หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล วัดบ้านแพน จ.อยุธยา – วันอาทิตย์ที่ 17 ม.ค. 2564 น้อมรำลึกครบ 2 ปี มรณกาล “หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล” หรือ “พระมงคลวุฒาจารย์” อดีตเจ้าอาวาส วัดบ้านแพน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเสนา

พระเกจิชั้นแนวหน้าอีกรูปของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศไทย เวลามี งานพุทธาภิเษกปลุกเสกพระเครื่องรุ่นต่างๆ จะต้องได้รับนิมนต์ให้ร่วมพิธีอย่างขาดมิได้

มีนามเดิมว่า ทองพูน สัญญะโสภี เกิดเมื่อวันพุธที่ 16 พ.ย. 2475 ที่บ้านสามกอ หมู่ 1 ต.สามกอ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

ในวัยเด็กได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนศรีรัตนานุกูล หรือปัจจุบัน คือโรงเรียนวัดบ้านแพน “ศรีรัตนานุกูล” กระทั่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2488

อายุ 17 ปี บรรพชาที่วัดบ้านแพน ซึ่งในปีนั้นก็สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

ศึกษาพระธรรมวินัยได้ 3 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2495 โดยมีพระครูปริยัติคุณูปการ(หลวงพ่อวาสน์) วัดบ้านแพน เป็น พระอุปัชฌาย์, พระครูเกษมคณาภิบาล (หลวงพ่อมี) วัดมารวิชัย เป็นพระกรรม วาจาจารย์ และพระครูวิบูลย์ธรรมศาสน์ (หลวงพ่อสังวาลย์) วัดกระโดงทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตสีโล”

ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมชั้นโท-เอก ตามลำดับ

สนใจศึกษาในเรื่องพุทธาคมมาตั้งแต่ก่อนบวชสามเณร ครั้นบวชเป็นพระภิกษุได้มีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ รวมทั้งหลวงพ่อวาสน์ พระอุปัชฌาย์ของท่านด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เรียนวิชาจากอาจารย์ลพ เกตุบุตร ฆราวาสซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อวาสน์ ถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อพูน มักใช้จารลงในแผ่นยันต์หรือแหวนอยู่เป็นประจำ

เป็นพระเกจิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำตะกรุด โดยเฉพาะตะกรุดดอกไม้ทอง

มูลเหตุการเรียนวิชาการทำตะกรุดของหลวงพ่อพูน สืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ.2499 ท่านทราบว่าที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีพระอาจารย์ที่เรืองวิทยาคม ทางด้านการทำตะกรุด คือ หลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง

จึงเข้าไปกราบนมัสการ และถือโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาการทำตะกรุดนับแต่บัดนั้น

พ.ศ.2527 หลังจากที่พระครูปริยัติคุณูปการ (หลวงพ่อวาสน์) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านแพน ด้วยในขณะนั้นท่านชราภาพมาก จึงมอบตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบ้านแพนให้หลวงพ่อพูนสืบแทน

งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือ การสร้างกุฏิพระจำนวน 8 ห้อง

ด้วยความตั้งใจจริงที่จะบูรณะวัดบ้านแพน หลวงพ่อพูนจึงได้นำวิชาการทำตะกรุดดอกไม้ทองที่ร่ำเรียนมาจากหลวงพ่อสนั่น เช่าบูชาหารายได้สมทบทุนสร้างกุฏิจนแล้วเสร็จ พร้อมกับสร้าง เพิ่มอีก 8 ห้อง และนำเงินมา สร้างถาวรวัตถุต่างๆ

ทำหน้าที่ปกครองดูแลวัดและก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆกระทั่งวัดบ้านแพนเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

พ.ศ.2545 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเสนา พ.ศ.2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเสนา

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2520 ได้รับการแต่งตั้งฐานานุกรมเป็น “พระครูปลัด” ฐานานุกรมของพระเทพรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม

พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอกที่ พระครูสุวรรณสีลาธิคุณ

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระมงคลวุฒาจารย์

ช่วงสายเวลา 10.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 17 ม.ค. 2562 ละสังขารอย่างสงบ ด้วยโรคชราภาพ ที่โรงพยาบาลมิชชั่น กรุงเทพฯ

สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน