จับ10มิจฉาชีพ เหยื่อสูญ66ล.

ตร.ไซเบอร์บุกทลายเครือข่ายมิจฉาชีพตุ๋นลงทุนกลุ่มบริษัท ‘อมตะ’จับอีก 10 ผู้ต้องหา แฉใช้วิธีการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มเทรดหุ้นอมตะ แอดไลน์อ้างเป็นโบรกเกอร์ชวนลงทุนระยะสั้น หลอกให้โอนเงินค่าภาษีจากผลกำไรผ่านเข้าบัญชีม้า อีกทั้งลวงผ่านเฟซบุ๊กโชว์รูป ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ประธานอมตะ มีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 200 ราย เสียหาย 66 ล้านบาท นอกจากอมตะแล้ว ยังแอบอ้างบริษัทกัลฟ์ และคาราบาวกรุ๊ป

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ สอท.2 และนายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ ร่วมแถลงจับกุม 10 ผู้ต้องหา หลอกลวงลงทุนธุรกิจกลุ่มอมตะ ในพื้นที่กทม. จ.ปทุมธานี จ.กาญจนบุรี จ.อุทัยธานี จ.ลพบุรี และจ.เชียงใหม่

พล.ต.ท.วรวัฒน์เปิดเผยว่าสืบเนื่องจาก ชุดสืบสวนทลายขบวนการหลอกลงทุน กลุ่มอมตะ จับกุมผู้ต้องหา 9 ราย จาก 11 ราย เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2566 ต่อมายังพบเพจที่ถูกปลอมเพิ่มขึ้นอีก 73 เพจปลอม มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มจากเดิมอีก 203 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 66 ล้านบาท จึงสืบสวนออกหมายจับ 19 หมาย จับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม อีก 10 ราย มีความเชื่อมโยงกระทำความผิดในรูปแบบเดียวกันหลายคดี ส่วนผู้ต้องหา ที่เหลือนั้น กำลังขออนุมัติศาลออกหมายจับกุมต่อไป

ตุ๋นหุ้นอมตะ – พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. แถลงจับ 10 ผู้ต้องหาแก๊งปลอมเพจชวนร่วมลงทุนกลุ่มบริษัทอมตะ เหยื่อ 203 คนหลงเชื่อ มูลค่าความเสียหาย 66 ล้านบาท พบใช้วิธีการเดียวกันหลอกตุ๋นลงทุนบริษัท กัลฟ์ และคาราบาวแดงด้วย เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

ผบช.สอท.กล่าวว่า สำหรับวิธีการของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จะแฝงตัวเข้ามาในกลุ่มเทรดหุ้น ของกลุ่มอมตะ แอดไลน์อ้างตัวเป็นโบรกเกอร์ โดยใช้ชื่อไลน์แตกต่างกันไป เข้ามาพูดคุยเรื่องการลงทุนระยะสั้น แจ้งผลกำไร แจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อจ่ายภาษีจากผลกำไร ให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านบัญชีม้า ซึ่งมิจฉาชีพใช้รูปโฆษณาในเพจเฟซบุ๊กชักชวนให้ลงทุนกับกองทุนอมตะ โดยมีรูปภาพนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกลุ่มอมตะ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ หลงเชื่อว่ามีผลตอบแทนที่ดี จึงติดต่อไปยัง แอดมินเฟซบุ๊กมิจฉาชีพ และแอดไลน์พูดคุย เชิญชวนให้เปิดพอร์ตแบบระยะสั้น ให้โอนเงินครั้งแรกจำนวนน้อยๆ ก่อน และให้เทรดจำนวนหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะให้โอนเงินเติมเข้าพอร์ตการลงทุนจากหลักพันบาทในครั้งแรก และค่อยๆ ให้โอนเพิ่มถึงหลักแสนบาท โดยจะแสดงผลกำไรและแจ้งกลับมา ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ

พล.ต.ท.วรวัฒน์กล่าวอีกว่าเมื่อผู้เสียหายขอปิดบัญชีเพื่อเบิกเงินออกมา มิจฉาชีพจะแจ้ง ว่าต้องเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นเงินหลักแสนอีก เมื่อผู้เสียหายไม่โอนเงิน มิจฉาชีพ จะต่อว่าและตัดการติดต่อไป หลอกลวงผู้เสียหาย หลายราย ได้ทรัพย์สินไปจำนวนมาก จึงขอให้ ตรวจสอบให้ชัดเจน เนื่องจากพบว่ามิจฉาชีพปั๊มยอด และผู้ถูกใจให้สูงใกล้เคียงเพจของจริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ปัจจุบันเฟซบุ๊กได้อัพซอฟต์แวร์ โดยมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าด้านหลังชื่อบัญชี เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ติดตามบัญชีว่าเจ้าของบัญชีมีตัวตน ไม่ใช่มิจฉาชีพ

ขณะที่พ.ต.อ.สุวัฒชัย ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ สอท.2 กล่าวว่านอกจากบริษัทเครืออมตะที่ถูกอ้างชื่อแล้ว ยังพบว่ามิจฉาชีพหลอกเหยื่อในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนบริษัท อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ไทยกรุ๊ป และบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างสืบสวนจับกุม และจากแนวทางสืบสวนพบว่าขบวนการนี้เมื่อหลอกเงินเหยื่อได้ จะนำเงินที่ได้ไปแปลงเข้าสู่คริปโตเคอร์เรนซี สกุลเงินดิจิทัล

ส่วนนายวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจอมตะ กล่าวว่ากลุ่มบริษัทอมตะมีนโยบายการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงเท่านั้น คนที่ขายต้องเป็นโบรกเกอร์ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย และรับรองโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลตอบแทน ไม่ได้สูงเท่ากับที่กลุ่มมิจฉาชีพโฆษณา กรณีที่เกิดขึ้นทางบริษัทก็เสียหายด้วยเช่นกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจ ฝากถึงนักลงทุนว่าหากจะลงทุนผ่านบริษัทใด ให้ติดต่อไปยังบริษัทนั้นโดยตรงเพื่อสอบถามก่อน และตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน