พระกริ่งนิรันตราย – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักท่าน พระกริ่งนิรันตรายหลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา เป็นพระกริ่งรุ่นเก่าที่สนนราคายังไม่สูงมากนัก แต่เป็นพระกริ่งที่มีพุทธคุณสูง และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงเป็นประธานในพิธี และมีเรื่องเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ตอนทำพิธี ความเป็นมาเป็นอย่างไรลองมาติดตามกันครับ

วัดดอน แต่เดิมมีชื่อเดิมว่า “วัดดอนทวาย” ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของถนนเจริญกรุง ในท้องที่อำเภอยานนาวา กทม. ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงครองราชย์ (พ.ศ.2335) มังจันจ่าเจ้าเมืองทวาย (เมืองมอญ) ได้อพยพครอบครัวญาติสนิทมิตรสหายและบริวารเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เข้าทำนองหนีร้อนมาพึ่งเย็น

ต่อมามังจันจ่า ได้รับราชการมีความดีความชอบเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงโปรดพระราชทานที่หลวง ณ ตำบลคอกกระบือ อันเป็นบริเวณที่ตั้งวัดดอนปัจจุบันนี้ให้เป็นถิ่นพำนักของ มังจันจ่าและบริวาร และได้ลงหลักปักฐานเป็นปึกแผ่นมั่นคง และพากันเรียกหมู่บ้านนั้นว่า “บ้านทวาย” โดยมีมัง จันจ่าเป็นหัวหน้าปกครองได้รับความร่มเย็นเป็นสุขสืบมา

โดยที่ชาวบ้านทวายเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ถือเคร่งในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ในปี พ.ศ.2340 มังจันจ่าพระยาทวายจึงได้ชักชวนชาวทวายจัดสร้างวัดขึ้น ที่ด้านหลังหมู่บ้านทวาย ซึ่งเป็นที่ดอนสูงเด่น เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม และให้ชื่อว่า “วัดดอนทวาย” ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจสิบต่อมา กาลผ่านมาจะด้วยชื่อวัดยาวไปหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ชาวบ้านมักจะชอบเรียกสั้นๆ ว่า “วัดดอน” และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ พระอธิการที่ครองวัดดอนที่พอสืบได้ก็คือ ท่านปู่จั่น หรือที่ชาวบ้านชอบเรียกท่านว่า ท่านปู่ใหญ่ เป็นพระเถระฝ่ายชาวทวาย ซึ่งอาราธนามาแต่เมืองทวาย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทางปฏิบัติ ทางกสิณสมาธิภาวนา มีผู้ศรัทธาเสื่อมใสเป็นอันมากในขณะนั้น ท่านครองวัดดอนมาจนถึงปี พ.ศ.2464 ก็ถึงแก่มรณภาพ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (หลวงพ่อกึ๋น) ได้รับอาราธนาแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

หลวงพ่อกึ๋นเป็นลูกบ้านทวายโดยกำเนิด เกิดที่หมู่บ้านทวาย อำเภอยานาวา ท่านก็เป็นผู้ทรงคุณในทางสมาธิภาวนาและมีอาคมแก่กล้า ท่านได้อุปสมบทและเล่าเรียนวิทยาคมสืบเนื่องมาจากหลวงพ่อจั่น (ท่านใหญ่) และอาจารย์เปี่ยม วัดดอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิทยาคมขลังอีกรูปหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2480 สมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระครูกึ๋น อยู่นั้น ก็เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเอเชียบูรพา ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับใช้ชาติ ในการนี้ท่านพระครูกึ๋นจึงดำริที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมา เพื่อแจกทหารที่มาลาไปทัพ จึงได้สร้างพระกริ่งนิรันตรายขึ้นมาโดยได้ทูลอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แห่งวัดสุทัศน์ ซึ่งเป็นองค์ปรมาจารย์ที่ท่านเคารพสูงสุดเสด็จไปเป็นประธานจุดเทียนชัย ขอแผ่นทองและทองชนวนพระกริ่งต่างๆ ตลอดจนกำกับการ เททองหล่อจนเสร็จการ

เหตุการณ์ในขณะที่บัณฑิตกำลังบวงสรวงอัญเชิญปวงเทพมาร่วมโมทนาในพิธีเทพระกริ่งอยู่นั้นพลันอสุนีบาต ก็ฟาดลงมาท่ามกลางพิธี เป็นที่อัศจรรย์ ผู้คนต่างตื่นตะลึง แต่หามีผู้ใดได้รับอันตรายไม่ ต่อมาในขณะที่ทำพิธีเททองอยู่นั้น สายสิญจน์ได้ตกลงไปในเบ้าที่หลอมทอง แต่ทว่าสายสิญจน์หาได้ไหม้ไฟแม้แต่น้อย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ และมีผู้รู้เห็นมากมายต่างก็โจษจันกันไปทั่ว แม้แต่พระนามของพระกริ่งที่ท่านพระครูกึ๋นตั้งว่า “พระกริ่งนิรันตราย” ยังพลอยเรียกกันว่า “พระกริ่งฟ้าผ่า”

พระกริ่งรุ่นนี้มีสร้างด้วยกัน 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก โดยพระกริ่งพิมพ์ใหญ่สร้างประมาณ 108 องค์ ส่วนพระกริ่งพิมพ์เล็กสร้างประมาณ 300 องค์ พระกริ่ง วัดดอนนี้นับว่าเป็นพระกริ่งที่สมเด็จ พระสังฆราช (แพ) ท่านได้ทรงเป็นประธาน เททองอีกรุ่นหนึ่ง ที่น่าเก็บบูชามาก อีกทั้งสนนราคาก็ยังไม่สูงมากนักครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระกริ่งนิรันตรายของวัดดอนพิมพ์เล็กมาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน