สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ส่งหนังสือตอบกลับนายกรัฐมนตรี เสนอมาตรการฟื้นฟูภาคธุรกิจ ระยะสั้นต้องเร่งพยุงการจ้างงาน เสนอให้รัฐประกาศอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง พร้อมฟื้นโครงการช้อปช่วยชาติกระตุ้นการบริโภค คาดเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจแสนล้านบาท

 

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ตอบกลับจดหมาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการเสนอแนะแนวทางและการฟื้นฟูภาคธุรกิจค้าปลีกในภาวะวิกฤต โดยแบ่งออกเป็นการพัฒนาระยะสั้นในการกระตุ้น การบริโภค และการพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส

ระยะสั้นต้องพยุงการจ้างงาน โดยขอให้รัฐประกาศอัตราค่า จ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจ้างหากจ้างงานได้มากกว่า 20% จะสร้างงานเพิ่มได้มากกว่า 1.2 ล้านอัตรา

การกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ วงเงิน 50,000 บาท ในกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งจะทำให้เงินสะพัด 75,000 ล้านบาท และกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงด้วยการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นเวลา 4 เดือน คาดว่าจะสร้างเงินสะพัด 25,000 ล้านบาท

ส่วนการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้อยู่รอดเสนอให้มีการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐตั้งไว้แล้ว เร่งจ่ายเงินเอสเอ็มอีขนาดเล็กจากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน จะสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีกว่า 5 แสนรายและไม่สร้างหนี้เสียให้ธนาคารพาณิชย์

ส่วนแนวทางพัฒนาเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ได้แก่ มาตรการควบคุม อี-คอมเมิร์ซในด้านราคาและการเสียภาษี เสนอให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก และอี-คอมเมิร์ซขายราคาต่ำกว่าทุน เนื่องจากจะทำให้เอสเอ็มอี และค้าปลีกไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้จัดเก็บภาษีจากอี-คอมเมิร์ซได้ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท

รวมถึงเป็นการปราบปรามสินค้าหนีภาษีที่เติบโตจากอี-คอมเมิร์ซ อีกด้วย ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจค้าปลีกทุกช่องทางอย่างโปร่งใส ยุติธรรม ไม่จำกัดเพียงค้าปลีกแบบมีหน้าร้านที่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องเท่านั้น

“เชื่อว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น ถ้าได้รับการอนุมัติจะส่งผลให้เอสเอ็มอีอยู่รอดกว่า 1.3 ล้านราย เกิดการขยายการจ้างงานจาก 6.2 ล้านอัตรา เป็น 7.4 ล้านอัตรา และจะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้าน รวมทั้งสร้างรายได้ให้ภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าข้อเสนอของสมาคมข้างต้นใช้เงินงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เอสเอ็มอีจะได้รับ และการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น ยังผลต่อเศรษฐกิจประเทศชาติโดยรวมในภาวะวิกฤตขณะนี้ และเป็นแนวทางที่เกิดผลเร็วและตรงเป้าหมายชัดเจน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน