ห่วงกย.ติดเชื้อพีกสุดต่อพรก.ฉุกเฉิน2เดือนชี้ 23จว.ท่องเที่ยว ขาขึ้น‘ชัชชาติ’ตั้งศูนย์รับมือสกัดเข้มสายพันธุ์ใหม่

ศบค.อนุมัติต่อ ‘ฉุกเฉิน’ อีก 2 เดือนจนถึงสิ้นก.ย. ‘บิ๊กตู่’ ยันใช้คุมโควิด ระบุองค์การอนามัยโลก ห่วงสายพันธุ์ใหม่ BA.4-BA5 ระบาดหนัก แนวโน้มป่วยใหม่พุ่งทั่วโลก พร้อมเร่งฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่ม 608 หลังยอดยังต่ำกว่าเป้า เผยผู้ป่วยเจอแจกจบ ติดเชื้อเกิน 5 ล้าน เฉลี่ยวัน 2.9 หมื่น ห่วง 23 จว.เมืองใหญ่-ท่องเที่ยวอยู่ในช่วงขาขึ้น ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ติดโควิด ระหว่างไปประชุมที่เยอรมนี ‘กรุงเทพคริสเตียนฯ’ แจงข่าวน.ร.-จนท.ป่วยโควิด 700 ราย ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน ยันเป็นตัวเลขสะสม ไม่ใช่ป่วยวันเดียว ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ห่วงกลุ่ม 608 สั่งตั้งศูนย์โควิดชุมชนในกรุง มั่นใจยาและเตียงเพียงพอรองรับป่วยเพิ่ม

‘บิ๊กตู่’ถกศบค.-ชัชชาติร่วมด้วย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 ก.ค. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(สธ.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ก่อนการประชุม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า “วันนี้ในส่วนของกทม.ยังไม่มีอะไรที่เสนอต่อที่ประชุม ขอมารับฟังรายละเอียดในการประชุมก่อน ส่วนที่มีความเป็นห่วงโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ที่อาจจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกนั้น ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทั้งหมดแล้วแต่ที่ประชุม”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของโควิด-19 เนื่องจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งอาจทำให้การติดตามสายพันธุ์ใหม่ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

สั่งระวังเข้มพันธุ์ใหม่‘BA.4-BA.5’
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ มีสัดส่วนของโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และกำลังแทนที่สายพันธุ์เดิม ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แพร่เร็วและรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น จากการมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงอาจพบการติดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยและรักษาตัวที่บ้านเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การสุ่มตรวจ และติดตามการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการต่างๆ ต่อไป และในช่วงนี้ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นในไทย ขอให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมของเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนและภูมิคุ้มกัน อาการความรุนแรงของโรค และการตอบสนองต่อยารักษา รวมทั้งขอให้รายงานความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาให้ทราบเป็นระยะด้วย

อ้างต่อพรก.ฉุกเฉินไว้คุมโควิด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า ต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ศบค.ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ โดยประชาชนต้องเตรียมพร้อม และอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่สำคัญคือการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด สถานที่แออัด รถขนส่งสาธารณะ แม้กระทั่งเครื่องบิน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และการไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะช่วยลดและป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่อง อื่นๆ ทั้งสิ้น แต่มีเหตุผลความจำเป็น เป็นการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ วัตถุประสงค์เพื่อการรักษาชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด ฉะนั้น อย่าบิดเบือนเป็นอย่างอื่น พร้อมฝากให้ดูแลบุคลากรทางสาธารณสุขให้ดี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติการแพร่ระบาดสูงในปัจจุบัน และขอให้กรุงเทพมหานครดูแลการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้มีความปลอดภัย เน้นการรณรงค์ สื่อสาร สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งฝากให้ ศธ. และโรงเรียนพิจารณาหามาตรการที่ปลอดภัย ในการทำกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน

ติดเชื้อใหม่เกิน 2 พัน-ตาย 20
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ว่า ปลัดสธ. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,144 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,144 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,144 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1,946 ราย อยู่ระหว่างรักษา 25,082 ราย อาการหนัก 763 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 327 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,540,955 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,485,075 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,798 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 558,649,659 ราย เสียชีวิตสะสม 6,369,032 ราย

ยอดป่วยวันละ 2.9 หมื่น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. เน้นย้ำถึงกรณีที่มีการออกข่าวหรือมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลในโซเชี่ยลมีเดียว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากนั้นว่า อาจจะมีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องและผิด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ขอให้ฟังข้อมูลจากศบค.เป็นหลัก ทั้งนี้กรมควบคุมโรคแสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอแจกจบเป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65-6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย และพบว่าในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง โดยนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้ข้อแนะนำว่า ตัวเลขนี้มีความสำคัญที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ได้รับทราบ แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนัก และเห็นด้วยกับตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานจำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นายอนุทินยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับเพียงพอ เตียงทุกระดับ มีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อย มีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4%

ห่วง 23 จว.ติดเชื้อขาขึ้น
“นายกฯ ระบุว่าแม้ตัวเลขเสียชีวิตรายสัปดาห์จะลดลง แต่ไม่อยากเกิดขึ้นเลยกับคนที่อยู่ในกลุ่ม 608 จึงขอให้รณรงค์ให้กลุ่ม 608 เข้ามารับวัคซีนให้มากขึ้น และยังขอความร่วมมือเรื่องการสวมหน้ากากของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 สำหรับภาพรวมการติดเชื้อทั่วประเทศ มี 54 จังหวัดที่มีแนวโน้มลดลง และมี 23 จังหวัดที่เป็นขาขึ้น และการติดเชื้อระลอกเล็กๆ ในบางจังหวัด อย่างกทม. และปริมณฑล โดยเฉพาะภูเก็ตที่มียอดเพิ่มสูงพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว จึงขอให้ประชาชนช่วยกันในการลดยอดผู้ติดเชื้อให้ได้”

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า มีการคาดการณ์ภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต โดยหลังการระบาดใหญ่จะมีระลอกเล็กๆ เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องภูมิคุ้มกัน หน้ากากอนามัย การทำกิจกรรมรวมกลุ่ม และสายพันธุ์ นายกฯ เน้นย้ำว่าเรื่องการสวมหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน การรวมกลุ่ม แม้จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดูแลประชาชนในภาพรวมเพื่อจะได้ไม่เจอการแพร่ระบาดที่สูงกว่านี้ โดยผู้ป่วยรายใหม่อาจจะมีพุ่งขึ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์ รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลอาจจะเพิ่มขึ้น โดยการระบาดจะสูงขึ้นประมาณเดือนก.ย. และจะเริ่มลดลงในเดือนพ.ย. เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย. แต่หากประชาชนให้ความร่วมมือ ตัวเลขจะได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในฉากทัศน์นี้

โฆษกศบค. กล่าวด้วยว่า ส่วนแผนการฉีดวัคซีน นายกฯ เน้นย้ำว่าเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเอาชนะ และอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ แม้การฉีดวัคซีนจะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ต้องฝากทุกคนให้ความร่วมมือด้วย โดยนายกฯ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการติดเชื้อในโรงเรียน อยากให้กระทรวงสาธารณสุข กทม. เข้ามาดูแลใกล้ชิด

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเปลี่ยนวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้ามาเป็น Long-acting-antibody (LAAB) จำนวน 257,500 โดส และยังเห็นชอบการปรับเปลี่ยนวัคซีนไฟเซอร์ที่ยังไม่ได้รับมอบ 3.6 ล้านโดส มาเป็นไฟเซอร์ Maroon cap สำหรับฉีดเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน และอายุน้อยกว่า 5 ขวบ จำนวน 3 ล้านโดส”

ขยาย‘ฉุกเฉิน’อีก 2 เดือน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาการขยายระยะเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ตามที่สภา ความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)รายงาน และมีมติให้ขยายออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 2565 โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.เน้นย้ำว่า การขยายเวลาดังกล่าวเพื่อการควบคุมป้องกันโรคและรักษาชีวิตประชาชนเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์สำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่ได้ยึดแนวปฏิบัติมาตลอด ขอให้ทุกคนได้รับทราบว่าไม่ได้มีส่วนในการที่จะไปต้องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด

ย้ำยังต้องสวมหน้ากาก
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม นายกฯ ต้องการให้ประชาชนได้ร่วมมือกัน คือ 1.การสวมหน้ากากอนามัย 2.การมีคลัสเตอร์ต่างๆ ขอความร่วมมือให้ลงไปดูกันอย่างรวดเร็ว ทั้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.การเดินทางเข้าประเทศ นอกจากจะเป็นตัวเลขที่จะทำให้เห็นภาพของคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยในลักษณะเศรษฐกิจที่มีจำนวนคนแล้ว ขอให้ไปตรวจสอบด้วยว่า มีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือเข้ามาในประเทศไทยที่เป็นคนต่างชาติ อยู่จำนวนเท่าไหร่ ก็จะได้เห็นถึงความรุนแรงและต้องติดตาม อย่างไรก็ตามทราบว่ามีตัวเลขไม่มาก สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

4.การเปิดจุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชายแดนที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย จะต้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่ไม่มีด่านควบคุมโรคให้ไปพูดคุยหารือกันในพื้นที่ หามาตรการและหารือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพื่อร่วมกันรับผิดชอบหากพี่น้องประชาชนจะต้องเดินทางระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด่านประเพณี พรมแดนตามธรรมชาติ จะต้องช่วยกันโดยมีมาตรการเข้มงวดในการดูแลบุคคลไปด้วยกัน 5.หากมีผู้เจ็บป่วย ขอให้มีการบริการดูแลให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี

‘ชัชชาติ’สั่งตั้งศูนย์โควิดชุมชน
ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการการ เตรียมพร้อมว่า ขณะนี้เป็นห่วงกลุ่ม608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนท้อง และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งเมื่อติดแล้วอาการจะมีมากกว่าคนปกติ รวมถึงสถานการณ์ขณะนี้หากเด็กหรือคนทำงานติดเชื้อมักจะเอาเชื้อไปให้ผู้สูงอายุที่บ้าน ทำให้อัตราการครองเตียงมากขึ้น จึงมอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.พิจารณา การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน (Community Isolation) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนแออัด ซึ่งได้มอบรองผู้ว่าฯ ทวิดา เตรียมพร้อมในแต่ละเขตแล้ว โดยก่อนหน้านี้ใช้พื้นที่โรงเรียนแต่ขณะนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้วคงต้องหาพื้นที่ใหม่ต่อไป

2.การเตรียมพร้อมเรื่องยา ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ทั้งนี้ยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย. ดังนั้นกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจัดซื้อได้ ต้องประสานผ่านทางสธ.เท่านั้น หากขึ้นทะเบียนแล้วกทม.จะจัดซื้อเอง 3.อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ซึ่งได้ประสานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือศบค.ใหญ่ อย่างใกล้ชิด การเตรียมพร้อมศูนย์เอราวัณซึ่งขณะนี้กทม.บริหารจัดการ 100 % เนื่องจากส่วนกลางได้ถอนตัวออกแล้ว 4.เตือนประชาชนกลุ่ม 608 ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด โดยประชาชนกลุ่ม 608 ในพื้นที่กทม.ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้วกว่า 50 % ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ ทั้งนี้ศบค.มีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของกทม. ซึ่งกิจกรรมจะยังดำเนินอยู่ แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนที่มาร่วมงานใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงเมื่อโดยสารรถสาธารณะ และเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม

“ขอความร่วมมือทุกคน ไม่ได้เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนที่เรารัก ทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน ทั้งใส่หน้ากากและฉีดวัคซีน ที่เหลือกทม. จะดูแลให้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

กรุงเทพคริสเตียนโต้ติดโควิด 700
วันเดียวกัน นางวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการและ ผู้จัดการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดเผยกรณีโรงเรียนออกหนังสือประกาศปิดโรงเรียน 9 วัน และปรับแผนให้เรียนออนไลน์ทุกระดับชั้น โดยให้เหตุผลว่าตั้งแต่เปิดเทอมมา 8 สัปดาห์ มีนักเรียนและบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 รวมกว่า 700 คนนั้นว่า หลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้หลายคนตื่นตระหนกและเข้าใจว่ามีการติดเชื้อวันเดียวกว่า 700 คน ซึ่งข่าวที่ออกไปเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในความเป็นจริง ยอดติดเชื้อ 700 คน เป็นยอดสะสมตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.จนถึงปัจจุบัน

นางวราภรณ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน โรงเรียนมีเด็กนักเรียน 5,000-6,000 คน โดยมีนักเรียนและบุคลากรที่ติดเชื้อและอยู่ระหว่างรักษาตัวกว่า 200 คน เด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.5-ป.6 และ ม.ปลาย ไม่มีอาการรุนแรงอะไร รักษาตัวที่บ้าน ส่วนคนที่หายป่วยแล้วก็กลับมาเรียนตามปกติ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับกลุ่มที่ติดเชื้อ เป็นเรื่องปกติที่โรงเรียนปรับรูปแบบการเรียนการสอนจากออนไซต์เป็นออนไลน์

‘รัชดา’รองโฆษกรบ.ติดโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางปฏิบัติภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ในยุโรป เพื่อร่วมประชุมเครือข่ายพรรคการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal International: LI) ที่มีสมาชิกจากทุกทวีปเข้าร่วม ที่ประเทศบัลแกเรีย และเยอรมนี ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด น.ส.รัชดาโพสต์เฟซบุ๊กจากกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ระบุว่า “Covid-19 รอบนี้ไม่รอด #ฟ้าทะลายโจร

เดินทางมาประชุมร่วมกับนักการเมืองหลายพรรคจากทั่วโลก ที่ประเทศบัลแกเรียและเยอรมนี…เพื่อนร่วมคณะกลุ่มเอเชียอีก 10 คน รอดหมด โล่งใจที่ไม่ได้ไปแพร่เชื้อให้เพื่อนๆ เพราะมีบางช่วงก็นั่งใกล้ชิดกัน แต่โดยมากเข้าในอาคารแออัด ก็ใส่หน้ากากกันตลอด

ไม่ได้มีอาการมากค่ะ เหมือนป่วยทั่วไป มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ ทานยารักษาตามอาการ…ยืนยันได้ว่า ฟ้าทะลายโจรยังทำหน้าที่ได้ดี…ตรวจไม่พบเชื้อถึงจะเดินทางกลับ แม้ไม่มีการใช้เอกสารอะไรแล้ว แต่ต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม หากยังป่วยอยู่ต้องไม่เดินทาง ของกินนี่เพื่อนร่วมคณะซื้อมาให้ คาดว่ามากเกินพอ เป้าหมายต้องทานกล้วยให้หมด อยู่เบอร์ลินทางสถานทูตส่งยามาให้เพิ่มเติม คนไทยไปต่างประเทศ ควรมีเบอร์ติดต่อทางสถานทูตไว้ด้วยนะ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน