ยลพิพิธภัณฑ์ชุมชนบึงกาฬ – หากเอ่ยถึง คุณสุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ “ขาบ” เจ้าของ “ขาบ สตูดิโอ” เชื่อว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจนักออกแบบสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งแวดวงการศึกษาจะรู้จักกันดี เพราะประสบการณ์นักปั้นแบรนด์ภาพลักษณ์ธุรกิจอาหาร การเกษตรและท่องเที่ยวชุมชน และอาจารย์พิเศษหลายสถาบัน ที่คร่ำหวอดในวงการกว่า 25 ปี

ผู้เติบโตมาจากวิถีเกษตรและอาหาร ทำงานเป็นอาสาสมัครโครงการหลวง เป็นนักปั้นแบรนด์ที่ได้รางวัลครบทั้ง 3 ประเภท คือ Local, Innovative, Design ได้รับรางวัลออสการ์อาหารโลก 13 รางวัล Gourmand World Awards ประเทศฝรั่งเศส คนเดียวจากประเทศไทย คอนเซ็ปต์ในการออกแบบเน้นความเรียบ ง่าย งาม ด้วยสโลแกน “โลคอล สู่เลอค่า”

จากประสบการณ์ทั้งหมดที่มี ทำให้ คุณขาบมีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปสร้างสรรค์ผลงานที่บ้านเกิด ด้วยการปลุกปั้น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ” ภายใต้สโลแกน “โลคอล สู่เลอค่า” (Local สู่เลอค่า) ภายใต้แนวคิดเรียนรู้วิถีถิ่นอีสานร่วมสมัยผ่านบ้านไม้เก่าแก่อายุ 70 ปี ในหมู่บ้านท่องเที่ยวพญานาคสตรีต อาร์ต จ.บึงกาฬ

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้ามาแวะเวียน เที่ยวชมความสวยงาม แปลกตาของสถานที่ จับจ่ายใช้สอยฝีมือของชาวบ้านที่นี่แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

กิจกรรมของที่นี่จัดขึ้นภายใต้สโลแกน “Crafts กับ ขาบ” ที่เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวแนวสโลว์ ไลฟ์ มุ่งเน้น เรียนรู้ศิลปะในชุมชน ทั้งการร่วมแต่งกายให้เข้ากับวิถีชุมชน เรียนรู้การจัดดอกไม้ ตั้งแต่การเลือกเก็บดอกไม้เองและนำมาจัดลงกรวยใบตองเพื่อไปไหว้พระ ไหว้พญานาค ขอพรบารมี บายศรีสู่ขวัญบนเรือนพิพิพิธภัณฑ์อายุ 70 ปี เพื่อความขลังและได้บรรยากาศของวิถีชีวิตชาวอีสาน

ภายในบ้านยังมีข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจัดแสดงไว้อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพราะนอกจากจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัยจริงๆ แล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนมาเยี่ยมชมอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการรับประทานอาหารกลางวันแบบพื้นถิ่นที่เลือกเสิร์ฟในรางไม้ไผ่ แนวคิดที่เน้น โลคอล สู่เลอค่า และการห่อข้าวต้มผัดแบบวิถีพื้นบ้าน กินอาหารพาแลงอีสานแบบวิถีนั่งพื้น เป็นต้น จากจุดเด่นเหล่านี้ ทางพิพิธภัณฑ์จึงรับบริการจัดเลี้ยง 10 ท่านขึ้นไปด้วย

จากการได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ สัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริงในการนำความรู้ ประสบการณ์มาพัฒนาบ้านเกิดที่อยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากกรุงเทพฯ กว่า 700 ก.ม. แทบจะไม่มีใครรู้จักให้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงในกลุ่มคนที่มีหัวใจเดียวกัน และขยายเป็นวงกว้างไปเรื่อยๆ ในแง่ของสถานที่ที่ให้มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินตา แต่จะได้รับความรู้ แนวคิดการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขจากผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจทำให้ผู้มาเยือนได้แรงบันดาลใจกลับไปอีกด้วย

คุณขาบเล่าว่า การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ เป็นการขับเคลื่อนชุมชนด้วยการสร้างชุมชนให้ เข้มแข็งด้วยตัวเอง ทั้งด้านอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์การเกษตร ท่องเที่ยวชุมชน เพราะแท้จริงแล้วประเทศไทยมีจุดแข็งตรงนี้ แต่ขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา แม้จะได้นำประสบการณ์ไปบรรยายให้กับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่การสอนกลับนำไปใช้จริงได้ยากมาก เพราะนโยบายข้างบนไม่สอดรับและขัดแย้งกับสภาพปัจจุบัน แต่การที่ได้รับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะหรือสาขาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีส่วนกำหนดแนวทางขับเคลื่อนตามสภาพตลาดการศึกษา เน้นความเป็นจริงและโลกแห่งยุคออนไลน์ ถ่าย โพสต์ แชร์ จับแฟชั่นและศิลปะร่วมสมัยใส่กับสิ่งที่ตนขับเคลื่อน ปรากฏว่าสิ่งนี้กลับโดนใจนักศึกษา และเห็นอนาคตชัดเจน

ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เข้าใจและมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงวัย ได้รับการฝึกอบรมการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น งานผ้า งานจักสาน อาหารพื้นถิ่นที่ชาวบ้านทำเป็นอยู่แล้ว แต่ยังขาดความประณีต บรรจง และความร่วมสมัย เมื่อชาวบ้านมาร่วมกับพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ได้เรียนรู้การผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น

ล่าสุดมีตัวแทนจากกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เข้ามาติดต่อเพื่อนำสินค้าไปวางจำหน่ายในช่องทางของบริษัท แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในคุณภาพของสินค้าที่ชาวบ้านได้ผลิตขึ้น สอดคล้องกับสโลแกนของพิพิธภัณฑ์ที่ว่าโลคอล สู่เลอค่า นั่นก็คือการนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาต่อยอดให้มีคุณค่า มูลค่า สู่สายตาของของคนภายนอก ทั้งในและต่างประเทศ

ขณะเดียวกันกลุ่มเยาวชนในชุมชนก็มีส่วนร่วม เช่น เป็นมัคคุเทศก์น้อยพานักท่องเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯ และสถานที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีจุดให้ถ่ายรูปกับภาพวาดพญานาค และภาพอื่นๆ ที่ล้วนแต่สวยงาม แปลกตา กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ภายในหมู่บ้าน ในแนวสตรีตอาร์ต โดยมีจิตอาสาทั้งอาจารย์และนักศึกษาด้านศิลปะมาช่วยวาดกว่าร้อยภาพ สื่อถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวบ้านที่นับถือพญานาค ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา

สำหรับผู้ที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ โทรศัพท์ 08-6229-7626

แผนที่ : https://goo.gl/maps/ha59ez7p8wmWPxUG8

วรนุช มูลมานัส
ภาพ FB:พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจ.บึงกาฬ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน