แจ้งครู-นร.ระวังตุ๋น ตร.ชี้17วิธีโจรดิจิทัล

แฮ็กไลน์ รมว.ศึกษาฯ ‘ตรีนุช เทียนทอง’ โพสต์เตือนครู-นักเรียน-ผู้ปกครองอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลังโดนปลอมไลน์ทักพูดคุยนำไปสู่การหลอกลวง เตรียมแจ้งความดำเนินคดี ตำรวจออก 17 ข้อ เตือนภัยออนไลน์ หลังผู้ว่าฯ สิงห์บุรี-โคราช แจ้งข่าวถูกแก๊งมิจฉาชีพปลอมไลน์ติดต่อขอยืมเงินบุคคลใกล้ชิด แนะหากมีใครทักมายืมเงินควรตรวจสอบก่อนว่าใช่ตัวจริงหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรีบโอน หากพบเบาะแสแจ้ง ตำรวจ PCT โทร.1441 ส่วนผู้เสียหายสามารถแจ้งความออนไลน์

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า อย่าหลงเชื่อไลน์ปลอม! ขณะนี้มีผู้แอบอ้างสร้างบัญชีไลน์โดยใช้รูปประจำตัวภาพชุดข้าราชการปกติขาว และใช้ชื่อนางสาวตรีนุช เทียนทอง ส่งข้อความทักทายผ่านไลน์ พร้อมพูดคุยซึ่งนำไปสู่การหลอกลวงใน รูปแบบมิจฉาชีพ จึงขอเรียนแจ้งมายังเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ข้าราชการ ตลอดจนพี่น้องประชาชนทุกท่านอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด ทั้งนี้ ดิฉันจะแจ้งความดำเนินคดีผู้ปลอมแปลงไลน์ในความผิดฐานฉ้อโกงโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อไป

วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เผยว่า ภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาส่งต่อข้อความผ่านกลุ่มไลน์สื่อและช่องทางอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์หลังถูกแก๊งมิจฉาชีพปลอมไลน์ส่วนตัวและติดต่อขอยืมเงินกับบุคคลใกล้ชิด พร้อมแจ้งความร้องทุกข์ขอให้ตำรวจดำเนินคดีกับมิจฉาชีพรายนี้นั้น สำหรับเรื่องการปลอมหรือแฮ็กไลน์หรือ เฟซบุ๊กไปหลอกยืมเงินนั้น แนะนำว่าหากมีใครทักมายืมเงินควรโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลกลับไปสอบถามก่อนว่าใช่เจ้าตัวจริงหรือไม่ หากมิจฉาชีพอ้างว่าติดประชุมหรือธุระสำคัญอยู่ ควรรอให้เสร็จธุระหรือขอให้เขาโทร.กลับมาก่อน คงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบโอนขนาดนั้น

รอง ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ จึงขอฝากเตือนภัยประชาชนให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่คนร้ายมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ รวม 17 ข้อ ดังนี้ 1.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ 4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (คอลเซ็นเตอร์) 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า (เป็นขบวนการ) 7.ซื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา 8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล 12.แฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม(เฟกนิวส์) 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ และ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าวอีกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งหาแนวทางป้องกันอย่างจริงจัง จึงอยากให้ประชาชนมีสติ คิดก่อนจะทำธุรกรรมทางการเงิน หรือโอนเงินให้ใคร หากพบเบาะแสแจ้งที่ 1441 หรือ ศูนย์ PCT 08-1866-3000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com ติดตามการประชาสัมพันธ์รูปแบบกลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน