เกษตรกรไทยปี2564 – แม้ปี 2563 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่หลายปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ากระทบผู้คนในทุกภาคส่วนทั่วโลก มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ภาคเกษตรเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเพราะผลผลิตจำนวนมากไม่สามารถส่งไปขายในต่างประเทศได้ อีกทั้งยังเจอสภาพอากาศแปรปรวน บางพื้นที่น้ำเยอะน้ำท่วม ขณะที่บางพื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ

สำหรับปี 2564 ผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรต่างมองไปในทางเดียวกันว่าเกษตรกรไทยยังต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ เหมือนปีที่แล้ว แต่อาจจะไม่หนักหนาสาหัสเท่า เนื่องจากสถานการณ์หลายอย่างเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว คือมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ก็ยังไม่สามารถฉีดได้ทั่วถึง ประกอบกับผู้คนต่างมีประสบการณ์ตรงในการปรับตัวอยู่กับโรคระบาดร้ายแรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอยู่บ้าน หรือการทำมาหากิน ซึ่งหันมาเน้นการใช้ออนไลน์เป็นทางเลือกหลัก

3 โจทย์ใหญ่ท้าทาย

มาดูกันว่าผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรไทยปลูกพืชผักผลไม้ทำเงิน รวมทั้งควรเลี้ยงสัตว์อะไรดีในยุคนี้ จะได้ทำให้ครอบครัวมีรายได้มั่นคงยั่งยืน ซึ่งพืชผักผลไม้ทำเงินก็มีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว กาแฟ พืชผักสลัด และผลไม้เมืองร้อน ฯลฯ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

เริ่มกันที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฉายภาพให้เห็นว่า ในปี 2564 เกษตรกรไทยต้องเจอปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง ประเด็นแรกต้องเจอกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่จบง่ายๆ ส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์และห้าง โมเดิร์นเทรดยังไม่สามารถเปิดได้เต็มรูปแบบเหมือนเมื่อก่อน ทำให้จำนวนลูกค้าไม่มากเหมือนเดิมจนกว่าคนส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีน ดังนั้นในปี 2564 เกษตรกรยังต้องเจอเรื่องนี้อยู่

2.วิกฤตที่เกิดจากภาวะโลกร้อนมีผลกระทบทำให้ฤดูกาลปรับเปลี่ยน ฤดูฝนลากไปถึงเดือนส.ค. ก.ย. และต.ค. เกิดภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนลดลง ส่วนบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนมากเกินไป ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลยังไม่สามารถบริการจัดการน้ำไปให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง

3.เรื่องกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะมี ผลกระทบในหลากหลายกลุ่มอาชีพ อาทิ กรอบความร่วมมืออาเซียนบวก 6 จะกระทบกับเกษตรกรที่มีผลผลิตทางการเกษตรเหมือนกับประเทศในกลุ่มนั้น ยกตัวอย่าง พืชผักผลไม้เมืองหนาวของไทยจะขายไม่ได้ เพราะจะมีการสั่งนำเข้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสู้ไม่ได้ อย่างพวกลูกพลับ สาลี่ บร็อกโคลี่

อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรบางสาขาได้รับผลประโยชน์ เพราะสามารถส่งออกได้มากขึ้น อย่างพวกปศุสัตว์ แต่กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยเสียก่อน ปัจจุบันยังไม่ปลอดโรค ทำให้มีปัญหาส่งออกต้องใช้วิธีแปรรูป เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถประกาศเขตปลอดโรคดังกล่าวได้เฉพาะบางพื้นที่ที่สามารถควบคุมดูแลได้ ไม่ต้องรอประกาศพร้อมกันทั้งประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยเจรจากับเจ้าของฟาร์มให้ดูแลเรื่องนี้ให้ดี แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นแนวทางเหล่านี้

ระบุพืชไร่ไร้อนาคต

“สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้ สำคัญคือต้องปรับตัวในเรื่องการผลิต สาขาไหนที่ได้เปรียบก็ขยาย ถ้ามีผลกระทบก็ชะลอการผลิต หาข้อมูล หูตาต้องกว้างไกล ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มองว่าผลไม้เมืองร้อน อย่างพวกทุเรียน มังคุด ยังไปได้ ปศุสัตว์ยังไปได้ พวกสุกร ไก่ วัว และควาย รวมถึงสาขาประมง”

ส่วนพวกพืชไร่ ควรลดจำนวนการผลิตลง เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย อาจเปลี่ยนเป็นปลูกอย่างอื่น เพราะเป็นพืชที่อนาคตดับ หมดสภาพ ขณะที่ยางพาราก็ขึ้นๆ ลงๆ มองว่ายางจะราคาดีขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจจีนดี เพราะจีนเป็นผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ โดยซื้อมากถึง 1 ใน 3 ของโลก อย่างไรก็ดีมองว่าการปลูกยางพาราในปัจจุบันนี้ก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว รัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปอุ้ม

ทั้งนี้ในส่วนการดำเนินงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในปี 2564 กำลังเจรจากับกระทรวงพลังงานเพื่อให้มีโครงการนำร่องเรื่องพลังงานชุมชน โดยใช้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ และปลัดกระทรวงพลังงานรับปากว่าจะพยายามผลักดันให้เกิดโครงการให้ได้ทั่วประเทศ

ส่วน “กัญชา” ยังไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ ยังถือเป็นพืชยาเสพติดอยู่ ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรฯ ผลักดันมาโดยตลอด คาดว่ากฎกระทรวงฉบับใหม่น่าจะมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งมีการปรับปรุงกฎหมายทั้งอยู่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ในสภานิติบัญญัติ ในปี 2564 น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น การขออนุญาตปลูกของเกษตรกร และผู้สนใจจะเร็วขึ้น ง่ายขึ้น

นายประพัฒน์ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ว่า ขยายตัวยาก เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่ตื่นตัว มีเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น กระทรวงเกษตรฯ เองก็ไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ชัดเจน ตอนนี้ปลูกได้แต่ก็ขายไม่ได้มากนัก

อรุษ นวราช

เกษตรอินทรีย์โต 20%

พูดถึงเกษตรอินทรีย์ ผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนเรื่องนี้คือนายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ผู้ริเริ่มขับเคลื่อนสามพรานโมเดล บอกเล่าความคืบหน้าของเรื่องนี้ให้ฟังว่า

จากการขับเคลื่อนกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว มองว่าความต้องการของสินค้าอินทรีย์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตโควิด กลับเติบโตมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ อย่างในต่างประเทศก็มีความต้องการต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนในประเทศไทยก็โตขึ้นประมาณ 20% ซึ่งถือว่าเยอะ และไม่ว่าจะเป็นอาหารเด็ก อาหารเสริมอย่างถั่งเช่า ทุกอย่างเป็นอินทรีย์หมด แทบจะเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ในประเทศไทยทุกคนสามารถบริโภคอินทรีย์ได้ในราคาไม่แพงเพราะตอนนี้มีเกษตรกรอินทรีย์เยอะขึ้น สามารถซื้อตรงจากเกษตรกรได้เลย

“เครือข่ายเราก็มีเพิ่มขึ้น และคนที่มาทำเกษตรอินทรีย์ก็อยากมาเกาะกลุ่มกัน เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์นั้นเป็นการเรียนรู้การเข้าใจธรรมชาติ ทำเกษตรที่ไม่ฝืนธรรมชาติ ความรู้ไม่มีวันหมดสิ้น ยิ่งทำก็ยิ่งมีความรู้ ดังนั้นคนที่ทำตัวจริงก็อยากเจอคนที่ทำจะได้มาแลกเปลี่ยนกัน การเกาะกลุ่มของผู้ทำเกษตรอินทรีย์จะเกาะกลุ่มกันโดยธรรมชาติ คิดว่าสังคมอินทรีย์น่าจะค่อยๆ โตขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ เทรนด์แต่เป็นวิถีชีวิตแบบยั่งยืน”

นายอรุษบอกอีกว่า แทบทุกกระทรวงเลยที่เข้ามาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เพราะเห็นเป็นวิถีชีวิต และเป็นเรื่องความยั่งยืน หลักๆ มี ททท. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ให้ทุน และมีกระทรวงพาณิชย์ด้วยที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการตลาด

ปีนี้จะทำงานกับผู้ผลิตที่เป็นเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ และจะพัฒนาข้อมูลใส่ข้อมูลลงในดิจิตอลแพลตฟอร์ม คือ แอพพลิเคชั่น “Thai Organic Platform” เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น และเกิดการท่องเที่ยวด้วย จะทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่มีทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค รวมถึงททท. ด้วย ซึ่ง ททท. จะเป็นผู้ผลักดันการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ที่ตอนนี้เปิดไปแล้ว 20 เส้นทาง

สนทนากับสองผู้รู้ในแวดวงเกษตรกันไปแล้ว ทีนี้ก็มาฟังนโยบายและแผนของหน่วยงานภาครัฐกันบ้าง นางมาลินี ยุวนานนท์ ผอ.สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรม ส่งเสริมการเกษตร จะมาชี้แจงแผนการส่งเสริมเกษตรในปี 2564 เพื่อที่เกษตรกรจะได้รู้และนำไปวิเคราะห์เพื่อการปลูกพืชผักผลไม้ได้อย่างเหมาะสม

มาลินี ยุวนานนท์

ผอ.มาลินีบอกว่า ปีนี้โจทย์ระยะสั้นที่เกษตรกรจะเจอคือ เข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ซึ่งแม้ดูเหมือนว่าน้ำในเขื่อนใหญ่น้ำจะเยอะ แต่น้ำกักเก็บสำหรับทำเกษตรก็มีไม่มาก กระทรวงเกษตรฯ จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชระยะสั้นที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาด ได้ผลตอบแทนสูง อย่างเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ต้องการวัตถุดิบเหล่านี้ ขณะที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูฝนเจอปัญหาโรคหนอนเจาะ ทำให้ได้ผลผลิตไม่มาก

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่ส่งเสริมให้เพาะปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทำให้เกิดปัญหาไม่รักษ์โลก และจะมีปัญหาส่งออกตามมา จึงส่งเสริมให้ปลูกในนาข้าว ซึ่งได้คุณภาพดีกว่า แต่บางพื้นที่ไม่มีน้ำอาจเลือกทำอย่างอื่นแทน เช่น เพาะเห็ดหลังนา โดยใช้ฟางข้าว

ชู‘จิ้งหรีด’อนาคตสดใส

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรยังส่งเสริมสินค้าเกษตรตัวใหม่คือ การเลี้ยงจิ้งหรีดที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาดโลก เป็นโปรตีนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้พื้นที่ไม่เยอะ และใช้พืชผักที่มีอยู่ในชุมชนเป็นอาหาร ร่วมกับอาหารสัตว์ ที่ผ่านมายุโรปและแอฟริกาให้ไทยส่งออกโปรตีนจากจิ้งหรีดเป็นโปรตีนผงไปขายได้ และตอนนี้ทางยุโรปให้ส่งจิ้งหรีดประเภททอดกรอบและแปรรูปแบบอื่นๆ เข้าไปได้แล้ว เป็นที่ชื่นชอบของพวกที่ชอบกินแมลง

นางมาลินีระบุว่า จากสถานการณ์โควิด ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวทั้งในเรื่องรูปแบบการขนส่งและการจำหน่าย อย่างพวกที่ปลูกกล้วยไม้ ปลูกมะม่วง กรมสนับสนุนให้ขายในประเทศ เพราะไม่สามารถส่งไปขายต่างประเทศได้ โดยให้เน้นสินค้าที่มีคุณภาพขายผ่านทางออนไลน์เป็นการลดค่าใช้จ่าย และไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ปีที่แล้ว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย ผลผลิตไม่ได้มากเท่าที่ควร ปี 2564 มองว่าผลผลิตต่อปีอาจจะต่ำ ที่จะทำได้คือรักษาระดับมาตรฐานให้ดี โดยอาจจะเพิ่มระยะเวลาการเก็บเกี่ยวเข้าไปอีก เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องรีบไปขาย นอกจากนี้กรมยังส่งเสริมให้เกษตรกรต้องทำให้ได้มาตรฐาน GAP”

สำหรับปี 2564 นอกจากกรมจะส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และขายผ่านทางออนไลน์ ยังเน้นการสร้างมูลค่าโดยใช้นวัตกรรม ระบบ IOT การทำเกษตรแม่นยำ และสนับสนุนสินค้าอัตลักษณ์ ผลไม้หลากหลาย เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักของ ผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อสนองนโยบาย นิวนอร์มัล เช่น

ทุเรียน ซึ่งพันธุ์ที่คนรู้จักมีชะนี มีหมอนทอง แต่ในความเป็นจริง สองพันธุ์นี้ถ้าปลูกในพื้นที่แตกต่างกันรสชาติก็จะอร่อยแตกต่างกัน เช่น ทุเรียนเกาะช้าง จ.ตราด ทุเรียนบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทุเรียนบ้านทรายขาว จ.ปัตตานี ทุเรียนน้ำแร่ จ.ตาก นอกเหนือจากทุเรียนหลง-หลิน จ.อุตรดิตถ์

ส่วนเรื่องเกษตรอินทรีย์ กรมก็ส่งเสริมให้มีการรับรองมาตรฐาน โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมเกษตรกร ที่ผ่านมาการขยายตัวมีแนวโน้มดี เกษตรกรร่วมปลูกอินทรีย์มากขึ้น พร้อมร่วมกันทำมาตรฐาน PGS ผู้บริโภคเองก็ตอบรับมากยิ่งขึ้น ในส่วนตลาดของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกจังหวัดก็จัดโซนขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน