ตรวจเข้มมาจากปท.เสี่ยง พบเชื้อต้องกักตัว21วัน
สธ.ยกระดับเฝ้าระวัง ‘โรคฝีดาษลิง’ ตั้งศูนย์ฉุกเฉินสกัด กำชับสนามบินตรวจเข้มคนเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงและระบาด ทั้งแอฟริกา อังกฤษ สเปน โปรตุเกส หากพบเป็นไข้ มีตุ่มต้องแจ้งเข้าระบบ รีบไปร.พ. ส่งตรวจหาเชื้อ กรมวิทย์การแพทย์ ตั้งแล็บตรวจเฉพาะ แจงแม้ไม่ได้ติดง่ายเหมือนโควิด แต่ติดได้ ทุกคน ไม่แค่กลุ่มรักร่วมเพศ หมอธีระวัฒน์ยันยังจำเป็นต้องวัดไข้-สวมแมสก์ คาดต่างประเทศ แพร่โรคเร็วเพราะไม่สวมแมสก์ ททท.เกาะติดสถานการณ์โรค ด้านชุมชนชายเขาเมืองสตูล หวั่นทัพลิงแสมที่ชอบบุกลงมาทำลายข้าวของแพร่เชื้อ จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาให้

สธ.ตั้งศูนย์สกัด‘ฝีดาษลิง’
จากกรณี พบการระบาดของโรค“ฝีดาษลิง” ในหลายประเทศ ทางกระทรวงสาธารณสุขไทยได้เร่งหาแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแล้ว

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) ว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เป็นศูนย์ระดับกรม เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งไทยต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ต้องรักษาประคับประคอง แม้ในประเทศจะยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไทยก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อนก็ตาม รวมถึงเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา

“การเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ การเฝ้าระวังคนเดินทางจากประเทศ แต่เนื่องจากช่วงเริ่มต้นอาจไม่มีอาการหรืออาการน้อย ทำให้เมื่อมาถึงประเทศไทยที่ด่านสนามบินอาจจะไม่เห็นอาการ และอาจจะเกิดอาการเป็นตุ่มหนอง ตุ่มน้ำภายหลัง ดังนั้น จะให้มีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลต์บินจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแถบแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และยุโรปที่มีการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส โดยจะดูว่ามีแผลอะไรหรือไม่ พร้อมแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศ ดังกล่าว ซึ่งในการ์ดจะระบุว่า หากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในร.พ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย” นพ.จักรรัฐกล่าว

นอกจากนี้ จะเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือ มีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยตรวจเชื้อนี้ได้ที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจต้องกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ

เร่งซื้อวัคซีนฝีดาษ
เมื่อถามถึงการระบาดในยุโรป นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า โรคฝีดาษลิงมีประปรายในแอฟริกามานานหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมา ไม่มีคนไปนำโรคออกมาจากภูมิภาคดังกล่าว ครั้งนี้มีคนไปนำโรคออกมา ไปติดเชื้อมา จากประเทศในแอฟริกาและบินกลับนำเชื้อเข้ามาในยุโรปทั้งอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และ ไปสัมผัสใกล้ชิดกันมากกับผู้ที่ติดเชื้อจึงติดเชื้อกัน ซึ่งมีการติดเชื้อกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมากใน 100 กว่าราย มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย (MSM) แต่จริงๆ แพร่ได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเมื่อ หลุดออกมาจากแอฟริกาเข้ายุโรปแล้ว จากนี้ก็อาจจะเกิดการแพร่ข้ามประเทศในยุโรปกันเอง

เมื่อถามว่าต้องมีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ยัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) มากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้ เพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อฝีดาษคน เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษทุกคน แต่ที่เกิดหลังจากนั้นจะไม่ได้รับวัคซีนนี้ เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว

เมื่อถามต่อว่า ความเสี่ยงของการระบาดโรคฝีดาษลิงจะเป็นระดับเดียวกับโควิดหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า น่าจะต่างกัน เพราะโควิดแพร่กระจายได้เร็วแล้วแต่สายพันธุ์ ส่วนฝีดาษลิง เท่าที่ดูช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็แพร่กระจายได้ค่อนข้างเร็ว จะต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลเพิ่มขึ้น

ตั้งแล็บตรวจหาเชื้อ
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงว่า การติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสแลกเปลี่ยนสาร คัดหลั่ง ละอองฝอยน้ำลาย รวมถึงเลือด ดังนั้นกรณีที่มีแผลก็ทำให้ติดเชื้อได้ ฉะนั้น ความคิดว่าส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มคนรักร่วมเพศจึงไม่ถูกต้อง เพราะสามารถติดได้ใน ทุกคน เป็นการติดเชื้อในลักษณะใกล้ชิดกันมาก อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไม่ได้ง่ายเหมือนกับโควิด และมีความน่ากังวลน้อยกว่าโรคฝีดาษคน ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตั้งห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ แล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนองตามร่างกาย ทางสถานพยาบาลก็เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณแผล เพื่อส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บ ซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ โดยใช้เวลารอผลการตรวจเหมือนกับการตรวจโควิด

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฝีดาษลิงยังไม่พบในไทย แต่ทั่วโลกกำลังจับตามอง รวมถึงไทยด้วย ถือเป็นไวรัสที่ ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะการระบาดใน ช่วงนี้แตกต่างจากเมื่อปี 2561-62 ซึ่งคนที่มาจากประเทศต้นตอในแอฟริกาและไปประเทศ อื่นๆ เช่น อังกฤษ พบว่ามีการติดเชื้อเป็น กระจุก จากนั้นโรคก็สงบลง แต่ครั้งนี้แตกต่างจากเดิม เพราะมีการแพร่เร็วขึ้นไป 15 ประเทศใน 3 ทวีปแล้ว ยิ่งมีการเปิดประเทศยิ่งต้องระวัง อีกประการคือ คนที่ติดเชื้อ รายแรกๆ ของประเทศ มีประวัติชัดเจนว่า มาจากประเทศต้นตอ แต่ผู้ป่วยหลังจากนั้น กลับกลายเป็นว่า หาประวัติสัมผัสโรคไม่ได้ โดยการติดเชื้อในอังกฤษคล้ายเป็นการแพร่ในชุมชน ที่รายต่อมาไม่ได้สัมผัสกับรายแรก และไม่ได้กลับจากพื้นที่ต้นตอ คือ คล้ายๆ โควิดที่มีการระบาดวงกว้างที่หาต้นตอ ไม่ได้ แสดงว่าอาจเป็นไปได้ที่ติดในชุมชน จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดขึ้น

ถ้าพบเชื้อให้กักตัว 21 วัน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ไวรัสตัวนี้ความสามารถในการแพร่ติดต่อยังอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่คลุกคลีจะติดทุกคน แต่ต้องกักตัว 21 วัน เมื่อทราบว่าได้สัมผัสเชื้อ โดยอาการจะเป็นไข้ก่อน ปวดหัวปวดเมื่อยปวดหลัง จากนั้นประมาณ 1 วันขึ้นไป หรืออาจ 3-4 วัน จะมีผื่นตุ่มหนองขึ้นบริเวณใบหน้า มือ แขนขา ลำตัว ซึ่งลักษณะแบบนี้คนที่ติดเชื้อและมีอาการจะรู้ตัวอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่มีไข้จึงควรจำกัดตัวเอง ไม่ไปสุงสิงกับผู้อื่นเลย และคนรอบๆ ก็สังเกตเห็นได้ ต้องแยกตัวออกห่าง และเตือนให้คนนั้นรีบพบแพทย์ แต่ที่มีการติดเชื้อในต่างประเทศเข้าใจว่า อาจคิดว่าป่วยเป็นไข้หวัด เพราะมีอาการคล้ายกัน แม้แต่โควิดระยะหลังอาการก็ไม่รุนแรงอาจทำให้ชะล่าใจได้

คุย-ไอ-จามก็แพร่โรคได้
เมื่อถามว่าโรคฝีดาษลิงที่ติดจากคนสู่คน จะติดต่อเหมือนโควิดหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ใช่ สามารถติดได้จากการไอ จาม พูดคุย มีละอองฝอยกระจาย แต่ยังติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ติดจากเลือด สารคัดหลั่ง และมีรายงานว่าติดจากการสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วยได้ ส่วนเชื้อจะอยู่บริเวณสิ่งของนานแค่ไหนยังไม่มีรายงาน ออกมา ต้องจับตามองต่อไป

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การติดเชื้อในต่างประเทศมาจากการไม่สวมหน้ากากอนามัย ทำให้ติดจากการพูดคุย ไอ จาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า เป็นไปได้มาก เพราะในต่างประเทศบางแห่งเริ่มถอดแมสก์ เนื่องจาก โควิดรุนแรงน้อยลง คนที่เริ่มมีอาการก็อาจคิดว่าไม่ติดฝีดาษลิง แต่คิดว่าเป็นหวัด หรือ โควิดอาการไม่รุนแรง ที่สำคัญคือ แม้ไทยจะยังไม่พบโรคนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงได้จากการเปิดประเทศ แต่ไม่เปิดก็ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการรัดกุม โดยในส่วนของสนามบินเดิมจะตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามาช่วย คัดกรองได้อันดับแรกๆ รวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ยังจำเป็นมาก เพราะไม่ใช่ป้องกันโควิด ป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ฝีดาษลิงก็ยังช่วยได้

เผยอาการโรค-ย้ำต้องกักตัว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” ถึงฝีดาษวานร ข้อควรรู้ ว่า โรคในตระกูลฝีดาษหรือไข้ทรพิษ สมัยก่อนมีฝีดาษวัว ที่ข้ามมายังมนุษย์ได้และนำมาใช้ทำวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษทำให้โรคนี้หมดไป เพราะการติดฝีดาษวัว จะเป็นตุ่มหนองเฉพาะตรงที่สัมผัสเท่านั้น หรือเรียกว่าขึ้นเฉพาะที่ ส่วนฝีดาษนกหรือไก่ยังไม่มีหลักฐานการข้ามมายังมนุษย์

ลักษณะตุ่มฝีดาษหรือไข้ทรพิษ หรือในตระกูลฝีดาษ ตุ่มหนองจะเริ่มจากรอยแดงแล้วเป็นน้ำใสและเปลี่ยนเป็นน้ำขุ่นข้น สีขาวเหลือง ตรงกลางจะมีรอยบุ๋ม ซึ่งต่างกับโรคสุกใสที่เกิดจากไวรัสคนละกลุ่มจะเป็นน้ำใส ข้อแตกต่างที่ชัดเจนกับโรคสุกใส ที่สมัยผมเป็นนักเรียนต้องท่องได้ มี “ตุ่มของฝีดาษ” จะขึ้นพร้อมกันระยะเดียวเหมือนกัน เริ่มจากแดงเป็นตุ่มน้ำและตกสะเก็ดพร้อมๆ กัน แต่ของสุกใสจะมีหลายระยะเช่นบางตุ่มเป็นแค่ตุ่มแดงบางตุ่มเป็นน้ำใสแล้ว การกักตัวผู้ป่วยจึงต้องกักตัวให้แผลทุกแผลตกสะเก็ดหมด จึงจะพ้นระยะติดต่อ สำหรับผู้สัมผัสโรคจะต้องกักตัวดูอาการ 21 วันตามระยะพักตัวที่มากที่สุด

ส่วนบริเวณที่ขึ้นตุ่มของสุกใสจะขึ้นบริเวณลำตัวมากกว่า ส่วนของฝีดาษจะขึ้นมากที่แขนขาแล้วค่อยไปลำตัว ลักษณะของตุ่มฝีดาษจะบุ๋มตรงกลางที่เรียกว่า umbilicated vesicle หรือถุงสะดือ ส่วนของสุกใสจะเป็นตุ่มน้ำใสหลายระยะ เป็นที่น่าสังเกตว่า ฝีดาษลิงที่กำลังระบาดและพบอยู่ขณะนี้ พบในเพศชายเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ ฝีดาษวัวป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษ โดยหลักการแล้วก็น่าจะข้ามมาป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่ขณะนี้ก็มีการพัฒนาวัคซีนฝีดาษเด็กโดยตรง

อุทยานฯเพิ่มเป็นโรคเฝ้าระวัง
ที่ห้องประชุมสำนักงานด่านกักกันสัตว์ อาคารศูนย์บริการเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (Cites) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงาน กรณีโรคฝีดาษลิง โดยมี นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า นายสธน คงเงิน หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายแพทย์ พัฒน์พงษ์ ไชยนิคม รองผอ.ฝ่ายการแพทย์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แพทย์หญิง ตุลยา ดิเรกวุฒิกุล หัวหน้าด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ. สพ.ญ.ณัฐกานต์ คุรุพันธ์ ด่านกักกันสัตว์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสัตวแพทย์ ภัทรพล กล่าวว่า เมื่อเกิดกรณีดังกล่าว กรมอุทยานฯ จะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันจะตรวจสอบประวัติลิงในพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในตอนนี้ คือความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสัตว์ป่า ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดได้จากสารคัดหลั่ง ผู้ปฏิบัติงานในด่านตรวจสัตว์ป่าจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยสวมถุงมือในการทำงาน อาจสวมรองเท้าบู๊ต การดูแล สุขภาวะ สุขอนามัยในพื้นที่ให้มีความสะอาดอยู่เสมอ สำหรับประชาชนควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้พิจารณาแนวทางโดยจะมีการเข้มงวด การตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่นำเข้ามาในประเทศ และนำเสนอผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ให้พิจารณา เพิ่มการตรวจโรคฝีดาษลิง สำหรับสัตว์ป่าที่จะนำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ด่านตรวจสัตว์ป่า ได้ประสานผู้ประกอบการให้ชะลอการนำเข้า เพื่อรอรับฟัง มาตรการเพิ่มเติม และสำหรับสัตว์ป่า ที่มีการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะประสานขอข้อมูลเพื่อติดต่อ ผู้ประกอบการ ในการสำรวจข้อมูลการเฝ้าระวังในสัตว์ป่าที่มีการนำเข้ามาแล้วต่อไป

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. จับตาสถานการณ์โรคฝีดาษลิงที่กำลังระบาดอยู่หลายประเทศ ขออย่ากังวลหรือตระหนกในเรื่องนี้นัก ส่วนไทม์ไลน์ “เปิดประเทศเต็มรูปแบบ 1 มิ.ย.2565” ททท.ได้จัดประชุมเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยแบบเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการเตรียมความพร้อมร่วมกัน

ฝีดาษลิง – ชาวบ้านชุมชนม้าขาว จ.สตูล เริ่มผวาโรคฝีดาษลิง เรียกร้องแก้ปัญหาฝูงลิงแสมที่สร้างความเดือดร้อนในพื้นที่หวั่นเป็นพาหะแพร่เชื้อ ขณะที่กรมควบคุมโรคยกระดับเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศระบาดแล้ว เมื่อวันที่ 23 พ.ค.

สตูลผวาลิงแสมติดเชื้อ
ที่ชุมชนซอยม้าขาว ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ที่มีบ้านเรือนอยู่ 60 ครัวเรือน จำนวน 500 คน ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ที่มีลิงแสมนับร้อยตัวอาศัยอยู่บนเขา เริ่มมีความวิตกกังวลโรคฝีดาษลิงกัน โดยน.ส.พจนีย์ อิตกี ประธานชุมชนม้าขาว กล่าวว่า ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังกันเองทั้งทรัพย์สินและบ้านเรือน รวมทั้งเด็กๆ ไม่ให้ถูกลิงกัด หรือข่วน เฉพาะปีที่ผ่านมาพบว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกลิงกัดไม่น้อยกว่า 10 คน นับวันพบว่าประชากรลิงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ยิ่งพบว่ามีข่าวโรคฝีดาษลิง ก็มีความกังวลว่าป้องกันอย่างไร จึงวอนให้หน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งเตือนให้ความรู้ด้วย

นายวิเชียร ตันติอาภรณ์ นายกเทศมนตรีเมืองสตูล ยอมรับว่า ปัญหาลิงที่สร้างความรำคาญและก่อกวนชาวบ้านนั้น ทางเทศบาลอยู่ระหว่างการประสานกับปศุสัตว์ในการที่จะฉีดวัคซีนในลิงแล้ว

ป่วยโควิดขาลง 4 พัน-ตาย 29
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด -19 ประจำวัน ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รายงาน 4,099 ราย ต่ำกว่าหมื่นรายต่อเนื่อง 22 วัน ติดเชื้อสะสม 4,415,593 ราย หายป่วย 8,856 ราย สะสม 4,334,812 ราย เสียชีวิต 29 ราย สะสม 29,775 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 51,06 ราย อยู่ ร.พ.สนาม เอชไอ ซีไอ 30,786 ราย และอยู่ใน ร.พ. 20,220 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,042 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 521 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 14% ไม่มีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ ส่วนเดินทางมาจากต่างประเทศพบติดเชื้อ 2 ราย มาจากญี่ปุ่น

ผู้เสียชีวิต 29 ราย มาจาก 20 จังหวัด สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 1,425 ราย 2.สุรินทร์ 161 ราย 3.บุรีรัมย์ 149 ราย 4.นนทบุรี 94 ราย 5.สมุทรปราการ 94 ราย 6.ปทุมธานี 92 ราย 7.ร้อยเอ็ด 87 ราย 8.ขอนแก่น 86 ราย 9.ชลบุรี 84 ราย และ 10.อุบลราชธานี 82ราย

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 71 จังหวัด จำนวนนี้เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี 17 จังหวัด ได้แก่ น่าน 9 ราย, อุตรดิตถ์ 9 ราย, กระบี่ 8 ราย, สิงห์บุรี 8 ราย, แพร่ 6 ราย, ยะลา 6 ราย, ตรัง 5 ราย, ปัตตานี 4 ราย, ระนอง 4 ราย, หนองบัวลำภู 4 ราย, พะเยา 3 ราย, แม่ฮ่องสอน 3 ราย, ชัยนาท 2 ราย, ชุมพร 2 ราย, เชียงราย 2 ราย, พังงา 2 ราย และสตูล 1 ราย ส่วนจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อ มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ลำปาง และ ลำพูน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน