บินมาภูเก็ต-พบเสี่ยง7 รมต.พลังงานติดโควิด

ไทยเจอเพิ่มป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3 เป็นหนุ่มเยอรมันบินตรงภูเก็ต มาอยู่กับแฟนสาวชาวไทยคาดติดเชื้อจากต่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้าไทย พบกลุ่มเสี่ยง 7 คนอยู่ในครอบครัวของแฟนสาว สั่งกักตัวในบ้าน 21 วัน สธ.เตรียมสั่งซื้อวัคซีน-ยาต้านฝีดาษลิง คาดได้มาในเดือนส.ค.นี้ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รองนายกฯ รมว.พลังงานติด โควิด หลังกลับจากซาอุฯ เป็นรมต.รายที่ 8 ศบค.เผยป่วยใหม่ 2,432 เสียชีวิตพุ่ง 32 ป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจก็ยังพุ่ง

ไทยเจอราย 3 ป่วยฝีดาษลิง
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ผู้บริหารสธ.ว่า กรมควบคุมโรครายงานในที่ประชุมผู้บริหารสธ.ว่า พบผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมัน อายุประมาณ 25 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 เข้ามายังจ.ภูเก็ต โดยให้ประวัติว่ามาเที่ยว ไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจ ซึ่งเข้ามาได้ไม่นานก็มีอาการที่เข้าได้กับฝีดาษลิง คือมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมามีผื่นขึ้นตามอวัยวะเพศ ตามตัวและแขนขา รายนี้ค่อนข้างมีความรู้ จึงมาพบแพทย์ที่ร.พ. ไม่ได้หลบหนีเหมือนรายแรก ทำให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดของรายนี้มีไม่มากนัก แต่ยังต้องรอผลการตรวจสอบไทม์ไลน์จากทางพื้นที่จ.ภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงที่แน่ชัด

“โรคนี้มีระยะฟักตัว 7-21 วัน จากประวัติเบื้องต้น คาดว่าน่าจะติดเชื้อมาตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ แล้วมาแสดงอาการที่ประเทศไทย สำหรับการคัดกรองที่ท่าอากาศยานก็จะ เฝ้าระวังคัดกรองในผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงของโรค ซึ่งจะตรวจว่ามีตุ่ม มีอาการเข้าได้กับโรคนี้หรือไม่ หากมีอาการก็จะตรวจตั้งแต่ที่สนามบิน อย่างที่บอกว่าโรคนี้ระยะเวลาฟักตัวนาน ช่วงเข้ามาอาจไม่มีอาการ แล้วมาปรากฏอาการภายหลัง ดังนั้นหากมีอาการ ขอให้รีบมาพบแพทย์” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวนานก็ทำให้มีเวลาไปติดตาม ผู้สัมผัสได้ง่าย โรคไม่กระจายไวเหมือนโควิดที่ระยะฟักตัวสั้น แต่ก็ทำให้ต้องติดตาม ผู้สัมผัสโดยคุมไว้สังเกตอาการนานถึง 21 วัน แต่ย้ำว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรง หรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของทั้ง 2 รายแรก อย่างผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ก็ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อทั้ง 3 รายของประเทศไทยเป็นเพศชาย ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ติดเชื้อ 98% เป็นกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย

วัคซีนป้องกันฝีดาษถึงไทยสค.นี้
นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า สำหรับวัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่าได้ประสานติดต่อจะนำเข้ามาน่าจะไม่เกินเดือนส.ค.นี้ โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมหารือกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Pre Exposure หรือก่อนการสัมผัสเชื้อ ก็จะเป็นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่ม Post Exposure หรือผู้สัมผัสผู้ป่วยไม่เกิน 14 วันหลังสัมผัส วันสุดท้าย เชื่อว่าจะป้องกันได้ แต่รายละเอียดจะเป็นกลุ่มไหนอย่างไร คณะทำงานจะพิจารณาดำเนินการต่อไป

“ส่วนเรื่องยารักษานั้น โรคนี้สามารถ หายเองได้ อย่าง 2 รายแรกของไทยก็อาการดีขึ้น ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส โดยยาอาจจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี โดยโรคฝีดาษลิงทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 2 หมื่นราย เสียชีวิต 3-4 รายเนื่องจากมีโรคแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ดังนั้น จึงไม่ต้องกินยาทุกราย และพบว่ามีเพียง 9% ที่แอดมิตนอนในร.พ. เพื่อควบคุมโรค ทั้งนี้ ในอนาคตหากผู้ป่วยไม่มีอาการอะไรมาก อาจให้เป็นการรักษาที่บ้าน”

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษลิง เสนอต่อที่ประชุมอีโอซี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีข้อเสนอแนะจึงประชุมปรับปรุง และจัดทำออกมารายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารสธ. วันนี้ เบื้องต้นคือถ้ามีผู้ป่วยสงสัยให้แอดมิตนอนร.พ. เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเป็นการควบคุมโรคไปในตัว ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าสามารถตรวจและรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง และหากแล็บอยู่ใกล้กับร.พ.อาจรู้ผลใน 3-4 ชั่วโมง ส่วนแนวทางรักษา เนื่องจากโรคนี้หายเองได้ แต่ก็มีการพูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสเผื่อไว้ ทั้งนี้ จะแนะนำให้แอดมิตจนแน่ใจว่าเป็นหรือไม่เป็น จากนั้นจะดูเป็นรายๆ

หนุ่มเยอรมันป่วยฝีดาษลิงราย3
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุข จ.ภูเก็ต แถลงกรณีพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นรายที่ 2 ของจ.ภูเก็ต เป็นชายชาวเยอรมัน ที่เดินทางเข้ามาจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลออกติดเชื้อฝีดาษลิง และติดตามสอบสวนโรค พบ ผู้สัมผัสเสี่ยงอีก 7 ราย

นพ.กู้ศักดิ์กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รับรายงานเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังดักจับอยู่แล้ว ทาง โรงพยาบาลสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคฝีดาษลิง เพราะมีอาการน่าสงสัย มีไข้ มีผื่นขึ้น จึงแจ้งให้ทราบเมื่อวาน เพิ่งรับตัวเข้าโรงพยาบาล ทางทีมแพทย์สงสัยได้เจาะเลือดและเพาะเชื้อสมองส่งที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ พบเชื้อฝีดาษลิง ทางสาธารณสุขจังหวัดสอบสวนร่วมกับสาธารณสุขอำเภอเมืองและโรงพยาบาลที่ ผู้ป่วยรักษาตัว ทราบว่าเป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี บินตรงเข้ามาจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 ก.ค. มีแฟนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นพวกรักร่วมเพศ มาอยู่กับแฟนคนไทย ส่วนมากท่องเที่ยวกับแฟนคนไทย ประมาณวันที่ 23-24 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ มีผื่นขึ้นเล็กน้อย วันที่ 30-31 ก.ค. มีผื่นขึ้นเริ่มใกล้บริเวณอวัยวะเพศ แต่ไม่มาก แล้วลามไปที่แขน ข้อมือ และลำตัว จากนั้นวันที่ 1 ส.ค. เริ่มมีไข้ มีผื่นตามลำตัวมากขึ้น วันที่ 2 ส.ค. จึงมาตรวจที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลเจาะเลือดเพาะเชื้อ และรับไว้รักษาตัว

พบกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด 7 คน
“เบื้องต้นสอบสวน พบว่าส่วนมากเขาจะท่องเที่ยวกับแฟน ไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง จึงไปตรวจสอบ นอกจากคนสัมผัสใกล้ชิด ก็เป็นคนในครอบครัวของแฟนประมาณ 7 คน ส่วนการตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดตอนนี้ได้ 7 คนอยู่ในครอบครัวของแฟน ผู้สัมผัส ใกล้ชิด ถ้าไม่มีอาการอะไรให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 21 วัน ตอนนี้เข้าข่ายประมาณ 4-5 ราย และมีชาวเคนยา ชาวพม่า 7-8 คนที่วอล์กอินเข้ามา แต่ผลไม่พบเชื้อ”

นพ.กู้ศักดิ์กล่าวต่อว่า ขอฝากถึงนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้ คือทางภูเก็ตมีการ คัดกรองดักจับที่สนามบินและในสถานบริการรักษาทุกแห่ง ถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ เราต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง นอกจากรักษาโรคฝีดาษลิง ก็ยังป้องกัน โควิดได้ด้วย

สธ.สั่งซื้อวัคซีน-ยาต้านฝีดาษลิง
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3 ของประเทศไทยว่า การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงที่ผ่านมา มีการกำชับให้ตรวจเฝ้าระวังคัดกรอง ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งสนามบิน ทางน้ำและทางบก รวมถึงในสถานพยาบาล ให้เตรียมความพร้อมเรื่องการรักษา ดังนั้นผู้ที่มีอาการสงสัยขอให้รีบมาพบแพทย์ ส่วนเรื่องวัคซีนและยาก็เตรียมสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งวัคซีนไม่ใช่ว่าต้องฉีดให้ทุกราย แต่จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนเรื่องยาเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะการติดเชื้อไม่ได้ถึงขั้นกระจายอย่างรวดเร็ว กรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการสั่ง โดยศึกษาถึงกลุ่มเสี่ยง

“ย้ำว่าโรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อง่ายๆ การติดต้องสัมผัสใกล้ชิดมากๆ พฤติกรรมเสี่ยง คือการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยน คู่นอนบ่อยๆ แต่การใช้ชีวิตโดยทั่วไปไม่น่ามีปัญหา หากดูแลตัวเองโอกาสติดเชื้อก็ต่ำ ขอให้สังเกตอาการตุ่มหนอง ผื่นขึ้น ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส ถ้ารู้จักกันก็ควรแนะนำให้รีบไปพบแพทย์” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค. 2565 โดยกรมการแพทย์ระบุถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิงว่าให้รับแอดมิตใน ร.พ.ทุกราย หากเป็นคลินิกหรือรพ.สต.ให้นำส่งร.พ.เพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยใน และเมื่อผลตรวจออกมายืนยันว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงให้แอดมิตทุกรายในร.พ.เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายและติดตามอาการ

ป่วยโควิดอีก 2.4 พัน-ตาย 32 เข้า
ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง RT-PCR และ ATK จำนวน 2,432 ราย สะสม 4,596,559 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,472 ราย สะสม 4,543,156 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย สะสม 21,940 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 21,940 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 917 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 478 ราย ไม่มีผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 2 ส.ค. 2565 ฉีดได้ 43,880 โดส สะสม 141,680,300 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 57,143,462 โดส คิดเป็น 82.2% เข็มสอง 53,508,381 โดส คิดเป็น 76.9% และเข็มสามขึ้นไป 31,778 โดส สะสม 31,028,457 โดส คิดเป็น 44.6% ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดได้ 6,253,759 โดส คิดเป็น 49.2% และการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 5-11 ปี เข็มแรกฉีดได้ 3,249,124 โดส คิดเป็น 63.1% และเข็มสอง 2,280,839 โดส คิดเป็น 44.3%

ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานจำนวน ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รายจังหวัด พบว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,290 ราย 2.สมุทรปราการ 167 ราย 3.ชลบุรี 131 ราย 4.พิษณุโลก 85 ราย 5.ตราด 58 ราย 6.ขอนแก่น 45 ราย 7.ระยอง 38 ราย 8.ชุมพร 36 ราย 9.นนทบุรี 33 ราย และ 10.ปทุมธานี 29 ราย ภาพรวมมีรายงานผู้ป่วย 70 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วย 7 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ชัยนาท พัทลุง พิจิตร สุโขทัย และอำนาจเจริญ

‘สุพัฒนพงษ์’รมต.คนที่ 8 ติดโควิด
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่านาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นรัฐมนตรีคนล่าสุดที่ป่วยเป็นโควิด-19 โดยทราบผลเมื่อวันที่ 31 ก.ค. หลังเดินทางกลับจากการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ช่วงแรกเมื่อกลับถึงประเทศไทยได้ผ่านการตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR แล้ว แต่ไม่พบเชื้อ ต่อมาวันที่ 28 ก.ค.จึงปฏิบัติภารกิจตามปกติ โดยร่วมงานทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ท้องสนามหลวง จากนั้นนายสุพัฒนพงษ์เริ่มอาการไอ จึงเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง และตรวจพบว่าติดเชื้อในที่สุด แต่ไม่ส่งผลกระทบกับการทำงาน ยังเข้าร่วมประชุมออนไลน์ได้ตามปกติ โดยเมื่อวานนี้แม้ไม่ได้เดินทางมาทำเนียบรัฐบาลแต่เข้าร่วมประชุมครม.ผ่านระบบ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสุพัฒนพงษ์ผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว 4 เข็ม แต่มีโรคประจำตัว ถือเป็นคนไข้ 608 ที่ต้องเฝ้าระวัง นับเป็นรัฐมนตรีคนที่ 8 ที่ติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ และนายสุพัฒนพงษ์เป็นรายล่าสุด

สธ.แจงเกณฑ์จ่ายยาโมลนูฯ
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มเสี่ยง 608 ไม่ได้รับการจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ แต่ได้ฟาวิพิราเวียร์นั้นว่า แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญได้ประชุมหารือและปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 24 แล้ว การจ่ายยา โมลนูพิราเวียร์นั้น ถ้าผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งคือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี หรือมีโรคร่วม หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนครบตามกำหนด คือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น โดยไม่ต้องมีโรคร่วม ก็เข้าเกณฑ์รับยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว ซึ่งการจ่ายยาใดนั้นจะเป็นดุลพินิจของแพทย์ที่มีความใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งพิจารณาเป็นเคสบายเคส และย้ำว่ายาโมลนูพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำเข้ามามีเพียงพอ

“จากการหารือกับบริษัทเมอร์ค ขณะนี้มีร.พ.เอกชนประมาณ 10 แห่งสั่งซื้อยา โมลนูพิราเวียร์ด้วยเงื่อนไขเดียวกับกรมการแพทย์ แต่ส่วนนี้ของเอกชนก็จะมีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังกังวลเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีในท้องตลาด บางตัวได้ลิขสิทธิ์ บางตัวไม่ได้ จึงไม่อยากให้ซื้อกินเอง ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ยังเป็นยาที่ใช้ในภาวะ ฉุกเฉิน จึงต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และติดตามผลอาการข้างเคียง ซึ่งทางเมอร์คกังวล เพราะยาผ่านการทดลองยังไม่ถึงปี” นพ.สมศักดิ์กล่าวและว่า ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์เราให้ในสตรีตั้งครรภ์และเด็กที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากมีงานวิจัยของศิริราชออกมาว่ายาฟาวิพิราเวียร์ลดอาการได้ แต่ไม่ได้ลดปริมาณไวรัส

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า การจ่ายยาต้านไวรัสในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต้องจ่ายให้ถูกโรค ถูกคน และถูกเวลา และต้องใช้อย่างเหมาะสม ยาโมลนูพิราเวียร์มีความกังวลในการใช้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงเรื่องการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ดังนั้น จะเห็นได้ว่ายา ตัวนี้จึงไม่มีการจ่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น การจ่ายยาต้อง สมเหตุสมผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน