รัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า

ทำไมรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพานครับ

กสิ

ตอบ กสิ

พบคำตอบในหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน “ชาติไทย, เมืองไทย,แบบเรียน และอนุสาวรีย์” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าด้วยประเด็น “หรือ“พานแว่นฟ้า” คือสัญลักษณ์ว่าประชาชนทูลเกล้าฯ ถวาย “รัฐธรรมนูญ”จึงไม่ใช่การพระราชทาน อย่างที่เข้าใจ?” ดังนี้

“รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งใช้ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรร่างขึ้นและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ “ทรงลงพระปรมาภิไธย” เท่ากับคณะราษฎรได้รับคำาสัญญาจากพระมหากษัตริย์ว่าจะลดพระราชอำนาจของพระองค์มาอยู่ใต้กฎหมาย ในระหว่างนี้ได้มีการจัดตั้งรัฐบาล“ประนีประนอม” ขึ้น และเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ด้วยเหตุดังนั้นจึงได้เกิดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม2475 แน่นอนว่าพระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีใหม่ ไม่เคยมีตำรามาก่อน

นัยยะสำคัญของพระราชพิธีคือการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมา“พระราชทาน” สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแก่ตัวแทนของประชาชนเพราะฉะนั้นระบอบการปกครองใหม่นี้จึงเป็นของพระราชทาน ตราบเท่าที่เป็นของพระราชทานก็ย่อมจะระงับยับยั้งหรือเพิกถอนเสียได้ หากทำในพระปรมาภิไธย

แต่ไม่จำเป็นว่าพระราชพิธี “พระราชทาน” รัฐธรรมนูญจะต้องตีความไปในทำนองเดียวเสมอไป ประจักษ์พยานอันหนึ่งที่เห็นได้ว่าคงมีการตีความพระราชพิธีนี้ไปในอีกทางหนึ่งคือ “พานแว่นฟ้า”ทำไมต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับรัฐธรรมนูญที่อนุสาวรีย์ หากต้องการให้ความหมายว่ารัฐธรรมนูญเป็นของสูงอันพึงเคารพสักการะ ก็น่าจะทำฐานเป็นบุษบกแทนป้อม เพราะสื่อความน่าเคารพเลื่อมใสตามประเพณีไทยได้ดีกว่าพานแว่นฟ้า

หากรัฐธรรมนูญเป็นของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ตัวแทนของประชาชนก็พึงรับเอารัฐธรรมนูญนั้นจากพระหัตถ์เพื่อน้อมใส่เกล้าฯเป็นการรับของจากพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรับพระราชทานปริญญาบัตร ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีพานแว่นฟ้ารองรับอีกทอดหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม เป็นเพราะตัวแทนของประชาชนจะทูลเกล้าฯถวายรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่างหากจึงต้องทอดรัฐธรรมนูญนั้นลงบนพานแว่นฟ้า เพื่อจะได้นำทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมไทย

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่อยู่บนพานแว่นฟ้าจึงหมายถึงรัฐธรรมนูญที่ส่งจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ไม่ใช่ส่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง”

สำหรับ “พานแว่นฟ้า” พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า พานที่ซ้อนกัน 2 ชั้น ชนิดหนึ่งประดับมุกหรือกระจกเป็นต้น ใบบนเป็นพานทรงสูงซ้อนกันอยู่บนตะลุ่ม อีกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะจำหลักลายกะไหล่ทอง ใบบนเป็นพานเล็กซ้อนอยู่บนพานใหญ่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน