สิทธิผู้สูงอายุพึงได้รับ – สังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่สังคมโลกและสหประชาชาติให้ความสำคัญ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างประชากรเดิม

มาเป็นสังคมผู้สูงอายุก่อให้เกิดความหวาดหวั่นต่ออนาคตและคุณภาพชีวิต ทั้งของตนเองและผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีส่วนในการดูแลให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้รับสิทธิโดย เท่าเทียมกันอย่างเสมอภาคและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงได้ศึกษาประเด็นปัญหาดังกล่าวอย่างรอบด้านในทุกมิติเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ประเทศเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีผู้สูงอายุถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะมีผู้สูงอายุที่เรียกว่าเป็น Super เป็นสุดยอดของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เราได้ติดตามสถานการณ์ และรวบรวมข้อมูล กรณีร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของทุกวัยในทุกมิติ

รวมทั้ง การดูแลและคุ้มครองผู้สูงอายุเป็นกรณี เร่งด่วน โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด กสม. จึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลเห็นว่า ผู้สูงอายุควรจะได้รับการคุ้มครอง ได้รับการดูแลเช่นไร”

สิทธิ7ประการที่ผู้สูงอายุพึง ได้รับ

ข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ นอกจากข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคไม่ครอบคลุมถึงสิทธิที่ผู้สูงอายุในประเทศควรจะได้รับแล้ว ยังรวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นมาตรการในการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้สูงอายุ รวม 7 ประการด้วยกัน ได้แก่

ประการที่หนึ่ง สิทธิในที่อยู่อาศัย ควรสนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแนวคิด “การตรึงผู้สูงอายุให้อยู่กับชุมชน” เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตในชุมชนและสังคมได้โดยอิสระ

ประการที่สอง สิทธิด้านสุขภาพ ควรสนับสนุนการดำเนินงานคุ้มครองและ ส่งเสริม สิทธิด้านสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้เหมาะสม ตามระดับความสามารถในการช่วยเหลือตนเองทั้งในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคติดต่ออันตราย

ประการที่สาม สิทธิในหลักประกันรายได้ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ได้เข้าถึงสิทธิในหลักประกันรายได้ ด้วยการสนับสนุนการออมตามระดับความสามารถ เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังพ้นการทำงาน และสร้างความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนการออมภาคบังคับ

ประการที่สี่ สิทธิในการทำงาน ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ได้เข้าถึงสิทธิในการทำงานและมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม เพื่อจะได้ทำงานได้ต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ยังต้องการ และสามารถสร้างผลิตผลในการทำงานได้

ประการที่ห้า สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาตลอดชีวิตตามระดับความสามารถ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ

ประการที่หก สิทธิในการได้รับความคุ้มครองจากการถูกกระทำ ควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองจากการถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำรุนแรงและแสวงประโยชน์

ประการที่เจ็ด สิทธิในการได้รับความคุ้มครองในกรณีภัยพิบัติรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและจัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงอายุ ในสถานการณ์ภัยพิบัติ

สนับสนุนโอกาสและคุณภาพชีวิต

ประกายรัตน์กล่าวว่า สิทธิทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุในสถานการณ์ COVID-19 เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก่อนอื่น ซึ่ง กสม. ได้เสนอไปยังรัฐบาล ว่าควรจะต้องให้ความคุ้มครองผู้สูงอายุเป็นพิเศษ และน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนก่อน

ส่วนประเด็นผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดดูแล กสม. เน้นย้ำว่า ควรมีการตรึงผู้สูงอายุให้อยู่กับชุมชน นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการปรับปรุงหรือดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย รวมถึงการออกแบบชุมชนที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้า มีที่ให้เกาะ สามารถนั่งวีลแชร์ไปทำงานเบาๆ หรือไปร่วมสังสรรค์ได้ ทำให้ผู้สูงอายุมีสิทธิ ในเสรีภาพ มีอิสระ ซึ่งเป็นหลักการที่สหประชาชาติให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ ที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี

“ดิฉันคิดว่าผู้สูงอายุในประเทศไทย และทั่วโลกต้องการให้ศักดิ์ศรีในความเป็นผู้สูงอายุนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคม สามารถทำงานรับใช้ประเทศชาติ รับใช้สังคม และที่สำคัญคือไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน”

ขณะเดียวกันก็มีหลายหน่วยงาน ที่พยายามพัฒนาแนวทางในการดูแล ผู้สูงอายุเช่น การคิดค้นนาฬิกาที่ใช้สำหรับติดข้อมือผู้สูงอายุ ซึ่งมีระบบแจ้งเตือน เวลาที่ผู้สูงอายุพลัดตกเตียง หรือเดิน หลงทิศจนกลับบ้านไม่ถูก หรือหาตัว ไม่พบ ก็นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก

นอกจากนั้น กสม.ยังมีข้อเสนอแนะเรื่องการส่งเสริมโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ โดยสนับสนุนให้มีการขยายเวลาการเกษียณอายุไปถึง 63 ปี หรือ 65 ปี ภายใต้ความสมัครใจ เพื่อให้แต่ละท่านใช้ศักยภาพในการทำงานสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานที่ขาดแคลน หรือต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ซึ่งมีการขยายเวลาการเกษียณอายุไปจนถึง 70 ปี นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องมาตรการจูงใจสำหรับหน่วยงานเอกชนที่รับผู้สูงอายุเข้าไปทำงานต่อ ให้สามารถนำค่าจ้างผู้สูงอายุไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

คำตอบที่เฝ้ารอ

แม้จะมีคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอยู่หลายคณะ แต่ข้อเสนอแนะของ กสม. จะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

“ในฐานะที่ กสม.มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลทุกช่วงวัยในประเทศไทย เราต้องศึกษาว่า สิทธิมนุษยชนที่ผู้สูงอายุควรจะได้รับ มีขาดหายตกหล่นไปตรงไหนบ้างหรือไม่ แล้วจึงช่วยขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เขาทำงานได้อย่างเต็มที่ ในงบประมาณที่เหมาะสม

ตอนนี้ กสม.ก็พยายามติดตามว่า ข้อเสนอที่มีต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุ ทั้ง 7 ประการนั้นมีการ ตอบรับกลับมาบ้างหรือยัง เพราะเชื่อว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยก็น่าจะกำลังรอฟังคำตอบรอฟังข่าวดีจากรัฐบาล เหมือนที่กรรมการสิทธิฯ รออยู่ค่ะ” ประกายรัตน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน