ไทม์ไลน์ม็อบราษฎรไล่รัฐบาลข้ามปี – การชุมนุมไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2563 เป็นอีกช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเมืองไทย

อาจกล่าวได้ว่า มติยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 21 ก.พ. คือฟางเส้นสุดท้าย กลุ่มนักศึกษานัดชุมนุมรุ่งขึ้นทันทีที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นกระแสต้านรัฐบาล ร้องหาประชาธิปไตย ก็ขยายวงอย่างรวดเร็วไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนมัธยมฯ

มี.ค.-ก.ค. โควิด-19 ระบาด ทำให้การชุมนุมยุติลงชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายการเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็กลับมาอย่างคึกคัก

และแปรสภาพมาสู่การชุมนุมในนาม ‘กลุ่มราษฎร’ จัดชุมนุมเป็นระยะต่อเนื่องจนถึงปลายปี พร้อมคำประกาศปี 2564 จะเป็นรูปธรรมที่เข้มข้น

ก่อนที่กลุ่มราษฎรจะเคลื่อนไหวในปีนี้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีไทม์ไลน์การชุมนุมที่น่าสนใจ

 

22 ก.พ.

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ. ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ มีประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก ก่อนขยายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้ง โรงเรียนมัธยมฯ

ก.พ.- ก.ค.

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้การชุมนุมยุติลงชั่วคราว ช่วง มิ.ย. เมื่อการแพร่ระบาดคลี่คลาย เริ่มมีกระแสกดดันให้รัฐบาลคลายล็อก 5 มิ.ย. มีการชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ทวงความเป็นธรรมให้นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชา ที่เป็นอีกชนวนสะสมความไม่พอใจต่อรัฐบาล

18 ก.ค.

กลุ่มเยาวชนปลดแอก-free Youth จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสนอ 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนักเรียน นักศึกษาประชาชนแห่เข้าร่วมจนล้นถนนราชดำเนิน กทม.

19-25 ก.ค.

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลลามไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ จัดกิจกรรม-ชุมนุม สนับสนุนกลุ่มเยาวชนปลดแอก สถาบันการศึกษาบางแห่งจัดกิจกรรมซ้ำหลายครั้งควบคู่ไปกับการรณรงค์ทางโลกออนไลน์

ม็อบแฮมทาโร่

26 ก.ค.

กลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ วิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกอบการร้องเพลง “แฮมทาโร่” เวอร์ชั่นยุบสภา ล้อเลียนรัฐบาลและส.ส.

29 ก.ค.-2 ส.ค.

กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังคงจัดกิจกรรมต้านรัฐบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

3 ส.ค.

กลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” และ “มอกะเสด” จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย “แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม้เท้าเสกคาถา ปกป้องประชาธิปไตย”

7 ส.ค.

การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประกาศยกระดับจากเยาวชนปลดแอก เป็นคณะประชาชนปลดแอก-Free People เพื่อขยายแนวร่วมการชุมนุม

10 ส.ค.

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุม “#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่มธ.ศูนย์รังสิต มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนนับหมื่นคนเข้าร่วม มีการอ่าน ข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ตั้งโต๊ะล่า 5 หมื่นรายชื่อแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีกิจกรรมคู่ขนานที่ มธ.ศูนย์ลำปาง

11-15 ส.ค.

ยังคงมีการชุมนุมไล่รัฐบาลต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

16 ส.ค.

คณะประชาชนปลดแอก-Free People ชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้ร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน รวมถึง ฝ่ายค้าน และอาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มเสื้อแดง ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิม พร้อมประกาศ 2 จุดยืนไม่มีการปฏิวัติซ้ำ ไม่มีรัฐบาล แห่งชาติ และ 1 ความฝัน

คนไทย-นักศึกษาไทยในไต้หวันรวมตัวชุมนุมที่ไทเป สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตย

ปรากฏความเคลื่อนไหวของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเริ่มมีการจับกุม-ตั้งข้อหาแกนนำ จำนวนมาก

17-18 ส.ค.

เกิดปรากฏการณ์นักเรียนมัธยมฯ ตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด ร่วมเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลเผด็จการด้วยการผูกโบสีขาว ชู 3 นิ้ว

19 ส.ค.

กลุ่มนักเรียนรวมตัวหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ผูกโบขาว ชูสามนิ้ว เป่านกหวีดไล่รมต.ศึกษาธิการ

27 ส.ค.

กลุ่ม “ดาวดิน สามัญชน” จัดกิจกรรม “มหกรรมประชาชน นอนแคมป์ไม่นอนคุก #เราคือเพื่อนกัน หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา หลังมีการจับกุม ตั้งข้อกล่าวหาแกนนำผู้ชุมนุมจำนวนมาก

4 ก.ย.

กลุ่มมศว.คนรุ่นเปลี่ยน จัดกิจกรรม #ล้างบาปตำรวจไทย ก่อนไปสมทบกับผู้ชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากมีการจับกุม ตั้งข้อหา ถอนประกันแกนนำอย่างต่อเนื่อง

5 ก.ย.

กลุ่มนักเรียนเลว เครือข่ายนักเรียนแนวร่วมกว่า 50 โรงเรียน จัดกิจกรรมทวงถามข้อเรียกร้อง ท้ารมต.ศึกษาธิการ ดีเบต และมีการวางพวงหรีดหน้ากระทรวง

19-20 ก.ย.

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ปักหลักค้างคืนที่สนามหลวง เช้า 20 ก.ย. จึงทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 แล้วเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายถึงองคมนตรีเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัด จึงยื่นผ่าน ผบช.น.

24 ก.ย.

คณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา” ชุมนุมหน้ารัฐสภา ระหว่างที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2 ต.ค.

กลุ่มนักเรียนเลว ชุมนุมไล่รัฐมนตรีด้วยการแห่รถไปยังโรงเรียน 5 แห่ง พร้อมเรียกร้องให้ยุติการลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง กลุ่ม “Chiangrai Noเผด็จการ” นักเรียน นักศึกษา และมวลชนจัดกิจกรรมปักหมุดคณะราษฎรอันที่ 2 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า

ล้อมทำเนียบ

13-14 ต.ค.

บ่าย 13 ต.ค. แกนนำพร้อมมวลชนกว่า 100 คน เข้าตั้งเต็นท์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. ในนาม “กลุ่มคณะราษฎร 2563” แต่ตำรวจเข้ารื้อเต็นท์ จับกุม ไผ่ ดาวดิน และผู้ชุมนุมรวม 21 คน ขึ้นรถคุมขัง ต่อมา ทนายอานนท์ เพนกวิน จึงนำมวลชนไปหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ผู้ชุมนุมสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตร.

รุ่งขึ้น ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจาก ถ.ราชดำเนิน ไปล้อมทำเนียบ ปักหลัก ค้างคืน ประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง นายกฯ ลาออกเปิดสภาสมัยวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ ปฏิรูปสถาบัน

15 ต.ค.

พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกทม. เปิดทาง เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมช่วงเช้ามืด จับกุมผู้ชุมนุม 23 คน รวมถึงทนายอานนท์ เพนกวิน รุ้ง และเจมส์ (ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์) ผู้ชุมนุมจึงนัดรวมตัวช่วงเย็นที่แยกราชประสงค์ จนถึงเวลา 22.15 น.

16 ต.ค.

มีการนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ แต่ตำรวจปิดกั้นพื้นที่ จึงเปลี่ยนมาชุมนุมที่แยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม

17 ต.ค.

คณะราษฎร 2563 เปลี่ยนเป็น “กลุ่มราษฎร” และจัดชุมนุมแบบดาวกระจาย ในหลายจุดทั้งในกทม. และต่างจังหวัด เพื่อสะท้อนว่าเป็นการชุมนุมที่ทุกคนคือแกนนำ

18-20 ต.ค.

การชุมนุมลามไปทั่วประเทศอีกครั้ง จุดใหญ่ในกทม.คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกอโศก กดดันจนรัฐบาลเห็นชอบให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกจากวิกฤต

21-24 ต.ค.

กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบ นำจดหมายลาออกยื่นให้นายกฯ ลงนาม, ขีดเส้นตายให้ลาออก-ปล่อยผู้ชุมนุมภายใน 3 วัน ช่วงค่ำนายกฯ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเรียกร้องทุกฝ่ายถอยคน ละก้าว ก่อนมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขต กทม.

25 ต.ค.

คณะราษฎรชุมนุมแน่นแยกราชประสงค์ กดดันพล.อ.ประยุทธ์ลาออก หลังครบเส้นตาย, ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเข้าร่วมกิจกรรมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หน้าร้านแมคโดนัลด์

ที่ชิบูย่า กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น และทงแดมุนดีไซน์พลาซ่า กรุงโซล เกาหลีใต้ ก็มีกลุ่มคนไทยร่วมชุมนุมขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน

26 ต.ค.

คณะราษฎรรวมตัวกันที่แยกสามย่าน กทม. ก่อนเดินเท้าเป็นขบวนยาวเหยียดไปสถานทูตเยอรมนี ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อสถานทูต ก่อนอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องที่มีถึงรัฐบาลสหรัฐ

30 ต.ค.

เกิดเหตุชุลมุนกลางดึก เมื่อตำรวจ นครบาล และสน.ประชาชื่น เข้าอายัดตัว เพนกวิน ไมค์ รุ้ง หลังศาลอาญายกคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 คดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทำให้มวลชนที่มารอรับไม่พอใจกรูเข้าทุบรถคุมตัวผู้ต้องขัง

ต่อมาเจ้าหน้าที่ต้องส่งตัวทั้งสามไปโรงพยาบาล เพราะไมค์เป็นลม-มีอาการทางสมอง ส่วนเพนกวินเป็นหอบหืด รุ้งขาดน้ำรุนแรง

8 พ.ย.

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนย้ายตู้ไปรษณีย์จำลองขนาดใหญ่ 4 ตู้ ไปหน้าศาลฎีกา แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัด และใช้รถแรงดันน้ำสูงฉีดใส่ มีผู้บาดเจ็บหลายราย ก่อนเปิดเจรจา แกนนำผู้ชุมนุมยอมอ่านจดหมาย และให้ผู้ชุมนุมหย่อนจดหมายของตัวเองใส่ตู้

หน้าสภา

17 พ.ย.

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เกียกกาย ทั้งทางบก น้ำ อากาศ กดดันให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ขัดขวางและเกิดการปะทะเดือด เจ้าหน้าที่ใช้ทั้งการฉีดน้ำแรงดันสูง ขว้างแก๊สน้ำตา ที่สุดผู้ชุมนุมบุกถึงไปทำกิจกรรมหน้ารัฐสภาได้สำเร็จ

สาดสีหน้าตร.

18 พ.ย.

ผู้ชุมนุมรวมตัวที่ ถ.ราชดำริ ก่อนเคลื่อนขบวนมาหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ปืนฉีดน้ำ-ถังสีสาดสีใส่ป้ายสำนักงาน พร้อมวางดอกไม้จันทน์ ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับ ผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา หลังเหตุการณ์นี้ นายกฯ ได้ออกแถลงการณ์จะใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตรา ดำเนินการกับผู้ชุมนุม

21 พ.ย.

กลุ่มนักเรียนเลวและภาคีนักเรียน จัดกิจกรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ใต้ BTS สถานีสยาม เปรียบสภาผู้แทนฯ เป็นไดโนเสาร์ ไม่รับ ไม่รู้ ไม่เปลี่ยนแปลง นักเรียนก็จะเป็นอุกกาบาตพุ่งชนความ ล้าหลัง

25 พ.ย.

กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดพื้นที่ด้านหน้า ธ.ไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน จากเดิมประกาศจะไปสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังเข้มจึงเลี่ยงปะทะ ไม่อยากให้เป็นเงื่อนไขรัฐประหาร

ขี่เป็ดแยกลาดพร้าว

27 พ.ย.

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าว จัดกิจกรรมซ้อมต้านรัฐประหาร ไฮไลต์อยู่ที่การแห่เป็ดเหลือง การทำพิธีคุณไสยสาปแช่งคนที่ทำรัฐประหาร

29 พ.ย.

กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ถ.วิภาวดี ก่อนเปลี่ยนไปที่ กรมทหารราบที่ 11 ถ.พหลโยธิน ทำกิจกรรมพับกระดาษแถลงการณ์เป็นจรวดร่อนจากสะพานลอยหน้าค่าย สาดสีบนถนนและฟุตปาธ

1 ธ.ค.

กลุ่มนักเรียนเลวชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้อิสระในการแต่งกายไปเรียน ขณะที่นักเรียนบางส่วนตามโรงเรียนดังหลายแห่งแต่งไปรเวตไปเรียน

2 ธ.ค.

กลุ่มราษฎรเปลี่ยนไปชุมนุมที่แยกลาดพร้าว จากเดิมที่นัดหน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลฯ กรณี พล.อ. ประยุทธ์ พักบ้านหลวง หลังศาลฯ มีมติ ไม่ผิด กลุ่มผู้ชุมนุมมีการปราศรัยโจมตี ผลการวินิจฉัย เพนต์สีลงถนนระบายความอัดอั้น

10 ธ.ค.

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จัดชุมนุมม็อบเฟสต์ที่อนุสรณ์สถานฯ จัดกิจกรรมเสวนา การละเล่น ดนตรี นิทรรศการ เรียกร้องยกเลิก ม.112

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน