สู้ต้นทุนไม่ไหวเริ่ม1กค. ขอขึ้นค่าตั๋วกม.59สต. บขส.เตรียมถก-ช่วยอุ้ม ต้นหอมพรวดโล110บ.

รถทัวร์โดยสาร 27 บริษัทใหญ่ทั่วประเทศ ประกาศลดเที่ยววิ่ง 80% ดีเดย์ 1 ก.ค. เลิกวิ่ง 143 เส้นทาง แบกน้ำมันแพงไม่ไหวจี้รัฐอนุมัติขึ้นค่าตั๋ว 59 สตางค์ต่อก.ม. หวั่นต้องปิดอู่อื้อ จากที่มีวิ่งอยู่ 2 หมื่นคัน ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 40% ขณะที่ บขส.ยันเปิดวิ่ง ทุกเส้นทางตามปกติ เตรียมเปิดเจรจาหาทางช่วย 27 บริษัททัวร์ ด้านข้าวของยังแพง รายวัน ต้นหอมขยับราคาพรวด 2 วันติด พุ่งกิโลละ 110 บาทแล้ว ‘กรณ์’ หัวหน้า พรรคกล้า อดีตรมว.คลัง จี้รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกกร.สั่งคุมค่ากลั่น จะทำให้น้ำมันลดราคาลงได้ลิตรละ 4 บาท แนะรมว.พลังงานออกพ.ร.ก. กรณีข้อตกลงเกลี่ยกำไรโรงกลั่น 3 เดือนพยุงกองทุนน้ำมันที่ติดลบพุ่ง 9.6 หมื่นล้านแล้ว หวั่นหากน้ำมันแพงเกิน 3 เดือนจะแก้ปัญหายากขึ้น กลุ่มโรงกลั่น สภาอุตสาหกรรมสวนทันควัน โต้ค่ากลั่นราคาขึ้นลงตามตลาดน้ำมันโลก

จี้‘จุรินทร์’ลดค่ากลั่นลิตร4บ.
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และรมว.คลัง แถลงกรณีกระทรวงพลังงาน ประกาศมาตรการเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง แต่ราคาหน้าปั๊มน้ำมันยังไม่ลดลงว่า เป็นตัวยืนยันและสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ยิงตรงไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เรื่องราคาน้ำมันแพงวิธีแก้ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีนาย จุรินทร์เป็นประธานโดยตำแหน่ง ในกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้แก๊สปิโตรเลียมเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม เมื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุม คำถามคือ มาตรการอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนกำหนดค่าการกลั่น ทำไมกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ไม่ใช้อำนาจที่มีกำกับอัตราค่าการกลั่นที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน นี่คือสาเหตุที่ราคาหน้าปั๊มยังไม่ปรับลดลง ดังนั้น จึงขอฝากให้นายจุรินทร์รีบกลับมาแก้ไขเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนรออยู่ ถ้ารัฐมนตรีใช้อำนาจที่มี พรรคกล้าบอกเลยว่า ภายในสัปดาห์นี้ราคาหน้าปั๊มปรับลดลงได้เลย 4 บาทต่อลิตร โดยมาจากค่าการกลั่น

จี้คุมราคา – นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า แถลงกรณีกระทรวงพลังงานประกาศมาตรการเกี่ยวกับน้ำมันแพง แต่ราคาหน้าปั๊มน้ำมันยังไม่ลดลง จี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ใช้อำนาจประธานคณะกรรมการรกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สั่งคุมค่าการกลั่นน้ำมัน ที่พรรคกล้า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.

ออกพ.ร.ก.ปันกำไรโรงกลั่น
นายกรณ์ยังกล่าวถึงที่มาของน้ำมันสามารถลดลงได้ 4 บาทว่า ค่าการกลั่นน้ำมัน ไตรมาสแรกของปี 65 ตัวเลขกำไรโดยรวม 6 โรงกลั่น อยู่ที่ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูง เพราะนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ทั้งปีจะมีกำไรอยู่ที่ 6.8-6.9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรก ค่าการกลั่นขึ้นมาเฉลี่ยาอยู่ที่ 1.91 บาทต่อลิตร ระหว่างทางมาจนถึงเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางวันเข้าไปคำนวณ เพิ่มขึ้นไปเป็น 8 บาท เท่ากับว่า ขณะนี้ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 บาท และสิ้นเดือนมิ.ย. อาจถึง 6 บาท เพราะฉะนั้น 4 บาทที่พูดถึง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาหน้าปั๊มที่สูง เพราะค่าการกลั่นสูงเฉลี่ย 5.80 บาทต่อลิตร หากไปหักลบกับราคาเฉลี่ยของไตรมาสแรก ก็จะชัดเจนว่าราคาน้ำมันจะลดลงทันที 4 บาทต่อลิตร นี่คือความสำคัญของค่าการกลั่นน้ำมัน

ส่วนกรณีที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ไปเจรจา ขอนำกำไรโรงกลั่น 8 พันล้านบาทต่อเดือน เริ่มต้นเดือนก.ค. ไปอุดหนุนให้กองทุนน้ำมันนั้น นายกรณ์กล่าวว่า เป็นเพียงข้อตกลงปากเปล่า ดังนั้น ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าไม่ตอบโจทย์หากปัญหาน้ำมันยืดเยื้อเกิน 3 เดือน ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะกลับไปเจรจาต่อกับโรงกลั่นน้ำมันอีกครั้ง

กลุ่มโรงกลั่นแจงค่ากลั่นเว่อร์
ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่ นายกรณ์ หัวหน้าพรรคกล้า ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมัน เพิ่มขึ้น 10 เท่า” โดยประเด็นแรก ข้อมูลที่ นายกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นดังกล่าวที่ยกมานั้น ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาส 1/2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร ตามนายกรณ์ที่กล่าวอ้าง

ประเด็นที่สอง ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น

ยันปรับขึ้น-ลงตามตลาดโลก
ประเด็นที่สาม โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงสต๊อกน้ำมันและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

“กลุ่มโรงกลั่นขอย้ำว่าเราไม่ได้เป็น ผู้กำหนดค่าการกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกขณะนั้น

และค่าการกลั่นน้ำมันไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น เนื่องจากโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน ส่วนที่เหลือจากนั้นจึงเป็นกำไรก่อนหักภาษีของโรงกลั่น” กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นระบุ

27บริษัทรถลดเที่ยววิ่ง 80%
ขณะที่ นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ประกอบการขนส่งมาร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาทางออกและกำหนดมาตรการเร่งรัดภาครัฐให้อนุมัติปรับอัตราค่าโดยสารโดยเร็ว ก่อนที่สถานการณ์การประกอบธุรกิจเดินรถจะย่ำแย่เลวร้ายไปกว่านี้ โดยมติที่ประชุมต่างเห็นพ้องกันว่าไม่สามารถประกอบการเดินรถได้ตามปกติ เพราะต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 1,600 บาทในสัปดาห์นี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร

“คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย. ราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มปรับราคาขึ้นเป็น 38 บาทต่อลิตร แต่เพื่อประคับประคองธุรกิจไม่ให้ต้องแบกภาระจนต้องปิดกิจการ ผู้ประกอบการขนส่งและบริษัทฯ รถร่วมจึงมีมติกำหนดให้ลดเที่ยววิ่งลง 80% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป จากการเดินรถ 100% เช่น มีรถโดยสาร 100 เที่ยววิ่งต่อวัน จะลดเหลือ 20 เที่ยววิ่งต่อวัน ขณะนี้ผู้ประกอบการขนส่งอยู่ระหว่างแจ้งความประสงค์จะปรับลดเที่ยววิ่งครั้งนี้” นายพิเชษฐ์กล่าว

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า เบื้องต้นแจ้งมาแล้ว 27 บริษัท จำนวน 143 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยสงวนทัวร์ จำกัด 3 เส้นทาง 2.บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด 32 เส้นทาง 3.บริษัท กิตติสุนทร จำกัด 5 เส้นทาง 4.บริษัท จักพงษ์ทรานสปอร์ต จำกัด 2 เส้นทาง 5.บริษัท ลาดหลุมแก้วขนส่ง 2 เส้นทาง 6.บริษัท ชินวรเดินรถขนส่ง 1 เส้นทาง 7.บริษัท 407 พัฒนา จำกัด 9 เส้นทาง 8.บริษัท ปิยะรุ่งเรืองทัวร์ จำกัด 5 เส้นทาง 9.บริษัท ส.วิริยะทรานสปอร์ต จำกัด 2 เส้นทาง 10.บริษัท ไทยสงวนทัวร์ จำกัด 3 เส้นทาง 11.บริษัท ชัยนาททัวร์ จำกัด 2 เส้นทาง 12.บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด 16 เส้นทาง

13.บริษัท ปักธงชัยร่วมใจเดินรถ จำกัด 2 เส้นทาง 14.บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด 4 เส้นทาง 15.บริษัท แอร์โคราชพัฒนา จำกัด 1 เส้นทาง 16.บริษัท นครชัย 21 จำกัด 1 เส้นทาง 17.บริษัท วิศวกรเสนา จำกัด 3 เส้นทาง 18.บริษัท วัชรินทร์ทัวร์ จำกัด 1 เส้นทาง 19.บริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด 5 เส้นทาง 20.บริษัท ราชสีห์ทัวร์ จำกัด 1 เส้นทาง 21.บริษัท โชคชัยเดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง 22.บริษัท นครอรัญ จำกัด 1 เส้นทาง 23.บริษัท ครบุรี เดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง 24.ราชสีมา เดินรถ จำกัด 1 เส้นทาง 25.โพนทวีชัย จำกัด 5 เส้นทาง 26.บริษัท เทพอู่ทองขนส่ง จำกัด 5 เส้นทาง และ 27.บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด 29 เส้นทาง

ขอขึ้นค่าตั๋ว59ส.ต./ก.ม.
ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบการเดินทาง ตรวจสอบเที่ยววิ่งในแต่ละวันได้ทางเว็บไซต์ของทุกบริษัท หลังจากนั้นหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐคงต้องหยุดวิ่งทุกเส้นทาง ต่อไป ขณะเดียวกันหากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ปัจจุบันได้เสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารให้เป็นไปตามโครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร จะ ขอปรับขึ้นเป็น 59 สตางค์ต่อกิโลเมตร (ก.ม.) จากเดิมที่เก็บอยู่ที่ 53 สตางค์ต่อก.ม. หรือปรับขึ้น 6 สตางค์ ต่อก.ม. เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินรถ

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า ที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้ เนื่องจาก ผู้ประกอบการเริ่มแบกภาระต้นทุนค่าน้ำมันไม่ไหวแล้ว และข้อเสนอของรัฐที่มีแนวทางการช่วยเหลือ ในลักษณะคูปองส่วนลดราคาน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร มองว่าไม่ครอบคลุมกับราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นสูงอยู่ในขณะนี้ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารมากกว่า แต่ถ้าราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงก็จะมีการปรับราคาค่าโดยสารลง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนต่อไป

นายพิเชษฐ์กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ รถโดยสารในปัจจุบันนี้มีทั้งหมดประมาณ 20,000 คันทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ได้หยุดเดินรถแล้วประมาณ 40% เพราะทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขณะเดียวกันจำนวน ผู้ใช้บริการอยู่ที่ 40-50% หรือเฉลี่ย 17-18 คนต่อคัน โดยใช้บริการเฉพาะช่วงเช้า-เย็นเท่านั้น

ต้นหอมพุ่ง2วัน-กิโล110บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสำรวจราคาสินค้าในตลาดสด พื้นที่กรุงเทพมหานคร ของกรมการค้าภายใน ประจำวันที่ 19 มิ.ย. พบว่า ต้มหอม คัด ได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 วันติดต่อกัน โดยวันที่ 17 มิ.ย. อยู่ที่ก.ก.ละ 90-95 บาท วันที่ 18 มิ.ย. ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 95-100 บาท และวันที่ 19 มิ.ย. ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 105-110 บาท

ส่วนต้นหอม คละ ก็ปรับขึ้นราคา 2 วันติดเช่นกัน คือ โดยวันที่ 17 มิ.ย. อยู่ที่ก.ก.ละ 80-85 บาท วันที่ 18 มิ.ย. ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 85-90 บาท และวันที่ 19 มิ.ย. ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 95-100 บาท

บขส.ยันไม่ลดเที่ยววิ่ง
นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ประกอบการรถร่วมฯ เตรียมปรับลดเที่ยววิ่งลง 80% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บขส. เข้าใจและเห็นใจ พร้อมหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมฯ เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการในการปรับการเดินรถและเที่ยววิ่ง ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการด้วย

ทั้งนี้ ยืนยันว่า บขส. ยังคงเปิดให้บริการเดินรถตามปกติ ทั้งเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งตรึงค่าโดยสารไว้ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

กองทุนฯติดลบ 9.6 หมื่นล.
รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกัน ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากดีเซลที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 34.94 บาท/ลิตร ชนเพดานที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ตรึงไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่ง ณ วันที่ 19 มิ.ย. กองทุนอุดหนุนอยู่ที่ 11.25 บาท/ลิตร จากราคาจริงจะไปอยู่ที่ 46.16 บาท/ลิตร และกองทุนจะยังคงอุดหนุนดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ส่วนราคากลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊ส โซฮอล์ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะกระทรวงพลังงาน กองทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างหารือแนวทางการนำกำไรส่วนเกินกับ 6 โรงกลั่นมาพิจารณาว่าจะนำมาเป็นส่วนลดราคาน้ำมันเบนซินได้ในอัตราเท่าไหร่ให้เกิดความชัดเจน โดยล่าสุดวันที่ 20 มิ.ย. ราคาเบนซินต่อลิตรยังคงอยู่ที่ 52.56 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 45.15 บาท, อี20 อยู่ที่ 44.04 บาท, แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 44.88 บาท และพรีเมียมแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 50.64 บาท ยกเว้น อี85 ปรับขึ้น 40 สตางค์ อยู่ที่ 37.54 บาท

ปัจจุบัน ณ วันที่ 19 มิ.ย.2565 ประมาณการฐานะกองทุนติดลบ 96,598 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 59,692 ล้านบาท และบัญชีแก๊สหุงต้มติดลบ 36,906 ล้านบาท

ประมงโอดน้ำมันพุ่งลิ่ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ได้ส่งให้ราคาสินค้าพากันปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นตาม ทำให้ประชาชน ภาคธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับความเดือดร้อน โดยที่สะพานท่าเทียบเรือบ้านหน้าทอน ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ได้มีเรือประมงเข้าเทียบท่านำปลาที่ส่วนใหญ่เป็นปลาทูขึ้นขายให้กับแพปลา และแม่ค้ารายย่อยที่มารอรับซื้อ

นายศักดิ์มงคล มังกรกิม ไต้ก๋งเรือ ศักดิ์มงคลนาวี มาจากมหาชัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผล กระทบต่ออาชีพประมง ซึ่งเรือตนใช้น้ำมันจากบนฝั่งไม่ได้ ต้องใช้น้ำมันเขียวที่เติมกลางทะเล ตกเดือนละ 20,000-30,000 ลิตร ทำให้มีต้นทุนต่อเดือนที่สูงมาก เฉพาะรายจ่ายจากน้ำมันก็ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ตอนนี้หวังผลกำไรก็ยากแล้ว แค่พอเลี้ยงตัวเองเลี้ยงลูกน้องให้พออยู่ได้

ไร้กำไร – ชาวประมงคัดแยกปลาทูขายให้พ่อค้า ท่ามกลางสถานการณ์ค่าน้ำมันแพงขึ้นรายวันทำให้แทบไม่เหลือกำไร แต่ต้องอดทนทำต่อเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ที่ท่าเทียบเรือบ้านหน้าทอน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.

ด้านแม่ค้าปลารายย่อย เผยว่า จากที่สั่งซื้อปลาทูจากนอกเกาะสมุยมาขาย ไม่รวมค่าขนส่งตกอยู่ที่ราคาก.ก.ละ 60-70 บาท แต่ปัจจุบันราคาได้ปรับขึ้นเป็น 80-90 บาทต่อก.ก.แล้ว จะนำไปขายปลีกจะอยู่ที่ก.ก.ละ 120 บาท เพราะมีต้นทุนเรื่องของค่าขนส่งและค่าน้ำแข็ง แต่โชคดีที่วันนี้มีเรือเข้ามาเทียบท่าที่เกาะสมุย ทำให้ไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง ทุกวันนี้ขายของแทบไม่ได้กำไรอะไร แต่ก็ต้องทำ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

กำแพงเพชรแห่ซื้อของถูก
ที่หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มีชาวบ้านนำสินค้าเกษตรที่ปลูกเองทำเองมาวางขายในราคาถูก โดยมีประชาชนพากันมาเดินซื้อของกันคึกคัก เช่นข้าวสารที่เกษตรกรใน อ.ลานกระบือ รวมตัวกันเป็นกลุ่ม นำข้าวสารชนิดต่างๆ ที่ปลูกเอง สี ซ้อมมือเองมาขาย ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน มาหาซื้อกันตลอด เนื่องจากเป็นของดีแต่ราคาถูกกว่าร้านตามตลาดทั่วไป

ในส่วนของขนมพื้นบ้านไทยๆ ต่างๆ หลากหลายชนิดซึ่งเกษตรกรทำเองมาวางเอง ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนมาหากัน รวมไปถึงอาหารหลายชนิดด้วย นอกจากนั้นยังมีเกษตรกรนำผักพื้นบ้านแปลกๆ ที่ปลูกเองกินเอง ปลอดสารพิษนำมาขายด้วย เช่น ผักติ้ว จิงจูฉ่าย ฝักเพกา ยอดชะมวง ผักเชียงดา ยอดส้มป่อย ผักหวนหนู ผักปรัง ใบเหลียง บวบงู และหัวปลี ที่มาขายในราคากำละ 5 บาท 10 บาท สำหรับตลาดเกษตรกรแห่งนี้ ถึงเป็นตลาดเล็กๆ ขายแค่เดือนละ 8 วัน แต่มีรายได้รวมเดือนละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

มะนาว-มะละกอเริ่มล้นสวน
ที่ตลาดศรีเมืองทอง ตลาดค้าส่งรายใหญ่ของจ.ขอนแก่น บริเวณสี่แยกเจริญศรี เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น นายสุระชัย วิชาชัย หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์ ขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผักสด โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักของการทำส้มตำ หลังพบว่าราคาปรับตัวลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมะละกอ, มะนาว, มะเขือเทศ และพริกสด

นายชาญยุทธกล่าวว่า สัปดาห์นี้ราคาผักปรับลดลง ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตลาดศรีเมืองทอง พบว่าพ่อค้า-แม่ค้า ติดป้ายราคาและปรับราคาจำหน่ายลง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งราคาล่าสุดวันนี้พบว่ามะนาวแป้นพิจิตร ราคาส่งอยู่ที่ ก.ก.ละ 10 บาท จำหน่ายเป็นถุง ถุงละ 20 ก.ก. รวม 200 บาท ขณะที่มะนาวแป้นลำไพ อยู่ที่ถุงละ 10 ก.ก. ถุงละ 300 บาท ซึ่งมะนาวแป้นลำไพนั้นอยู่ในกลุ่มมะนาวจัมโบ้ที่ในช่วงที่ผ่านมาขาดตลาด แต่ระยะนี้มะนาวของชาวสวนเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จึงทำให้ราคาปรับลดลงอย่างมาก และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมาพบว่าปรับราคาลงกว่าครึ่ง และจากการพูดคุยกับพ่อค้า-แม่ค้า ล้วนต่างคาดการณ์ว่าราคามะนาวจะถูกอย่างนี้ไปอีก 3-4 สัปดาห์

นายชาญยุทธกล่าวต่อว่า ขณะที่ราคามะละกอ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการทำส้มตำ ซึ่งพบว่าก็ปรับราคาลงเช่นกัน โดยเฉพาะมะละกอดำเนิน 2 แถวที่ร้านส้มตำจะซื้อไปใช้ในการทำส้มตำจำหน่าย ราคาอยู่ที่ถุงละ 140 บาท ส่วนมะละกอดำเนิน 3 แถว อยู่ที่ถุงละ 120 บาท มะเขือเทศสีดา ราคาส่งอยู่ที่ก.ก.ละ 8-10 บาท ขณะที่มะเขือเทศพันธุ์ท้อ ราคาจะอยู่ที่ก.ก.ละ 12 บาท รวมทั้งราคาพริกแดงจินดา ที่วันนี้ราคาอยู่ที่ ก.ก.ละ 70 บาท ยกถุง ถุงละ 10 ก.ก. ราคาอยู่ที่ถุงละ 700 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ดีจากภาวะราคามะนาวที่ราคาลดลงทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าแปรรูปมาเลือกซื้อมะนาวไปเป็นส่วนผสมของขนม-อาหารหรือน้ำยาล้างจานมากขึ้น

ขนมจีนพิมายขึ้น 10 บาท
ที่ร้านขายขนมจีนน้ำยารายหนึ่งในอ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้ติดป้ายประกาศขอปรับราคาขายขนมจีนขึ้นอีก 10 บาท เป็นชุดละ 30 บาท จากเดิม 20 บาท เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และน้ำมันแพง ทำให้เหลือกำไรจากการขายขนมจีนในแต่ละวันเพียง 100 กว่าบาทเท่านั้น แทบไม่พอค่าใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวในแต่ละวัน จึงวอนขอให้ภาครัฐช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน