เริ่มเดือนกย.นี้ ผัก-ไข่ก็แพงหูฉี่

อ่วมแน่! ข้าวสารขยับราคาอีก ถุงละ 10 บาท เริ่มเดือนก.ย.นี้ ข้าวหอมมะลิปรับขึ้น 10 บาท/ถุง 5 ก.ก. ข้าวเจ้าขึ้น 5 บาท/ถุง สมาคมค้าปลีกแจงเป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งกับอินเดียผู้ส่งออกรายใหญ่ ของโลกหยุดส่งออก กรมการค้าภายในเรียกถกผู้ประกอบการข้าวเพื่อคุมราคา ขณะที่ ‘ไข่-ผัก’ก็ปรับขึ้นยกแผงแล้ว ผักชีพุ่งอีก 10 บาท เป็นก.ก. 130-150 บ. ต้นหอมคัดจาก ก.ก. 100 เป็น 120 ชี้เหตุอากาศแปรปรวน ทำผลผลิตน้อย ไข่ไก่เบอร์ 3 ขยับขึ้นอีกฟองละ 10 สตางค์ เป็น 4.60 บาท แห่สั่งจองดอกมะลิวันแม่คึกคัก ตรังราคาพรวด ก.ก. 2 พันบาท ขณะที่ทั่วประเทศเฉลี่ย 1-1.5 พันบาท ด้าน กก.พลังงานแจงหากให้ลดค่าไฟต้องใช้งบกว่าหมื่นล้าน รอรัฐบาลใหม่ชี้ขาด

จ๊าก-ข้าวสารจ่อขึ้นถุง 5-10 บ.
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยถึงราคาข้าวภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งและกรณีอินเดียผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกหยุดส่งออกข้าวว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ผู้ค้าข้าวสารบรรจุถุง ได้แจ้งขอยกเลิกราคาโปรโมชั่นข้าวถุงตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว รวมทั้งแจ้งขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงล็อตใหม่ด้วย ข้าวเปลือกราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้ค้าล่าสุดแจ้งว่าจะปรับราคาขึ้นอีก โดยข้าวสารหอมมะลิจะปรับขึ้น 10 บาท/ถุงขนาดบรรจุ 5 ก.ก. ส่วนข้าวสารเจ้า จะปรับขึ้น 5 บาท/ถุงขนาดบรรจุ 5 ก.ก. จะมีผลตั้งแต่เดือนก.ย.2566 เป็นต้นไป ส่วนเดือนนี้อาจยังไม่ขึ้น เนื่องจากร้านค้าบางรายยังมีสต๊อกข้าวเก่าซึ่งเป็นราคาเดิมอยู่ แต่เดือนหน้าคงเห็นการปรับราคาขึ้นแน่นอน” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ถึงแนวโน้มราคาข้าวสารว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะปรับสูงขึ้นอีกมากแค่ไหน เนื่องจากต้องรอดูผลผลิตข้าวในประเทศรวมทั้งมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูกว่าจะเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอ ราคาข้าวจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และอาจเห็นสินค้าชนิดอื่นๆ ที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต แจ้งขอปรับขึ้นราคามาอีก เช่น เส้นหมี่ขาวอบแห้ง และเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาข้าวจะเป็นช่วงขาขึ้น แต่ยังไม่พบว่าผู้บริโภคมีการเร่งซื้อข้าวในปริมาณที่มากขึ้นในลักษณะของการกักตุน เนื่องจากภาพรวมตลาดการค้าข้าวถุงยังไม่ดีนัก คนยังมีกำลังซื้อน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน มีความล่าช้า อยากให้รัฐบาลจัดตั้งได้เร็วเร่งเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อภาคการเกษตร เพราะหากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงจะทำให้สินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวราคาแพงขึ้นแน่นอน

พาณิชย์จ่อถกผู้ค้า
ด้านนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ ซึ่งอาจเป็นสัปดาห์นี้ กรมการค้าภายใน จะเชิญผู้ประกอบการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงเข้ามาหารือ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านปริมาณ และราคาข้าวสารว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร ทั้งในส่วนของราคาวัตถุดิบข้าวเปลือก ข้าวสาร และต้นทุนการผลิตอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาจำหน่าย นอกจากนี้ จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสต๊อกข้าวสารของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อดูแลราคาจำหน่ายข้าวสารให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงราคาจำหน่ายส่ง ข้าวสารคัดขาย บริโภคภายในประเทศ ของสมาคมโรงสีข้าวไทยว่า เมื่อเปรียบเทียบราคาช่วงเดือนก.ค.กับส.ค.2566 พบว่า ข่าวทุกชนิดมีราคาปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวขาว 100% ชั้น 1 ปรับขึ้น 2.50 บาท/ก.ก. จาก 20.50 บาท/ก.ก. เป็น 23 บาท/ก.ก., ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ปรับขึ้น 3 บาท/ก.ก. จาก 19.50 บาท/ก.ก. เป็น 22.50 บาท/ก.ก. และ ข้าวขาว 5% ปรับขึ้น 2.5 บาท/ก.ก. จาก 19 บาท/ก.ก. เป็น 21.50 บาท

ไข่ก็ขยับ-ผักชีพุ่งกิโล 150 บ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าเกษตรเปรียบเทียบสัปดาห์ก่อนกับสัปดาห์นี้พบว่ามีหลายรายการที่ราคาปรับเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ต้นหอม คัด ปรับขึ้น 20-25 บาท/ก.ก. จาก 90-100 บาท/ก.ก. เป็น 115-120 บาท/ก.ก., ผักชีคละ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. จาก 100-110 บาท/ก.ก. เป็น 110-120 บาท/ก.ก., ผักชีคัด ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก.จาก 120-140 บาท/ก.ก. เป็น 130-150 บาท/ก.ก., มะเขือเทศสีดาคัด ปรับขึ้น 15 บาท/ก.ก. จาก 40-45 บาท/ก.ก. เป็น 55-60 บาท/ก.ก.ม แตงกวาคัด ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. จาก 35-40 บาท/ก.ก. เป็น 40-45 บาท/ก.ก. เนื่องจากอากาศแปรปรวนมีฝนตกสลับร้อนทำให้ผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ไข่ไก่เบอร์ 3 ยังปรับราคาเพิ่มขึ้นฟองละ 10 สตางค์ จาก 4.50 บาท/ฟอง เป็น 4.60 บาท/ฟอง ขณะที่ไข่เป็ดขนาดกลาง ปรับขึ้นฟองละ 10 สตางค์ จาก 5.45 บาท/ฟอง เป็น 5.50 บาท/ฟอง

‘ดอกมะลิ’ขึ้นพรวดกิโล2พัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ก่อนถึงวันสำคัญของไทย โดยเฉพาะวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ทุกๆ ปี ราคาดอกมะลิจะมีราคาแพงมาก และในปีนี้เช่นกัน ราคาดอกมะลิตามสวนของเกษตรกรผู้ปลูกมะลิ และร้านดอกไม้ต่างๆ ได้ขยับราคาขึ้นกันแล้ว

ที่อ.เมือง จ.ตรัง นางบำเพ็ญ มาจิตตรา อายุ 55 ปี เกษตรกรที่ปลูกต้นมะลิ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลวันแม่แห่งชาติดอกมะลิก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของแม่ค้า ซึ่งราคาในท้องตลาดทราบว่าอยู่ที่ 1,000-2,000 บาทต่อ ก.ก.แล้ว แต่ตนก็ยังขายแค่ 300 บาทต่อ ก.ก. แม้ว่าราคาปุ๋ยจะปรับลงมาบ้าง แต่ยังต้องซื้อมาเพื่อเร่งให้มะลิออกดอกแล้วเก็บมาขาย

ส่วน จ.พิษณุโลก ร้านดอกไม้ตลาดศาล ปู่ดำ เทศบาลนครพิษณุโลก ขายดอกมะลิ จากราคากิโลกรัมละ 600 บาท เป็น 800 บาท ตามช่วงเวลาเทศกาลทุกปี ขณะที่ทางพ่อค้าแม่ค้าเริ่มร้อยดอกมะลิ เป็นพวงมาลัย ขนาดต่างๆ ไว้จำหน่าย พร้อมกับแพ็กแช่เย็นไว้จำหน่ายให้ลูกค้า มีราคาตั้งแต่พวงละ 10 บาท จนถึงพวงละ 350 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความสวยงามให้เลือกซื้อ

นายสงกรานต์ คะชานันท์ พ่อค้าร้านดอกไม้สด กล่าวว่า ปีนี้ดอกมะลิในช่วงวันแม่ น่าจะปรับราคาขึ้นสูงถึง 1,500 บาท ทั้งนี้เนื่องจากปีนี้ดอกมะลิออกจากสวนค่อนข้างน้อย ประกอบกับสภาพอากาศที่มีฝนตกตลอดเวลา ทำให้ดอกมะลิเป็นเชื้อราได้ง่าย ทำให้ราคาปรับขึ้นตามปัจจัยดังกล่าว แต่ถ้าในช่วงฤดูหนาว ราคาดอกมะลิจะมีราคาสูงถึงกิโล กรัมละ 3,000 บาท ทางพ่อค้าแม่ค้าจะทราบกันดี

ที่สวนมะลิคุณดาว ต.บางเพลิง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าเกษตรกรกำลังเร่งเก็บดอกมะลิที่กำลังออกดอกตูมสีขาวเต็มสวนดอกมะลิ ส่งกลิ่นหอมไปทั้งสวน เพื่อเตรียมส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าทั่วประเทศ เพื่อนำไปทำเป็นพวงมาลัย ขายในช่วงของวันแม่แห่งชาติ

ราคาพุ่ง – สวนมะลิคุณดาว อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งเก็บดอกมะลิ ส่งขายทั่วประเทศตามคำสั่งซื้อนำไปทำพวงมาลัยวันแม่ โดยราคาขยับสูงขึ้นจากก.ก.ละ 250 บาท เป็น 600 บาท บางพื้นที่สูงกว่าพันบาท เมื่อวันที่ 9 ส.ค.

ยอดออร์เดอร์วันแม่คึกคัก
น.ส.นรินทร์ กาบอุบล อายุ 46 ปี เจ้าของสวนมะลิเปิดเผยว่า ปกติช่วงหน้าฝนราคาดอกมะลิจะอยู่ที่ ก.ก.ละ 20-250 บาท แต่พอเข้าสู่ในช่วงใกล้วันแม่ ราคาขยับขึ้นเป็น ก.ก.ละ 400-600 บาท ในปีนี้มียอดสั่งจองเพิ่มเข้ามาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เพราะเป็นจังหวะที่เป็นวันพระ ทำให้ตลาดมีความต้องการดอกมะลิเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัว สวนมะลิของตนเอง จะเก็บดอกมะลิได้ประมาณ 30-40 ก.ก.ต่อวัน

ส่วนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่แปลงปลูกดอกมะลิ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น เกษตรกรในพื้นที่ต่างพากันเร่งเก็บดอกมะลิสำหรับการนำไปใช้ในการทำพวงมาลัยเนื่องในวันแม่แห่งชาติ

นางสมบูรณ์ อำไพวงษ์ อายุ 62 ปี เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิ กล่าวว่า ราคาดอกมะลิปีนี้ สูงอยู่ที่ก.ก. 1,000 บาท และคาดว่าใกล้วันแม่ราคาอาจถึง 1,500 บาท จากเดิม ก.ก.ละ 300 บาท แต่ช่วงนี้คนสั่งเยอะ แต่เกษตรกรก็มีอุปสรรคจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ต้นมะลิรากขึ้นราและเน่าตาย ปีนี้มียอดสั่งจองพวงมาลัยดอกมะลิเข้ามาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้มียอดสั่งจองแล้วประมาณ 200 พวง คาดว่ากว่าจะถึงวันที่ 12 ส.ค. น่าจะมียอดสั่งจองประมาณ 500 พวง ขณะที่การจำหน่ายพวงมาลัยดอกมะลินั้น ราคาปีนี้ไม่สูงมาก เริ่มต้นที่ 100 บาท ไปจนถึงราคา 200 บาท แต่ที่พบคือลูกค้ามาสั่งพวงมาลัยดอกมะลิในแบบต่างๆ ตามกำลังการสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งกลุ่มเกษตรกรก็จัดทำให้ตามต้องการอีกด้วย

ที่ตลาดจอแจ เขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา น.ส.จำเนียน คงกลาง อายุ 61 ปี แม่ค้าขายพวงมาลัยดอกมะลิ เผยว่า ราคาดอกมะลิ ปกติ ก.ก.ละ 400 บาท พอมาในช่วงวันแม่ราคาเพิ่มเท่าตัว กิโลกรัมละ 700-800 บาท

ชี้ลดค่าไฟใช้งบหมื่นล้าน
ส่วนปัญหาค่าไฟฟ้าแพง และข้อเรียกร้องให้มีการลดค่าบริการลง นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการ ให้ลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 2566) ลงเหลือ 4.25 บาทว่า การลดค่าไฟ ทุก 1 สตางค์ จะต้องใช้เงินประมาณ 500-600 ล้านบาท หากเป็นไปตามข้อเรียกร้องจะต้องใช้เงินงบประมาณถึง 1-1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กกพ.ไม่มีงบประมาณ คงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงใช้วิธีการบริหารต้นทุนที่มีอยู่ในโครงสร้างค่าไฟ เพื่อให้การปรับขึ้นเป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุดเท่านั้น

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุน ดังนั้น หากจะให้ลดค่าไฟลงอยู่ที่ 4.25 บาท/หน่วย คงต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคงไม่สามารถพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงได้ทันค่าไฟงวดสุดท้ายของปีนี้จะมีผลในรอบบิลเดือน ก.ย.นี้แน่นอน” นายคมกฤชกล่าว

นายคมกฤชกล่าวต่อว่า การลดค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องมีกระบวนการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าใหม่ หากจะเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ต้องใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ อาจต้องเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกทั้งยังต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอาจต้องใช้เวลา รวมทั้งการพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องทั้งของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังมีภาระค้างค่าเชื้อเพลิงนับแสนล้านบาท และอีกเหตุผลสำคัญคือ ล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลก เริ่มสูงขึ้นอีก ทำให้ปรับลดค่าไฟในงวดปลายปี 2566 ค่อนข้างลำบาก

ต้นปีหน้าจ่อขยับอีก
นายคมกฤชกล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่อัตราค่าไฟฟ้าปีหน้าจะปรับตัวขึ้นได้อีกเช่นกัน โดย กกพ.ประเมินค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เบื้องต้นมีแนวโน้มใกล้เคียงกับงวดนี้ แม้ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในราคาแพง ส่วนก๊าซในพม่า ก็มีโอกาสจะหายไป ขณะที่การใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของ สปป.ลาว ลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟที่ไทยรับซื้อปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน