‘อาคม’ โต้ข่าวประเทศไทยล้มละลาย ยันฐานะคลังยังปึ้ก-รื้อภาษีหาเงินโปะงบประมาณ

รมว.คลังยืนยันประเทศไทยไม่ล้มละลาย ฐานะการคลัง ยังมั่นคง ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% ไม่เกินเกณฑ์ความมั่นคง ระบุกู้ 1 ล้านล้านเป็นสิ่งจำเป็นใช้ในการรับมือ ผลกระทบโควิด-19 สั่งปรับโครงสร้างภาษีหารายได้ชดเชย งบประมาณประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19” ในงานสัมมนา พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย จัดโดยเครือมติชน ว่า ยืนยันว่าสถานะและเงินคงคลังของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง

ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏในสื่อว่าประเทศไทยจะล้มละลาย จึงไม่ใช่เรื่องจริง แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากงบประจำปีทำ ไม่ได้ เพราะมีการผูกพันกับหน่วยงานไปหมดแล้ว

“รัฐบาลจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก คนตกงานและต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% ของ จีดีพี แต่ยังอยู่ในกรอบความมั่นคงการคลัง ต้องไม่เกิน 60% โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เเหมือนกันทั่วโลก”

นายอาคมกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีวัคซีน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันหลังสถานการณ์โควิด-19 ใน 3 ระดับ คือ 1.ภูมิคุ้มกันประเทศ ได้แก่ การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ต้องเติบโตต่อเนื่องสูงหรือต่ำไม่เป็นไร, ฐานะการเงินโดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากเอาเงินก้อนนี้มาชำระหนี้ จะชำระหนี้ระยะสั้นได้ 3 เท่า จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงฐานะความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

2.ภูมิคุ้มกันกลุ่ม คือ การผลิต เกษตร อุตสาหกรรม บริการและการท่องเที่ยว ที่เจอปัญหามากจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งกระทบรายได้ของภาคการผลิตและ 3.ภูมิคุ้มกันระดับประชาชน และแรงงาน โดยประชาชนต้องรู้จักการออม เพื่ออนาคตของตัวเองถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองเมื่อเจอวิกฤต

นายอาคมกล่าวอีกว่า การปฏิรูปโครงสร้างรายได้จากภาษี จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันว่าจะมีงบประมาณเพียงพอเพื่อรองรับการใช้จ่ายในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศของภาครัฐในระยะต่อไป โดยรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ (อี-เซอร์วิส) ซึ่งไม่มีออฟฟิศในประเทศไทย แต่มีลูกค้าในไทยจำนวนมากแล้ว

รวมทั้งจะเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยจัดงบลงทุนไว้ที่ 20% ของงบประมาณรายจ่าย สำหรับภาคการท่องเที่ยวต้องปรับตัว เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นต้องเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน