2020 เมื่อ‘โควิด’ปิดประตูสนามกีฬาโลก – ปี 2020 ควรจะเป็นปีที่วงการกีฬาคึกคักสุดขีดเพราะปีนี้เป็นปีที่มีโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2020” รออยู่ในช่วงกลางปี

แต่ภัยคุกคามที่ก่อตัวขึ้นที่อู่ฮั่นในปลายปี 2019 ค่อยๆ คืบคลานตีวงกว้างไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในชื่อ “โควิด-19” เข้าโจมตีทุกอย่างบนพื้นที่บนโลก แน่นอนว่าทุกอย่างในวงการกีฬาแทบจะหยุดหายใจ บรรยากาศการแข่งขันกีฬาแบบปกติหายไปจากโลกนับตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา

ความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้มีความเคลื่อนไหวจากชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส ตบเท้าแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะบอยคอตโอลิมปิกเกมส์ กดดันญี่ปุ่นอย่างหนัก กระทั่ง 24 มี.ค. นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศข่าวว่า “โตเกียว 2020” จะเลื่อนการแข่งขัน 1 ปี จากเดิม 24 ก.ค.-9 ส.ค. 2020 เป็น 23 ก.ค.-8 ส.ค. ปี 2021 เป็นการเดิมพันครั้งใหญ่เพราะทีมที่ปรึกษาเสนอให้เลื่อน 2 ปี แต่นายกฯ อาเบะ ทุบโต๊ะมั่นใจว่าช่วงเวลา 1 ปี เทคโนโลยีทางการแพทย์จะเอาชนะโควิด-19 ได้

การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เป็นสัญญาณที่สั่นสะเทือนทั้งโลกว่า “ตัวใครตัวมัน”

ทุกอย่างกลายเป็นโดมิโนล้มไปเป็นทอดๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ฟุตบอลยูโร 2022 ซึ่งมีแผนจะไร้เจ้าภาพหลัก และแข่งขันกันทั่วทวีปยุโรป 12 ชาติเป็นครั้งแรก ก็ถูกเลื่อนการแข่งขันออกไปอีก 1 ปี และล้มระบบดังกล่าวแล้วว่ากันใหม่ปีหน้า เช่นเดียวกับกีฬาระดับเมเจอร์ต่างๆ ที่ล้มพับเป็นทิวแถว ยูธโอลิมปิกเกมส์ ปี 2022 ที่ดาการ์ ประเทศเซเนกัล ประกาศยกเลิก และไปจัดในปี 2026 แทนเนื่องจากรัฐบาลถังแตก

ฟุตบอลอาชีพทั่วโลก นำโดย ลีกเอิง ฝรั่งเศส ตัดสินใจรีบตัดจบ ขณะเหลือเกมอีก 10 นัด ให้ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง จ่าฝูงคว้าแชมป์ไปเลย เช่นเดียวกับ เอเรดิวิซี่ ลีก เนเธอร์แลนด์ ที่ยกแชมป์ให้อาแจ็กซ์ไปเลย โดยมีลีกทั่วโลกตัดจบไปทั้งหมด 59 ลีก ทั้งชายและหญิง

ขณะที่อีก 4 ลีกชั้นนำเบรกกันไปยาวๆ ท่ามกลางกระแส “โมฆะ” บุนเดสลีกา เบรก 64 วันตั้งแต่ 13 มี.ค. กลับมาเตะ 16 พ.ค., ลา ลีกา เบรก 91 วันตั้งแต่ 12 มี.ค. กลับมาเตะ 11 มิ.ย., เซเรีย อา อิตาลี เบรก 103 วัน 9 มี.ค. กลับมาเตะ 20 มิ.ย. และ พรีเมียร์ ลีก เบรกไป 96 วัน ตั้งแต่ 13 มี.ค. กลับมาเตะ 17 มิ.ย. ท่ามกลางความชื่นมื่นของแฟน “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล ที่ได้ฉลองแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกรอบ 30 ปี

เช่นเดียวกับ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และยูฟ่า ยูโรปา ลีก ที่ต้องยกเลิกการเตะเหย้าเยือน ถ้วยใหญ่ไปเตะกันที่โปรตุเกส และถ้วยเล็กไปเตะกันที่เยอรมนี

บาสเกตบอลเอ็นบีเอก็โดนพิษโควิด ต้องไปแข่งกันในศูนย์กีฬาที่ดิสนีย์แลนด์ เมืองรัฐฟลอริดา ใช้รูปแบบบับเบิ้ลหรือระบบปิด ซึ่งแชมป์เอ็นบีเอ ฤดูกาลที่มีดอกจัน ตกเป็นของแอลเอ เลเกอร์ส

รถแข่งฟอร์มูล่าวัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนปฏิทินการแข่งขันใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ เซี่ยงไฮ้ กรังด์ปรีซ์ ซึ่งมีกำหนดแข่งขันในช่วง โควิดระบาดในจีนพอดิบพอดี และส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ ฮานอย, เวียดนาม ที่รอฉลองการจัดเอฟวันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศต้องเป็นหมัน รวมทั้ง สิงคโปร์ ไนต์เรซ ก็ต้องยกเลิกไป ส่วนจักรยานยนต์ “โมโตจีพี” ยกเลิกสนามนอกทวีปยุโรปทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทาง ซึ่งหมายรวมถึง โมโตจีพี ที่บุรีรัมย์ ก็ต้องเป็นอันยกเลิกไปด้วย

ขณะกีฬาอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน มาราธอน เมเจอร์ ในรอบปี 2020 ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้เลย ทั้งที่ เบอร์ลิน, บอสตัน, นิวยอร์ก มีเพียงลอนดอน มาราธอน (4 ต.ค.) รายการเดียวที่จัดได้ในปีนี้ ส่วน โตเกียว มาราธอน ต้องระเห็จไปจัด 1 มี.ค. 2021 แทน

ฟากแบดมินตัน ซึ่งมักจะมีนักกีฬาไทยทำผลงานในระดับโลกเสมอนั้น เริ่มต้นปีมี 2 แชมป์จาก รัชนก อินทนนท์ ในอินโดนีเซีย มาสเตอร์ เมื่อ 13 ม.ค. และ พรปวีร์ ช่อชูวงศ์ ได้แชมป์สเปน มาสเตอร์ 17 ก.พ. ก่อนที่กลางเดือนมี.ค.เป็นต้นไป สหพันธ์แบดมินตันโลก สั่งระงับการแข่งขันทั้งหมด จนเดือนต.ค. ที่เดนมาร์ก โอเพ่น กลับมาแข่งขันได้แบบ “บับเบิ้ล”

ใครจะคิดว่าโลกนี้จะต้องอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายขนาดที่คนไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กันได้ แน่นอนว่า สนามกีฬาถูก “โควิด-19” ใส่กุญแจล็อกประตู และทำให้โลกว่างเว้นจากการแข่งขันกีฬา หลายเดือน

แถมทำลายเศรษฐกิจในแวดวงกีฬาจนย่อยยับ

เวลานี้แม้จะมีสัญญาณดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่า โควิด-19 จะยังก่อกวนป่วนโลกกีฬาในปี 2021 อีกขนาดไหน

ที่แน่ๆ วงการกีฬาคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในจุดเดิมที่เคยอยู่ได้อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน