เสริมทักษะดิจิทัล เชื่อมโลกให้ผู้หญิง“Facebook ประเทศไทย” เดินหน้าในพันธกิจสนับสนุนความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิง

ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ทางดิจิทัลและช่องทางต่างๆ ในการขยายธุรกิจ รวมถึงโครงการ Boost with Facebook มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย เข้าร่วมแล้วกว่า 4,500 ราย โดยร้อยละ 60 เป็นผู้หญิง

แพร ดํารงค์มงคลกุล Country Director, Facebook ประเทศไทย ระบุว่าโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับ ผู้หญิงทั่วโลกอย่างมหาศาล มีรายงานระบุว่าผู้หญิงจะต้องแบกรับความรับผิดชอบในการดูแลสมาชิกครอบครัว มีโอกาสที่จะถูกปลดออกจากงานหรือโดนลดเงินเดือนมากกว่า รวมทั้งต้องเจอกับความเครียดและวิตกกังวล มากกว่าด้วย

Facebook ร่วมงานกับหลากหลายสถาบันเพื่อศึกษา ความไม่เท่าเทียมทางเพศทั้งที่ทำงานและที่บ้านในช่วง โควิด-19 จากรายงานชิ้นแรกนี้ทำให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เวลาที่ต้องใช้ไปกับการดูแลบุตรและทัศนคติเกี่ยวกับความเท่าเทียม สิ่งที่น่ากังวลใจคือการที่ผู้หญิง ยังคงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายและยังคงต้องพึ่งพาคนอื่นทางการเงินอยู่ โดย 1 ใน 4 ของผู้หญิงกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของงานและต้องใช้เวลาจำนวนมากไปกับการดูแลบุตรและทำงานบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19

ข้อมูลดังกล่าวยังได้รับการยืนยันเพิ่มเติมด้วยผลการศึกษา Future of Business ของ Facebook ที่จัดทำขึ้นร่วมกับธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้และวงเงินสินเชื่อน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ ผู้ประกอบการชาย โดยร้อยละ 65.9 ของผู้หญิงไทยที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าสร้างยอดขายได้น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ.2562 ต่างจากธุรกิจที่มีเจ้าของหรือบริหารโดยผู้ชายที่ได้รับผลกระทบที่ร้อยละ 59.7

ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 34.1 ของธุรกิจที่มีเจ้าของหรือบริหารโดยผู้หญิงยังลดอัตราการ จ้างงานตั้งแต่ตอนต้นของสถานการณ์การแพร่ระบาด แตกต่างจากผู้ประกอบการชายที่ลดอัตราการจ้างงานที่ร้อยละ 17 นอกจากนี้ ยังมีการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ โดยร้อยละ 12.1 ของธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของเลิกจ้างอย่างน้อย 1 ใน 5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดเมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีเจ้าของหรือบริหารโดยผู้ชายที่เลิกจ้างงานเพียงร้อยละ 2.4

ผู้หญิงไทยยังคงพบอุปสรรคการนำดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยร้อยละ 39.9 อ้างอิงถึงการขาดความตระหนักรู้หรือความเข้าใจว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเมื่อพิจารณาว่าผู้นำธุรกิจหญิงแสดงให้เห็นถึงระดับความยืดหยุ่นในการปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ที่มากกว่า อีกทั้งผู้นำธุรกิจหญิงยังมีแนวโน้มสร้างยอดขายมากกว่าร้อยละ 50 ผ่านช่องทางดิจิทัล

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของลาพูน ออร์แกนิค และออร์แกนิควา เติบโตขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องมาจากการใช้เพจธุรกิจบน Facebook ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งในปัจจุบันยังจ้างพนักงาน 11 คน และสนับสนุนชุมชนของพวกเขา ในขณะเดียวกัน ธุรกิจออร์แกนิควาขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วจากการใช้งาน Messenger และ Facebook Ads เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น

อรุณี พรหมชัย ผู้ก่อตั้งธุรกิจลาพูน ออร์แกนิค กล่าวว่า “ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว เราคิดแค่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวให้ได้ เราเริ่มจากศูนย์ในการทำธุรกิจ คิดแค่ต้องผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จเพื่อครอบครัว เรากล้าที่จะเริ่มต้นและคิดเสมอว่าไม่มีอะไรเกินความสามารถของผู้หญิงอย่างเรา”

วารี แวววันจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออร์แกนิควา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจ เราเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมี ความพร้อมด้วย จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว จากความละเอียดอ่อน เอาใจใส่ในทุกขั้นตอน รวมถึงความอดทนของผู้หญิงซึ่งเป็นทักษะที่ดีเยี่ยมที่จะช่วยให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จใน การบริหารธุรกิจ”

ความสามารถและการเชื่อมต่อเชิงดิจิทัลสามารถขจัดอุปสรรคที่กีดขวางผู้หญิงที่ว่างงานจากการประกอบอาชีพหรือการเริ่มต้นธุรกิจได้ โดยความสามารถในการทำงานจากที่บ้านและการกำหนดช่วงเวลาการทำงานของพวกเธอได้ด้วยตัวเอง หมายความว่าจะมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่สามารถเข้าร่วมตลาดแรงงานได้เช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน