พาณิชย์เบรกอีกรอบไม่ให้ ‘มาม่า-ไวไว’ที่ขอขึ้นราคาปรับราคาใหม่ พร้อมโต้ข้าวเปลือกราคาตกสวนทางข้าวสารถุงขยับราคา ยันข้าวหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 15% เดือนนี้ราคาตันละ 1.4 ถึง 1.5 หมื่นบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเกือบ 5 พันบาท ส่วนข้าวถุง ก็ยังไม่ขึ้นราคาเช่นกัน ผักชียังพุ่งต่อ 3 วันรวด ทะลุกิโลละ 150 บาท ขึ้นฉ่ายก็จ่อก.ก. 100 เหตุพื้นที่เพาะปลูกถูกพายุฝนซัด ส่งผลให้มีผลผลิตน้อยสวนทางผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ด้านกองทุนน้ำมันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขาดทุนสะสมทะลุ 102,586 ล้านบาท ชี้ถ้าไม่อุ้ม ราคาดีเซลพุ่งพรวดเกือบลิตรละ 46 บาทแล้ว

ผักชีพุ่งพรวด 3 วันรวด
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาสินค้าในตลาดสด พื้นที่กรุงเทพมหานคร ของกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ณ วันที่ 26 มิ.ย. เปรียบเทียบกับวันที่ 25 มิ.ย.2565 พบว่ามีสินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น ผักชี คัด ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 140-150 บาท/ก.ก. และผักชี คละ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 120-130 บาท/ก.ก.

ทั้งนี้ ราคาผักชีมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน รวมทั้งสิ้น 30 บาท/ก.ก. โดยผักชี คัด วันที่ 23 มิ.ย. อยู่ที่ราคา 110-120 บาท/ก.ก. ต่อมาวันที่ 24 มิ.ย. ปรับเป็น 120-130 บาท วันที่ 25 มิ.ย. ปรับเป็น 130-140 บาท และล่าสุดวันที่ 26 มิ.ย. ปรับเป็น 140-150 บาท เนื่องจากมีพายุฝนสลับกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่แหล่งเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตบางส่วน ได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงออกสู่ตลาด ลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ขึ้นฉ่ายยังปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย โดยขึ้นฉ่าย คัด ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 90-100 บาท ส่วนขึ้นฉ่าย คละ ปรับขึ้น 10 บาท เป็น 70-80 บาท

โต้ข้าวเปลือกราคาตก
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีคน. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวข้าวเปลือกตกต่ำในรอบ 10 ปีแต่ข้าวถุงมีการปรับราคานั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก คน.ได้ติดตามสถานการณ์ข้าวเปลือกอย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยราคาข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% ประจำวันที่ 27 มิ.ย. ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 14,500-15,600 บาท/ตัน สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10,862 บาท/ตัน ขณะที่ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคา 11,000-11,700 บาท/ตัน สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10,149 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเจ้า ราคาตันละ 9,000 – 9,500 บาท สูงกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,569 บาท/ตัน และขณะนี้มีความต้องการข้าวในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ในตลาดโลกยังคงทรงตัวสูง นอกจากนี้ ตลาดส่งออกข้าวไทยก็ยังมีความต้องการ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าราคาข้าวสารบรรจุถุงจะปรับขึ้น 30 บาท/ก.ก. ในต้นเดือนก.ค.นี้ นายวัฒนศักย์กล่าวว่า คน.ได้ประชุมกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงและผู้ประกอบการรายใหญ่ ยืนยันว่าไม่มีการปรับขึ้นราคา เป็นเพียงการปรับโปรโมชั่นเท่านั้น และ ผู้ประกอบการข้าวถุงหลายรายยังแจ้งด้วยว่าจะจัดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และในเดือนก.ค.บางรายมีแผนที่จะปรับลดราคาลง 3%-5% อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานข่าวที่ปรากฏว่าร้านโชห่วยในจ.ระยอง ได้ปรับลดราคาจำหน่ายข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุง 5 ก.ก. ปรับลดลง 4-6 บาท/ถุง จากเดิม 194 บาท/ถุง เป็น 188 บาท/ถุง และถุง 15 ก.ก. ปรับลดลง 20 บาท จาก 530 บาท เป็น 520 บาท ข้าวสารเจ้า (เสาไห้) บรรจุถุง 5 ก.ก. ปรับลดลง 3 บาท จาก 108 บาท เป็น 105 บาท ส่วนถุง 15 ก.ก. ลดลง 10 บาท จาก 295 บาท เป็น 285 บาท ขณะที่ข้าวเหนียวบรรจุถุง 5 ก.ก. ลดลง 2 บาท/ถุง จาก 135 บาท เป็น 133 บาท และถุง 15 ก.ก. ลดลง 15 บาท จากเดิม 365 บาท เหลือ 350 บาท/ถุง

พาณิชย์ยังตรึงมาม่า-ไวไว
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีคน. เปิดเผยว่า จากกรณีมีข่าวว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่าและไวไว ปรับขึ้นราคาขายส่งจากเดิม 160 บาท/ลัง เป็น 180 บาท/ลัง ทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นจากซองละ 6 บาท เป็น 7 บาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้นนั้น ทาง คน.ได้ตรวจสอบข้อมูลกับบริษัท ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวแล้ว ทั้งสองรายยืนยันว่าไม่ได้ปรับราคาขายส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด ทั้งนี้ คน.เข้าใจถึงสถานการณ์ต้นทุนสินค้าที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการขนส่ง ซึ่งเป็นผลมาจาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุม ที่ต้องขออนุญาตจึงจะปรับราคาขายปลีกได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่อนุญาต โดยการพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับการครองชีพ ของประชาชน คน.จะพิจารณาต้นทุนเป็นรายกรณีไปอย่างรอบคอบ ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคน้อยที่สุด ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องสามารถดำเนิน ธุรกิจต่อไปได้ มิเช่นนั้นจะทำให้ของขาด” ร.ต.จักรากล่าว

กองทุนน้ำมันติดลบนิวไฮแสนล.
วันเดียวกัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้แจ้งฐานะกองทุนบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ พบว่า ณ วันที่ 27 มิ.ย.2565 กองทุนติดลบ 102,586 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 65,202 ล้านบาท เป็นบัญชีแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 37,384 ล้านบาท มีเงินฝากเป็นสภาพคล่องของ กองทุน 3,310 ล้านบาท โดยกองทุนชดเชยราคาขายปลีกอยู่ที่ 10.91 บาท/ลิตร เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 34.94 บาท/ลิตร ไม่ให้เกินเพดานที่ 35 บาท/ลิตร จากราคาจริงจะอยู่ที่ประมาณ 45.85 บาท/ลิตร

“มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มี.ค.2565 กำหนดให้กองทุนอุดหนุนราคาดีเซลกึ่งหนึ่งและประชาชนรับภาระกึ่งหนึ่ง ที่เพดานราคาไม่เกิน 35 บาท/ลิตร แต่ข้อเท็จจริง หากดูราคาตลาดโลกวันนี้จะต้องปรับอีก 2.48 บาท/ลิตร หรือเป็นเกือบ 38 บาท/ลิตร ซึ่งหลังจากรัฐบาลให้ตรึงราคาไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร สิ้นสุดลงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ มาตรการที่จะดำเนินต่อไปในเดือนก.ค.จะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอเชิงนโยบาย โดยกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายกำลังระดมความคิดเห็นหารือถึงแนวทางดำเนินนโยบายดูแลราคาพลังงานอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่ากระทรวงจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 30 มิ.ย.ไปแล้ว สถานะกองทุนจะติดลบเกินแสนล้านบาทอย่างต่อเนื่อง และหากยังต้องดูแลราคา เชื้อเพลิงต่อไปจนถึงเดือนก.ย. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ยังไม่มีเงินเข้ามาเสริม สภาพคล่อง ในระบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด” รายงานข่าวระบุ

พลังงานถกเครียดตรึงดีเซล 35บ.
รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกัน เวลา 19.30 น. กระทรวงพลังงาน โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยังคงหารือถึงแนวทางช่วยเหลือ ราคาเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนหลังจากมีการหารือกันทั้งวัน และยังหาข้อสรุปไม่ได้ จึงนัดประชุมใหม่ ในวันที่ 29 มิ.ย.

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า เบื้องต้นราคา ขายปลีกดีเซลยังคงเดิมอยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร ไม่เกินเพดานที่รัฐให้ตรึงไว้ 35 บาท/ลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 60 ล้านลิตร/วัน คิดเป็น 66% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งประเทศ ส่วนราคาขายปลีกจะปรับขึ้นหรือคงราคาต่อไปอีกถึงเมื่อไหร่นั้นยังยืนยันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้านทั้งราคาน้ำมันตลาดโลก อัตราเงินชดเชย และฐานะการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประกอบการพิจารณา

อุบลฯยังไม่ขึ้นราคาโลง
ด้านนางวนิดา ทองมั่น อายุ 67 ปี เจ้าของร้านใจมั่นโลงศพ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า แม้ร้านจะได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันแพง ทำให้วัสดุใช้ จัดงานและค่าขนส่งปรับสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การขนศพส่งกลับภูมิลำเนา ต้องเติมน้ำมันตามระยะทาง แต่ร้านก็ยังไม่เรียกเก็บจากลูกค้า ส่วนค่าวัสดุทำโลงใส่ศพแบบไม้อัด ปรับขึ้นโลงละ 1,000-1,500 บาท แต่ร้านยังขายราคาเดิมที่ 8,000 บาท ไม่ได้ปรับขึ้นเหมือนร้านอื่น พวงหรีดที่ใช้พัดลมมาตกแต่ง ยังคงขายราคาเดิมตามขนาดของตัวพัดลมที่ 700-1,200 บาท รวมทั้งของชำร่วยแจกในงาน ก็ไม่ขึ้นราคา

เนื่องจากทางร้านใจมั่น มีโรงงาน พร้อมทีมช่างทำโลงศพ และมีหน้าร้านเป็นของ ตัวเอง ที่สำคัญคือ ช่วงที่ผ่านมาคนไทย เจอการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ เสียชีวิตจำนวนมาก ช่วงนั้นร้านมีรายได้จากขายโลงใส่ศพจากลูกค้าบอกต่อกันมากพอสมควร จึงไม่ต้องการซ้ำเติมในภาวะน้ำมัน มีราคาแพง ทำให้ข้าวของทุกชนิดขึ้นราคา โดยจะยังขายของใช้จัดงานศพในราคาเดิม ให้กับลูกค้าต่อไป

ปัตตานีแห่ซื้อจักรยานไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาวะค่าน้ำมัน ที่แพงมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านใน จ.ปัตตานี เริ่มมาหันให้ความสนใจกับจักรยานไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกใหม่ ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนายพัฒนจักร เผ่าพิมล เจ้าของร้านพีเจ ช็อป ตั้งอยู่บนถนนรามโกมุท ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เผยว่า เริ่มมีลูกค้าแวะมาซื้อรถจักรยานไฟฟ้ากันมากขึ้น จากช่วง ก่อนน้ำมันแพง ยอดขายอยู่ที่เดือนละ 9-10 คัน แต่พอมาช่วงที่น้ำมันแพง สามารถทำยอดขายได้กว่า 17-20 คันต่อเดือน โดยลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมไปถึงชาวบ้านที่ซื้อไปขี่ในเมือง บางวันมีลูกค้าที่ เข้ามาซื้อถึง 3 คัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน