คอลัมน์ กระแสร้อน

วิกฤตโควิด-19 ภาพยนตร์ไทย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวแทนภาพยนตร์ไทยจึงรวมตัวกันจัดเสวนาถึงทางรอดในวิกฤตครั้งนี้ จัด Exclusive Talk ภายใต้หัวข้อ “เมื่อหนังไทยติดโควิด19” โดยมี วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน), ยงยุทธ ทองกองทุน Senior Director of New Business บ.จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด, สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด, เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด, พิทยา สิทธิอำนวย director of international sale บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นพร้อมผลักดันให้เกิดกองทุนภาพยนตร์แห่งชาติ โดยมี วทันยา วงษ์โอภาสี และกลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์, ภาดาท์ วรกานนท์ ร่วมเสวนาพร้อมนำข้อมูลเสนอให้กับรัฐบาล ที่ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน

วงเสวนาเริ่มพูดคุยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดย วิชา พูลวรลักษณ์ จาก เมเจอร์ ซีนีเพล็ก กรุ้ป กล่าวว่า “ภาพยนตร์ไทยมีสถิติที่น่ากังวลเพราะเหลือสัดส่วนการตลาดต่ำกว่า 30% มาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศ และเมื่อต้นปีเจอวิกฤตโควิด-19 ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เมื่อหนังฮอลลีวู้ดยังเข้าสู่ตลาดโลกได้ยาก ทำให้โรงหนังต่างก็พึ่งหนังภายในประเทศ เราจึงมาพูดคุยกันถึงยุทธศาสตร์หนังไทยในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร”

ยงยุทธ ทองกองทุน จากจีดีเอช ห้าห้าเก้า พูดถึงการนำพาภาพยนตร์ไทยไปสู่ตลาดโลก “ถ้าไม่มีวิกฤต โควิด19 หนังไทยก็ปักหมุดกับตลาดโลกมาต่อเนื่อง ในช่วงหลังหนังไทยเกือบทุกเรื่องไปฉายในตลาดอาเซียน แต่ตอนนี้เมื่อมีปัญหาโควิด ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก โรงภาพยนตร์ที่ถูกปิด วางแพลนฉายไม่ได้ ทำให้เสียโอกาส”

พิทยา สิทธิอำนวย จาก สหมงคลฟิล์มฯ กล่าวว่า “หนังไทยมีโอกาสเข้าตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ความไม่แน่นอนทำให้ทุกคนมีความระมัดระวัง ในอาเซียนหนังไทยเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพขายไปได้ทุกประเทศ เราเคยมีตลาดในอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ปัจจุบันตลาดเปลี่ยนไป สตูดิโอต่างๆ ในฮอลลีวู้ดก็ผลิตหนังสเกลใหญ่มากขึ้น ทำให้ทุนสร้างหนังที่เล็กกว่าอย่างหนังไทยก็ลดน้อยลง แต่ทุกคนก็ยังผลิตและสู้กันต่อไป”

ส่วน เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร จาก ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่นฯ เผยว่า “ขนาดของตลาดในบ้านเราก็มีส่วนสำคัญกับทุนสร้างหนังในปัจจุบัน คิดว่าคอนเทนต์ไทยไปไกลทั่วโลกได้ แต่เงินทุนที่จะผลิตสเกลให้ใหญ่ขึ้นเพื่อไปสู่ตลาดโลกได้ เราอาจจะต้องมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม”

สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง จาก ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม เผยว่า “หนังไทยปริมาณยังมีไม่พอและสเกลที่ยังเล็กอยู่ เรามาร่วมกันก็อยากจะมองว่าทำอย่างไรให้หนังไทยจะมีอายุที่ยืนและมั่นคงได้ เราก็อยากเสนอเป็น long-term project เอาเงินมาลงทุนร่วมกัน ทำหนังไทย ให้หนังมีสเกลใหญ่ขึ้น เติบโตสู้กับหนังต่างประเทศได้ ถ้าเรามีหนังไทยทุกเดือนเกิดขึ้นในเมืองไทยคิดว่าจำนวนคนดูหนังไทยเติบโตขึ้น ทำให้บรรยากาศการลงทุนหนังไทยในบ้านเราน่าลงทุน ลงไปปุ๊บก็มีคนดูมาก ทำให้เราสามารถยืนได้ด้วยขาตัวเอง แต่อยากให้กองทุนแรกต้องทำให้ได้ก่อน”

ในด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน วิชา พูลวรลักษณ์ กล่าวว่า “ลำพังภาคเอกชนถ้าเราทำหนังกันเองก็จะโตได้ในระดับหนึ่ง ในอดีตภาครัฐก็เคยเข้ามาช่วยหนังไทย ให้เงินสนับสนุน แล้วก็ร่วมสร้างหลายเรื่อง เช่น สุริโยไท และภาครัฐช่วยเอาหนังไทยไปยังต่างประเทศด้วย ยุคหนึ่งหนังไทยก็มีความแข็งแรงแล้วก็เติบโต ผมคิดว่าในเมืองไทยคุณภาพเราไม่แพ้ใครในโลก เพราะหลายประเทศก็มองว่าเราคืออันดับ 1 อยากให้ภาครัฐลองมองดูว่า อุตสาหกรรมหนังไทยที่เรียกว่าเป็น soft power จะใช้อุตสาหกรรมเราทำอย่างไรให้นำเงินเข้าประเทศได้”

วทันยา วงษ์โอภาสี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “วิกฤต โควิด ติดไปในทุกภาคส่วนธุรกิจ แต่ในทุกๆ วิกฤตจะมีโอกาสอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่เห็นโอกาสจากเรื่องของอุตสาหกรรมหรือ soft power ตรงนี้ที่รัฐควรจะหันมาส่งเสริม เป็นโอกาสการฟื้นฟูเศรษฐกิจมันมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น จริงๆ แล้วมันเป็นการผลักดันให้คนไทยเข้มแข็งอย่างไรทำให้เราขึ้นไปยืนเท่าเทียมกับเวทีต่างประเทศได้ เราเชื่อว่าคนไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกแล้วเราจะช่วยกันกอบกู้วิกฤตในครั้งนี้ได้ยังไง”

เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร กล่าวเสริมว่า “อยากให้ภาครัฐสนับสนุนถึงข้อจำกัดในการทำภาพยนตร์ ให้ไปถึงวงการต่างๆ ได้ เช่น ตอนนี้วงการบันเทิงเกาหลีทำคอนเทนต์เกี่ยวกับแพทย์มากขึ้น ซึ่งแพทย์ไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้ามีการให้โจทย์มาก็คิดว่าวงการบันเทิงไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งคำว่าวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมโบราณอีกต่อไป จะเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่จะดึงดูดและเปิดให้คนทั่วโลกให้เข้ามา”

สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง กล่าวว่า “อยากให้ช่วยกันทำกองทุนตัวนี้ให้มันเกิดขึ้น ถ้าเป็นเมืองนอกก็มีมานานแล้ว ถ้าจะช่วยกันทำตัวนี้ให้มันเกิดขึ้น โดยเอกชนก็จะใส่เงินลงไปประมาณ 60% ภาครัฐ 40% เอกชนซึ่งเคยทำหนังอยู่ปัจจุบันตอนนี้อยู่แล้วก็ไม่ได้เป็นการลดสเกลตัวเอง สามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับคนในประเทศเรา ที่ไปดูหนังฮอลลีวู้ด หันกลับมาดูหนังไทย แล้วก็สร้างสเกลของอุตสาหกรรมหนังไทย ธุรกิจหนังไทยมันโตขึ้น เพื่อวันหน้าจะมีต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในหนังไทยได้มากขึ้นอีก วันนี้เกาหลีใต้ สามารถส่งออกผู้กำกับฯ ไปกำกับหนังในจีน กำกับหนังทั่วโลก นำเงินกลับเข้าประเทศมหาศาล ตัวดารา ตัวคนเขียนบท export ได้หมดเลย ด้วยความที่เรามีหนังจำนวนน้อย เราก็มีการฝึกฝนน้อย วันหน้าถ้ากองทุนนี้เกิดขึ้น เราทำได้ปีนึง 40-50 เรื่อง ก็จะมีทักษะมากขึ้น ก็สามารถที่จะเก่ง แล้วก็สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้”

หลายเสียง หลากความคิด ที่ถ่ายทอดออกมาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้วงการภาพยนตร์ไทยเติบโตอย่างแข็งแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน