หมอย้ำคนติดเชื้อโควิดต้องกักตัวให้ครบ 10 วัน ไม่ควรออกมาในที่ชุมชน เผยพบคนติดเชื้อไม่ได้กักตัวตามกำหนดหนีออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ หวั่น เอาเชื้อไปแพร่กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงวัย คนมีโรคประจำตัว ศบค.เผยป่วยใหม่ 1.7 พัน เสียชีวิตเพิ่ม 23 ‘บิ๊กตู่’ วอนคนไทยอย่าการ์ดตก หลังพบสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างลดลง อภ.ยันสำรองยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ มากถึง 25 ล้านเม็ด หลังชมรมแพทย์ชนบทแฉยาฟาวิฯ ขาดแคลน เผยจัดส่งลงพื้นที่ทุกวัน ส่งแล้ว 3.7 ล้านเม็ด ทยอยส่งอีก 21.3 ล้านเม็ด ในอาทิตย์นี้ ส่วนโมลนูพิราเวียร์ส่งมอบแล้ว 2 ล้านแคปซูล เร่งหาเพิ่มอีก 3 ล้านแคปซูล

ป่วยเพิ่ม 1,795-เสียชีวิต 23
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง RT-PCR และ ATK ลดลงอยู่ที่ 1,795 ราย ป่วยสะสม 4,554,976 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,920 ราย หายป่วยสะสม 4,499,975 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 23 ราย เสียชีวิตสะสม 30,958 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 24,043 ราย อยู่ร.พ.สนามและอื่นๆ 13,666 ราย และอยู่ในร.พ. 10,377 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 789 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 348 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองสีแดงเพิ่มเป็น 12.4% ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และเดินทางจากต่างประเทศ

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 14 ก.ค. 2565 ฉีดได้ 30,920 โดส ฉีดสะสม 140,651,239 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 57,056,074 โดส คิดเป็น 82% เข็มสอง 53,327,366 โดส คิดเป็น 76.7% และเข็มสามขึ้นไป 30,267,799 โดส คิดเป็น 43.5% ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดได้ 6,069,128 โดส คิดเป็น 47.8% และการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ขวบ เข็มแรกฉีดได้ 3,204,191 โดส คิดเป็น 62.2% และเข็มสอง 2,157,319 โดส คิดเป็น 41.9%

ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานจำนวน ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายจังหวัด พบว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,303 ราย 2.สมุทรปราการ 76 ราย 3.ชลบุรี 57 ราย 4.สงขลา 36 ราย 5.ขอนแก่น 33 ราย 6.นครสวรรค์ 24 ราย 7.อุบลราชธานี 21 ราย 8.ชุมพร 17 ราย 9.ปทุมธานี 17 ราย และ 10.อุตรดิตถ์ 17 ราย

ภาพรวมมีรายงานผู้ป่วย 50 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิดเพิ่มเป็น 27 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ ตรัง นครพนม น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

สธ.ย้ำต้องกักตัวครบ 10 วัน
ด้านนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มสถานการณ์โรคโควิด-19 กำลังเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันเข้มมาตรการป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อและรับเชื้อ จะช่วยให้การติดเชื้อลดลง และไม่เกิดเป็นระลอกใหญ่ขึ้นมาอีก โดยเฉพาะขอความร่วมมือผู้ที่ติดเชื้อโควิดแล้ว ทั้งที่ เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตนเองที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ ซึ่งจะได้รับยากลับมารับประทานที่บ้าน หรือโทรศัพท์ เข้าระบบเพื่อให้จัดส่งยามาที่บ้าน หรือผู้ที่ เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วให้กลับมาบ้านก่อนครบ 10 วัน ขอย้ำว่าให้กักตัวเองอย่างน้อย 10 วัน หากมีความจำเป็นจริงๆ ต้องออกจากบ้าน เช่น การเดินทางไปโรงพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดจนครบ 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ

“ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งไม่ได้กักตัวจนครบตามกำหนด แต่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อได้ ส่งผลให้เกิดการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้าง และแพร่เชื้อไปยังกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว จึงขอให้กักตัวให้ครบตามกำหนด” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่แพทย์พิจารณาให้กลับไปกักตัวที่บ้าน คือ 1.งดออกจากบ้านไปยังชุมชนทุกกรณี ยกเว้นการเดินทางไปโรงพยาบาล โดยการนัดหมายและการจัดการโดยโรงพยาบาล 2.ให้แยกห้องนอนจากผู้อื่น ถ้าไม่มีห้องนอนแยก ให้นอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2-3 เมตร และต้องเป็นห้องที่เปิดให้อากาศระบายได้ดี ผู้ติดเชื้อนอนอยู่ด้านใต้ลม จนพ้นระยะการแยกกักตัว 3.ควรแยกใช้ห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้เช็ดพื้นผิวที่มีการสัมผัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหลังการใช้ทุกครั้ง

4.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง 5.สวมหน้ากากเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น 6.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% บ่อยๆ ตามความเหมาะสม และทุกครั้งหลังขับถ่าย 7.ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น 8.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะ ไม่เกิน 2 เมตร การพบปะกันให้สวมหน้ากากตลอดเวลา 9.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ตามหลักโภชนการ 10.หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจ ไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางให้สวมหน้ากากระหว่าง เดินทางตลอดเวลา และ 11.หลังจากครบกำหนดกักตัวสามารถประกอบกิจกรรม ทางสังคม และทำงานได้ตามปกติ โดยยังคงมาตรการป้องกันตนเอง

แพทย์ชนบทชี้‘ฟาวิฯ’ขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์ถึงเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ว่า กำลังขาดแคลน โดยระบุว่า “องค์การเภสัชกรรม ยังไหวไหม ทำฟาวิฯ ขาดแคลนอีกแล้ว โควิดกลับมาระบาดหนักขึ้น ยาฟาวิพิราเวียร์กำลังร่อยหรออย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่วัน จะหมดประเทศ ขณะนี้ต้องใช้โมลนูพิราเวียร์มาใช้แทน ซึ่งก็มีเหลือไม่มากเช่นกัน ส่วนป่วยน้อยและอายุน้อยก็ใช้ฟ้าทะลายโจร

เดิมองค์การเภสัชกรรม(GPO) ตั้งเป้าจะผลิตฟาวิฯ ใช้เอง โม้ไว้สวยหรู แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่ค่อยได้ผลิต พึ่งพาการนำเข้า เช่นเดิม และได้สิทธิผูกขาดการผลิตและการนำเข้าตลอดเพียงรายเดียว

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟาวิขาดแคลน หลายครั้งแล้วนะ GPO ผู้ต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการยาฟาวิที่กะพร่องกะแพร่งนี้เป็นใครอื่นไม่ได้ นอกจากองค์การเภสัชกรรม หาก ที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดกว้างให้เอกชนผลิตได้หรือนำเข้าได้ ปัญหาคงคลี่คลายไปนานแล้ว ไลน์จากผู้บริหารสธ. ส่งสัญญาณไปยัง โรงพยาบาลต่างๆ อย่างซีเรียส นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ต้องรู้ ประชาชนก็ควรทราบ เพื่อความเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน”

อภ.โต้ยันสำรองพอ 25 ล้านเม็ด
ด้านภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผอ. องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า อภ.มีการบริหารจัดการสำรอง “ยาฟาวิพิราเวียร์” เพื่อรองรับกับการระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 25 ล้านเม็ด โดยจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายตามการจัดสรรของศูนย์อีโอซี สธ.อย่างต่อเนื่องทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด หลังจากนั้นหน่วยงานแม่ข่ายจะบริหารจัดการและกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ จัดส่งแล้วจำนวน 3.7 ล้านเม็ด ส่วนที่เหลืออีก 21.3 ล้านเม็ด ทยอยส่งมอบพื้นที่ได้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.นี้เป็นต้นไป รวมทั้งสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จัดหายาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 5 ล้านแคปซูล ได้ส่งมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แล้ว 2 ล้านแคปซูล เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ส่วนอีก 3 ล้านแคปซูลอยู่ระหว่างจัดหา คาดว่าสามารถส่งมอบได้ ไม่เกินปลายก.ค.นี้ ย้ำว่าอภ.ติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนการสำรองทั้งการผลิตเองและจัดหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด

สปสช.แจงปรับเกณฑ์จ่ายโควิด
ด้านนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากสปสช.ประกาศปรับหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2565 ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่าสปสช.จะไม่จ่ายค่าบริการ หรือยกเลิกบริการที่เกี่ยวกับโควิด เช่นตรวจคัดกรอง Home Isolation, Community Isolation เป็นต้น ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยบริการโควิด ไม่ใช่การยกเลิกบริการ ยืนยันว่ายังได้รับการดูแลที่เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นเดิม

นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์เป็นเพียงการเปลี่ยนแหล่งที่มาของงบประมาณ จากเดิมที่ใช้เงินจากพ.ร.ก. กู้เงิน มาเป็นใช้เงินจากงบประมาณตามระบบปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น คือ หากผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทอง ร.พ.ที่ให้บริการโควิดก็จะเบิกเงินตามระบบปกติของสปสช. เหมือนโรคอื่นๆ หากเป็น ผู้ป่วยในก็จ่ายแบบ DRG หากเป็นผู้ป่วยนอกก็จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว ส่วนร.พ.เอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทองก็จะเข้าไปรับบริการได้กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งหมดเป็น กระบวนการเบิกจ่ายเงินระหว่าง สปสช.และร.พ. ไม่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชน

“อย่างการดูแลแบบ Home Isolation ที่บางส่วนเข้าใจว่าถูกยกเลิก ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิก สปสช.ยังจ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่ร.พ. แต่อยู่ที่ความเห็นของแพทย์พิจารณาว่าคนไข้รายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จะตามไปจ่ายค่าบริการให้” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า เหตุผลที่ปีก่อนนำระบบ Home Isolation มาใช้เพราะร.พ.รับคนไข้เข้าเป็นผู้ป่วยในทุกคนจนเกิดปัญหาเตียงไม่พอ ต่อมามีการบริหารจัดการ สงวนเตียงในร.พ. สำหรับผู้ป่วยอาการปานกลางและหนัก ส่วน ผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่มาก ก็ใช้การดูแลแบบ Home Isolation แต่ตอนนี้คนได้รับวัคซีนจำนวนมากแล้ว อาการป่วยส่วนใหญ่จึงไม่หนักมาก ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบการดูแลแบบ “เจอ แจก จบ” ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น แต่หากแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยรายใดควรได้รับการดูแลแบบ Home Isolation สปสช.ก็จ่ายค่าบริการให้เช่นกัน

ปฐมฤกษ์ – ชาวบ้านเข้าคิวซื้อตั๋วรถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังฯ-กัวลาลัมเปอร์ เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเที่ยวปฐมฤกษ์ หลังหยุดให้บริการมานาน 2 ปี จากสถานการณ์ โควิดระบาด ที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.

รถไฟใต้-มาเลย์เปิดบริการอีก
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีรถไฟหาดใหญ่ จ.สงขลาเปิดเดินรถขบวนโดยสารหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา และมาเลเซีย หลังจากหยุดให้บริการเดินรถขบวนรถไฟโดยสารนานกว่า 2 ปีในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยประชาชนที่สถานีรถไฟหาดใหญ่และปาดังฯ ต่างรู้สึกดีใจที่รถไฟขบวนโดยสารกลับมาวิ่งอีกครั้ง โดยมีชาวไทยและชาวมาเลเซียเดินทางมาใช้บริการจำนวนมาก

สำหรับรถไฟหาดใหญ่-ปาดังฯ ให้บริการวันละ 2 เที่ยว 4 ขบวนทั้งไปและกลับ ค่าโดยสาร 50 บาท เป็นการช่วยเหลือประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ขบวน 949 ออกจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ เวลา 07.30 น. ถึงสถานีปาดังฯ เวลา 08.25 น.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน