ชี้น้ำมันจะพุ่งยาว2ปีผักชีแพงอีกโล160บ.

ตรึงไม่ไหว ‘ยำยำ’ บะหมี่ซองชื่อดังขึ้นราคาขายส่งเพิ่มซองละ 10 สตางค์ กรมการค้าภายในยังไม่ให้ร้านค้าปรับ ต้องขาย ราคาเดิมซองละ 6 บาท ผู้ค้าน้ำมันปาล์ม วอนช่วย ต้องซื้อราคาขายส่งขวดละ 70 บาท แต่พาณิชย์ให้ขาย 68 บาท ส่วนผักชีพุ่งอีกกิโล 160 บาท ผู้บริหารแบงก์บัวหลวงชี้ราคาน้ำมันจะแพงต่อเนื่องยาว 2 ปี จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน แนะรัฐรับมือเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายใหม่ 7 ด้าน น้ำมันดีเซลจ่อขยับอีก 1 บาท สัปดาห์หน้าจาก 32 เป็น 33 บาท/ลิตร ด้านกองทุนน้ำมันติดลบบักโกรก 7.6 หมื่นล้าน

‘ยำยำ’ขึ้นขายส่งซอง 10 สต.
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยถึงภาวะราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคว่า ขณะนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรายำยำ ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคาขายส่งบะหมี่ซองละ 10 สตางค์ โดยใช้รูปแบบการหักส่วนลดทางการค้ากับผู้ค้า มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การปรับ ขึ้นราคาขายส่งครั้งนี้ทำให้ร้านโชห่วยมีกำไรลดลง เพราะยังไม่ปรับราคาขายปลีก ต้องขายซองละ 6 บาทเท่าเดิม โดยยำยำ เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แจ้งปรับขึ้นราคาขายส่งเป็นรายสุดท้าย

สำหรับราคาน้ำมันปาล์มขวดนั้นร้านโชห่วย บ่นเข้ามามากว่าไม่สามารถนำน้ำมันปาล์มขวดมาจำหน่ายได้ เพราะมีราคาแพงมาก โดยกรมการค้าภายใน (คน.) กำหนดให้ร้านค้า จำหน่ายไม่เกินขวดละ 68 บาท ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ขายส่งมาในราคาขวดละ 70 บาท ต้องขาดทุน แต่หากซื้อไปแล้วขายแพงกว่า 70 บาท/ขวด ก็ต้องเสี่ยงผิดกฎหมายและโดนจับ พ่อค้าแม่ค้าไม่มีทางออกเลย ดังนั้น คน.ต้องเข้า มาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ไปไล่จับ พ่อค้าแม่ค้า

“อยากให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหาปาล์มอย่างจริงจัง ดูว่าควรจะถอดปาล์มออกจาก ไบโอดีเซลไหม หรือควรจะให้ชะลอการส่งออก หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเอาความเป็นอยู่ประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือจะเอาใจนายทุนที่ร่ำรวยจากการส่งออก เพราะช่วงนี้ปาล์มมีกำไรดี” นายสมชายกล่าว

ผักชีพุ่งกิโล 160 บาท
ด้านร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีคน. เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คน.อนุมัติ ให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีว่า ไม่แน่ใจว่าการสื่อสารคลาดเคลื่อนหรือไม่ แต่ยืนยันว่า คน.ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคา ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาในเร็วๆ นี้

รายงานข่าวจาก คน. เปิดเผยถึงราคาขายปลีก ผัดสดในตลาดกรุงเทพมหานคร ว่า ผักชี คัด มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 วันติดต่อกัน โดยวันที่ 22 พ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 120-130 บาท/ก.ก. วันที่ 23 พ.ค. ราคาปรับขึ้น 20 บาท/ก.ก. เป็น 140-150 บาท และล่าสุดวันที่ 24 พ.ค. ปรับขึ้นอีก 10 บาท/ก.ก. เป็น 150-160 บาท/ก.ก. เนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากปัญหาพายุฝน เพราะเป็นผัก ที่อ่อนไหวเน่าเสียง่าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณี ที่หลายประเทศมีการสำรองอาหาร ห้ามส่งออก สินค้าเกษตร อาหารและล่าสุดน้ำตาลว่า ในส่วนของไทย ดูเป็นรายตัว เพราะทราบสต๊อกอาหารที่สำคัญจำเป็นสำหรับการบริโภค ในประเทศแต่ละตัวดีอยู่แล้วว่า มีสต๊อก กี่เดือน จำนวนเท่าไหร่ อะไรที่เกินสต๊อก ก็ส่งออก เรื่องการสต๊อกอาหารสำหรับประเทศ ยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง

คาดน้ำมันแพงอีก 2 ปี
วันเดียวกัน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการ รองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ บริษัท ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจ-โอกาส-ความท้าทายใหม่” ในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เครือมติชน ว่า เศรษฐกิจไทย กำลังเข้าสู่ความท้าทายใหม่ 7 ด้าน คือ 1.วิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐ-รัสเซีย ที่ความขัดแย้งจะไม่จบง่ายๆ 2.วิกฤตราคาพลังงาน ที่คาดว่าราคาพลังงานจะปรับขึ้นสูง และค้างในระดับดังกล่าวอีก 2 ปี ไม่ได้ปรับลดลงมาสู่ระดับปกติ ทำให้การออกนโยบายสนับสนุนราคาพลังงาน ของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป 3.วิกฤตอาหารโลก จากรัสเซียลดการส่งออกปุ๋ย ทำให้ ประเทศต่างๆ ต้องลดการส่งออกอาหารมากขึ้น

4.ความปั่นป่วนตลาดการเงินโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงและรวดเร็ว ที่ผ่านมาจากปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น จากอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดรอบ 40 ปี เงินเฟ้อพื้นฐานที่ 5-6% และมีโอกาสทรงตัวอีกนานค้างสูง ทำให้เฟดต้องทำสงครามกับเงินเฟ้อจาก การใช้เครื่องมือเต็มที่ หลังจากจบปี 2565 นี้ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่เพื่อเอาเงินเฟ้อ ลงมาให้ได้ 5.ความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐและประเทศต่างๆ จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แค่ 3 ครั้งที่ไม่ส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ และมีโอกาสมากกว่า 60% ที่การขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย กระทบต่อการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจของไทย 6.วิกฤตตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) โดยเฉพาะประเทศที่มีการกู้เงินมาใช้แก้ไขปัญหาโควิดเป็นจำนวนมาก หากมีการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ประเทศเหล่านี้จะเป็นอย่างไร และ 7.ปัญหาเศรษฐกิจจีน ที่ยังฟื้นตัว ไม่เต็มที่

สัปดาห์หน้าดีเซล 33 บาท/ลิตร
รายงานข่าวจากระทรวงพลังงานแจ้งว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สัปดาห์หน้าจะเห็นราคา ขายปลีกน้ำมันดีเซล 33 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน อยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร ตามมาตรการที่รัฐพยายามตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตร แต่สูงสุดไม่เกินเพดาน 35 บาท/ลิตรที่รัฐกำหนด เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาพลังงานจนติดลบอย่างหนักถึง 76,291 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 41,419 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 34,872 ล้านบาท โดยกองทุนอุดหนุนราคาดีเซล 5.37 บาท/ลิตร จากราคาจริงควรอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร โดยขณะนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทาง ช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น การปรับสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100) ลงเหลือ 2-3% เป็นบี 3 จากปัจจุบันอยู่ที่ บี 5 อย่างไรก็ตาม แม้การลดส่วนผสมไบโอดีเซล หรือ บี 100 ลง อาจคิดเป็นการช่วยเหลือแล้วดูไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 50 สตางค์/ลิตร แต่เมื่อรวมเป็นเม็ดเงินที่รัฐช่วยเหลือในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ก็ถือว่า ไม่น้อย ซึ่งข้อเสนอให้ปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์พลังงาน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมที่มีการเดินทางมากขึ้น ว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ถึง วันที่ 29 พ.ค.นี้ จากนั้นจะพิจารณากำหนดราคาใหม่อีกครั้ง

นายธนกรกล่าวว่า สำหรับราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อลิตรในอาเซียน วันที่ 23 พ.ค. น้ำมันเบนซิน สิงคโปร์ อยู่ที่ 81.11 บาทต่อลิตร, ลาว 61.68 บาท, ฟิลิปปินส์ 48.42 บาท, กัมพูชา 47.90 บาท, เวียดนาม 44.58 บาท และไทย อยู่ที่ 42.95 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลสิงคโปร์ต่อลิตร อยู่ที่ 75.62 บาท, ฟิลิปปินส์ 48.32 บาท, ลาว 47.13 บาท, กัมพูชา 46.63 บาท, อินโดนีเซีย 43.89 บาท, เมียนมา 42.16 บาท, เวียดนาม 39.63 บาท และไทย อยู่ที่ 31.94 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน