำได้ ก็จะได้รับความร่วมมือ สำคัญคือต้องมาฉีดกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

“วันนี้สธ.เสนอข้อมูลลงรายละเอียดมากขึ้น ตายจากโรคโควิดและตายด้วยโรคโควิด เห็นว่าตายจากโควิดน้อยกว่าตายด้วยโควิด แสดงว่าโควิดเองทำลายชีวิตผู้คนได้น้อยลง และผู้ที่ตายจากโควิดพบว่า 90% ขึ้นไปไม่ได้รับวัคซีน เราเห็นแล้วว่าแก้ไขป้องกันได้ก็ต้องไปป้องกันตรงสาเหตุ ส่วนผู้ที่ตายด้วยโควิดอาจจะต้องเสียชีวิตด้วยโรคอื่นๆ ที่มีอยู่ เพียงแต่ติดเชื้อขึ้นมา เช่น ไตวายระยะสุดท้าย แล้วไปติดเชื้อโควิด อาจเสียชีวิตเพราะไตวาย แต่มีโควิดก็ต้องบันทึกว่ามีโควิด ทำให้เกิดข้อมูลที่ไม่แม่นยำ 100% ก็ต้องแยกออกมาให้เห็น นี่คือวิธีการที่เราจะเดินเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่นให้เร็วให้ได้ ไม่ต้องไปกำหนดว่าวันไหน เพราะเราทำอยู่แล้ว ทำเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวัน” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่าจังหวัดต้องมีแผนสู่โรคประจำถิ่นของตัวเองมานำเสนอหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เป็นเรื่องอำนาจของผู้ว่าฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ หลายจังหวัดอาจมีมาตรการที่กำหนดขึ้นมาด้วยความเห็นชอบของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขอบคุณประชาชน ขอบคุณความร่วมมือที่มาฉีดวัคซีน

สธ.เตรียมพร้อมโรคประจำถิ่น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเข้าสู่โรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 มีการเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน ระบบสาธารณสุขและความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตามที่เสนอศบค.ไปมีราว 12 จังหวัดที่เริ่มเป็นขาลง ซึ่งจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งภาพรวมประเทศและรายจังหวัด ขณะนี้ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์น่าจะขึ้นหรือคงที่ ปัจจุบันดูเหมือนคงที่และแนวโน้มค่อยๆ ลดลงจากการดูข้อมูลตัวเลขในส่วนต่างๆ ซึ่งการที่หลังสงกรานต์สถานการณ์ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะความร่วมมืออย่างดีของประชาชน ส่วนใหญ่ยังเคารพกติกา ช่วงสงกรานต์มีการพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนพอสมควร ทำให้สถานการณ์ไม่ได้พุ่งขึ้นไปมาก เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัจจัยเสี่ยงจากนี้ที่จะทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้น นพ.โอภาสกล่าวว่า 1.เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์อีกหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มีการกลายพันธุ์อะไรมาก ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยๆ แต่ย้ำว่าเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำคัญคือกลายพันธุ์แล้วติดง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น หรือดื้อต่อวัคซีนและการรักษาหรือไม่ เท่าที่ติดตามยังไม่มี แต่ก็คาดเดา ไม่ได้ และไม่ควรตื่นกลัวเกินไป เมื่อไรที่กลายพันธุ์และเกิดสิ่งเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุขจะรีบแจ้งประชาชน ถ้ากลายพันธุ์เล็กน้อยไม่ต้องตื่นกลัว ให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามไป 2.บุคคล ขณะนี้ประเทศไทยฉีดเข็ม 1 แล้วกว่า 80% ผู้สูงอายุฉีดกว่า 10 ล้านโดสแล้ว เข็มบูสเตอร์คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากคนมีภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อซ้ำโอกาสเกิดน้อยลงและอาการ ไม่รุนแรง และ 3.ระบบสาธารณสุข รู้จักโควิดมากขึ้น รู้ว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อมีอาการน้อยไม่ต้องกินยาก็ได้ และมียาใหม่ๆ ในการรักษาผู้ที่มีอาการหนักหรือมีความเสี่ยง

“ทุกอย่างเป็นตามแผนการคาดการณ์ ที่เหลือเป็นเรื่องของกิจกรรมต่างๆ ว่าจะทำอะไรบ้าง ปัจจุบันสามารถทำได้เกือบหมด เหลือเพียงการเปิดผับบาร์ คาราโอเกะอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่จะดำเนินการ ส่วนระยะต่อไปในพ.ค. ก็ยกเลิกเทสต์แอนด์โก หากฉีดวัคซีนแล้วและมีประกันสุขภาพก็เข้ามาได้เลยแล้วตรวจเอทีเคเองเหมือนคนไทย หากไม่ฉีดวัคซีนแต่มีผลตรวจหาเชื้อใน 72 ชั่วโมงก็เข้าได้ตรวจเอทีเค ส่วนไม่ฉีดวัคซีน ไม่ตรวจ ก็เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5+5 วัน และคงประเมินอีกทีหลัง 1 พ.ค. และดูตามขั้นตอนต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

เร่งฉีดนร.รับเปิดเทอมพค.นี้
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ช่วงเปิดเทอม พ.ค. เด็กมัธยมฉีดวัคซีน 80-90% ครูเกือบ 100% ส่วนเด็กประถมฉีดเข็ม 1 ไปประมาณ 50-60% ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งฉีดให้เสร็จหลังเปิดเทอมประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะคลี่คลายไปได้ และเปิดเทอมแบบออนไซต์ให้มากที่สุด และถ้าเจอเด็กติดเชื้อก็อย่าตื่นตระหนก แผนเผชิญเหตุโรงเรียนมีการเตรียมการแล้ว แต่การไม่ติดเชื้อดีกว่า จึงยังคงต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ถ้าผ่าน พ.ค.ไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามแผนที่กำหนด

“แนวโน้มทั่วโลกอยู่ทิศทางขาลงเช่นกัน แนวโน้มจะให้การเดินทางและการดำเนินชีวิตกลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด ของประเทศไทยก็เป็นแนวนี้ตามลำดับอย่าง เป็นขั้นตอน แต่ไม่ได้จะเอาตามต่างประเทศ 100% ต้องดูแนวโน้มโลก สถานการณ์ประเทศ บริบทที่ทำปรับให้เข้าสถานการณ์”

เมื่อถามถึงแนวโน้มการลดลงของผู้เสียชีวิต นพ.โอภาสกล่าวว่า หลายประเทศกำลังมองถึงเรื่องการเสียชีวิตจากโควิด-19 คือ ติดเชื้อแล้วมีอาการโควิดชัด เช่น ปอดอักเสบ และเสียชีวิตโดยมีโควิด-19 ร่วมด้วย เช่น เป็นมะเร็งอาการแย่ลง ไปรับรักษาแล้วตรวจพบติดโควิด พยายามจะแยกให้ชัดเจน ซึ่งหลายประเทศทำแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งราวพ.ค.จะมีรายละเอียดให้เห็น ทั้งนี้ ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ให้ตัวเลขในที่ประชุม EOC สธ. 3-4 วันก่อน จะเสียชีวิตจากโควิดประมาณ 30-40% และเสียชีวิตโดยติดโควิดร่วม 60-70% กำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของไทยดูเหมือนสูงเพราะรายงานทุกอย่างที่มี

ลุ้น‘กทม.-ภูเก็ต’โรคประจำถิ่น
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดใดสามารถเข้าใกล้สู่การกลายเป็นโรคประจำถิ่น เงื่อนไขสำคัญของการเป็นโรคประจำถิ่น คือ 1.สถานการณ์ติดเชื้อทรงตัว ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น 2.มีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ของจำนวนประชากร และ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับวัคซีนเข็ม 1 เกิน 80% และเข็มกระตุ้นเกิน 60% หากประเมินตามหลักเกณฑ์นี้ จะมีแค่ภูเก็ตที่มีลุ้นเป็นจังหวัดนำร่องเข้าสู่โรคประจำถิ่น เนื่องจากอัตราการรับวัคซีนภาพรวมของประชากรอยู่ที่ 55% รองลงมา กทม.อยู่ที่ 50% หากทุกจังหวัดผ่านเงื่อนไขนี้ก็จะมาเข้าสู่กระบวนการที่ศบค.ประกาศ คือ ให้ทุกจังหวัดทำแผน จากนั้นปฏิบัติตามแผนเพื่อพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ทำในลักษณะของแซนด์บ็อกซ์ คาดว่าจะนำเสนอต่อศปก.สธ. และเสนอต่อที่ประชุมศบค.ต่อไป หรือ ราวกลางพ.ค. น่าจะมีการทดลองทำตามแผนการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละจังหวัด

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า แผนสำคัญคือต้องใช้ได้จริง เพราะต้องเปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ ตามปกติ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย 1.ให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์โรคที่อาจมีการเปลี่ยน แปลง ทั้งเรื่องของการกลายพันธุ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์จริง 2.มีหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อติดตามกำกับ ผู้ประกอบการ เช่น การปิดเปิดสถานประกอบการ ผับบาร์ ไม่ใช่เปิดเกินเวลา และ 3.ประชาชนต้องร่วมสังเกตการณ์ ติดตามกับมาตรการต่างๆ และแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามแผน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะมีการตรวจสอบกันเอง เพื่อให้การทดลองเปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ มีความรัดกุม พร้อมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน