นวัตกรรม มทร.ธัญบุรี – นักศึกษาและนักวิจัย มทร.ธัญบุรี คิดค้นนวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันโควิด-19 แสดงผลเมื่อผู้สวมใส่มีอุณหภูมิร่างกายสูง ด้วยการพัฒนาหน้ากากและแถบยางยืดเคลือบตกแต่งด้วยสารเทอร์โมโครมิก

ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา อาจารย์นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรม สิ่งทอ สาขาวิศวกรรมการจัดการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า ตนและ ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3

นำโดย บีม น.ส.วิจิตรา ควรรับผล, นิว น.ส.มนัญญา จำปาศรีและ มายด์ น.ส.คนิษฐา สุวรรณศิลป์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมหน้ากากเปลี่ยนสีเมื่อผู้สวมใส่มีอุณหภูมิสูงด้วยการพัฒนาชิ้นส่วนหน้ากาก และแถบยางยืดเคลือบตกแต่งด้วยสารเทอร์โมโครมิก เมื่อผู้สวมใส่ มีอุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 37.5 องศาเซลเซียส สีของสาร เทอร์โมโครมิกบนหน้ากากและยางยืดจะเปลี่ยนเป็นไม่มีสี และแสดงสีเดิมของเนื้อผ้า

ดร.นารีรัตน์กล่าวต่อว่า สารเทอร์โมโครมิก มีความสามารถในการเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิที่กำหนด การทดสอบครั้งนี้กำหนดให้การเปลี่ยนสีมี 3 อุณหภูมิจุดวิกฤต ประกอบไปด้วยสีน้ำตาลที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส สีดำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และสีน้ำเงินที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส

จากการทดสอบนำแถบยางยืดชนิดเดียวกันมาย้อมสารเทอร์โมโครมิกและทดสอบการเปลี่ยนสีในช่วงอุณหภูมิ 35-38.5 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าสารเทอร์โมโครมิกที่นำมาตกแต่งนั้นสีน้ำเงินมีอุณหภูมิการเปลี่ยนสีใกล้เคียงกับความต้องการนำไปใช้งานที่ 37.5 องศาเซลเซียส เหมือน อุณหภูมิเริ่มต้นของผู้ที่มีอาการไข้

จึงนำสารเทอร์โมโครมิกสีน้ำเงินดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้บนผ้าและแถบยางยืด พร้อมกับออกแบบหน้ากากผ้าที่มีลักษณะเป็น 3D โดยหน้ากากผ้าชั้นนอกมีประสิทธิภาพสะท้อนน้ำ ป้องกันแบคทีเรีย หายใจสะดวก ป้องกันไฟฟ้าสถิตส่วนผ้าชั้นในเป็นผ้าฝ้าย 100%

ขณะที่แถบยางยืดใช้ตกแต่งสารเทอร์โมโครมิกเป็นส่วนที่แนบติดกับผิวหนังจึงสัมผัสอุณหภูมิความร้อนบริเวณใบหน้าได้เป็นอย่างดี และมีราคาสูงกว่าหน้ากากผ้าทั่วไปเพียง 10-15 บาทเท่านั้น ซักได้มากถึง 30 ครั้ง

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2549-3450

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน