สั่งทุกสนามบินคัดกรอง โควิดลดเล็งเลิก‘แมสก์’
ตรวจเข้มคนมาจาก 17 ประเทศเสี่ยง ‘ฝีดาษลิง’ สั่งสนามบินเพิ่มด่านคัดกรองโรค สธ.ถกเคาะนิยามปรับเป็นโรคติดต่ออันตราย ยังไม่ชี้ชัดปลูกฝีช่วยป้องกันโรคได้ แจงคนวัย 50 ปีขึ้นเสี่ยงติดเชื้อน้อย เพราะเคยปลูกฝีตอนเด็ก ศธ.เร่ง ประสานสธ.เฝ้าระวังโรคแพร่ในโรงเรียน รมต.ทส.สั่งกรมอุทยานฯ ทำหมันลิง ตรวจสุขภาพสัตว์ เข้มชายแดนจับลักลอบนำเข้าสัตว์ ส่วนป่วยโควิดเพิ่มอีก 4 พัน ตาย 36 ราย ปลัดสธ.ยันมุ่งแผนโรคประจำถิ่น คาดกลางมิ.ย. ไม่ต้องสวมแมสก์ได้ ยกเว้น 3 กรณี ผู้ป่วย-กลุ่มเสี่ยง 608, สถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท และแหล่งที่รวมคนทำกิจกรรมจำนวนมาก ‘บิ๊กตู่’ โบ้ย คลัง-สภาพัฒน์ ต่อเราเที่ยวด้วยกัน รับงบประมาณมีจำกัด ขณะที่ งบกลางต้องเก็บไว้ช่วยน้ำท่วมฤดูฝน

เร่งตุนวัคซีนรับมือฝีดาษจ๋อ
จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (monkeypox) ในหลายประเทศ ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทาง สาธารณสุข (อีโอซี) และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เพื่อตรวจหาเชื้อในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ขณะที่สนามบินต่างตรวจคัดกรองเข้มบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูงและมีการแพร่ระบาดของโรค ตามข่าวที่เสนอมานั้น

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจเชื้อโรคฝีดาษลิงว่า กรมในฐานะห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เตรียมความพร้อมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน โดยเตรียมการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค เรียลไทม์ PCR ระยะเวลาการตรวจ 24-48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4-7 วัน

นอกจากนี้ ยังเตรียมตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค ในแต่ละรุ่นการผลิตก่อนจำหน่าย ทั้งด้านความปลอดภัย ด้านเคมี-ฟิสิกส์ และความแรง เพื่อยืนยันว่าวัคซีนนำเข้ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจได้ว่าหากมีการนำเข้าวัคซีนอย่างเร่งด่วน จะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคนถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี 2523 หรือมากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนนี้ แต่วัคซีนยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรค ฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนป้องกันฝีดาษคน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็น อ่อนฤทธิ์ ได้แก่ วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic และวัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis ที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.สหรัฐอเมริกาแล้ว

“โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับเชื้อโรคไข้ทรพิษ คือกลุ่ม orthopoxvirus มีอาการคล้ายกัน มีสัตว์ฟันแทะ เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง หรือผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อจากคนไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากการ ไอจาม ผื่น หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการโดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับโรคสุกใสและหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐแนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบอดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จ รูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง โดยยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ” นพ.ศุภกิจกล่าว

เคาะนิยาม-ปรับเป็นโรคติดต่อ
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงว่า วันเดียวกัน มีการประชุมกรรมการวิชาการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ในการกำหนดนิยามโรคฝีดาษลิงและพิจารณาว่าจะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เบื้องต้นจะใช้เกณฑ์ 3 ด้าน คือ 1.ทางคลินิก มีอาการอะไรที่เข้าข่ายสงสัย 2.ทางห้องปฏิบัติการ จะต้องใช้แล็บแบบไหน ระดับใด และ 3.ทางระบาดวิทยา จะต้องมีประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยง ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ประกาศใช้ได้นาน ซึ่งการจะบอกว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายต้องมีการกำหนดเกณฑ์ก่อน และให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเข้าได้ตามเกณฑ์หรือยัง กรรมการผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำ เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ

เมื่อถามถึงความจำเป็นในการปลูกฝี นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ขณะนี้ยัง ทั้งนี้ยังต้องประเมินสถานการณ์ภาพรวมก่อน โดยหลักการคนที่เคยปลูกฝีมาแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หากจำเป็นต้องปลูกฝีก็จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่อาจต้องฉีดก่อน คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้ แต่บุคลากรที่อายุ 45 ปีขึ้นไปอาจจะไม่เสี่ยงมาก เพราะเคยปลูกฝีมาก่อนแล้ว

“กรมกำลังหาว่ามีบริษัทไหนขายวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) เนื่องจากทั่วโลกถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว ไม่มีการฉีดวัคซีนนี้มา 40 กว่าปีแล้ว และเรามีความจำเป็นต้องฉีดเท่าไร ฉีดกลุ่มไหนก่อน จำนวนเท่าไร ต้องประเมินสถานการณ์ที่จะมาสอดรับกันด้วย ขณะนี้ทางฝั่งยุโรปและอเมริกาวางมาตรการได้ค่อนข้างดี เช่น เบลเยียม ให้กักตัว 21 วัน การมีมาตรการอย่างนี้อาจทำให้การแพร่ระบาดไม่ข้ามทวีป ถ้าไม่สัมผัสใกล้ชิดคนกลุ่มนี้ ส่วนผู้ป่วยที่รายงานในต่างประเทศ เท่าที่ดูอายุไม่เกิน 60 ปี ส่วนใหญ่อายุน้อยทั้งนั้นประมาณวัยทำงาน ซึ่งน่าจะยังไม่ปลูกฝี โดยต่างประเทศยกเลิกการยกเลิกปลูกฝีก่อนประเทศไทยในปี 2523 จะเห็นว่าการติดเชื้อคนอายุ 50 กว่าปีมีไม่เยอะ” นพ.จักรรัฐกล่าว

ตรวจเข้มมาจาก 17 ปท.เสี่ยง
เมื่อถามถึงมาตรการกักตัวผู้เข้าข่ายสงสัยของประเทศไทย นพ.จักรรัฐกล่าวว่า จะมีการหารือในคณะกรรมการวิชาการว่าจะกำหนดอย่างไร หลักการคือระยะฟักตัวยาวที่สุด ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ต้องหารือผู้เชี่ยวชาญว่าจะกักตัวอย่างไรให้เหมาะสมและรักษาให้ครอบคลุม ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจแล้วและสัมผัสเสี่ยงสูง ส่วนการเฝ้าระวังยังเป็น 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดในประเทศ คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส และบางประเทศในแถบแอฟริกากลาง ส่วน 17 ประเทศ เป็นประเทศที่รายงานพบผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ยังเป็นเคสนำเข้า ไม่ได้เกิดการระบาดในพื้นที่ ซึ่งเราเฝ้าระวังติดตามที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในสนามบินต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูง มีการระบาดในประเทศแล้ว นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะได้รับบัตรสุขภาพที่มีคิวอาร์โค้ดเพื่อตรวจสอบอาการป่วยตัวเอง หากป่วยไป ร.พ.ก็ให้แจ้งเข้ามาระบบด้วย ร.พ.สงสัยจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้ ให้ยกระดับการเฝ้าระวังใน ร.พ. โดยให้ทุก ร.พ.ให้แพทย์รู้จักโรคนี้ คลินิกเฉพาะต่างๆ ให้แพทย์ทราบอาการโรคและรายงานโรค เพื่อนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยและการรักษาต่อไป โดยจะแจ้งให้ทุกจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 17 ประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ได้แก่ 1.อังกฤษ 2.สเปน 3.โปรตุเกส 4.ฝรั่งเศส 5.เบลเยียม 6.เยอรมนี 7.อิตาลี 8.เนเธอร์แลนด์ 9.ออสเตรีย 10.สวีเดน 11.นอร์เวย์ 12.กรีซ 13.สวิตเซอร์แลนด์ 14.แคนาดา 15.สหรัฐอเมริกา 16.อิสราเอล และ 17.ออสเตรเลีย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลจากสธ.โดยไม่ตื่นตระหนกตกใจ และยังไม่พบการระบาดของโรคในประเทศไทย ขณะนี้สธ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการพนักงานปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ซึ่งเป็นระดับกรมที่มี นพ.จักรรัฐ ผอ.กองระบาดวิทยา คร. เป็นประธาน และมีรองอธิบดีคร.เป็นที่ปรึกษา รวมถึงมีหน่วยคัดกรอง ฝ่ายติดตาม และฝ่ายกำหนดแผน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะพยายามติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำลังติดตามและพยายามคัดกรองบุคคลที่มาจากประเทศเสี่ยง 17 ประเทศ ซึ่งแต่ละสนามบินมีด่านคัดกรองของ คร.ที่กำลังทำหน้าที่ตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทาง สธ.จะประชุมแจ้งเตือนและกำชับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ไปทำความเข้าใจและติดตามข้อมูลจากคลินิกโรคผิวหนังและคลินิกกามโรคภายใประเทศว่าพบโรคนี้เข้ามาบ้างแล้วหรือไม่ นอกจากนี้อาจต้องมีการพิจารณาว่าควรปรับนิยามของโรคนี้ให้ไปอยู่ในนิยามของคำว่าโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่

ทำหมันลิง-ขู่ฟันลอบนำเข้าสัตว์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงมาตรการรับมือโรคฝีดาษลิงของ ทส.ว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ทำหมันลิงอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบสุขภาพของลิงไปพร้อมกันด้วย ล่าสุดยังไม่พบว่ามีโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยแต่อย่างใด โดยให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่มีลิงอยู่จำนวนมากตรวจสอบอย่างเคร่งครัด รวมถึงตามด่านชายแดนที่อาจนำสัตว์ป่าข้ามแดนเข้ามาตามสนธิสัญญาไซเตส จึงขอให้ตรวจสอบกันอย่างเข้มงวด เพราะหากมีการลักลอบนำสัตว์ป่าเข้ามา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ รวมถึงขอฝากประชาชนอย่านำสัตว์เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย เพราะก่อให้เกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งในระลอกใหม่ของประเทศ

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษา ธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการเปิดเทอมในสัปดาห์ที่สองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเรื่องอะไรที่น่ากังวล นอกจากนี้ได้มอบหมายให้สป.ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานกับสธ. เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงว่า มีความรุนแรงอย่างไร และจะป้องกัน อย่างไร

เชียงใหม่พร้อมตรวจโรค
ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายประจญกล่าวว่า ขณะนี้สถานพยาบาลแต่ละแห่งได้ตื่นตัว เตรียมมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง และมีระบบตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด

ที่เขาน้อย-เขาตังกวน เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา แหล่งท่องเที่ยวในเขตเทศบาลนครสงขลาที่มีลิงและนกพิราบเป็นจำนวนมาก มีประชาชนมาซื้ออาหารให้ลิงและนกกินทุกวันไม่เคยขาด

หลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในต่างประเทศ ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่เคยมาให้อาหารลิงลดลง เนื่องจากกลัวติดเชื้อโรคจากลิง ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารลิงได้รับผลกระทบจากที่เคยขายอาหารลิงได้วันละ 1,000 บาท ลดเหลือเพียง 100-200 บาท

โควิดยังทรง 4 พัน-ตายเพิ่ม 36
ด้านสถานการณ์โรคโควิด-19 วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 4,144 ราย ต่ำกว่าหมื่นรายต่อเนื่อง 23 วัน ติดเชื้อสะสม 4,419,737 ราย หายป่วย 7,235 ราย สะสม 4,342,047 ราย เสียชีวิต 36 ราย สะสม 29,811 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 47,879 ราย อยู่ ร.พ.สนาม เอชไอ ซีไอ 28,219 ราย และอยู่ในร.พ. 19,660 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1,034 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 521 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 13.8% ส่วนผู้ติดเชื้อในเรือนจำมี 7 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 1 ราย มาจากเกาหลีใต้

ผู้เสียชีวิต 36 ราย เป็นชาย 22 ราย หญิง 14 ราย อายุ 30-95 ปี อายุเฉลี่ย 71 ปี เป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 100% มาจาก 26 จังหวัด โดยภาคใต้ ไม่มีผู้เสีย ชีวิตเพิ่ม

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 1,816 ราย 2.บุรีรัมย์ 152 ราย 3.สุรินทร์ 124 ราย 4.ขอนแก่น 92 ราย 5.นนทบุรี 89 ราย 6.สมุทรปราการ 86 ราย 7.ร้อยเอ็ด 85 ราย 8.ชลบุรี 82 ราย 9.อุบลราชธานี 80 ราย และ 10.นครพนม 72 ราย

ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อไม่ถึง 100 ราย มี 72 จังหวัด จำนวนนี้เป็นจังหวัดที่ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี 17 จังหวัด

มิ.ย.เล็งเลิกสวมแมสก์
ที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานสำคัญ การเตรียมการ ของพื้นที่เพื่อรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องและเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ มั่นใจว่าจะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นตามเวลาที่วางแผนไว้ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จึงต้องมีการบริหารด้านสังคมร่วมด้วย โดยนำร่องกิจกรรมในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน

“ประมาณกลางเดือน มิ.ย. จะปรับคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย โดยยังไม่ได้มีข้อเสนอให้ถอดหน้ากากอนามัยทั้งหมด แต่จะดำเนินการในพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ คือมีสถานการณ์ระบาดในระดับต่ำ มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเกณฑ์ และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาลในพื้นที่มีความพร้อม โดยจะออกคำแนะนำให้มีการสวมหน้ากากอนามัยใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง 608 2.อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และ 3.กิจกรรมที่มีคนร่วมกันจำนวนมาก เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยในการเข้าสู่โรคประจำถิ่น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

‘ตู่’โยนคลังต่อเราเที่ยวด้วยกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า กระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังพิจารณาอยู่ ต้องดูเรื่องงบประมาณที่เหลืออยู่ที่มีความจำกัดมากเต็มที งบกลางก็เหลือน้อย ต้องเตรียมเก็บไว้เยียวยาในช่วงฤดูฝน ที่อาจมีน้ำหลาก ต้องเตรียมการดูแลเรื่องความเสียหาย เราอยู่ในประเทศที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีฝนตกชุกบางพื้นที่ และตอนนี้โลกเปลี่ยน บางทีฝนก็ตกนานเกินไป จากที่ไม่เคยตกแรงกว่านี้ ระบบการรองรับมันรับไม่ได้ ธรรมชาติก็รับไม่ได้ แต่ถ้าฝนตกปกติก็พอรับได้มันเป็นอย่างนี้ทุกประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน