ประวัติศาสตร์อยุธยาฯ – เทศกาลหนังสือฤดูหนาวนี้ สำนักพิมพ์มติชนแนะนำหนังสือสุดร้อนแรง “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” หลังจากที่หมดตลาดทันทีที่วางขายครั้งแรกในงานมหกรรมหนังสือเมื่อเดือนตุลาคม จนต้องพิมพ์เพิ่มครั้งที่ 2 นำเสนอในงาน “Winter Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือฤดูหนาว” ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 10-20 ธันวาคม 2563 นี้ เวลา 10.00-21.00 น.

จุดเด่นของหนังสือ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” คือการเขียนประวัติศาสตร์ตามลูกศรของเวลาที่จะมุ่งสู่อดีตไปหาปัจจุบัน โดยใช้หลักฐานที่มีความหลากหลายทั้งจากเอกสารของไทย เอเชีย และตะวันตก ฉายภาพของประวัติศาสตร์สังคม-สามัญชน จนกระทั่งเป็นรัฐ-อาณาจักร การสงคราม การค้าซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำรงความยิ่งใหญ่ของอยุธยา ความสัมพันธ์กับจีน เพื่อนบ้าน และชาติตะวันตก การล่มสลาย และการกำเนิดกรุงเทพฯ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 500 ปี

คริส เบเคอร์ อธิบายถึงหนังสือเล่มนี้ในงานเสวนา “ประวัติศาสตร์อยุธยา ๕ ศตวรรษสู่โลกใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ย. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ว่าหนังสือเล่มนี้ แตกต่างหนังสือประวัติศาสตร์ไทยทั่วไป เพราะตั้งใจเขียนให้ชาวต่างชาติในคราวแรกแล้วค่อยแปลมาเป็นภาษาไทย

รูปแบบการเขียนไม่ใช่แนวประวัติศาสตร์ชาตินิยมอย่างที่ คนไทยคุ้น เพราะการเขียนหนังสือเล่มนี้เกิดจากการเขียนประวัติศาสตร์ตามลูกศรของเวลาที่จะมุ่งสู่อดีตไปหาปัจจุบันเสมอ ซึ่งทำให้เราได้เห็นภาพของอยุธยาตั้งแต่ก่อนที่จะกลายเป็นรัฐ เห็นพัฒนาของสังคมมนุษย์เริ่มจากอดีตเมื่อภูมิประเทศว่างเปล่า แล้วตามลูกศรของเวลาดูว่ามนุษยชนใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากิน สร้างสังคม จัดตั้งสถาบันได้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคม-สามัญชน จนกระทั่งเป็นรัฐ-อาณาจักร การสงคราม การค้าซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำรงความยิ่งใหญ่ของอยุธยา ความสัมพันธ์กับจีน เพื่อนบ้าน และชาติตะวันตก การล่มสลาย และการกำเนิดกรุงเทพฯ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 500 ปี

คริส เบเคอร์ อธิบายเสริมว่า การก่อกำเนิดของอยุธยามีปัจจัยสำคัญมาจากการค้ากับจีนจากแหล่งทรัพยากรของป่าต่างๆ โดยแบ่งช่วงเวลา 150 ปีแรกเป็นช่วงแห่งสงคราม โดยมีช้างเป็นกำลังสำคัญในการลำเลียงพลและกองทัพในการทำศึก จนกล่าวได้ว่า ช้างเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยหลักควบคู่กับทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และการค้าขายที่ทำให้อยุธยาเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น เคียงคู่มากับจีนและอินเดีย

การทำสงครามเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในสมัยนั้น ที่ผู้คนยอมเป็นทหารเพื่อที่จะได้ปล้นสะดมและนำทรัพย์สินมาเป็นของตน จนเกิดการยกระดับฐานะจากการทำศึกขึ้น แต่ต่อมา เมื่อคู่สงครามของอยุธยามีการป้องกันตัวเองดีขึ้น เช่น สร้างกำแพงเมืองสูงใหญ่ อยุธยาจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการสงครามอีกต่อไป

การสงครามที่ยาวนาน ทำให้ผู้คน เบื่อหน่าย จนเมื่อถึงปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรจึงมีการเกณฑ์ทหารไปรบน้อยลงมาก แม้ว่าผู้คนในภายหลังจากรู้จักท่านในฐานะวีรบุรุษผู้กู้ชาติก็ตามที

อยุธยาห่างร้างสงครามไปนับร้อยปี และทรัพยากรที่เคยถูกใช้ในการศึกก็ถูกนำมาใช้ในการค้า ทำให้อยุธยาก้าวเข้ายุคแห่งการค้าอย่างเต็มตัว ผสมกับการทำสงครามบ้างอย่างประปรายแต่ไม่มากเท่าช่วง 150 ปีแรก

ยุคสมัยแห่งการค้าของอยุธยาเกิดจากทำเลที่ตั้งของอยุธยาห่างไกลจากโจรสลัดที่คอยดักปล้น และมีความสะดวกอยู่หลายประการ โฉมหน้าในยุคนี้ของอยุธยาจึงเปลี่ยนแปลงไป แต่กระนั้นก็ตามที การค้าที่รุ่งเรืองทำให้อยุธยาห่างจากการรบ และไม่มีแม่ทัพนายกองผู้แข็งแกร่ง รวมถึงระดมสรรพกำลังของพม่าในคราวสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่เล็งเห็นว่าหากเอาชนะอยุธยาได้ จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเมื่ออยุธยาต้านทานไม่ไหวจึงพ่ายแพ้

นอกจากพูดถึงเนื้อหาของหนังสือ เล่มนี้ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวชื่นชมภาพวาดปกหนังสือ ประวัติ ศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ จากปลายพู่กันและจินตนาการของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินชื่อดังที่รังสรรค์ผลงานได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อหาเข้มข้น 472 หน้ากระดาษ เป็นเรือสำเภา และช้าง บนพื้นขาว โดดเด่นบนความเรียบง่าย สะท้อนความเป็นกรุงศรีอยุธยาที่รุ่งเรืองจากการค้า สื่อถึงชนชั้น การสงคราม อีกทั้งความอลังการตลอดช่วงเวลานานนับเนื่องหลายศตวรรษ

“(เรือ) เป๊ะเลย เพราะมันเป็นเรื่องของการค้าเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนช้าง เป็นสัญลักษณ์ได้หลายอย่าง ทั้งมหากษัตริย์ ทั้งการสงคราม ทั้งความอลังการของอยุธยา แล้วจุดตายของคุณตะวัน คือสไตล์ที่ลื่นไหล ไม่เหมือนอะไรที่ อยู่กับที่ เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีจินตนาการ ดูภาพเรือ ก็เหมือนเรือกำลังมีลมพัด หรือช้างกำลังเดินจริงๆ” ศ.ดร.ผาสุกกล่าว

ขณะที่ ดร.คริส เบเคอร์กล่าวสั้นๆ แต่มีความหมายว่า “มากกว่านั้น คือมันสวยมาก”

ส่วนหนังสืออีกเล่มที่สำนักพิมพ์มติชนแนะนำผ่านเวทีเสวนาในงานเดียวกันนี้ ได้แก่ “มนุษย์อยุธยา : ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex” ผลงาน กำพล จำปาพันธ์ ที่ควงคู่มากับมณฑล ประภากรเกียรติ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน อธิบายเรื่องป๊อปๆ ของชาวอยุธยา ในหัวข้อเสวนาว่า “Silpa Zip talk : มนุษย์อยุธยา”

ผู้ที่พลาดงานเสวนาหนังสือ 2 เล่มดังกล่าวตอนนี้มีโอกาสใหม่มาเสนออีกในงาน “Winter Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือฤดูหนาว” ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์

บูธมติชน B123 ขนทัพหนังสือไฮไลต์ โปรโมชั่นโดนใจ กระทบไหล่นักเขียนชื่อดัง และฟังเสวนาสุดพิเศษจากหนังสือสุดร้อนแรงที่จะทำให้ Winter Book Fest 2020 ลุกเป็นไฟ!

เริ่มจาก “ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์” เสาร์ที่ 12 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น. พบกับ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และ ฐนพงศ์ ลือขจรชัย ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

“24-7/1 นวนิยาย หมุดหมาย และ ฟันเฟือง” เสาร์ที่ 19 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น. พบกับ ภู กระดาษ (ผู้เขียน 24-7/1) และ จุฑา สุวรรณมงคล ดำเนินรายการโดย วิกรานต์ ปอแก้ว

และ “ปีศาจอมตะนิยายของสามัญชน” อาทิตย์ 20 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น. พบกับ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

พบกันที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ 10-20 ธันวาคม 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน