แฟลชม็อบจุดติดต้านรัฐบาล?

การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เป็นไปอย่างคึกคักอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด เริ่มเบาบาง
การแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลที่ขยายวงไปทั่วประเทศขณะนี้ ถือว่าจุดติดแล้วหรือไม่
ข้อเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา-ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นจริงได้แค่ไหน
มีมุมมองจากนักวิชาการ อดีตแกนนำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวสมัยพฤษภาทมิฬ รวมทั้งนักวิชาการด้านชุมชน และด้านสันติวิธี

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
สถานการณ์ตอนนี้มันจุดติด คล้ายช่วงต้นปีก่อนวิกฤต โควิด แต่แง่การจัดการบางแห่งเข้มข้นและเป็นระบบกว่าเดิม และไม่ใช่กลุ่มนักศึกษาและนักเรียนเท่านั้นครั้งนี้บางจุดเป็นการดำเนินการโดยมวลชนและมีนักเรียนเข้าร่วม เช่น ที่อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ และอีกหลายที่ที่มวลชนไปเข้าร่วมกับนักเรียน นักศึกษา
สถานการณ์วันนี้มันเกินจุดสุกงอมมาแล้ว สุกงอมมาตั้งแต่สืบทอดอำนาจ เรื่องรัฐธรรมนูญ กลไกเลือกตั้งที่อัปลักษณ์ การตัดสินคดีความต่างๆ การคุกคามประชาชนที่กว้างขวางขึ้น การถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณขณะที่ประชาชนทุกข์ยาก ตกงาน
ข้อเรียกร้องการยุบสภานั้น การเลือกตั้งใหม่ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพราะถ้าใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็จบข่าว แต่หลังได้รัฐบาลใหม่ สภาใหม่แล้วจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ค่อยว่ากัน
ข้อสำคัญการยกร่างใหม่ ถ้าการร่างยังอยู่ในมือของรัฐบาลนี้ก็แน่นอนออกมาบิดๆ เบี้ยวๆ แบบฉบับ 2560 ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องร่างใหม่ อาจใช้ฉบับ 2540 เป็นหลัก แล้วปรับแก้เล็กน้อย
ถ้าร่างใหม่ต้องมีตัวแทนจากประชาชนจริงๆ หมายความว่าต้องได้รัฐบาลที่มาจากประชาชนก่อน ต้องใช้กระบวนการเลือกตั้ง กลไกที่จะได้รัฐบาลโดยยึดฉบับ 2540 ซึ่งตรงนี้ ทุกฝ่ายก็รับได้หมด ยกเว้นผู้มีอำนาจ
ประเด็นที่อยากเพิ่มเติม คือ การให้ส.ว.ลาออก เพราะ ส.ว.คือเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจของคสช. แต่ถ้าใช้รัฐธรรมนูญ 40 ส.ว.ก็จะหมดหน้าที่ไปโดยปริยาย
รัฐบาลต้องเห็นแก่ประเทศชาติ ประชาชน ทำตามคำเรียกร้องของนักศึกษา เพราะทั้ง 3 ข้อไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ทำให้ประเทศหายนะ แต่การอยู่ในอำนาจต่อจะนำไปสู่ปัญหาได้ เริ่มด้วยการยุบสภา ลาออก แล้วจัดการเลือกตั้ง จากนั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จัดเลือกตั้ง
สำหรับการชุมนุมต้องพึงระวังต่อประเด็นที่ทำให้รัฐหรือผู้มีอำนาจนำมาเป็นข้ออ้างปราบปราม ควรเน้นที่โครงสร้างสังคม ความเหลื่อมล้ำ และอำนาจที่ผูกขาดโดยคนคนเดียว แต่ให้ระวังการไฮด์ปาร์ก หรือชูป้ายต่างๆ
แน่นอนนิสิตไม่มีทางสร้างความรุนแรงแต่อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้อีกฝ่าย หรือกลุ่มไม่หวังดี หยิบมาเป็นเงื่อนไขใช้ความรุนแรง ที่ผ่านมาการจัดหลายที่ค่อนข้างดี คุมโทนได้
ข้อเรียกร้องของนักศึกษาชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรค หรือกลุ่มใด พรรคการเมืองต้องอย่าไปยุ่งกับการชุมนุม หรือเวทีของเขา แต่การไม่ยุ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น พรรคการเมืองก็ต้องประกาศท่าทีที่ชัดเจนว่าเห็นอย่างไรต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษา ต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่
กรณีผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ออกมาห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหว จะเข้าทำนองที่ไหนมีแรงกดที่นั่นก็มีแรงต้าน หลังการรัฐประหารมีพื้นที่เดียวที่มีอิสรเสรีภาพ คือสถาบันการศึกษา ผู้บริหารควรดำรงไว้ซึ่งหลักการนี้
จะเห็นว่าการชุมนุมรอบแรกตอนต้นปีไม่มีความรุนแรงเลย นักศึกษา นักเรียนที่ชุมนุมไม่ได้สร้างความเสียหายให้สังคมหรือสถาบันนั้นๆ ผู้บริการไม่ควรกลัว การชุมนุมหลายแห่งอาจารย์ในสถาบันต่างๆ ก็เข้าร่วมด้วยเพียงแต่ไม่ได้แสดงตัว เท่ากับประกันได้ว่าหากการชุมนุมก้าวร้าวมวลชนก็ไม่ไปร่วม อาจารย์ก็ไม่ไป
การชุมนุมนั้นจะประสบความสำเร็จแบบเบ็ดเสร็จในระยะสั้นไม่เกิด แต่การสะสมชัยชนะจะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะไม่มีทางที่ทุกอย่างจะหยุดนิ่งหรือถอยหลังอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้ตลอดไป
แต่ตอบไม่ได้ว่าจะสำเร็จเมื่อไร ตัวเร่งสำคัญคือกระแสสังคม และคนที่กำลังปฏิบัติการตอนนี้คือนิสิต นักศึกษาที่โตขึ้นท่ามกลางรัฐไปกดเขา ซึ่งเป็นเสียงที่มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่ๆ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย

โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี
ม.มหิดล
การที่นักเรียน นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ถือเป็นเวทีฝึกเยาวชนที่ขอพื้นที่พูดถึงปัญหาของพวกเขา ต้องรับฟังและถ้ามีแง่มุมที่ฟังแล้วสามารถตอบสนองได้ก็เป็นเรื่องดี
ข้อเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ยอมรับว่าทิศทางเป็นไปได้ยาก เพราะตอนนี้มีรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว คงต้องให้นักกฎหมายชี้ว่าทำได้หรือไม่ หรือถ้าทำจะทำได้มากน้อยแค่ไหน
รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นสำคัญ ถ้าไม่จริงจังกับการแก้ไขก็มองว่าความไม่พอใจขุ่นเคืองจะเพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความไม่น่าพอใจด้วยประการทั้งปวงอยู่แล้ว ขณะที่รัฐบาลรับปากจะแก้ไข นำไปเป็นนโยบายเร่งด่วน แต่มีท่าทียื้อจนถูกมองว่าไม่เอาจริงเอาจัง
ถ้าจริงจังจะแก้ก็น่าจะมีโรดแม็ปที่ชัดเจน เผื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งในระบบเลือกตั้งที่ดี และเป็นการแข่งขันอย่างสุจริตเที่ยงธรรมมากขึ้น และไม่ต้องสืบทอดอำนาจแล้ว นั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี
ส่วนข้อเรียกร้องที่ทำได้ง่ายคือการหยุดคุกคาม ซึ่งรัฐบาลยอมให้นักศึกษาชุมนุม อันเป็นเวทีที่เยาวชนจะได้บอกถึงปัญหาของเขา สถานการณ์วันนี้เจ้าภาพหลักคือเยาวชนก็ต้องให้เขาออกมาแสดงบทบาทมากกว่าคนอื่น
ข้อระวังสำหรับการเคลื่อนไหว ต้องดูว่าประเพณีนิยม อนุรักษนิยมเขากลัวอะไร ถ้าเคลื่อนไหวไปมาจะไปกระทบสถาบัน ขอร้องอย่าไปเฉียดประเด็นนี้เข้า ถ้าระวังตรงนี้ความกลัวของฝ่ายประเพณีนิยมก็จะลดลง นักศึกษาเองก็ต้องรู้ว่า บางอย่างก็มีขอบเขตอยู่ ถ้าเป็นไปตามนี้ได้ก็จะเป็นการประนีประนอมกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ถูกมองเชื่อมโยงการเมือง เพราะนักศึกษาเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญ จะแก้ได้อย่างไรถ้าไม่ให้นักการเมืองช่วยแก้ เพราะลำพังนักศึกษายังไม่มีพลังเพียงพอ และยังไม่มีกติกาที่จะให้นักศึกษาลงประชามติกันเองเพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้ นอกจากตามมาตรา 256 ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ ง่ายที่สุดก็คือรัฐบาลเป็นเจ้าภาพบวกกับสภา ส่วนนักศึกษาเป็นเพียงกลุ่มตั้งต้น ผู้ริเริ่มถามไถ่ว่าเอาจริงสักทีได้หรือไม่กับการแก้รัฐธรรมนูญ
สำหรับท่าทีของผู้บริหารสถานศึกษาต่อการชุมนุม ถ้าจำกันได้เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ปฏิกิริยาของผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถอนชื่อนักศึกษาออกจากการเป็นนักศึกษา เหมือนไล่ออก ทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้กลับ จึงขออย่าให้ถึงกับขับไล่นักศึกษาเหมือนที่ผ่านมา แต่สถานการณ์วันนี้มองว่ายังไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
การชุมนุมจะยืดเยื้อต่อไปหรือไม่นั้น ถ้ารัฐบาลรับข้อเสนอก็จะอยู่ที่นักศึกษาว่าพอใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนถ้าปฏิกิริยาการชุมนุมเกินขอบเขตมันคงเหมือนโยนเชื้อเพลิงเข้ากองไฟ หน้าที่ของฝ่ายรัฐมีสองอย่างคือ รับฟังข้อเรียกร้องและหาทางไม่ให้มีไฟเกิดขึ้น
ซึ่งไฟที่ว่าอาจมาจากบางส่วนของราชการเอง หรือมาจากใครก็ตามที่เข้าไปแทรกแซง หรือแม้แต่บรรดาฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็อยากให้เยาวชนคอยเฝ้ากันเองด้วย

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน
และบริหารศูนย์รังสิต มธ.
ม็อบวันนี้เป็นภาคต่อของแฟลชม็อบก่อนหน้าโควิดระบาด แต่แตกต่างออกไปคือตอนเป็นแฟลชม็อบ นิสิต นักศึกษา อยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนนี้เคลื่อนไหวออกมาข้างนอกในลักษณะการรวมตัวกัน
แม้จัดกิจกรรมตามสถาบันการศึกษาอยู่ก็ตาม แต่ก็มีการรวมกันอย่างเช่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปอยู่ที่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้เทียบได้กับสถานะของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับมาก่อน คือเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง
ตอนนี้โควิดผ่านไป แม้ว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยังประกาศใช้อยู่แต่เหมือนจะเอาไม่อยู่ จึงมองว่าสถานการณ์ขณะนี้เริ่มใกล้เคียงกับช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณ
อยากให้รัฐบาลนี้มองบทเรียนในอดีตทั้งสองรัฐบาล คือการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุของความไม่พอใจว่าที่นิสิต นักศึกษา ออกมาเรียกร้องตอนนี้คืออะไร ถ้าไม่แก้ที่เหตุก็จะแก้ปัญหาไม่ได้
ต้องเข้าใจว่าแม้มีการเลือกตั้งแล้วแต่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นแค่ครึ่งเดียว เพราะส.ว.ที่คสช.เลือกไว้ เป็นคนเลือกนายกฯร่วมด้วย และส.ว.เป็นคนให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ จะมีระยะที่เป็นแบบนี้ไปอีกถึงปี 2567
ในแง่ของนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก เขารอคอยมาหลายปีแต่เลือกตั้งเสร็จสิ้นก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ในแง่สิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ใหญ่ต้องมองนิสิตนักศึกษาแบบเข้าใจเพื่อแก้ไข
ข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญก็มีประเด็นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย อยากให้รัฐบาลมองไปถึงเหตุที่เขาออกมาเรียกร้องและแก้ไขที่เหตุคือรัฐธรรมนูญมีปัญหา และต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
ผมไม่ได้คิดว่าทุกคนที่มาชุมนุมด้วยกันเป็นคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่ต้องยอมรับพรรคอนาคตใหม่คือพรรคที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สุดเลือก เมื่อพรรคนี้ถูกยุบก็กลายเป็นออกมานอกสภา แทนที่จะให้เขามีตัวแทนทำงานในสภา
การใช้วิธีจำกัดการแสดงออก จับกุมพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมกีดกันขัดขวาง สร้างความรู้สึกว่าถูกคุกคาม การจับกุมแจ้งข้อหาก็มีอยู่จริง ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ทันที เพียงแค่รัฐบาลเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าให้การแสดงออกของนิสิต นักศึกษา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
เป็นสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลควรรับฟังเขาอย่างจริงจัง หากกีดกัน จับกุม จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวขยายวงขึ้นมาได้
ส่วนการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา บางครั้งเรื่องการรักษาความปลอดภัยการชุมนุมอาจต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะการดูแลความสงบเรียบร้อยไม่ให้ใครเข้ามาแทรกซึมหรือสร้างสถานการณ์ต้องร่วมมือกัน ทำให้การชุมนุมเป็นที่ปลอดภัยสบายใจ
ยกตัวอย่างระหว่างการชุมนุมอาจมีบุคคลเข้ามาแล้วชูป้ายบางอย่างต้องร่วมมือกันดูแล ไม่เช่นนั้นจะถูกเหมาทันทีว่าทั้งหมดคิดแบบนั้นทำให้อาจเสียแนวร่วมได้ จึงอยากเชิญชวนให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ได้
การชุมนุมอยากให้ดูม็อบในอดีตเป็นตัวอย่าง อยากให้แสดงออกในแบบที่ดีกว่าผู้ใหญ่ที่ผ่านมา ทำอย่างไรให้แตกต่าง จาก กปปส.หรือ นปช. อยากให้ระวังเรื่องการยกระดับการชุมนุมว่าจะทำได้ขนาดไหน ควรเป็นลักษณะว่าทำอย่างไรให้เป็นเสียงของนิสิต นักศึกษา ที่ผู้ใหญ่ต้องรับฟัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน