พระนิลพัตร – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องเก่าๆ พระเก่าๆ ที่คนในสมัยก่อนเขานิยมและนำมาจัดชุดกัน เช่นเดียวกับพระเบญจภาคีที่ท่านอาจารย์ตรียัมปวายท่านได้จัดไว้ในการจัดชุดพระเบญจภาคีอันมีพระสมเด็จฯ พระนางพญา พระซุ้มกอ พระรอด และพระผงสุพรรณนั้น ความจริงก็มีท่านผู้กองสันทัดร่วมในการช่วยกันจัดพระชุดนี้ด้วย ท่าน ผู้กองสันทัด ท่านเป็นนายทหารอากาศ ยศนาวาอากาศโทและเป็นเพื่อนกับท่าน อาจารย์ศรีฯ แต่ใครๆ ก็มักจะเรียกท่านว่า ผู้กองสันทัดกันจนติดปากในสมัยนั้น

ผู้กองสันทัดท่านนี้ได้จัดพระชุดมังกรดำไว้ แต่ต่อมาท่านได้เสียชีวิตเสียก่อนที่จะ เผยแพร่ออกมา จึงไม่ค่อยได้มีใครทราบเรื่องการจัดชุดพระชุดนี้กันนัก นอกเสียจากท่านผู้อาวุโสที่เล่นหาสะสมพระในยุคบาร์มหาผัน อายุตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 80 ปีขึ้นไป ผมเองได้รับการบอกเล่าจากผู้อาวุโส บอกเล่าให้ฟังในเรื่องการจัดพระชุดมังกรดำ จึงนำพระที่อยู่ในชุดนี้มาเล่าสู่กันฟัง ขอเริ่มด้วย “พระนิลพัตร”

ครับชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูนัก นอกจากจะเป็นคนรุ่นเก่าๆ พระนิลพัตรเป็นพระที่ได้รับความนิยมและยกย่องให้เป็นพระที่เด่นทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดในสมัยก่อน “พระนิลพัตร” ก็คือพระเชตุพนหน้าโหนกหรือพระร่วงนั่งหน้าโหนก แต่จะต้องเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีสีดำเท่านั้นครับ แต่ก็มีพระร่วงนั่งหน้าโหนกแบบเดียวกับของกรุวัดเชตุพน ที่พบในจังหวัดสุโขทัยอยู่หลายกรุ พระที่พบในสมัยสุโขทัยก็มักจะเรียกว่า “พระเชตุพนหน้าโหนก” เช่นเดียวกัน

พระเชตุพนหน้าโหนกหรือพระร่วงนั่งหน้าโหนกนั้น เนื่องจากการพบที่กรุวัด เชตุพนจังหวัดสุโขทัยเป็นปฐม จึงใช้ชื่อวัดเป็นชื่อเรียกพระเครื่องที่พบ และเหตุที่พุทธลักษณะขององค์พระนั้นมีพระพักตร์โหนกนูนเด่นชัด จึงนำเอาพุทธลักษณะที่เด่นชัดมาเป็นคำตามหลัง พระเชตุพนหน้าโหนกที่พบนั้นเป็นพระเครื่องขนาดเล็ก สูงประมาณ 1.5 ซ.ม. กว้างประมาณ 1.3 ซ.ม. พระที่พบมีทั้ง 2 เนื้อคือเป็นพระเนื้อชินและเนื้อดินเผา และพบทั้งแบบฐานเขียงชั้นเดียวกับพิมพ์ฐานบัว 2 ชั้น แต่พระที่เป็นเนื้อดินเผาและมีเนื้อพระเป็นสีดำนั้นมีน้อยมาก และก็หายากเช่นเดียวกับพระคงดำ พระเชตุพนหน้าโหนกมีพุทธคุณเด่นทางด้านคงกระพันและแคล้วคลาด ท่านผู้กองสันทัดจึงนำมาจัดชุดอยู่ในพระชุดมังกรดำ โดยเอาเฉพาะพิมพ์บัวชั้นเดียวที่เป็นเนื้อดินเผาสีดำเท่านั้น

นอกจากนี้พระแบบเดียวกันก็ยังพบที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายกรุ ชื่อเรียกก็มักจะเป็น “พระกำแพงหน้าโหนก” เนื่อง จากสถานที่พบนั้นพบที่จังหวัดกำแพงเพชร และพุทธลักษณะก็เหมือนกับของวัดเชตุพน สุโขทัย แต่พระพักตร์จะดูโหนกนูนกว่าของกรุของจังหวัดสุโขทัย มีการพบพระกำแพงหน้าโหนกอยู่หลายกรุของจังหวัดกำแพง เพชร เช่นที่กรุวัดอาวาสน้อย วัดอาวาสใหญ่ วัดพระนอน วัดพิกุล วัดบรมธาตุ วัดพระเเก้ว และวัดป่ามืด เป็นต้น การพบพระมีทั้งเนื้อชินเงิน เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง แต่พบน้อยและพระเนื้อดินเผา แต่พระเนื้อดินเผาที่เป็นสีดำสนิทนั้นก็พบน้อยมากเช่นกัน ขนาดขององค์พระก็เท่าๆ กับพระที่พบในจังหวัดสุโขทัย

พระร่วงนั่งหน้าโหนก ทั้งของสุโขทัยและกำแพงเพชร เฉพาะที่เป็นเนื้อดินเผาสีดำสนิท ถ้าผ่านการสัมผัสใช้มาก่อนก็จะมีสีดำมันเงาสวยงาม ปัจจุบันนั้นหายาก และมักเรียกกันอยู่ในยุคหนึ่งว่า “พระนิลพัตร” ท่านผู้กองสันทัดจึงได้นำมาจัดเป็นหนึ่งในพระชุดมังกรดำครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระเชตุพน หน้าโหนกเนื้อดินเผาสีดำ กรุวัดเชตุพน สุโขทัย จากหนังสืออมตพระกรุ อันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน