รายงานพิเศษ

พรเทพ อินพรหม

ผลผลิตลำไยพาบินลัดฟ้าแอ่วเมืองเหนือ จ.เชียงใหม่ พบปะเกษตรกรผู้ปลูก ‘ลำไย’ เตรียมรับมือต้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่ในปีนี้มีสัญญาณน่าเป็นห่วงหนักกว่าทุกปี

8 จังหวัดภาคเหนือ เป็นพื้นที่ปลูกลำไยจำนวนมหาศาลของประเทศ ในทุกปีจะมีผลผลิตลำไยที่กำลังออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ส.ค.

ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 686,000 ตันเศษ โดยขณะนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว เพียง 5,900 ตัน สัดส่วนเพียง 1% เศษ

นางจินดา สมศรี เจ้าของสวนลำไยในอำเภอสันป่าตอง ในพื้นที่ 75 ไร่ คาดว่าปีนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 150,000 กิโลกรัม ซึ่งปกติจะเก็บเกี่ยวและส่งขาย สร้างรายได้อย่างน้อย 3 ล้านบาทต่อรอบ

แต่จากปัญหาการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ตลาดจีนหายไปเกือบทั้งหมด แม้ว่าจะหวังพึ่งกำลังซื้อในประเทศก็เชื่อว่าจะลำบาก เพราะโควิด ส่งผลกระทบต่อรายได้

ประกอบกับผลผลิตลำไยในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% อยู่ในภาวะ ‘ล้นตลาด’ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ราคาดิ่งอย่างเลี่ยง ไม่ได้

สมเกียรติ กิมาวหา

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า สถานการณ์ลำไยในปีนี้ จากที่ได้มาตรวจเยี่ยม ได้รับฟัง ผู้ประกอบการ มีปริมาณผลผลิตมากกว่าปีที่แล้ว และปีนี้ราคาจะต่ำกว่าปีที่แล้ว

ที่ผ่านมาลำไยจะส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก แต่ตัวเกษตรกรต้องยอมรับราคาไม่เท่าปีที่แล้ว ราคาลำไยปีนี้ ร่วงลงกว่า 1 เท่าตัว ทุกเกรด

ลำไยเกรดบีประเภทช่ออยู่ที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนบีที่ร่วงอยู่ที่ 15-16 บาทกรัม ส่วนเกรดบีที่เป็นลูกเศษๆ 5 บาท

ผู้ประกอบการแปรรูปก็มีความตั้งใจที่จะรับผิดชอบร่วมกันกับเกษตรกร ช่วยขยับราคา ให้เกษตรกรอยู่รอด

“ราคา ณ ปัจจุบัน เกษตรยังพออยู่ได้ ต่ำกว่านี้คงไม่เก็บแล้ว ปล่อยทิ้ง ไม่คุ้มกับค่าแรง ราคาปีนี้ต่ำกว่าเท่าตัว เพราะจำนวนผลผลิตมาก ผสมกับปัญหาโควิด ตอนนี้ยังอยู่ได้ แต่ไปกว่านี้คงไม่รอด”

สําหรับธ.ก.ส. นอกจากจะช่วยดูสภาพคล่อง เติม สินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และชาวสวน ต้องเข้ามาช่วยเสนอแนะ ขยายเครือข่าย

โดยเฉพาะผู้ประกอบการแปรรูปลำไย แต่ละโรงงานมีแนวทางบริหารสอดคล้องกับสถานการณ์ ผู้ประกอบการก็มีความตั้งใจ ยกระดับราคาให้เกษตรกรอยู่ได้

“มาตรวจเยี่ยมรับฟังส่วนที่ขาด เติมส่วนที่เพิ่ม ทำมากกว่าการให้สินเชื่อ เม็ดเงินที่เติมมานอกจากสินเชื่อเอสเอ็มอี ก็จะต้องเติมสินเชื่อระบบโลจิสติกส์ ตอนนี้เรื่องทุนไม่ใช่ปัญหา จึงเป็นปัญหาจัดการความเสี่ยง ที่ ผู้ประกอบการจะต้องมีข้อมูลและมีตลาดชัดเจนในระหว่างผลผลิตลำไยอีกกว่า 90% กำลังทยอยออกมา”

นายสมเกียรติกล่าวและว่า ธ.ก.ส.จะเติมโอกาสจากการบูรณาการความร่วมมือ ดูกลไกตลาด ถ้าตลาดส่งออกภายนอกมีปัญหาก็ต้องเน้นชุมชนเมืองมาช่วยระบาย ให้คนในเมืองให้กำลังใจเกษตรกร สำหรับลำไยจะมีทั้งบริโภคภายในประเทศ แต่การสร้างมูลค่า ก็จะเป็นลำไยอบแห้ง

พร้อมกันนี้เตรียมปล่อยสินเชื่อเพื่อให้โรงงานแปรรูปลำไยอบแห้งเข้ามารับซื้อและรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร ก่อนที่ผลผลิตอีก 90% จะทยอยออกสู่ตลาด จะกดให้ราคาตกต่ำลงอีก

ด้าน นายพิทยะพัฒน์ ตั้งตระกูลกันธา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร ผู้รวบรวมและแปรรูปลำไยเพื่อการส่งออก ระบุว่า ขณะนี้รับซื้อลำไยเฉลี่ย 50,000 ตันต่อวัน เพิ่มจากปีก่อนที่ 30,000 ตันต่อวัน แต่จะเร่งเข้าไปรวบรวมผลผลิตจากเกษตร เพื่อดึง ไม่ให้ราคาตกต่ำไปมากกว่านี้

เพราะหากราคาตกต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะไม่เก็บเกี่ยวเพราะไม่คุ้มกับต้นทุน จะกระทบต่อคำสั่งซื้อจากจีนยังคงมีเข้ามา คาดว่าปีนี้จะสามารถส่งออกได้ปริมาณ 40 ตู้คอนเทนเนอร์

“ในปีนี้ราคารับซื้ออยู่ที่ประมาณ 18.50 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับปีที่แล้วต่ำกว่า 2 เท่า เพราะตลาดสินค้าเกษตรบ้านเราแข่งขันสมบูรณ์ อ้างอิงดีมานด์ ซัพพลายเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์โควิด มีออร์เดอร์มาจากทางออนไลน์ ลูกค้าที่ซื้อเป็นลูกค้าเดิม กลับมาซื้อซ้ำ”

นายพิทยะพัฒน์ ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อผู้ประกอบการแปรรูปลำไยอบแห้งว่า โควิดมีผลกระทบ ในธุรกิจมีผู้ประกอบการบางรายรับจ้างอบ ขายในแบรนด์พ่อค้าคนจีน ถ้าเป็นลักษณะนี้จะกระทบมาก เพราะไม่มีแบรนด์ ไม่มีตลาดของตัวเอง

ถ้าลงทุนเอง อบเอง มีแบรนด์เอง ขายเอง ก็ถือเป็นปีที่มีโอกาสในทางธุรกิจ

“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ดีของผู้ประกอบการ เพราะราคาผลผลิตถูก ปริมาณผลผลิตมาก กลุ่มที่ไม่มีตลาดเองพอขายไม่ได้ มีคู่แข็งลดน้อยลง เป็นโอกาสที่จะปรับตัว ปีนี้จะขายได้มากขึ้น ขายง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าโรงงานเป็นกลไกหนึ่งไม่ให้ราคาตกไปมากกว่านี้ ไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ผู้ประกอบการพยายามรับซื้อมากที่สุดจะมากที่สุดต่อวัน

ถ้าราคาลงไปมากกว่านี้ เกษตรกรจะไม่เก็บแล้ว เพราะค่าแรงจะมากกว่าเงินที่ได้จากผลผลิต

มาตรการของ ธ.ก.ส. ที่ยังเป็นความหวังให้เกษตรกรสวนลำไย และผู้ประกอบการแปรรูปลำไยอบแห้ง เพื่อเติมทุนและดึงราคาลำไย ไม่ให้อยู่ในภาวะวิกฤต

ยังต้องจับตาโครงการ ‘เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย’ ที่ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

ในส่วนของเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.เสนอโครงการและมาตรการใช้เงินกู้ทั้งหมด 5.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตรวจสอบความซ้ำซ้อนโครงการ

โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระดับครัวเรือน วงเงิน 10,720 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน วงเงิน 22,000 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 21,675 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินที่ธนาคารดำเนินการปกติ 1.7 แสนล้านบาท สามารถที่จะมาปล่อยกู้ให้กับโครงการที่ต้องใช้เงินกู้ไปก่อนได้ เพื่อช่วยคนมีรายได้น้อย และกระตุ้นเศรษฐกิจ

บทสรุปทิศทางราคาลำไยในปีนี้ จึงเต็มไปด้วยความท้าทายที่ ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน