ทั้งภูเก็ตด้วย-ร่วมนำร่อง‘เฮ้ง’เล็งเริ่มใช้ตั้งแต่1 ตุลา ชี้แต่ละจังหวัดได้ไม่เท่ากัน ตู่ยันเพิ่มค่าไฟหลักสตางค์

เล็งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ แต่ละจังหวัดได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจีดีพี กทม.-ปริมณฑล-ภูเก็ต-จังหวัดกลุ่มอีอีซีได้เพิ่มเป็นวันละ 350 บาท ‘เฮ้ง’รมว.แรงงานดันเต็มที่ต้องจบภายในเดือนนี้แล้วเสนอครม.อนุมัติในเดือนก.ย. ด้านรองประธานสภาองค์การนายจ้างรับได้ขึ้นค่าแรง 5-8% ไม่เท่ากันทั้งประเทศ ระบุสมเหตุสมผลเพราะเงินเฟ้อสูง ‘บิ๊กตู่’ยันยังไม่ขึ้นค่าไฟ แต่ถ้าจะขึ้นก็เป็นแค่หน่วยสตางค์เท่านั้น ชี้ราคาต่อหน่วยปัจจุบันก็ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ตนได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ไปประชุมไตรภาคีจังหวัด ซึ่งได้ประชุม ทุกจังหวัดแล้ว และขณะนี้ได้ตัวเลขมาหมดแล้ว โดยจะเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์ให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้น ให้อยู่ โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง ซึ่งตัวเลข จะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้น พร้อมกันทุกจังหวัด เพราะจีดีพีแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน

นายสุชาติกล่าวว่า ตนให้นโยบายกับ ปลัดกระทรวงแรงงานไปแล้วว่าต้องทำให้จบภายในเดือนส.ค. และน่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงต้นเดือนก.ย. จากเดิมวางไว้ให้มีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 แต่ครั้งนี้เวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้ปรับค่าแรงเลย เนื่องจาก ต้องแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้ แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง แต่วันนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างเห็นดีเห็นงามเพราะต้องการให้ลูกจ้างอยู่กับเขาต่อ ส่วนตัวเลข ค่าแรงขั้นต้ำที่เรากำหนดอยู่ 5-8 เปอร์เซ็นต์นั้น เรามีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ โดยเอาจีดีพีของแต่ละจังหวัดมาบวกลบคูณหารจะสามารถตอบคำถาม ได้ว่าทำไมแต่ละจังหวัดได้ในปริมาณเท่านี้

นายสุชาติกล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ ค่าของชีพก็ล้อจากฐานเดิม ซึ่งในช่วงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พื้นที่จังหวัดในอีอีซี และพื้นที่กทม. ต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป เพราะค่าครองชีพและจีดีพีจังหวัดดังกล่าวสูง ย้ำว่า เราจะเร่งรัดเพื่อนำเข้าครม.ในเดือนก.ย.ให้ได้ ส่วนตัวอยากให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี 2566 เพราะขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีการ ปรับตัวไปแล้ว อย่างไรก็ดี ขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

เมื่อถามว่า การทำเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องช่วงเวลามากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาทตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว ขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ เราไม่สามารถเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง แต่เราปรับตามเวลาที่เหมาะสม

ต่อมา นายสุชาติให้สัมภาษณ์ภายหลัง แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือนอกรอบภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมว่า ในฐานะที่ดูแลกระทรวง แรงงานคิดว่าค่าแรงอาจจะต้องปรับขึ้น หลังจากค่าไฟอาจปรับบางส่วน ตนจะเชิญปลัดกระทรวงแรงงานมาหารือเพื่อเตรียมตรงนี้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ให้ดูเรื่องของนายจ้างว่า อยู่ในสัดส่วนรับได้หรือไม่ ซึ่งต้องหารือ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในรูปแบบไตรภาคี แต่นายจ้างก็เข้าใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ช่วยเหลือ ประคองไว้มาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ภาครัฐประคับประคองการเลิกจ้าง สำหรับตน การปรับค่าแรง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสัดส่วนที่พอรับได้ มีเหตุและผลที่จะอธิบายได้

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องตัวเลข โดยปลัดกระทรวงแรงงาน ต้องเป็นผู้หารือและพูดคุยเพื่อสรุป ให้ได้ภายในเดือนส.ค.นี้ ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนก.ย.เบื้องต้น ได้พิจารณาตัวเลข 5-8% แต่ในแต่ละจังหวัดนั้นจะมีตัวเลขที่แตกต่างกันไปเนื่องจาก ค่าแรงขั้นต่ำแบ่งเป็นโซน จะไม่ได้เท่ากันทั่วประเทศอยู่แล้ว และจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคี เช่น ในกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต พื้นที่เขตพัฒนา เศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้ ได้ 330 บาทต่อวัน อาจจะพิจารณาปรับเป็น 350 บาทต่อวัน แต่ทั้งหมดจะได้ข้อสรุป หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับการหารือของคณะกรรมการไตรภาคีก่อน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธาน ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณี ที่กระทรวงแรงงานเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะต้องเป็นการพิจารณา ภายใต้คณะกรรมการไตรภาคี โดยควรจะปรับในช่วงเดือนม.ค.ปี 2566 เพราะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป อัตราที่เหมาะสมคือระหว่าง 5-8% เพราะสอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพและเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ 7.61% เชื่อว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของแรงงาน 5-8 ล้านคน จะทำให้ มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท สามารถผลักให้จีดีพีทั้งปี 2566 โตเพิ่มขึ้นอีก 0.1-0.2%

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าไฟฟ้าว่าเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ได้มีการหารือกันซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งต้องดำเนินการกัน อยู่แล้ว ก็จะต้องพิจารณากันในช่วงต่อไป ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งก็ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจะให้เดือดร้อนน้อยที่สุดก็ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ

“ขอยืนยันเนื่องจากมีหลายคนเอาไปพูดในเรื่องของค่าไฟ จะขึ้นไปหน่วยละ 4 บาท ก็ปัจจุบันราคาก็อยู่ที่ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขึ้นในตรงนี้ ซึ่งจะขึ้นหรือไม่ขึ้น ยังไม่รู้ แต่ถ้าจะขึ้นก็จะขึ้นเป็นสตางค์เท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปบิดเบือนว่าค่าไฟจะขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย เพราะปัจจุบันราคา ก็ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว และถ้าจำเป็นต้องขึ้น ก็ต้องดูว่าขึ้นเพราะอะไร ต้องหาสาเหตุให้เจอ วันนี้เราก็ใช้เงินกองทุนพลังงานมาอุดหนุนเกือบทุกส่วน ทั้งไฟฟ้า พลังงาน แก๊ส ใช้เงินเป็นแสนล้านบาทไปแล้ว ก็ต้องไปดูว่าจะดูแลช่วยเหลือได้อย่างไรมากน้อยกันแค่ไหน ก็ขอให้เข้าใจในภาพรวมด้วย อะไรก็ตาม ที่ประชาชนเดินเดือดร้อน ผมก็ไม่อยากที่จะทำให้คนเดือดร้อน แต่ก็ขอให้รับฟังเหตุผลและความจำเป็นกันบ้าง ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมครม.ถึงภาระค่าใช้จ่าย ค่าไฟ และพลังงาน โดยเป็นห่วงใย ได้หารือกับกระทรวงพลังงาน ได้มีการกำชับให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง หามาตรการใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องภาระค่าใช้จ่าย เรื่องค่าไฟ และพลังงาน โดยเฉพาะการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้มี รายได้น้อย

วันเดียวกัน นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และ อุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งส่งสัญญาณ ให้มีผลบังคับใช้ทันในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เบื้องต้นแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นเฉลี่ยจากเดิมราว 5-8% ไม่เท่ากันนั้นถือเป็นอัตราที่ยอมรับได้ เนื่องจากเป็นอัตราที่สะท้อนจากภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2565 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เฉลี่ยอยู่ระดับสูงที่ 5.5-6.5%

“ส่วนตัวเข้าใจได้ว่าฝ่ายการเมืองเองก็ย่อมถูกกดดันจากแรงงาน เพราะขณะนี้ค่าครองชีพของคนไทยสูงมากจากทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้า เทียบจากปกติที่ผ่านมาเงินเฟ้อของไทยจะไม่สูงเช่นนี้ และอัตราดังกล่าว หากถามผู้ประกอบการการขึ้นที่อิงอัตราเงินเฟ้อถือว่ามาถูกทางดีกว่าที่จะใช้นโยบายประชานิยมปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปตามข้อเรียกร้องก่อนหน้าเงินเฟ้อที่เคยจะให้ขึ้นไปสู่ระดับ 492 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ และหากปรับขึ้นในอัตรา 5-8% โดยยึดค่าแรงกรุงเทพมหานครที่เป็นอัตราสูงสุดขณะนี้ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นอีกประมาณ 24-26.50 บาทต่อวัน ซึ่งผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะมีมากหรือน้อยอยู่ที่แต่ละกิจการ หากใช้แรงงานระดับเข้มข้นก็จะมีภาระที่สูงกว่า” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวต่อว่า สิ่งที่เอกชนกังวลและกำลังติดตามใกล้ชิด คือ ร่างแก้ไขพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการสามัญวุฒิสภา เพื่อแก้ไขหลายมาตราและหากมีการกำหนดใช้จะกลายเป็นภาระรายจ่ายกับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น เช่น การขึ้นค่าแรงจะดำเนินการพิจารณาทุกปีโดยให้อิงอัตราเงินเฟ้อ มาตรา 23 ปรับจากของเดิมที่กำหนดให้ สัปดาห์หนึ่งการทำงานของลูกจ้างต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (6 วัน) แก้ไขเป็นสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน 40 ชั่วโมง (5 วัน) ไม่ว่าลักษณะงานหรือสภาพงานจะเป็นลักษณะใดหากเกินกว่านี้ต้องจ่ายค่าตอบแทนชั่วโมงละไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า

มาตรา 23/1 การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือนต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติรวมทั้งแรงงานต่างด้าว (ยกเว้นงานภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานไม่มีความต่อเนื่องหรืองานไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง โดยค่าสวัสดิการต้องเท่าเทียมกับลูกจ้างรายเดือน) มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ หนึ่งไม่น้อยกว่า 2 วันโดยวันหยุดต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน แต่สามารถตกลงกันล่วงหน้า ให้วันหยุดประจำสัปดาห์เป็นวันใดก็ได้

นายธนิตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สามารถตกลงกันในการสะสมวันหยุดหรือเลื่อนวันหยุด แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 1 เดือน (ยกเว้นงานภาค บริการ งานโรงแรม งานขนส่ง งานในแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ) ให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันล่วงหน้าในการสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน มาตรา 30 (ของมาตรา 7 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) วันพักร้อนประจำปี จากเดิม 6 วันให้เปลี่ยนเป็น 10 วัน กฎหมายเดิมต้องทำงานให้ครบ 1 ปีกฎหมายใหม่ ให้เปลี่ยนเป็น 120 วันและสามารถสะสมวัน พักร้อนไปในปีต่อๆ ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน