เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย.2566 วงการคณะสงฆ์มหาสารคาม สูญเสียพระเกจิชื่อดัง คือ “พระราชมงคลวัชรสิริ” หรือ “หลวงปู่เสาร์ ธัมมโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

มรณภาพอย่างสงบด้วยอาการโรคชรา ภายในกุฏิวัดโพธิ์ศรี เวลา 21.30 น. สิริอายุ 105 ปี พรรษา 39

เป็นพระเกจิที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย ทรงวิทยาคม และได้รับความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งเป็นพระภิกษุที่มีอายุมากที่สุดของคณะสงฆ์มหาสารคาม

มีนามเดิม เสาร์ ศิริพล เกิดเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2462 ที่บ้านหนองแวง ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ นายแดงและนางตุ้ม ศิริพล ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ช่วงวัยเยาว์ จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนในหมู่บ้านแล้วออกมาช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง

ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ เข้าไปช่วยงานวัด จนเป็นที่ชื่นชมของพระภิกษุ-สามเณร และคนในหมู่บ้าน

อายุ 17 ปี เข้าพิธีบรรพชา ที่วัดในหมู่บ้าน แล้วกลับมาอยู่ที่วัดบ้านหนองแวง มุมานะศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยความตั้งใจ เนื่องจากเป็นคนมีความจำดี หัวไว เรียนหนังสือเก่ง เวลาไม่นานก็สามารถท่องบทสวดมนต์ทั้ง 7 ตำนาน และ 12 ตำนานได้ในเวลาเดือนเดียว

จากนั้น เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่สูงขึ้นกับพระครูสุตสารวิสิษฐ์ (หนู จันทสโร) วัดบ้านกุดแคน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม

อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์เวลา 2 ปี แต่ด้วยความจำเป็น จึงลาสิกขาออกมาช่วยเหลือพ่อแม่ทำนาเลี้ยงชีพ

หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนถึงปี พ.ศ.2528 เห็นว่าความสุขในชีวิต ผู้ครองเรือน ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง โดยเข้าพิธีอุปสมบทที่อุโบสถวัดใต้แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

มีพระครูชัยสิทธิคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพสารคามมุนี เจ้าอาวาสวัดอภิสิทธิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม), พระอธิการสุวรรณ อติภัทโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการโสภณ จันทโชโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์

กลับมาจำพรรษาอยู่วัดบ้านเกิด ด้วยเห็นว่าสังขารนั้นไม่เที่ยง ตราบที่ธาตุขันธ์ยังดีอยู่ จึงออกจาริกแสวงหาโมกขธรรมไปตามป่าเขาหลายแห่งในภาคอีสาน โดยเฉพาะเทือกเขาภูพาน

ครั้งหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับช้างป่า ในระยะประชิด ด้วยความมีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง สวดแผ่เมตตาไม่นาน ช้างป่าก็เดินหายไปในป่า ไม่ทำร้ายแต่อย่างใด

จำพรรษาอยู่ที่วัดทรายมูล ต.บ้านจันทน์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และที่วัดอ้อมกอ ต.อ้อมกอ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี รวมเป็นเวลานานถึง 7 พรรษา จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านหนองแวง

ต่อมาวัดโพธิ์ศรี บ้านโคกศรี จ.มหาสารคาม ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดว่างลง คณะสงฆ์เห็นว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงได้แต่งตั้งให้มาอยู่จำพรรษา และให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนตราบจนวาระสุดท้าย

วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ครองตนด้วยความสมถะ เรียบง่าย เจริญกัมมัฏฐานทั้งเช้าและเย็น อีกทั้งยังสืบสายธรรมศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิหลายท่าน อาทิ หลวงปู่สิงห์ วัดหนองแวง จ.มหาสารคาม, หลวงปู่มุข วัดบ้านจันทน์ จ.อุดรธานี เป็นต้น

ด้วยวัตรปฏิบัติสุปฏิปันโน จึงเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ในแต่ละวันจึงมีผู้เข้ามากราบนมัสการรับฟังธรรมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็ให้ความอนุเคราะห์จนเป็นที่พึงพอใจทุกราย

สำหรับหัวข้อธรรมที่พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท และให้ยึดศีล 5 ไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆรักษ์ ในฐานานุกรม พระเทพสารคามมุนี เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ขณะนั้น

ล่าสุด วันที่ 6 พ.ค.2565 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชมงคลวัชรสิริ

แม้มีอายุมากกว่าศตวรรษ แต่จิตใจของท่านยังเข้มแข็ง มีเรี่ยวแรงสนองศรัทธาสาธุชนได้เกินวัย

แต่ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ท้ายที่สุดก็มรณภาพอย่างสงบท่ามกลางความโศกาลัยของศิษยานุศิษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน