หูฟังใหม่ค่าย‘โซนี่’ – การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาและต่อยอดความเป็นเยี่ยมนั้นยากยิ่งกว่า หูฟังไร้สายแบบโอเวอร์เอียร์รุ่น WH-1000 XM 4 จากค่ายโซนี่ ประเทศญี่ปุ่น เป็นภาคต่อของ WH-1000 XM 3 หนึ่งในหูฟังบลูทูธที่ได้รับขนานนามจากบรรดานักเลงหูฟัง ว่าเป็นหนึ่งในหูฟังไร้สายที่ยอดเยี่ยมที่สุด ทั้งด้านราคา คุณภาพเสียง คุณภาพวัสดุ รูปลักษณ์ และความเงียบเชียบทั้งจากตัวหูฟัง

โดยเฉพาะเทคโนโลยีต่อต้านเสียงรบกวนภายนอก (Active Noise Cancellation) หรือเอเอ็นซีที่ดีที่สุดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทางแอนดรอยด์อูธอริตีจึงนำประสบการณ์การใช้หูฟังภาคต่อมาให้รับทราบกัน ว่าดีขึ้นแค่ไหน คุ้มค่าหรือไม่ที่จะออกไปวิ่งเต้นหาซื้อกันเหมือนรุ่นที่แล้วมา

แอนดรอยด์อูธอริตี ระบุว่า Sony WH-1000 XM 4 นั้นเป็นหูฟังที่สามารถฟังดนตรีได้ทุกแนว ทั้งยังได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีเอเอ็นซีที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่ารุ่น WH-1000 XM 3 เหมาะมากสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยและต้องการหูฟังคุณภาพเสียงและเอเอ็นซีแบบเป็นเยี่ยม พร้อมระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนาน ทั้งหมดสนนราคาที่ 13,990 บาท

อดัม โมลินา ผู้ทดสอบใช้งานระบุว่า รูปลักษณ์ภายนอกของหูฟังนั้นแทบไม่แตกต่างจากรุ่นยอดฮิตรุ่นก่อน แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปภายในนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เริ่มที่ระบบการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธแบบหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้สูงสุดถึง 2 อุปกรณ์ เพื่อทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่สะดวกและไร้รอยต่อ อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของระบบดังกล่าว คือ อุปกรณ์ทั้ง 2 ชิ้นจะต้องใช้ AAC Bluetooth codec ซึ่งเป็นการเข้ารหัสข้อมูลเสียงบลูทูธทั่วไปแบบ Lossy (เหมือนเพลง .mp3) ไม่ใช่ Lossless แบบที่นักเลงหูฟังนิยม

ข่าวสดไอทีเคยรีวิว Sony WH-1000 XM 3 ไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนมองว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้มีประโยชน์มากโดยเฉพาะกับผู้ที่ทำงานที่บ้าน ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในเทรนด์ใหม่ของพนักงานออฟฟิศในปีนี้ เนื่องจากโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ทั่วโลกและในประเทศไทย

เช่น การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อทำงาน พร้อมกับการเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ซึ่งอาจต้องรับสายโทร.เข้า หรือโทร.ออกเพื่อประสานงานเรื่องสำคัญๆ ทำได้โดยไม่ต้องถอดหูฟังบ่อยๆ เป็นต้น

สําหรับฟีเจอร์ใหม่ที่ผู้ใช้เข้าถึงได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Sony Headphones Connect (สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจาก Google Play Store ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ Apple App Store ในไอโอเอส) เช่น Speak-to-Chat เป็นระบบที่หูฟังจะหยุดเสียงในหูฟังลงเมื่อตรวจพบว่าผู้ฟังเปล่งเสียงพูด

การทดสอบพบว่า ระบบดังกล่าวนั้นมีความไวสูงมาก หรืออาจเรียกได้ว่าสูงเกินไปในบางครั้ง เพราะไมโครโฟนที่ทำหน้าที่ตรวจหาเสียงพูดของผู้ฟังนั้นอาจเข้าใจผิดเสียงรบกวนจากรอบข้างว่าเป็นเสียงของผู้ฟังได้ ทำให้เพลงโปรดที่กำลังฟังอยู่หยุดไปโดยขัดเจตนาของผู้ใช้ นายโมลินาระบุว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ฟีเจอร์นี้ก่อให้เกิดความน่ารำคาญมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ

อีกหนึ่งฟีเจอร์ คือ auto-pause เป็นระบบหยุดการทำงานของหูฟังทันทีเมื่อผู้ใช้ยกหูฟังออกจากศีรษะ แม้ไม่ใช่ฟีเจอร์ที่ฟังดูหวือหวา แต่ก็เหมาะสมแล้วกับหูฟังระดับนี้ ถือว่าเป็น ระดับไฮ-เอนด์ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป

ด้านการควบคุมหูฟัง จุดนี้ทางโซนี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมมากนัก กล่าวคือยังเป็นการควบคุมหลักด้วยการสัมผัสที่บริเวณแป้นด้านข้างหูฟังด้านขวา ตั้งแต่การแตะ 2 ครั้ง เพื่อหยุดเล่นหรือเล่นต่อ ไปจนถึงการเขี่ยไปจากหลังไปหน้า และหน้าไปหลัง เพื่อเล่นรายการถัดไปหรือย้อนกลับ-เริ่มใหม่ตามลำดับ

แต่ปัญหาเดิมยังคงอยู่เหมือนกับรุ่นก่อนคือ บางครั้งการแตะก็ไม่เวิร์ก ต้องทำซ้ำ ซึ่งจริงแล้วหากเวิร์กทุกครั้งก็จะสะดวกมากจนแทบไม่ต้องถอดหูฟังออก

ส่วนอีกหนึ่งฟีเจอร์พิเศษตรงนี้เป็นการเปิดให้เสียงภายนอกไหลเข้าไปในหูฟังชั่วคราว (ambient noise mode) ด้วยการใช้ฝ่ามือประกบกับหูฟังด้านซ้าย ทำให้ผู้ใช้ฟังเสียงภายนอกได้เมื่อต้องการโดยไม่ต้องถอดหูฟังออกหรือหยุดรายการที่กำลังเล่นอยู่

สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดของหูฟัง WH-1000 XM 4 หนีไม่พ้นเทคโนโลยีต่อต้านเสียงรบกวนภายนอก ซึ่งค่ายโซนี่นั้นมีชื่อเสียงในด้านนี้มานาน โดยจากการทดสอบพบว่า WH-1000 XM 4 นั้นยกระดับเทคโนโลยีเอเอ็นซีให้ยอดเยี่ยมขึ้นไปกว่า WH-1000 XM 3 ได้สำเร็จด้วยอัลกอริทึมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อตรวจวิเคราะห์เสียงรบกวนภายนอกถึง 700 ครั้งต่อวินาที

ข่าวสดไอที มองว่า การตรวจวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมที่ความถี่ระดับนี้แม้ฟังดูมากเกินความจำเป็น หรือเรียกได้ว่า “โอเวอร์คิล” แต่จะส่งผลให้หูฟัง WH-1000 XM 4 มีความสามารถในการตัดเสียงรบกวนได้แบบ เรียลไทม์ และมีความสามารถสูงกว่า WH-1000 XM 3 ที่ใช้ชิพ Q1N เหมือนกันแต่มีความถี่ของ อัลกอริทึมต่ำกว่า รวมทั้งการใน WH-1000 XM 4 ยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่ฉลาดล้ำกว่ารุ่นก่อนด้วย สามารถลดทอนเสียงรบกวนที่ย่านความถี่ต่ำ 175-400 เฮิร์ตซ์ (Hz) ลงได้อย่างชะงัด ถือเป็นหนึ่งในจุดที่ข่าวสดไอทีชื่นชอบ โดยเฉพาะเวลาต้องการนอนหลับพักผ่อนท่ามกลางเสียงรบกวน เพียงสวมหูฟังรุ่นนี้โดยไม่ต้องเล่นเพลงก็เงียบสนิทหลับฝันดี เสียแค่นอนตะแคงไม่ได้ (ฮา)

การเชื่อมต่อของ WH-1000 XM 4 เป็นการเชื่อมผ่านสัญญาณบลูทูธ 5.0 รองรับ Codec ทั้ง SBS, AAC และ LDAC สำหรับผู้ชื่นชอบประสบการณ์การรับฟังดนตรีแบบ Lossless ซึ่งมีขนาดไฟล์ใหญ่กว่าแบบ Lossy เนื่องจากไม่มีการบีบอัดและตัดความถี่ส่วนใดออก ส่งผลให้ได้อรรถรสเต็มอิ่มตามของจริงอัดมาจากการเล่นจริง นอกจากนี้ หูฟังยังมีช่องสำหรับสายเคเบิล AUX ขนาด 3.5 มิลลิเมตร และ Codec ดังกล่าวจะขึ้นกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ

จุดที่ต้องย้ำคือ ระบบเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์รองรับเพียง AAC เท่านั้น และแน่นอนว่าการเชื่อมต่อแบบ LDAC นั้นจะทำให้เสถียรภาพของสัญญาณต่ำกว่าแบบปกติเสี่ยงที่เพลงจะขาดๆ หายๆ หากระยะห่างระหว่างหูฟังกับอุปกรณ์มากเกินไป เช่นเดียวกันกับ WH-1000 XM 3

การทดสอบทั้งสองรุ่นไม่พบปัญหานี้หากเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนที่พกติดตัวอยู่แล้ว แต่หากวางทิ้งไว้ที่โต๊ะ แล้วเดินห่างออกไปอาจพบปัญหาเสียงเบาลง หรือขาดๆ หายๆ

คุณภาพเสียงจากไมโครโฟนของ WH-1000 XM 4 นั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกันกับ WH-1000 XM 3 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับคำชื่นชมแล้ว เนื่องมาจากฟิลเตอร์เสียงที่มีประสิทธิภาพของโซนี่ซึ่งตรวจหาและกรองเสียงเบสของแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ใกล้ผู้ใช้ขณะสนทนา ทำให้ได้ประสบการณ์การสนทนากับคู่สายที่อยู่ในเกณฑ์ดี

โซนี่ระบุว่า WH-1000 XM 4 มีระยะเวลาการใช้งานของแบตฯ นานเทียบเท่ากับ WH-1000 XM 3 คืออยู่ที่ 30 ชั่วโมง โดยจากการทดสอบพบว่า สามารถอยู่ได้เพียง 20 ช.ม. ที่การเล่นเพลงความดังระดับปานกลาง (75 เดซิเบล) และเปิดใช้ระบบต่อต้านเสียงรบกวนภายนอก แม้จะน้อยกว่าที่โฆษณาไว้แต่ระยะเวลาระดับนี้ถือว่าเหลือเฟือแล้ว ถึงจะได้ไม่เท่ารุ่นก่อนอย่าง WH-1000 XM 3 ที่จากการทดสอบของข่าวสดไอทีได้อยู่ที่ราว 24 ช.ม. (เกณฑ์การทดสอบเดียวกันกับแอนดรอยด์อูธอริตี)

มาถึงด้านลักษณะเสียงของ WH-1000 XM 4 กันบ้าง ทางแอนดรอยด์อูธอริตีมองว่า ลักษณะเสียงโดยรวมนั้นเหมือนรุ่นก่อนแต่มีความละเอียดของดนตรีมากยิ่งขึ้นไปอีกเนื่องมาจากย่านการตอบสนองความถี่ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีเบส (ย่านต่ำ) ลดลงเล็กน้อยทำให้ผู้ฟังสามารถได้ยินรายละเอียดของเสียงจากย่านความถี่อื่นได้เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าอาจทำให้ผู้ใช้ที่เป็นขาเบสหนักๆ ไม่ค่อยชอบใจนัก แต่ทิศทางการปรับเปลี่ยนนี้ทางข่าวสดไอที มองว่าเป็นเพราะทางโซนี่ต้องการทำให้หูฟังรุ่นนี้สามารถตอบสนองได้ผู้บริโภคแนวเพลงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบสไวให้อารมณ์กระฉับกระเฉง ย่านกลางเด่นคมชัดได้รายละเอียดเครื่องดนตรีและผู้ขับร้อง ย่านสูงหวานแตะคมแต่ไม่บาดหูทำให้ใส่ฟังได้นาน เวทีเสียงปานกลางไม่อึดอัดหรืออ้างว้าง แต่ถ้าใครอยากได้เบสกระแทกๆ แบบ WH-1000 XM 3 รุ่นก่อนกลับมาก็ปรับ EQ ผ่านแอพฯ กันเอาตามสะดวก

ข่าวสดไอที มองว่า WH-1000 XM 4 เป็นหูฟังระดับไฮ-เอนด์ สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่รองรับแนวเพลงได้กว้างมากๆ แม้ราคาจะค่อนข้างสูง แต่หากคำนึงฟีเจอร์ต่างๆ และความยอดเยี่ยมของทั้งรูปลักษณ์เรียบหรู น้ำหนักเบา พกพาสะดวก คุณภาพเสียงและการตัดเสียงรบกวนที่ยอดเยี่ยมแล้วถือว่าเกินคุ้มสำหรับหูฟังภาคต่อตัวนี้ แต่ถ้าใครอยากลองมองหาทางเลือกอื่น แนะนำลองพวก Apple AirPods Max, Bose Noise Cancelling Headphones 700, Microsoft Surface Headphones 2

หรือจะซื้อ WH-1000 XM 3 ที่ถูกกว่ามาก็ได้ รับรองว่าไม่ได้ต่างกันมาก เพราะขึ้นชื่อว่าหูฟังก็เหมือนไวน์รสเลิศสำหรับหู ของพวกนี้ไม่มีคำว่า “ตกรุ่น”

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน