‘ตู้ปันสุข’คณะสงฆ์ไทย – โควิด-19 เป็นไวรัสและโรคอุบัติใหม่ไม่เป็นที่รู้จัก ก่อนมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เดือนธันวาคม 2019

กระทั่งไวรัสดังกล่าว เกิดการระบาดใหญ่ ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก

สำหรับการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2563

รัฐบาลประกาศจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

ส่งผลกระทบไปทุกภาคทุกส่วนของประเทศ ไม่เว้น!!! แม้แต่คณะสงฆ์ไทย

วันที่ 20 ก.พ. พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สัมมาปัญโญ) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลงนามในประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีใจความสำคัญให้นิสิตต่างชาติที่มีการเดินทางผ่านประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้หยุดพักการเรียนอย่างน้อย 14 วัน ส่วนบุคลากร ลูกจ้าง หรือนิสิตงดการเดินทางไปต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งให้ทุกส่วนงานเพิ่มมาตรการป้องกัน สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ แอลกอฮอล์ หรือเจลล้างมือ

วันที่ 28 ก.พ. สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ออกประกาศ ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการอภิบาลพระอนามัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แจ้งว่า ด้วยเหตุแห่งพระชนมายุสูง และการปฏิบัติพระกรณียกิจที่ต้องประทับท่ามกลางสมาคมของหมู่ชนจำนวนมาก นับเป็นภาวะเสี่ยงต่อโรค จึงสมควรงดการประทานพระวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าเป็นการทั่วไป และงดการเฝ้าของบุคคลทั่วไปโดยใกล้ชิด ในระยะที่มีการแพร่ระบาด ของโรค

ส่วนที่พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการออกแนวปฏิบัติ โดยนำข้อคิดเห็นของที่ประชุมมหาเถรฯ และข้อปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับคณะสงฆ์ เพื่อแจ้งไปยังคณะสงฆ์ทั่วประเทศถือปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักพุทธฯ ลงนามในประกาศสำนักพุทธฯ เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 สำหรับข้าราชการ และบุคลากรของสำนักพุทธฯ ในการเดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ

วันที่ 4 มี.ค. ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติเกี่ยวกับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับ พระภิกษุ-สามเณร ในการเดินทางไปหรือกลับจากต่างประเทศ โดยขอให้พระภิกษุ-สามเณรงดการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

วันที่ 6 มี.ค. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ลงนามในประกาศสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จึงขอประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 17 ประจำปี 2563 ณ ประเทศไทย

วันที่ 10 มี.ค. ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติให้งดจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19

วันที่ 18 มี.ค. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงเป็นการฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาและหามาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 จากผลการประชุมที่ประชุมได้มีมติให้เลื่อนพิธีประสาทปริญญาจากเดิมกำหนดวันที่ 16-17 พ.ค.2563 ออกไปก่อนและกำหนดวันประสาทปริญญาใหม่อีกภายหลัง

วันเดียวกัน พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินโท) เจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง ผู้รักษาการแทน เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ออกประกาศคณะสงฆ์กรุงเทพฯ เรื่อง มาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สำหรับพระภิกษุ-สามเณร เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและตามมติมหาเถรสมาคม เป็นการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ขอให้คณะสงฆ์กรุงเทพฯ ดำเนินการ อาทิ หลีกเลี่ยง งดการเดินทาง หรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศอื่นที่มีการระบาดของโรคนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย, งดการจัดกิจกรรมการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนประจำปี, งดการจัดกิจกรรมทางพระศาสนาที่มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น การจัดงานวัด งานบุญประจำปี และงานบุญประเพณีต่างๆ เป็นต้น

รวมทั้งขอให้พระภิกษุสามเณรสวมหน้ากากอนามัยขณะออกบิณฑบาต และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

วันนี้ 20 มี.ค. ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติให้ทุกวัดจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งเป็นบทที่พระพุทธเจ้าใช้สวดในสมัยพุทธกาลเวลาเกิดโรคร้ายระบาด สร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้แต่ละวัดสวดเพิ่มเติมในเวลาทำวัตรเย็น และไม่ให้มีการเชิญชวนประชาชนเข้าร่วม

วันที่ 24 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขานรับมาตรการของรัฐบาล ด้วยการวางมาตรการเฝ้าระวังการจัดกิจกรรม เนื่องในวันสงกรานต์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางพระพุทธศาสนา ตามมติมหาเถรฯ ให้วัดงดจัดกิจกรรมที่ประชาชนมารวมกลุ่มกัน ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น การสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว การก่อเจดีย์ทราย หรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้ประชาชนต้องมารวมตัวกัน เป็นต้น ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องจัดกิจกรรม เช่น เจริญพระพุทธมนต์ ต้องวางมาตรการการป้องกัน รวมทั้งแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 2 ฝ่าย แจ้งวัดในเขตปกครอง พร้อมทั้งแจ้งวัดไทยในต่างประเทศทราบ และให้ดำเนินการทันที

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตประจำวัน และฐานะทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความยากลำบากในหมู่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องปรับรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างกะทันหัน

ด้วยพระเมตตา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเห็นความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว จึงมีพระดำริให้วัดต่างๆ จัดโรงทานช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผล กระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โควิด-19

ด้วยพระองค์ทรงพระดำริว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณตราบจนปัจจุบัน วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย จึงสมควรที่จะให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล

สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาโปรดให้ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาสั่งการสำนักพุทธฯ ให้ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรซึ่งมีศักยภาพเพียงพอ จัดตั้งโรงทาน ช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาด โดยมิใช่การบังคับ แต่เป็นการกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือ โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของแต่ละวัด ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในชุมชนนั้นๆ เป็นสำคัญ

โรงทานที่ตั้งขึ้นเป็นไปตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ที่ให้วัดที่มีศักยภาพตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น ต้องหยุดงาน หรือโดนออก จากงาน

ในช่วงแรก มีวัดต่างๆ ทั่วประเทศจัดตั้งโรงทานแล้ว 125 แห่ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการทยอยเปิดโรงทานในพื้นที่ต่างๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงทานแต่ละแห่งจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด

ไม่เพียงแต่น้ำใจของคณะสงฆ์ที่มีต่อสาธุชนคนไทยผู้เดือดร้อน ยังเห็นน้ำใจของประชาชนทั่วไป นำของใส่ตู้เพื่อร่วมแบ่งปันให้คนอื่นๆ จนกลายเป็น “โครงการตู้ปันสุข” ที่เป็นการเปิดพื้นที่ตู้กับข้าวในที่สาธารณะ ให้ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคนำสิ่งของมาวางในตู้ เพื่อแบ่งปันผู้ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ขนม เสื้อผ้า รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตัวช่วงโควิด ที่หลายคนมาร่วมกันแบ่งปัน

ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 พ.ค. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติรายงานต่อคณะกรรมการมหาเถรฯ ถึงผลสำรวจข้อมูลวัดที่มีการต่อยอดการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผล กระทบฯ (โรงทาน) หรือวัดที่มีกำลังน้อย แปลงสภาพจากโรงทาน เป็นการจัดตั้ง “ตู้พระทำนำสุข” เช่น การนำอาหารจากการบิณฑบาตที่เหลือ นอกเหนือจากการฉันไปใส่ตู้พระทำนำสุข เพื่อให้ประชาชนสามารถนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปใช้ได้แต่พอดี

“ตู้พระทำนำสุข” เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้วัดและประชาชนที่มีศักยภาพ ร่วมกันบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคตามกำลัง

แม้จนถึงขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่ได้จบลง และยังคงเป็นปัญหาต่อไป ตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้

แต่ในช่วงเวลาวิกฤต คณะสงฆ์ไทยก็ไม่เคยทอดทิ้ง พร้อมจะแบ่งปันให้กับผู้ประสบความทุกข์ยากลำบาก

จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ !!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน