ประปาชงครม.ปรับด้วย อ้างเหตุต้นทุนพุ่งพรวด จี้รัฐบาลเร่งแก้วิกฤตด่วน พิษแล้ง-เขื่อนปราณแห้ง

สินค้าพาเหรดขึ้นราคา ‘หมู’ จ่อปรับอีก 2-4 บาทต่อกิโลฯ นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมู ชี้เหตุต้นทุนเลี้ยงแพงมาก ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาขาดทุนหนัก อีกทั้งมีปัญหาลักลอบนำเข้าหมู ประธานสหกรณ์เลี้ยงไก่ยันจำเป็นต้องขึ้นราคาไข่ไก่ ไม่เช่นนั้นไม่มีเงินซื้ออาหารสัตว์ เผยอากาศร้อน ทำให้ผลิตได้น้อยลง ขณะที่ผักสดก็ขึ้นราคา ถั่วฝักยาวเพิ่มโลละ 10 บาท คะน้า-ส้มเขียวหวาน ขึ้นอีกโลละ 5 บาท ‘กปน.’ ชงครม.ขอขึ้นค่าน้ำประปา หลังขาดทุนมานาน พิษภัยแล้ง เขื่อนปราณบุรีวิกฤต น้ำในเขื่อนเหลือ 18% สั่งงดจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร

★ ‘หมู’จ่อปรับขึ้นราคา

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มว่า เร็วๆ นี้ อาจมีการปรับขึ้นราคาอีก แต่จะปรับขึ้นอีก 2 บาท/ก.ก. หรือ 4 บาท/ก.ก. ยังไม่รู้ต้องดูสถานการณ์ภาพรวมก่อน ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อหมูปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ส่วนสาเหตุที่เนื้อหมูต้องปรับราคาขึ้นอีกเนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงหมูขณะนี้แพงมาก จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนการเลี้ยง 95-96 บาท/ก.ก. แต่ขายได้เพียง 70-72 บาท/ก.ก.เท่านั้น ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา รวมถึงยังมีปัญหาหมูลักลอบนำเข้าด้วย

ด้านนายมานพ จิรารัตนสกุล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด เปิดเผยว่า อยากให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริโภคเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงไก่ไข่ด้วยว่ามีต้นทุนสูงขึ้นจริงๆ จึงต้องมีการปรับขึ้นราคา โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีเงินทุนน้อย หากไม่ปรับราคาไข่ให้สอดคล้องกับต้นทุนก็จะไม่มีเงินมาซื้ออาหารเพื่อทำอาชีพเลี้ยงไก่ต่อไปได้ ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาผู้เลี้ยงรายย่อยต้องจำใจเลิกเลี้ยงไก่ไปจำนวนมากแล้ว ปัญหาหลักๆของผู้เลี้ยงขณะนี้คือวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีราคาแพง รวมทั้งปัญหาร้อน ทำให้ปริมาณผลผลิตและขนาดไข่เล็กลง

★ ‘พาณิชย์’จับตาไข่แพง

ด้านนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 12 มิ.ย. พบว่าราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 4.06 บาท/ฟอง ราคาขายปลีกที่ตลาดสดอยู่ที่ 3.40-4.40 บาท/ฟอง ส่วนห้างค้าปลีกค้าส่งราคาอยู่ที่ 4-4.30 บาท/ฟอง สำหรับราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงก่อน เพื่อสอดคล้องกับปริมาณผลผลิต และความต้องการบริโภค รวมทั้งให้สอดคล้องกับราคาไข่คละหน้าฟาร์มซึ่งอยู่ที่ 3.80 บาท/ฟอง โดยกรมกำกับดูแลราคาให้เป็นไปตามโครงสร้างและคุมเข้มไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเกินสมควร

ทั้งนี้ราคาไข่ไก่ที่ปรับขึ้นนั้นเป็นผลจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้แม่ไก่ออกไข่ได้น้อยลงและมีขนาดเล็กลง ไข่ไก่ในตลาดกว่า 50% เป็นไข่ขนาดเล็ก-กลาง จากเดิมที่มีเพียง 30% อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เริ่มมีฝนตกทำให้สภาพอากาศเย็นลงในบางพื้นที่ และคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและขนาดไข่ไก่กลับเข้าสู่ปกติได้ภายในปลายเดือนนี้

“กรมการค้าภายในได้กำกับดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิดมาตลอด เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่าย ไข่ไก่ในราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หากพบการกระทำผิด จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายอุดมกล่าว

★ ผักสดราคาก็พุ่งพรวด

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาผักสดช่วงระหว่างวันที่ 9-12 มิ.ย.2566 ในตลาดสดกรุงเทพมหานครว่า ถั่วฝักยาวราคาปรับเพิ่มขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 75-80 บาท/ก.ก., คะน้าเพิ่มขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 40-45 บาท/ก.ก. เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและมีพายุฝนในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง

ส่วนส้มเขียวหวาน (เบอร์ 5) ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 70-75 บาท/ก.ก. เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลผลิตที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณที่ลดลง ขณะที่หอมแดงภาคเหนือ มัดจุกหัวใหญ่ ราคาก็เพิ่มขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 70-75 บาท/ก.ก. รวมถึงหอยแครง (คละ) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 180-220 บาท/ก.ก.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมิ.ย.2566 ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ออกมาแถลงภาวะราคาอาหารสด โดยเปรียบเทียบราคาในเดือนพ.ค.2566 กับมิ.ย. 2566 โดยระบุว่า เนื้อหมูมีราคาเพิ่มขึ้น ก.ก.ละ 1 บาท ปรับจาก 144 บาท/ก.ก. เป็น 145 บาท/ก.ก. เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน มีผลทำให้หมูโตช้า ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่วนไก่ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสภาพอากาศร้อน แต่ปริมาณผลผลิตยังเพียงพอต่อความต้องการ โดยเนื้อน่องติดสะโพก ราคา 80 บาท/ก.ก. เนื้อน่อง ราคา 83 บาท/ก.ก. เนื้ออกไก่ ราคา 79 บาท/ก.ก. ขณะที่ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 4.04 บาท/ฟอง เป็น 4.06 บาท/ฟอง แต่ราคามีทิศทางทรงตัว และยังอยู่ในโครงสร้างที่กรมดูแล

★ ขนมไทยโคราชโอดไข่แพง

ส่วนสถานการณ์ราคาไข่ไก่และไข่เป็ดปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารเดือดร้อน ต้องแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ร้านบ้านขนมไทย โคราช ถนนจันทร์ เขตเทศบาลนคร(ทน.)นครราชสีมา

น.ส.สุดา เหรียญมณี อายุ 59 ปี เจ้าของร้านบ้านขนมไทยโคราช เปิดเผยว่า ทางร้านมีพนักงาน 15 คน ทุกวันใช้ไข่ไก่และไข่เป็ดเฉลี่ยวันละ 15-20 แผง ใช้ไข่เป็ดเป็นวัตถุดิบหลักทำขนมไทย เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ขนมฝอยทอง ขนมทองเอก ขนมเม็ดขนุน ส่วนไข่ไก่ใช้สำหรับผลิตเบเกอรี่ หากมีเทศกาล หรือช่วงวันสำคัญต่างๆ ใช้ไข่ไก่และไข่เป็ดกว่า 30 แผงต่อวัน จากเดิมเคยซื้อแผงละ 110-120 บาท ขณะนี้ปรับขึ้นราคาเป็นแผงละ 135 บาท นอกจากนี้ต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ โดยเฉพาะแก๊สหุงต้ม และน้ำตาลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนขึ้นไปอีก ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ประมาณร้อยละ 15-20 แต่ยังคงขายราคาเท่าเดิม ขอดูสถานการณ์ว่าไข่ไก่-เป็ดและวัตถุดิบอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นไปกว่านี้อีกหรือไม่ หากขึ้นราคาไปอีก ในปลายปีนี้มีแผนปรับลดจำนวน หรือปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดเพื่อให้กิจการร้านสามารถดำรงอยู่ได้

“ร้านบ้านขนมไทย โคราช ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2529-2537 มีการปรับปรุงบ้าน ให้เป็นร้าน “บ้านขนมไทย” ในปี 2538 และเป็นร้านขนมไทยที่อยู่คู่กับชาวโคราชมาจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่สถานที่ตั้งร้านเป็นที่ดินของตนเอง ไม่ต้องเช่ารายเดือน หากไม่ใช่ที่ดินของตนเอง คงไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว ที่สำคัญผู้ประกอบการหลายรายกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขโดยด่วน” น.ส.สุดากล่าว

★ ‘กปน.’ขอขึ้นน้ำประปา

วันเดียวกัน รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หยิบยกเรื่องที่การประปานครหลวง(กปน.) เสนอขึ้นค่าน้ำเข้ามายังกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากที่ผ่านมาผลการดำเนินการขาดทุนมาตลอด และไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์บอกกับที่ประชุมว่าหากรัฐบาลให้ขึ้นค่าน้ำตอนนี้ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เหตุที่กปน. มาขอช่วงนี้ เพราะเกรงว่าหากไปขอรัฐบาลใหม่ จะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ดำเนินการอะไรก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะอยู่ในหน้าที่แล้วไม่ดำเนินการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหาทางออก อาจจะลดต้นทุนของ กปน. เช่น การขอลดราคาค่าไฟที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา หรือลดกำไรที่ส่งให้กระทรวงการคลัง

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมครม. นายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร นายกฯ ฝากเรื่องนี้กับกระทรวงการคลังไปดูว่าเป็นยังไง ส่วนการจะอนุมัติต่อหรือไม่นั้น คงต้องรอข้อสรุปและถ้าต่ออายุก็ต้องเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.พิจารณาตามกฎหมายก่อน

สำหรับมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรนั้นที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง พร้อมหารือกับกระทรวงพลังงาน ตามข้อสั่งการของนายกฯ ที่ให้ไปหาแนวทางร่วมกันเพื่อรองรับกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ เชื่อว่ายังสามารถใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านการบริหารสภาพคล่อง เพื่อมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลแทนได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ของรัฐบาลรวม 7 ครั้ง กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐมากถึง 158,000 ล้านบาท

★ เขื่อนปราณฯวิกฤต-งดส่งน้ำทำนา

วันเดียวกัน นายกานต์ โพธิดอกไม้ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตอนนี้เข้าสู่วิกฤตแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนจะเหลือประมาณ 18% หรือ 72 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากความจุทั้งหมด 391 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนปราณบุรีได้ประชาสัมพันธ์เป็นประจำ ล่าสุดประชุม กลุ่มส.ป.ก.ปราณบุรี ร่วมกับกลุ่มส.ป.ก. แปลงใหญ่มะม่วง แปลงใหญ่มะพร้าว แปลงใหญ่ทุเรียนและแปลงใหญ่อ้อย รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ ที่สปก.ปราณบุรี มีการชี้แจงทำความเข้าใจแต่ละกลุ่มเหล่านี้ได้รับทราบสถานการณ์อย่างดี

พื้นที่ที่ใช้น้ำของเขื่อนปราณบุรี ทั้งหมด 212,000 ไร่ ในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี และบางส่วนของอำเภอเมือง ปัจจุบันมีคำสั่งให้อ.ปราณบุรี อ.หัวหิน งดส่งน้ำเพื่อการเกษตร จะเน้นหนัก ด้านการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งประปา ประปาหมู่บ้าน ประปาส่วนภูมิภาคและประปาเทศบาลหัวหิน อนาคตข้างหน้า 1-2 เดือน จากการคาดการณ์จากอุตุนิยมวิทยาเพราะจะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงนี้ ปริมาณน้ำลงเขื่อนถือว่าน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย

นายกานต์กล่าวต่อว่า อยากให้ราษฎรเบาใจเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค กรณีไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเลย เรายังสามารถมีน้ำอุปโภคบริโภคไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.เป็นอย่างน้อย ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเมืองหัวหิน ตอนนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนเพียงพออยู่จนถึงเดือนธ.ค. แต่เราก็ประชุมกับทางเทศบาลหัวหินเป็นประจำถึงแผนการสำรองต่างๆ ซึ่งทางเทศบาลมีแผนสำรองการใช้น้ำในส่วนน้ำอุปโภคบริโภคไว้แล้ว สำหรับสระประปาเขื่อนปราณบุรีรับผิดชอบ 30 แห่ง มีหลายแห่งที่เริ่มขาดแคลนน้ำ เขื่อนนำรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำเข้าไปเติมให้สระประปา 2-3 จุดแล้ว ตอนนี้กำลังทยอยดำเนินการตามจุดอื่นๆ ต่อไป หากสระประปาแห่งไหนขาดแคลนน้ำ หรือมีแนวโน้มจะขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งทางเขื่อนปราณบุรีได้ จะเร่งดำเนินการแก้ไขให้

“อยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างมีคุณค่าให้มากที่สุด ใครทำการเกษตรก็ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนนาข้าว อยากขอความร่วมมือ ถ้างดได้ก็ควรงด ส่วนพืชผลอื่นๆ หรือไม้ยืนต้นที่อายุมากๆ ถ้ามีแนวโน้มว่าจะเกิดความเสียหายก็ขอให้รีบแจ้งมา เขื่อนมีเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ รถแบ๊กโฮหรือรถบรรทุกน้ำ ทางเราสแตนด์บายไว้พร้อมแล้ว” นายกานต์กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน