คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โลกกังวลถึงไทย – หลังการรัฐประหารของเมียนมา ท่าทีของโลกประชาธิปไตย ไม่ว่า สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ล้วนชัดเจน

การแสดงออกมีทั้งแถลงการณ์ประณามต่อต้าน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุมไว้โดยทันที

นอกจากกองทัพเมียนมาแล้ว ผลกระทบนี้จะส่งถึงไทยด้วยในที่สุด ทั้งในฐานะเพื่อนบ้านและประเทศที่ผ่านการรัฐประหารเมื่อปี 2557

รายงานจากสื่อของสหรัฐระบุว่า นายเจก ซัล ลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่อสายพูดคุยทางโทรศัพท์กับเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อต้นสัปดาห์

เนื้อหามีทั้งความกังวลสถานการณ์เมียนมา และสถานการณ์ในไทย

ความกังวลต่อเมียนมาน่าจะเป็นที่รับทราบไปแล้วทั่วโลก หลังจากเริ่มมีการใช้อาวุธควบคุมฝูงชนที่ต่อต้านรัฐประหาร

ส่วนของไทย เป็นความกังวลเหตุจับกุมผู้ ประท้วง และดำเนินคดีกับประชาชน ด้วยกฎหมายที่แปลกแตกต่างจากโลกสากล

จนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ มีแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มต่างๆ มาแล้ว

ส่วนสมาชิกฝ่ายค้าน นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนคนไทยด้วยกันพยายามเตือนหลายครั้ง แต่กลับไม่เกิดผลให้เจ้าหน้าที่รัฐทบทวนแต่ อย่างใด

รัฐยังคงยืนกรานใช้มาตรการแข็งกร้าวนี้ทั้งที่เป็นช่วงเวลาสุ่มเสี่ยง

นอกจากการควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลทั่วไปจะมีปัญหาแล้ว กับสมาชิกในสภาผู้แทนฯ ยังมีเรื่องแทรกเข้ามาอีก ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

เมื่อสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาลยื่นญัตติให้สภา ส่งเรื่องที่พรรคฝ่ายค้านขอเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยลงมติไม่ไว้วางใจ ไปยังศาล รัฐธรรมวินิจฉัย อ้างว่ามีเนื้อหาที่เชื่อได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน

ทั้งที่ญัตติผ่านการวินิจฉัยของประธานสภาและบรรจุในวาระการประชุมแล้ว ทั้งที่การอภิปรายของฝ่ายค้านถือเป็นการตรวจสอบตามกลไกของสภาอย่างปกติ

การทำเรื่องไม่ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ จึง ยิ่งทำให้ไทยดูน่าวิตกกังวลไปพร้อมๆ กับเมียนมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน